หมดยุค B2C ขยายธุรกิจ! “Tencent” ขยับสู่ B2B เดินเกม “คลาวด์” มั่นใจความแตกต่าง อุดรูรั่วธุรกิจดิจิทัลได้

  • 26
  •  
  •  
  •  
  •  

Tencent Road to 2020-01

นาทีนี้ไม่ต้องบอก ทุกคนก็คงรู้อยู่แล้วว่าเทคโนโลยีอย่าง AI หรือ Machine Learning สามารถต่อยอดประโยชน์ให้ธุรกิจได้มากแค่ไหน เรื่องนี้ “Tencent ประเทศไทย” ก็รู้ดี จึงไม่ได้ใช้เทคโนโลยีทั้ง 2 ประเภท เพื่อเรียนรู้และเข้าถึงผู้บริโภคเท่านั้น แต่นำไปสู่การกำหนดกลยุทธ์ใหม่ให้แบรนด์ขยับไปโฟกัสกับธุรกิจ “คลาวด์” อีกด้วย

และแน่นอนว่า AI ไม่ได้ช่วยสร้าง Engagement ให้แบรนด์แค่บนออนไลน์ แต่ยังรวมถึงออฟไลน์ได้ด้วย ขณะเดียวกันก็ไม่ได้สร้างประโยชน์ให้แบรนด์เข้าใจและตอบสนองผู้บริโภคให้ดีขึ้นอยู่ฝ่ายเดียว แต่ยังไปถึงการตอบโจทย์พาร์ทเนอร์จากการเติบโตที่มาจากจำนวนผู้ใช้งาน อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่ เทนเซ็นต์ ประเทศไทย เปิดเผย ยังพบว่าการสร้าง Story ก็เป็นอีกปัจจัยส่งเสริมความสำเร็จในการสร้าง Engagement แก่แบรนด์ได้เช่นกัน เพราะ…

63% ของผู้บริโภคบอกว่าเบื่อที่ต้องเจอกับโฆษณาที่ไม่เกี่ยวข้องกับตนเอง

80% บอกว่า หากแบรนด์สามารถมอบประสบการณ์แบบ Personalized ได้ ก็จะทำให้พวกเขารู้สึกสนใจแบรนด์นั้นมากขึ้น

90% ของผู้บริโภคที่ได้รับบริการแบบ Personalized ยืนยันว่าสิ่งนี้สามารถดึงดูดพวกเขาให้อยู่กับแบรนด์ได้

แต่การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อเรียนรู้และตอบโจทย์ผู้บริโภค ผ่านธุรกิจแบบ B2C อาจยังไม่ใช่คำตอบที่เหมาะสมกับแนวทางของ Tencent ประเทศไทย เพราะทิศทางธุรกิจในปี 2020 ที่ประกาศออกมานั้น กำลังมุ่งสู่ธุรกิจ B2B อย่างชัดเจน กระทั่งมีการจัดตั้งสายธุรกิจใหม่ในกลุ่มงานคลาวด์ขึ้นมาทีเดียว

Tencent Road to 2020-02

“ข่าว – ความบันเทิง – โซลูชั่น”  3 หัวใจของ “Tencent”

คุณกฤตธี มโนลีหกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท Tencent (ประเทศไทย) จํากัด อธิบายว่า ปัจจุบัน Tencent ประเทศไทย มีธุรกิจ 3 ประเภท คือ News ได้แก่ เว็บ Sanook, Entertainment ได้แก่ JOOX และ WeTV, Solution Services ได้แก่ Tencent Cloud ภายใต้เป้าหมายในการเชื่อมโยงทุกภาคส่วน ทั้งผู้คน ธุรกิจ และพาร์ทเนอร์ เพื่อสร้างอีโคซิสเต็มส์ที่แข็งแกร่ง

