เมื่อ Big Data เป็นตัวเอกทุกอุตสาหกรรม SME ปรับตัวอย่างไร เพื่อรับมือโลกดิจิทัลที่หมุนแรงและเปลี่ยนไว!

  • 8
  •  
  •  
  •  
  •  

Abstract Double exposure of Business man touching an imaginary s

นอกจากปัญญาประดิษฐ์อย่าง AI ที่ทุกแวดวงธุรกิจขานรับ เรื่องของ Big Data ที่พูดกันมานมนานหลายปี ก็เริ่มถูกกล่าวถึงถี่ขึ้นโดยเฉพาะ 1-2 ปีที่ผ่านมานี้ ยิ่งกลายเป็นหัวข้อสำคัญที่หลายๆ เวทียกขึ้นมาอธิบาย ทั้งพูดถึงประโยชน์ พูดถึงเทรนด์การใช้งาน และความสำคัญของ Big Data ที่ภาคธุรกิจไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

ในงาน Digital Thailand Big Bang 2018 ก็เป็นอีกครั้งที่คำว่า Big Data ถูกหยิบยกขึ้นมาเล่าและกล่าวถึงในหลายๆ กรณี เราจึงถือโอกาสถ่ายทอดแนวทาง การใช้งาน และประโยชน์ของ Big Data ผ่านมุมมองและประสบการณ์จากหลากหลายผู้เชี่ยวชาญ ที่ได้แบ่งปันภายในงานครั้งนี้ เก็บเป็นของฝากมามอบให้ทุกท่าน…

น่าจับตา SME ไทย! 51% ของเพจบน Facebook มีผู้หญิงเป็นเจ้าของ

คุณแคลร์ เดวี ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการชุมชน ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และละตินอเมริกา ของ Facebook เปิดเผยข้อมูลของ SME ไทยบนแพลตฟอร์ม Facebook ว่า ปัจจุบันผู้ใช้ Facebook ชาวไทยมีสถิติอยู่ที่ 52 ล้านคนต่อเดือน มีใช้งานเป็นประจำเฉลี่ย 35 ล้านคนต่อวัน โดยเป็นการเข้าใช้งานผ่านมือถือราว 51 ล้านคนต่อเดือน

“ตามเป้าหมายของภาครัฐที่ต้องการผลักดันให้กลุ่ม SME ขนาดย่อยของไทยเติบโตจาก 3 แสนราย เป็น 3 ล้านรายภายในสิ้นปีนี้ Facebook ก็สนับสนุนแนวคิดดังกล่าว เพราะเชื่อว่าแพลตฟอร์มของเราเป็นช่องทางสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการทั่วโลกได้เข้าถึงผู้คนที่ไม่อาจเข้าถึงมาก่อน สอดคล้องกับ 4 ใน 5 ของ SME บน Facebook ซึ่งมีความเห็นในลักษณะดังกล่าว ทั้งยังระบุว่า 93% สามารถนำเสนอข้อมูลเพื่อดึงดูดลูกค้าใหม่ให้เข้ามาใช้งาน โดยเฉพาะการใช้มือถือเป็นช่องทาง รวมถึง 78% ที่ระบุว่า Facebook คือเครื่องมือที่ช่วยให้ติดต่อกับผู้ใช้งานในต่างจังหวัดและต่างประเทศได้มากขึ้นจากเดิม”

Data analysis isometric

นอกจากนี้ ยังมีสิถิตที่น่าสนใจเกี่ยวกับ SME ไทยบน Facebook อีกหลายหัวข้อด้วยกัน อาทิ…

51% ของเพจ SME มีเจ้าของกิจการเป็นผู้หญิง ซึ่งตัวเลขดังกล่าวถือเป็นสัดส่วนสูงสุดในระดับโลกก็ว่าได้

