ถอด 5 บทเรียน #ทีมลวกหมี่หยก #ทีมไม่ลวกหมี่หยก และ MK มาช้าเกินไปจริงหรือ?

  • 2.6K
  •  
  •  
  •  
  •  

mk-หมี่หยก11

การสร้าง Viral Marketing ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยในปัจจุบัน บ้างก็สร้างขึ้นมาจากความตั้งใจของการทำคอนเทนต์มาร์เก็ตติ้ง บ้างก็เกิดขึ้นเองอย่างไม่ได้ตั้งใจ แต่การจะทำให้เกิดกระแสแล้วจุดติดได้ไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งก็แล้วแต่ว่าแบรนด์ไหนจะหยิบฉวยมาใช้ให้เป็น

ใช่แล้วเรากำลังพูดถึงไวรัลที่ชาวเน็ตไทยกำลังให้ความสนใจกันอยู่ นั่นคือกระแส #ทีมลวกหมี่หยก และ #ทีมไม่ลวกหมี่หยก แล้วจู่ๆ มันเกิดเป็นประเด็นได้อย่างไร เราจะเล่าให้ฟัง รวมทั้งแบรนด์ไหนบ้างที่หยิบมาเล่น ‘เป็น’ ซึ่งเชื่อว่านักการตลาดควรที่จะได้เรียนรู้และนำมาศึกษาจากเคสนี้ได้

จุดกำเนิดเกิดจาก “ทวิตภพ”

สำหรับคนที่ไม่ได้ติดตามแต่ต้นต้องขออนุญาตท้าวความให้ทราบอีกครั้ง ที่มาของไวรัลนี้มาจากใน Twittier หรือที่ชาวเน็ตไทยเรียกด้วยชื่อเล่นน่าหยิกว่า “ทวิตภพ” หรือ ทวิตเตอร์แลนด์ ดินแดนที่กำเนิดของประเด็นไวรัลต่างๆ มากมาย มีความไวแล้วยังข้ามมาสร้างกระแสในแพล็ตฟอร์มอื่นได้อีกด้วย (เป็นหนึ่งในโซเชียลมีเดียสำคัญที่ตอนนี้ถ้าแบรนด์หรือนักการตลาดคนไหนมองข้ามถือว่าพลาดอย่างแรง)

mk-หมี่หยก2

เรื่องราวเกิดจากการที่เพื่อนกันเถียงกันบนทวิตเตอร์ว่า การกินหมี่หยกที่ร้าน MK ควรจะลวกก่อน หรือไม่ควรลวกก่อนดี (แค่นั้นจริงๆ แต่จะเลิกเป็นเพื่อนกันจริงหรือเปล่าไม่อาจทราบได้) แต่ประเด็นนี้กลับสร้างกระแสน่าสนใจให้กับบรรดาชาวทวิตภพทั้งหลาย จุดชนวนให้เกิดการแบ่งฝ่ายว่า ใครลวกหรือไม่ลวกก่อนทานบ้าง ใครเลยจะคาดคิดว่าแค่ประเด็นธรรมดาๆ แค่นี้ก็ทำให้เกิดการรีทวีตถึงเรื่องนี้สูงกว่า 127,000 ครั้ง ติดเทรนด์ฮิตไทยอันดับ 1 ก่อนที่จะตามมาด้วยการติดเทรนด์ฮิตโลก อันดับ 5 ด้วยการรีทวีตกว่า 20,100 ครั้ง พร้อมกับที่มีกระแสอื่นๆ พยายามเกาะมาด้วย เช่น #ทีมไม่ดื่มน้ำสิงห์ #ทีมไม่เกินถั่วงอก แต่นั่นก็ยังไม่อาจโค่นกระแส “หมี่หยก” ลงได้

หลายแบรนด์ไม่พลาดฉวยโอกาสสำคัญ

ของดีๆ แบบนี้ แถมไม่ได้ปั่นเองเสียด้วย แบรนด์ต้นเหตุของเรื่องจะปล่อยให้หลุดมือได้อย่างไร MK ใช้โอกาสนี้เล่นตามกระแสทันทีแถมตบท้ายฝากร้านด้วย “เป็ดย่าง” เมนูยอดฮิตของร้านอีกด้วย

mk-หมี่หยก3

แต่ทว่าหลายฝ่ายก็มองว่า เกือบจะสายเกินไปแล้วสำหรับ MK เพราะว่าจะรู้ตัวว่าต้องทำอะไร ก็นานเกือบ 10 ชั่วโมงไปแล้ว จนโดนเจ้าอื่นฉวยของตัวเองไปเล่นเสียเกือบหมดแล้ว

mk-หมี่หยก4

mk-หมี่หยก5

ไม่จำเป็นต้องตีเหล็กตอนร้อนเสมอไป

แต่ทว่าการชะลอหรือปล่อยให้กระแสไหลไปเรื่อยๆ อาจจะเป็นความตั้งใจของ MK หรือไม่?