หากไล่เรียงไปทีละธุรกิจ จะพบว่า…

เว็บ Sanook : เป็นธุรกิจที่มีอายุยาวนานที่สุด ซึ่งทาง Tencent ประเทศไทย ก็เตรียมรีแบรนด์ครั้งใหญ่ในรอบ 20 ปี ด้วยการเปลี่ยนโลโก้และหน้าตาการใช้งานผ่านแอปที่จะนำ Machine Learning เข้ามาวิเคราะห์ผลและแสดงข่าวได้ตามความชื่นชอบของแต่ละบุคคล ทำให้การเปิดแอปเพื่ออ่านข่าวสามารถตอบสนองได้แบบ Personalized ทั้งยังมีการเปิดตัวแอปใหม่ “Sanook77” ที่จะรวมคอนเทนต์ข่าวจากทั่วประเทศไว้ตอบโจทย์กลุ่มผู้อ่านหลักของ Sanook ซึ่ง 60% อยู่ในต่างจังหวัด เพื่อขยายโอกาสเจาะคอนเทนต์ต่างจังหวัดไปพร้อมกัน หรือการนำเทคโนโลยี Text to Speech เข้ามาอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงคอนเทนต์ของผู้คนโดยไม่ต้องอ่านด้วยตนเอง เป็นต้น

JOOX : ก็ไม่ได้เป็นเพียงแอปฟังเพลงเท่านั้น แต่แนวทางที่ Tencent ประเทศไทย วางไว้ คือ การสร้างโอกาสอย่างต่อเนื่อง ทั้งการจัดอีเวนท์ประกาศรางวัลเพลง Top 100 หรือการต่อยอดสู่เพลงประเภท Branded Song ที่ JOOX ทำพิเศษเพื่อแบรนด์ ซึ่งขณะนี้มีการทำเพลงพิเศษร่วมกับ UOB ไปแล้ว เป็นแบรนด์แรก ทั้งยังมีความพยายามในการผลักดันให้ผู้ใช้หันมาสมัครสมาชิกมากขึ้น ควบคู่กับการสนับสนุนให้ศิลปิน ค่ายเพลง และ KOL ได้มีโอกาสแจ้งเกิดผ่านแพลตฟอร์มของ JOOX ทั้งการ Collaboration รวมถึงการทำ Podcast เพื่อปั้นนักสร้างคอนเทนต์หน้าใหม่

Tencent Road to 2020-03

WeTV : เปิดตัวไปเมื่อ มิ.ย. แต่สามารถสร้างกระแสตอบรับได้อย่างล้นหลาม จากการนำคอนเทนต์ประเทศจีนที่กำลังอยู่ในกระแสนิยม และศิลปินชื่อดังที่มีผู้ชื่นชอบเป็นจำนวนมากเข้ามาเป็นแม่เหล็กได้ ทำให้ยอดดาวน์โหลดของแอปดังกล่าวสูงถึง 1 ล้านครั้งต่อเดือน นับตั้งแต่มีกิจกรรมเปิดตัวอย่างเป็นทางการ แต่ Tencent ประเทศไทย ก็ตั้งเป้าหมายเป็นผู้ส่งออกคอนเทนต์ไปบุกตลาดจีนเช่นกัน โดยมีแผนจะส่งออกออริจินอลคอนเทนต์ขึ้นสู่แพลตฟอร์มไม่ต่ำกว่า 2 เรื่องต่อไตรมาส ประเดิมเรื่องแรก คือ ฉลาดเกมส์โกงเดอะซีรี่ย์

สัดส่วนรายได้ของ Tencent ประเทศไทย ราว 60-70% มาจากธุรกิจความบันเทิงอย่าง PUBG Mobile และ JOOX

ส่วนสายธุรกิจใหม่อย่าง คลาวด์ และ WeTV นั้น สามารถสร้างรายได้ราว 20-30%

รายได้ส่วนใหญ่มาจากโฆษณาและการเปิดให้สมัครสมาชิก ยกเว้นธุรกิจคลาวด์ที่มีรายได้จากการนำเสนอโซลูชั่น

ลุยตลาด “คลาวด์” ตอนนี้ Tencent วาดหวังอนาคตอย่างไร ?

