MarTech [Special Episode COVID-19] วิถีชีวิตไหน จะเป็น “New Normal” หรือ “Old Normal” กันแน่ ?!

  • 5.7K
  •  
  •  
  •  
  •  

ในช่วง 2 – 3 เดือนมานี้ คำว่า New Normal” หรือ “ความปกติใหม่” เป็นหนึ่งในคำที่ถูกพูดถึงกันในวงกว้าง เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภค หรือวิถีชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไป อันเป็นผลมาจากสถานการณ์ COVID-19” ที่เป็นทั้ง “ตัวเร่ง” ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น หรือเป็น “ตัวสร้าง” พฤติกรรม หรือวิถีชีวิตใหม่ๆ จนสิ่งนั้นกลายเป็น “ความปกติ” หรือ “ความคุ้นชิน” ของชีวิตประจำวัน

แต่ภายใต้ New Normal มากมาย ในอีกมุมหนึ่งผู้คนก็ยังแสวงหา Old Normal” หรือวิถีชีวิตแบบเดิมๆ ที่เคยเป็นมา เช่น เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาด บริษัทต่างๆ ออกนโยบายให้ Work From Home โดยทำงานผ่านเทคโนโลยี ทว่าเมื่อผ่านไปสักพัก หลายคนอยากกลับไปทำงานที่ออฟฟิศ

หรือในขณะที่คนหันมาช้อปปิ้ออนไลน์ และสั่ง Food Delivery มากขึ้น แต่เมื่อภาครัฐคลาย Lockdown บางส่วน คนอยากไปเดินช้อปปิ้งที่ห้างสรรพสินค้า – ศูนย์การค้า ออกไปรับประทานอาหารที่ร้าน

Marketing Oops! Podcast รายการ MarTech : Consumer Insights ดำเนินรายการโดย “คุณณัฐวีร์ ณีว มาวิจักขณ์” และ “คุณแพน จรุงธนาภิบาล” จาก GroupM จะพาไปค้นคำตอบว่า วิถีชีวิตไหน จะเป็น “New Normal” หรือ “Old Normal” กันแน่ ?! และนักการตลาด ควรจับโอกาสในพฤติกรรม – วิถีชีวิตของผู้บริโภคอย่างไร

 

COVID-19 สร้างผลกระทบชีวิตคนไทย 3 ด้านสำคัญ

จากสถานการณ์ของ COVID-19 เข้าสู่ประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงกุมภาพันธ์ และมีนาคมที่สถานการณ์การแพร่ระบาดในไทยเริ่มรุนแรงขึ้น ทำให้ภาคประชาชนตื่นตัว และในที่สุดนำไปสู่การที่ภาครัฐประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา พร้อมทั้งได้ Lockdown ทำให้บางประเภทกิจการ – บางสถานที่ต้องปิดชั่วคราว และขอความร่วมมือให้ประชาชน Social Distancing รวมทั้งองค์กรต่างๆ ใช้นโยบายให้พนักงาน Work From Home เพื่อลดการออกมาข้างนอก

จากเหตุการณ์เหล่านี้ ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนไทยใน 3 ด้านหลักคือ

  1. การใช้ชีวิตประจำวันเปลี่ยนไป สืบเนื่องมาจากต้อง Social Distancing และอยู่กับบ้านมากขึ้น ทำให้คนต้องใช้ชีวิตอยู่บน Online Platform แทน เช่น ทำงาน, การเรียน, การจับจ่าย, รับชมความบันเทิง
  2. กังวลด้านรายได้ และการใช้จ่าย จะเห็นได้ว่า Purchasing Power ของผู้บริโภคในช่วงนี้ลดลง โดยผู้บริโภคจะซื้อของที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน เช่น สินค้าอุปโภคบริโภค ขณะเดียวกันลดการใช้จ่ายในสินค้าแฟชั่น – สินค้าฟุ่มเฟือย
  3. คนตื่นตัวด้านความปลอดภัย และสุขอนามัยมากขึ้น ยิ่งในช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดรุนแรงขึ้น สินค้าหน้ากากอนามัย และเจลแอกอฮอล์ กลายเป็นของหายาก

จะ New Normal หรือ Old Normal ?

อย่างไรก็ตามด้วยสถานการณ์ COVID-19 เป็นเสมือนการบังคับให้ทุกคนต้องมีวิถีชีวิตแบบ New Normal ทำให้คนเราต้องปรับตัว แต่พบว่าบางกิจกรรมในชีวิตประจำวันที่เป็น New Normal กลับทำให้หลายคนอยากกลับไปมีวิถีชีวิตรูปแบบเดิม ดังนั้นในที่สุดแล้วจะเป็น New Normal หรือ Old Normal กันแน่!  เช่น

– คนอยากกลับไปทำงานที่ออฟฟิศ หลังจากทำงานรูปแบบ Work From Home มาได้สักพัก พบว่าการทำงานจากที่บ้าน มีชั่วโมงการทำงานมากกว่าปกติ เพราะการทำงานบนระบบออนไลน์ เป็นการทำงานแทบจะเกือบ 24 ชั่วโมง

