ภาพยนตร์ “Cuties” จุดกระแส #CancelNetflix อีกครั้ง Netflix โดนวิจารณ์หนัก Marketing Campaign ที่ผิดพลาด

  • 4
  •  
  •  
  •  
  •  

ถึงแม้ว่า Netflix จะเป็นผู้ให้บริการสตรีมมิ่งที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 1 ของโลกในขณะนี้ แต่หลายๆ คอนเทนต์ก็ยังเป็นที่กังขาถึงความเหมาะสม และก็มีบางคอนเทนต์ที่เกิดกระแสต่อต้านขึ้นในหมู่ผู้คนจำนวนมาก

เรียกได้ว่าเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาอีกครั้ง จากกรณีที่ Netflix เผยแพร่ภาพยนตร์เรื่อง Cuties ภาพยนตร์แนว coming-of-age จากฝรั่งเศส จนเป็นที่มาของแฮชแท็ก #CancelNetflix พร้อมข้อกล่าวหาว่าภาพยนตร์เรื่องนี้สนับสนุนการล่วงละเมิดทางเพศเด็กและผู้เยาว์

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดกระแสต่อต้าน Netflix ก่อนหน้านี้ก็มีความพยายามที่จะสร้างกระแส Cancel Netflix โดยกลุ่มผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกัน หลังทราบข่าวว่า Netflix เซ็นสัญญาระยะยาวกับ “บารัค โอบาม่า” และ “มิเชล โอบามา” อดีตประธานาธิบดีและสตรีหมายเลข 1 ของสหรัฐฯ เพื่อสร้างซีรีส์เรื่องใหม่เกี่ยวกับชีวิตประวัติของพวกเขา หรือก่อนหน้านี้ก็เกิดกระแสต่อต้านซีรี่ส์เรื่อง “365 Days” โดยระบุว่าเป็นซีรีส์ที่สนับสนุนการกระทำรุนแรงต่อผู้หญิง

แต่มากไปกว่าสาเหตุของการต่อต้านเรื่องอื่นๆ ใน Netflix แต่ประเด็นของ Cuties ได้ถูกนำมาเป็นอีกหนึ่งข้ออ้างของกลุ่ม QAnon (ขบวนการทฤษฎีสมคบคิดขวาจัด) ว่า นี่คือข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนถึงทฤษฎีสมคบคิดของพวกเขาว่าเป็นเรื่องจริง

ภาพยนตร์ Cuties เกี่ยวกับเรื่องอะไร? Cuties เป็นภาพยนตร์แนว coming-of-age สัญชาติฝรั่งเศส ปี 2020 ที่เขียนและกำกับโดย Maïmouna Doucouré ผู้กำกับสาวชาวฝรั่งเศส – เซเนกัล นำแสดงโดย Fathia Youssouf, Médina El Aidi-Azouni, Esther Gohourou, Ilanah Cami-Goursolas และMaïmouna Gueye พล็อตเรื่องเกี่ยวกับเด็กสาวชาวฝรั่งเศส อายุ 11 ปี ชาวเซเนกัล ที่อาศัยในกรุงปารีส รวมกลุ่มกับเพื่อนๆ วัยเดียวกัน เพื่อไล่ล่าความฝันของการเป็นนักเต้น แต่อุปสรรคของเธอคือครอบครัวที่เคร่งศาสนา ทำให้เธอเริ่มเกิดอาการต่อต้านครอบครัวและอยากจะเป็นตัวของตัวเอง

ทั้งนี้ กระแสต่อต้านวิจารณ์ในทำนองว่า Cuties นำเสนอเนื้อหาที่ไปกระตุกทั้งประเด็นทั้งเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก และเรื่องความไม่เท่าเทียมกันของสีผิว รวมไปถึงยังมีเนื้อหาที่ไม่ส่งเสริมให้เด็กได้เติบโตตามวัยที่ควรจะเป็น