หรือนั่นอาจจะเป็นกลยุทธ์หนึ่งของ MK ที่ต้องการฟรีมีเดียฟรีๆ ไปเรื่อย โดยการให้คนอื่นมาช่วยปั่นกระแสให้กับตัวเองก็เป็นไปได้

หากว่ากันตามตำรา ที่บอกว่า ถ้าต้องตีเหล็กต้องตีตอนร้อนๆ แต่หากมองในอีกมุมหนึ่ง ถ้า MK ฉวยเล่นแต่แรก โดดมาเล่นตั้งแต่กระแสร้อนๆ ก็อาจจะไม่มีกระแสถาโถมเท่านี้ ไม่มีใครหรอกที่อยากจะมาขุดดินสร้างบ่อน้ำมันให้กับคนอื่น ดังนั้น การออกตัวเร็วเกินไป อาจจะเป็นการปิดฉากไวรัลเร็วจนไม่มีใครอยากพูดถึงต่อ ดังนั้น หากมองอีกแง่หนึ่ง ถ้า MK ปล่อยให้กระแสไหลไปสักพัก ปล่อยให้ชาวเน็ตและแบรนด์อื่นๆ ได้สนุกสนานไปกับการสร้างประเด็นให้กับโปรดักส์ตัวเอง มาขุดดินหน้าบ้านช่วยสร้างบ่อน้ำมันให้ตัวเองก็อาจจะไม่ต้องเปลืองแรงหาน้ำมันเองก็เป็นไปได้ ฉะนั้น ปล่อยให้มันอิ่มตัวเต็มที่แล้วค่อยโดดมาคว้าผลประโยชน์ในตอนท้ายน่าจะสวยกว่า แถมเปลืองแรงน้อยกว่าอีกด้วย

5 บทเรียน สำหรับนักการตลาด

แล้วนักการตลาดอย่างเราเรียนรู้อะไรจากบทเรียนนี้กันบ้าง? เราได้สรุปมาเป็น 5 บทเรียนที่ได้จาก #ทีมลวกหมี่หยก และ #ทีมไม่ลวกหมี่หยก

  1. โซเชียลมีเดีย ยังคงสำคัญในการสร้างแบรนด์ คุณจำเป็นต้องตื่นตัวเสมอในทุกแพล็ทฟอร์ม และถ้าอยากเป็นแบรนด์ที่ Young and Trendy อยู่ตลอดTwitter คือแพล็ทฟอร์มที่คุณควรจะต้องมองก่อนเลยในห้วงนี้ ซึ่งอาจจะไม่ใช่ Facebook อีกต่อไปแล้ว
  2. ความไวสำคัญก็จริง แต่มากกว่านั้นคือ Creativity อย่างที่เราเห็นกันอยู่ว่าหลายแบรนด์โดดเข้าสู่กระแส แต่เพียงแค่ความไวในการเล่นยังไม่พอ ความคิดสร้างสรรค์ การปั่นให้คอนเทนต์ตัวเองโดดเด่นน่าสนใจแล้วยังเกิดเป็นบทสนทนาต่อไปได้จะสร้างให้คุณมีตัวตนท่ามกลางกระแสได้มากกว่าแค่โดดเข้าสู่กระแส
  3. Timing สำคัญ อย่างที่กล่าวว่า บ้างก็มองว่า MK ช้าเกินไป แต่อย่างที่เราได้วิเคราะห์ไว้ว่าหากเจ้าแบรนด์ลงมาเล่นเองแต่ต้น ก็ทำให้บทสนทนาจืดลงทันที แถมยังอาจโดนหาว่าเป็นผู้ปั่นกระแสเองมากกว่าเป็นออแกนิค ดังนั้น เรื่องของจังหวะเวลาจึงสำคัญ เล็งให้ถูกว่าควรลงมาเล่นตอนไหน
  4. สร้าง Brand Loyalty ได้ทันที ต้องไม่ลืมว่า #ทีมลวกหมี่หยก และ #ทีมไม่ลวกหมี่หยก (หรือเคสอื่นๆ) พวกเขาคือคอนซูเมอร์ที่ภักดีต่อแบรนด์ของคุณ คว้าเขามาเป็นพวก อาจจะเป็นการฉวยจังหวะจัดอีเวนท์ให้คน 2 กลุ่มนี้ก็ยังได้ ทำให้เห็นว่าเราฟังเสียงของแฟนคลับเสมอ แล้วพร้อมที่จะตอบแทนพระคุณในการเป็นลูกค้าชั้นดีด้วย มิหนำซ้ำอาจจะทำให้ลูกค้าคนอื่นๆ อยากจะมาเป็นสาวกของแบรนด์คุณบ้างก็ได้
  5. หลังเป็นกระแสแล้ว (ไม่ว่าจะเป็นความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ) สิ่งสำคัญที่ตามมาคือ การต่อยอดหลังจากนั้น (Extension) จะทำอย่างไรให้สิ่งที่จุดติดแล้วสานต่องานของมันไปเรื่อยๆ นำผลประโยชน์นั้นมาสร้างของดีต่อไปให้แบรนด์อีก ทำอย่างไรให้กลายเป็นจุดขายสำคัญต่อไปเรื่อยๆ ได้ นั่นคือโจทย์ต่อไปที่นักการตลาดที่ดีจะต้องคิด

ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลการวิเคราะห์ที่สามารถนำไปเป็นบทเรียนในการปรับใช้ได้กับแบรนด์ของคุณ ในยุคที่หลายแบรนด์เข้าใจการทำ Realtime Marketing ตามกระแสมากขึ้นแล้ว ดังนั้น บางทีอาจจะหมดเวลาในการลองผิดลองถูกอีกต่อไป แต่ต้องลุกขึ้นมาทำอย่างแข็งขันและสร้างสรรค์มากขึ้น

Copyright MarketingOops


  • 2.6K
  •  
  •  
  •  
  •