อีก 38% มีกลุ่ม LGBT เป็นเจ้าของกิจการ

และ 16% เป็นเพจ SME ที่มีกลุ่มผู้พิการเป็นเจ้าของกิจการ

ส่วนภาพรวมนั้น บน Facebook มีผู้คนเกือบ 1,000 ล้านคนที่เชื่อมต่อกับธุรกิจออนไลน์ผ่าน Facebook รวมถึงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีธุรกิจกว่า 50% เกิดการเชื่อมต่อทางธุรกิจจากแพลตฟอร์มดังกล่าว ทุกสิ่งที่กล่าวมานี้สะท้อนถึงวิวัฒนาการจากเครื่องมือดิจิทัล

พลังจาก SME ช่วยขับเคลื่อน GDP ได้มหาศาล

จากตัวเลขที่กล่าวมา Facebook เองก็เล็งเห็นเทรนด์การเติบโตของ SME ไทย รวมถึงบทบาทของผู้หญิงที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ในทางธุรกิจ ซึ่งธุรกิจมากกว่า 50% ในประเทศไทย ล้วนต้องการบุคลากรที่มีทักษะด้านดิจิทัลและการตลาดดิจิทัลเป็นอย่างมาก ไม่ได้หมายถึงแค่ความรู้จากในห้องเรียนแต่เน้นที่ประสบการณ์จริงและการเรียนรู้อย่างไม่หยุดนิ่ง! ทำให้ Facebook พยายามพัฒนาเครื่องมือเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อภาคธุรกิจ รวมถึงการเทรนด์นิ่งทั้งส่วนออฟไลน์และออนไลน์ โดยที่ผ่านมา Facebook เปิดตัวแพลตฟอร์มสำหรับกลุ่มผู้หญิง ในชื่อ “SheMeansBusiness” ซึ่งเริ่มต้นที่ประเทศสิงคโปร์ ก่อนจะขยายได้อีกกว่า 20 ประเทศ โดยขณะนี้มีผู้หญิงเข้าฝึกอบรมไปแล้วกว่า 42,000 คน และมีการเทรนด์นิ่งผ่านออนไลน์อีกกว่า 50,000 คน ซึ่งทาง Facebook ตั้งเป้าหมายจะขยายกิจกรรมและแพลตฟอร์มดังกล่าวไปยังประเทศอื่นๆ ที่มีกลุ่มผู้หญิงลุกขึ้นมาประกอบธุรกิจรายย่อย รวมถึงประเทศไทย

“ทั้งหมดนี้ Facebook ทำเพื่อส่งเสริมการขยายเครือข่ายและสร้างแรงบันดาลทางธุรกิจ สอดคล้องกับพันธกิจของเราในการสร้างชุมชนที่เข้มแข็ง เพราะเราเชื่อว่าพลังจาก SME คือหนึ่งในพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจซึ่งสามารถสร้าง GDP ให้แต่ละประเทศได้อย่างมหาศาล แต่ต้องเริ่มต้นจากความพร้อมด้านดิจิทัล ที่ไม่ใช่แค่การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร แต่หมายรวมถึงการทำงานร่วมกับผู้คน คิด วิเคราะห์ และเข้าใจถึงผลลัพธ์ รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นด้วย ทุกส่วนต้องร่วมมือเพื่อสร้างชุมชนที่มีพลังและต่อยอดสู่การนำ Big Data ที่เกิดขึ้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมด้วย เพราะเราเชื่อว่าการเข้าถึงข้อมูลนั้นเกิดขึ้นอย่างไร้ข้อจำกัด”

Light trails above buildings

ศักยภาพมนุษย์ คือ ความท้าทายสำคัญในยุค Big Data

ประเด็นนี้ คุณวิเชียร เปรมชัยสวัสดิ์ รองประธานสมาคมสมาพันธ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทย แสดงมุมมองว่า “ทุกคนรู้กันดีว่า IoT จะเข้ามาเชื่อมโยงดีไวซ์และรวมข้อมูลเอาไว้มหาศาล แต่ทุกวันนี้เรายังใช้ข้อมูลไม่ถึง 5% ที่มีอยู่บน Google ด้วยซ้ำ”