ล่าสุด วุฒิสมาชิก Ted Cruz จากพรรครีพับลิกัน ก็เป็นอีกคนที่ไม่เห็นด้วยกับกับภาพยนตร์เรื่อง Cuties พร้อมกับเรียกร้องให้กระทรวงยุติธรรมออกมาสอบสวนเรื่องนี้ โดยให้เหตุผลว่าเป็นภาพยนตร์ที่สนับสนุนความรุนแรงต่อเด็ก และอาจขัดต่อกฎหมายสื่อลามกอนาจาร

ภาพยนตร์ Cuties ได้รับรางวัล The World Cinema Dramatic Directing Award จากเทศกาล Sundance Film Festival 2020 โดยมองว่าเป็นหนังที่สะท้อนความกดดันของเด็กผู้หญิง โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการแปลไปมากกว่า 40 ภาษา และ Netflix ก็ได้สตรีมมิ่งหนังเรื่องนี้ออกไปมากกว่า 190 ประเทศแล้วรวมทั้งไทยด้วย ในชื่อไทยว่า Cuties คิวตี้ สาวน้อยนักเต้น” (แต่ตัวเอกชื่อ เอมี่)

ภาพด้านซ้าย โปสเตอร์ที่ Netflix ออกแบบ / ภาพด้านขวา ภาพต้นฉบับ
ภาพด้านซ้าย โปสเตอร์ที่ Netflix ออกแบบ / ภาพด้านขวา ภาพต้นฉบับ

อย่างไรก็ตาม กระแสต่อต้าน Cuties เริ่มตั้งแต่ก่อนที่หนังจะถูกเผยแพร่เสียอีก โดยเริ่มจากที่ผู้คนเริ่มวิจารณ์ภาพโปสเตอร์ที่ใช้ในการโปรโมท ที่ออกแบบมาทำให้เกิดความเข้าใจผิดในประเด็นที่แท้จริงของภาพยนตร์ ผิดไปจากต้นฉบับฝรั่งเศส ซึ่งออกแบบโดยทีมของ Doucouré ซึ่งนำเสนอภาพของกลุ่มเด็กสาวสดใสร่าเริงพร้อมถุงช้อปปิ้งเดินไปบนถนนในกรุงปารีส ในขณะที่ภาพโปสเตอร์ที่ออกแบบโดยทีมของ Netflix ออกแบบให้กลุ่มเด็กสาวมีบุคลิกที่ดูโตขึ้นกว่าวัย แถมยังมีกลิ่นอายคล้ายกับภาพยนตร์ Step Up หนังวัยรุ่นแข่งเต้นชื่อดังของฮอลลีวูด และจากนั้นไม่นาน Netflix เองยังโปรโมทต่อบนทวิตเตอร์ด้วย พร้อมภาพการเต้นและคำบรรยายว่า “ทึ่งไปกับท่าเต้น twerking ของเอมี่และเพื่อนๆ” ซึ่งได้รับความวิจารณ์ในแง่ลบและเรียกร้องให้ถอดออก แล้วยังมีการสร้างแคมเปญเพื่อต่อต่อต้านภาพยนตร์เรื่องนี้ไปที่ Change.com ด้วย โดยประณามถึงความไม่เหมาสม ไม่นาน Netflix ก็ตัดสินใจถอดโปสเตอร์ออก และใช้อาร์ตเวิร์กตัวอื่นในการโปรโมทบนทวิตเตอร์แทน พร้อมกับขึ้นข้อความเสียใจถึงการเลือกภาพอาร์ตเวิร์กที่ไม่เหมาะสมชิ้นนี้เผยแพร่ออกไป

