ธ.กรุงไทย ชี้แจงแล้ว กรณีแอปฯ ‘เป๋าตัง’ ขอสิทธิ์เข้าถึงข้อมูล ‘ไม่ยินยอม’ ได้ – ชาวเน็ตแนะวิธีเลี่ยง

  • 2
  •  
  •  
  •  
  •  

จากกรณี แอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง”  มีการอัพเดทเวอร์ชั่นใหม่ โดยหลังจากอัพเดทแล้วแอปฯ จะขออนุญาตผู้ใช้ในการแชร์ข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้กับหน่วยงานอื่น รวมถึงกับบริษัทในเครือของธนาคารกรุงไทยด้วย ซึ่งปรากฏว่า หากผู้ใช้ไม่ยินยอมก็จะไม่สามารถใช้งานแอปฯ เป๋าตัง ได้ สร้างความวิตกกังวลแก่ผู้ใช้งาน โดยเกรงว่าจะถูกนำข้อมูลไปใช้งานที่ไม่ถูกต้องหรือถึงขั้นนำข้อมูลไปขาย และทำให้หลายคนไม่กล้าอัปเดท ล่าสุด ทางธนาคารกรุงไทย ได้ออกมาชี้แจงกรณีดังกล่าวแล้ว

 

กรณีที่ธนาคารได้อัพเดตแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” เวอร์ชั่นล่าสุด โดยให้ผู้ใช้งานให้ความยินยอมเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลนั้น ธนาคารขอเรียนชี้แจงดังนี้

 

1.แอปฯ “เป๋าตัง” เวอร์ชั่นใหม่ กำหนดให้ผู้ใช้งาน “ให้ความยินยอม” เรื่องข้อมูลส่วนบุคคล ในข้อ 1 และ ข้อ 2 ซึ่งเป็นการนำข้อมูลไปใช้ในการแจ้งข้อมูลข่าวสาร ผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคาร กลุ่มธุรกิจการเงินและพันธมิตร และนำข้อมูลไปใช้ในการวิเคราะห์ได้ เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) โดยข้อมูลส่วนนี้ธนาคารใช้เพื่อวิเคราะห์ พัฒนา ผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานแอปฯ เป๋าตัง

อย่างไรก็ตาม หากผู้ใช้งาน “ไม่สะดวก” ให้ความยินยอม สามารถเลือก “ไม่ยินยอม” ได้ โดยไม่กระทบกับการใช้งานแอปฯ เป๋าตัง แต่อย่างใด และธนาคารจะพัฒนาระบบเพื่อให้ผู้ใช้งานที่เลือกให้ความยินยอมไปแล้ว สามารถยกเลิกในส่วนนี้ได้ เพื่อลดความกังวลของผู้ใช้งาน

 

​2.การให้ความยินยอมเปิดเผยข้อมูลในข้อ 3 เพื่อใช้ในการตรวจสอบยืนยันตัวตนในการเข้าร่วมโครงการภาครัฐ ซึ่งมีอยู่ในแอปฯ เป๋าตังเวอร์ชั่นเดิมอยู่แล้ว ส่วนนี้ผู้ใช้งานที่ต้องการจะเข้าร่วมโครงการภาครัฐ ควรพิจารณาเลือก “ให้ความยินยอม” เนื่องจากต้องมีการตรวจสอบยืนยันตัวตนก่อนจะเข้าร่วมโครงการภาครัฐ เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ และทุจริตในโครงการภาครัฐ

​สำหรับผู้ใช้งานที่ “ไม่ยินยอม” จะไม่สามารถเข้าร่วมโครงการภาครัฐได้ เพราะจะไม่สามารถทราบได้ว่าท่านคือบุคคลผู้มีสิทธิตามแต่ละเกณฑ์ของรัฐจริงหรือไม่

 

วิธีเลี่ยงไม่ให้ข้อมูลทั้งหมดแก่แอปฯ “เป๋าตัง”

อย่างไรก็ตาม มีผู้แชร์ในอินเตอร์เน็ตว่า สำหรับวิธีหลีกเลี่ยงแชร์ข้อมูลส่วนตัวให้กับแอปฯ “เป๋าตัง” เวอร์ชั่นใหม่ ว่า สามารถที่จะเลี่ยงได้โดยการกดรับยินยอม เพียงแค่ข้อ 3 ข้อเดียวก็ได้ เพื่อเป็นการยืนยันตัวตนของผู้ใช้งานเท่านั้น ส่วนสองข้อแรก ให้กดไม่ยินยอม

แต่หากว่าผู้ใช้งาน ได้กดยินยอมทั้ง 3 ข้อไปแล้ว ชาวเน็ตแนะนำว่า สามารถเข้าไปแก้ไขเป็นไม่ยินยอมในแอป Krungthai NEXT ของธนาคารกรุงไทย โดยเข้าไปในฟังก์ชั่น “ตั้งค่า” จากนั้นเลือก จัดการความเป็นส่วนตัว แล้วเลือกความยินยอมตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนตัว จากนั้นเลือก ไม่ยินยอมวัตถุประสงค์ที่ 1, 2 และเลือกยินยอม ข้อ 3 ก็จะช่วยให้การเข้าถึงข้อมูลอยู่ในวงจำกัด


  • 2
  •  
  •  
  •  
  •  
pigabyte
การเรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้น มาเรียนรู้และสนุกไปกับบทความ จาก MarketingOops! กันนะคะ แล้วเราจะได้ค้นพบว่าโลกของ Marketing นั้น So Sexy and Cool!
CLOSE
CLOSE