แผนธุรกิจด้านคลาวด์ของ Tencent ประเทศไทย กำหนดทิศทางไว้ว่า จะเป็นการนำเสนอเทคโนโลยีที่จับต้องได้จริงและสามารถปรับเปลี่ยนให้เข้ากับความต้องการของลูกค้า ผ่านสมาร์ทโซลูชั่น แพลตฟอร์ม และอินฟราซัคเจอร์ เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าอย่างหลากหลาย ทั้งค้าปลีก สุขภาพ สถาบันการเงิน ท่องเที่ยว และหน่วยงานภาครัฐ เป็นต้น

3 แนวทาง วิสัยทัศน์ปี 2020

ภายใต้เป้าหมายการดำเนินธุรกิจปี 2020 ของ Tencent ประเทศไทย จะถูกผลักดันไปใน 3 ทิศทาง ได้แก่

Innovation : การนำเสนอสมาร์ทโซลูชั่นและเทคโนโลยีต่าง ๆ ผ่านธุรกิจคลาวด์

Community : การผลักดันให้เกิดเจ้าของคอนเทนต์รายใหม่เพื่อสร้างอีโคซิสเต็มส์ เช่น กิจกรรมแข่งขันเกม PUBG Mobile, การสนับสนุนศิลปิน และ KOL เข้ามาสร้างคอนเทนต์บนแพลตฟอร์ม JOOX เป็นต้น

Original Content : สร้างออริจินอลคอนเทนต์ร่วมกับพาร์ทเนอร์ พัฒนาแอปพลิเคชันให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งานดีขึ้น

Tencent Road to 2020-04

ไทยอยู่ในอันดับที่ 20 ของตลาดอีสปอร์ตโลก ด้วยมูลค่าตลาด 23,000 ล้านบาท จากปัจจัยที่คนไทยชื่นชอบการเล่นเกม และมีนักกีฬาอีสปอร์ตที่มีศักยภาพสามารถแข่งขันได้รับรางวัลจากรายการแข่งขันต่าง ๆ

จึงไม่น่าแปลกใจที่ Tencent จะให้ความสำคัญกับตลาดอีสปอร์ตด้วยการจัดอีเวนท์รายการใหญ่ของ PUBG Mobile ซึ่งจัดไป 15 ครั้ง ใน 12 หัวเมือง มีผู้สนใจรับชมอีเวนท์ดังกล่าวมากกว่า 30,000 คนต่อครั้ง และมียอดการรับชมรวม สูงถึง 17 ล้านวิว และมีนักกีฬาอีสปอร์ตให้ความสนใจเข้าร่วมแข่งขัน 18,000 คน นอกจากจะทำให้เกิดอีโคซิสเต็มส์ระหว่างนักกีฬาและผู้ที่ชื่นชอบอีสปอร์ตแล้ว ยังสามารถเชื่อมโยงไปถึงแบรนด์ต่าง ๆ เพื่อเข้ามาให้การสนับสนุน และสร้าง Engagement ผ่านทางออฟไลน์จากการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ได้ด้วย

เช่นเดียวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับ JOOX เพราะการที่ Tencent พยายามผลักดันให้เกิดอีโคซิสเต็มส์ขนาดใหญ่ เชื่อมโยงผู้ที่ชื่นชอบฟังเพลงซึ่งเป็นตลาดใหญ่เข้าถึงผู้คนทุกเพศ ทุกวัย ผ่านฟีเจอร์และกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งการร้องคาราโอเกะ ซึ่งดึงเอา KOL ที่มีฐานผู้ติดตามเป็นจำนวนมากเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มก็เป็นหนึ่งในวิธีสร้าง Engagement ที่ได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี รวมถึงการผลิตคอนเทนต์เพลงใหม่ ๆ ที่มีให้ฟังเฉพาะบน JOOX รวมถึงคอนเทนต์ประเภทอื่นผ่าน Podcast ก็จะเป็นอีกวิธีในการขยายกลุ่มผู้ฟัง


  • 26
  •  
  •  
  •  
  •  
Ms.นกยูง
เมื่อโลกไม่เคยหยุดหมุน เราก็ไม่ควรหยุดเรียนรู้... ชวนคุณมาทำความรู้จักหลากหลายเรื่องราว ทั้งสาระและสีสันบนโลกดิจิทัลไปพร้อมกัน