เนื่องจากข้อมูลเกิดขึ้นและมีหลายส่วน แบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือ ข้อมูลที่มีการจัดเก็บและแยกเป็นระบบอยู่แล้ว และข้อมูลที่ยังกระจายไม่อยู่ในระบบ ซึ่งข้อมูลส่วนใหญ่ในขณะนี้คือข้อมูลที่ยังไม่อยู่ในระบบ เช่น ข้อมูลบนแอปแชทและโซเชียลมีเดีย ซึ่งหากมีการจัดเก็บข้อมูลเข้าสู่ระบบแล้วก็จะสามารถใช้ระบบข้อมูลพื้นฐานเพื่อหาคำตอบต่างๆ ได้ แต่เมื่อรวมกับการประมวลผลแล้วจะยิ่งสร้างผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้น ไม่ใช่แค่การทำ Data Analytic แต่หมายถึงการเป็น Data Science

“เราหนีไม่ได้ว่า Big Data เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายภายในองค์กรต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง การสร้างคนกลายเป็นปัญหาใหญ่ของการนำข้อมูลมาใช้งาน องค์กรต้องการคนที่มีวิธีคิด ช่างสังเกต ต้องมีความสามารถทางคณิตและวิทย์เพื่อทำการวิเคราะห์ ต้องเข้าใจธุรกิจของหน่วยงานตนเองเป็นอย่างดีด้วย แต่ปัญหาคือ เราหาคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทั้งหมดรวมอยู่ในคนๆ เดียวไม่ได้ องค์กรจึงควรมีทีมเวิร์คที่ดีเพื่อรองรับการวิเคราะห์ การสร้างโมเดล หรือแม้แต่การทำ Deep Learning เพื่อสนับสนุนกระบวนการ AI สร้างศักยภาพแก่องค์กร”

2

คนไทยไปไม่ถึง Big Data! ควรเริ่มต้นจาก “Smart Data” ให้แข็งแรง

คุณปฐม อินทโรดม คณะกรรมการ Creative Digital Economy สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย อธิบายว่า วันนี้คำว่า Big Data กลายเป็นสิ่งที่สร้างความกังวลใจให้หลายๆ องค์กร การจะเข้าใจความหมายดังกล่าว ควรเริ่มต้นจากการปรับโครงสร้างพื้นฐานทางข้อมูลภายในองค์กรให้ชัดเจนเสียก่อน

“ต้องถามว่าทุกวันนี้ระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับองค์กรเอกชน เราสามารถแชร์ข้อมูลร่วมกันได้หรือยัง ที่จริงแล้ว Big Data ก็เหมือนเป็นการ forecast เท่านั้น เมื่อองค์กรใดมีเทคโนโลยีพร้อมแล้วก็ต้องสร้างความกระหายทางเทคโนโลยีให้เกิดขึ้นด้วยเพื่อนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพ ซึ่งการจะทำให้คนส่วนใหญ่รู้สึกอยากเข้าร่วมกับเทคโนโลยีก็จำเป็นต้องหาบริบทหรือประเด็นที่ผู้คนชื่นชอบ และ 3 เรื่องหลักที่อยู่ในความสนใจของคนไทยคือ หวย ดวง บอล ถ้าคุณสร้างโอกาสจากเรื่องเหล่านี้ได้ ก็ยิ่งทำให้ได้ Big Data จำนวนมหาศาลจากคนไทย”

นอกจากนี้ ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่อง Big Data ซึ่งหลายๆ ฝ่ายมองว่าเป็นเรื่องของแผนกไอที แต่ที่จริงเป็นเรื่องสำคัญของทุกฝ่ายในองค์กร ควรเริ่มต้นตั้งแต่การทำความเข้าใจว่าข้อมูลเกิดขึ้นจากส่วนใด แต่ละแผนกมีการบูรณาการข้อมูลร่วมกันหรือไม่ มีสถิติระบุว่า ข้อมูลกว่า 75% ขององค์กรไทยอยู่ในสภาพกระจัดกระจายไม่ได้เข้าสู่ระบบและไม่ได้เป็นดิจิทัลสะท้อนถึงการเสียโอกาสในการต่อยอดข้อมูล