แน่นอนว่าปัญหานี้ทางทีมผู้สร้างก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดย Doucouré ให้สัมภาษณ์ว่าเธอได้รับข้อความขู่ฆ่าเป็นจำนวนมาก “ชั้นได้รับข้อความร้ายๆ มากมาย จากคนที่ไม่เคยดูหนังมาก่อน พวกเขาคิดว่าชั้นสร้างหนังเรื่องนี้มาเพื่อสนับสนุนการมีเพศสัมพันธ์กับเด็ก” อย่างไรก็ตาม Doucouré ก็ยังได้รับเสียงสนับสนุนกับกลุ่มคนดังที่เข้าใจเจตนาที่แท้จริงของการสร้างหนัง เช่น Tessa Thompson (นักแสดงจากเรื่อง Thor: Ragnarok) ที่เข้าใจในเนื้อหาที่หนังนำเสนอแต่ผิดหวังกับการทำ marketing campaign ของ Netflix

ในขณะที่สื่อด้านเอนเตอร์เมนต์อย่าง Rolling Stone วิจารณ์หนังเรื่องนี้ว่า “หลุดไปจากใจความสำคัญที่แท้จริง โดยเฉพาะเครื่องแต่งกายของนักแสดงที่ทำให้เกิดคำถามมากมาย”

นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นนี้ทาง Ted Sarandos ซีอีโอของ Netflix ถึงขนาดต้องโทรศัพท์มาขอโทษ Doucouré ด้วยตัวเอง สำหรับการออกแบบโปสเตอร์โปรโมทที่สร้างความเข้าใจผิดอย่างมากมาย

ทาง Doucouré ยืนยันในเจตนาการสร้างหนังเรื่องนี้ว่า “หนึ่งในเมสเสจที่สำคัญที่อยากจะสื่อออกไปก็คือ วัยเด็กเป็นช่วงเวลาที่มีค่าอย่างยิ่ง และเราต้องปกป้องดูแลพวกเขาให้ดี แต่อะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับพวกเขานี่คือคำถามที่อยากจะฝากถึงผู้ใหญ่ทุกคน เราทุกคนอยากให้พวกเขาเติบโตบนพื้นที่ที่ปลอดภัยและมีสันติภาพ ดังนั้น คำว่าอิสระและเสรีจึงเป็นสิ่งสำคัญที่พวกเขาควรจะได้รับในแบบฉบับที่ดีที่สุดของพวกเขาเอง จริงๆ มันมีพื้นฐานมาจากชีวิตส่วนหนึ่งของชั้น และอยากให้คนได้รับชมภาพยนตร์ก่อนที่จะตัดสินหรือวิจารณ์ว่ามันเป็นยังไง”

Update

Netflix ได้ส่งคำชี้แจงกรณีภาพยนตร์เรื่อง Cuties ให้กับสื่อมวลชนไทย เพื่อทำความเข้าใจในเนื้อหาของเรื่องอย่างแท้จริง ดังนี้

คำชี้แจงกรณีภาพยนตร์เรื่อง Cuties

ตัวแทนจากเน็ตฟลิกซ์กล่าวว่าภาพยนตร์เรื่อง Cuties เป็นผลงานที่วิจารณ์ประเด็นทางสังคม โดยแสดงความไม่เห็นด้วยกับการนำเด็กมาเป็นวัตถุทางเพศ ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นผลงานระดับรางวัลที่ถ่ายทอดเรื่องราวอันทรงพลังเกี่ยวกับความกดดันที่เด็กผู้หญิงต้องพบเจอ ทั้งในช่องทางโซเชียลมีเดียและในสังคมทั่วไป ตลอดช่วงวัยที่กำลังเติบโต เราอยากเชิญชวนให้ทุกคนที่ใส่ใจกับปัญหาที่สำคัญนี้ได้ลองชมภาพยนตร์ด้วยตนเอง

นอกจากนี้ ท่านสามารถรับฟังบทสัมภาษณ์ของผู้กำกับหญิง แมอีมูนา ดูคูเฮ ถึงที่มาของการสร้างภาพยนตร์ Cuties

Sourced : The Verge 


  • 4
  •  
  •  
  •  
  •  
pigabyte
การเรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้น มาเรียนรู้และสนุกไปกับบทความ จาก MarketingOops! กันนะคะ แล้วเราจะได้ค้นพบว่าโลกของ Marketing นั้น So Sexy and Cool!