“โจทย์ใหญ่คือองค์กรต้องคิดว่าจะสามารถนำข้อมูลไปใช้อะไรได้บ้าง ควรยกระดับข้อมูลในส่วนใดบ้าง น่าแปลกที่หลายองค์กรกล่าวว่าตนเองใช้ Big Data แต่ลูกค้ากลับไม่ได้รับรู้หรือมีความรู้สึกเช่นนั้น จึงอาจเป็นเรื่องดีที่เราจะเริ่มต้นจาก Smart Data ให้เข้มแข็งเสียก่อน ใช้ Consumer Centric เป็นตัวขับเคลื่อน อาจจะตอบโจทย์ได้ดีกว่า ท่ามกลางความพร้อมทางเทคโนโลยีกับเครื่องมือที่มีอยู่หลากหลาย เราไม่ควรรีบร้อนมองหาโซลูชั่นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงองค์กรในทีนที เพราะเครื่องมือเช่นนั้นไม่มีจริง แต่การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นจากการนำข้อมูลมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ”

shutterstock_436945282

ทุกอุตสาหกรรมควรเตรียมพร้อม ก้าวสู่ยุค IIoT

คุณสิทธิภรณ์ เมืองกลาง ที่ปรึกษาสถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แสดงความเห็นว่า Big Data คือการเชื่อมโยงข้อมูล และหมายรวมถึงความสามารถในการเข้าถึงข้อมูล ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องตื่นตัวและเปลี่ยนแปลง เพื่อใช้งานข้อมูลให้มีคุณค่าโดยเริ่มต้นจากการเป็น Smart Data ขณะเดียวกันก็ต้องสร้าง Smart People เพื่อเชื่อมต่อและสร้างมูลค่าจากข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้ข้อมูลก้อนเดียวกัน

สิ่งสำคัญในการใช้โครงสร้างข้อมูล คือ การวิเคราะห์ประกอบการใช้วิจารณญาณ เชื่อว่าการเริ่มต้นจาก Smart Data จะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าการเริ่มต้นด้วย Big Data ซึ่งปัจจุบันประสิทธิภาพของอุตสาหกรรมไทยอยู่ที่ 65% เทียบกับต่างประเทศซึ่งอยู่ที่ 90-95% ทำให้ผู้ประกอบการไทยควรเร่งทำความเข้าใจกับข้อมูลและสร้างประสิทธิภาพจากข้อมูลให้ได้มากที่สุด เนื่องจากยุคนี้เป็นการนำข้อมูลมาใช้งานและเชื่อมโยงกันให้ได้มากกว่าการเชื่อมโยงดีไวซ์ หรือเรียกว่ายุค Industrial IoT (IIoT) ข้อมูลจะน่าเชื่อถือและถูกต้องยิ่งขึ้นเมื่ออยู่ในรูปแบบดิจิทัล ทำให้เกิดโอกาสใหม่ๆ ในทางธุรกิจ

“เราต้องย้อนดูกระบวนการภายในองค์กรด้วย ทั้งแนวดิ่ง (เช่น การผลิต) และแนวนอน (เช่น คลังสินค้า, การขาย เป็นต้น) เพราะข้อมูลทุกส่วนต้องเชื่อมต่อกันได้ทั้งหมด ก่อนจะขยายไปสู่กระบวนการอื่นๆ ภายนอก องค์กรต้องรู้ว่าขายอะไรคือการสร้างกำไรให้ธุรกิจ ขณะเดียวกันก็ต้องรู้ว่าทำอย่างไรจึงเป็นการลดต้นทุนให้องค์กร”

 


  • 8
  •  
  •  
  •  
  •  
Ms.นกยูง
เมื่อโลกไม่เคยหยุดหมุน เราก็ไม่ควรหยุดเรียนรู้... ชวนคุณมาทำความรู้จักหลากหลายเรื่องราว ทั้งสาระและสีสันบนโลกดิจิทัลไปพร้อมกัน