Work From Home จึงแตกต่างจากการมาทำงานที่ออฟฟิศ ที่เมื่อสิ้นสุดเวลางาน หรือกลับบ้าน ก็เป็นเวลาพักผ่อน ในขณะที่ Work From Home ทำให้ชั่วโมงการทำงานมากขึ้น ประกอบกับปัจจัยด้านสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้เกิดความกดดัน และความเหนื่อยล้ามากขึ้น ด้วยเหตุนี้เองทำให้คนเริ่มอยากกลับไปทำงานที่ออฟฟิศ ที่มี Working Hour ชัดเจน

– คนเริ่มออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านเหมือนช่วงปกติ หลังจากรัฐบาลเริ่มคลาย Lockdown ดังจะเห็นได้จากรถไฟฟ้ากลับมาแน่น หรือในช่วงปลด Lockdown ห้างสรรพสินค้า – ศูนย์การค้า คนแห่กันไปจนทำให้บางศูนย์การค้าฯ ต้องประกาศปิดให้บริการก่อน เนื่องจากต้องคุมปริมาณคนภายในศูนย์ฯ

หรือร้านกาแฟ คนเริ่มออกไป Check-in และโพสต์รูปกันแล้ว โดยมีทั้งคนที่ใส่ และไม่ใส่ Mask

– ภาคการศึกษา สถาบันการศึกษาเริ่มปรับตัว เปิดการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ ผ่านโปรแกรมต่างๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับข้อจำกัดบางประการ

เช่น ความพร้อมด้านอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ เพื่อเข้าถึงการเรียนออนไลน์, ความพร้อมของผู้สอน และความพร้อมของหลักสูตรที่ยังเป็นข้อมูลเก่า และรูปแบบการเรียนการสอนที่ไม่มี Interaction กัน ในขณะที่การเรียนออนไลน์ ทั้งผู้สอน และหลักสูตรต้องทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์กันระหว่างผู้สอน และผู้เรียน เหมือนกับเรียนอยู่ในห้องเรียนจริงๆ

เพราะฉะนั้นในช่วงแรกของ COVID-19 ในไทย มีทั้งคนที่กังวล – กลัว และคนที่ยังออกไปใช้ชีวิตปกติ แต่ช่วงพฤษภาคมเป็นต้นมา คนเริ่มออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น จนเกือบจะกลายเป็นเรื่องปกติ และรูปแบบวิถีชีวิตเดิมๆ กลับมา

จะเห็นได้ว่าวิถีชีวิตของคนในช่วงเวลานี้ ก่ำกึ่งระหว่าง New Normal และ Old Normal ในมุมของนักการตลาดจะต้องทำอย่างไรในการที่พฤติกรรม หรือวิถีชีวิตของคนอยู่ใน Grey Area เช่นนี้ ?!?

 

จับ “โอกาส” ในพฤติกรรม – วิถีชีวิตของผู้บริโภคที่ชัดเจนก่อน

เมื่อปัจจุบันมีการผสมปนเปกันทั้ง New Normal และ Old Normal ดังนั้นสิ่งที่นักการตลาดควรทำ คือ เริ่มต้องจับโอกาสจากสิ่งที่ชัดเจนก่อน นั่นคือ

– คนลดการใช้จ่าย สืบเนื่องมาจาก Confident Level หรือความมั่นใจของคนลดน้อยลง เพราะไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้น ทำให้เลือกที่จะประหยัดเงินไว้ก่อนดีกว่า และทุกๆ การใช้จ่าย คนจะคิดมากขึ้น เพราะฉะนันสิ่งที่นักการตลาดต้องทำ คือ ทำให้ผู้บริโภคมาใช้จ่ายกับแบรนด์ – สินค้าของเรา

โดยทำการตลาดตั้งแต่ช่วงใกล้เงินเดือนออก โดยใช้เทคโนโลยี และเครื่องมือดิจิทัลต่างๆ เพื่อทำให้เห็น Demand หรือ Insights ของผู้บริโภค ทำให้เมื่อเงินเดือนออก ผู้บริโภคจะเลือกซื้อสินค้าแบรนด์ของเรา

– เมื่อคนใช้ชีวิตอยู่บนออนไลน์มากขึ้น นักการตลาดสามารถใช้โอกาสนี้ ทำการตลาดแบบ Targeting เช่น ส่งโปรโมชั่นออนไลน์ไปยังคนที่กำลังสนใจสินค้านั้นๆ อยู่ หรือเลือกใช้ Influencer ที่มีอิทธพิลต่อผู้บริโภคใน Category ต่างๆ

– ขณะนี้คนเริ่มไปใช้จ่ายที่ Physical Store มากขึ้น โดยส่วนใหญ่ออกไปเพื่อผ่อนคลาย และเพื่อไปซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ส่วนนี้นักการตลาดควรมีกลยุทธ์สำหรับช่องทางการขายออฟไลน์ เพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคที่มาเดินในช้อปของแบรนด์เรา หรือมาเดิน Physical Store เห็นสินค้าของเราแล้ว อยากจับจ่าย

– ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร ไม่ควรพลาดโอกาสในช่องทาง Food Delivery

– ธุรกิจท่องเที่ยว ควรจับโอกาสคนไทยเริ่มเปลี่ยนวิธีการท่องเที่ยวของตนเอง เป็น Domestic Travel มากขึ้น และใช้วิธีเดินทางด้วยรถส่วนตัวมากขึ้น

เพราะถึงแม้สายการบินเริ่มกลับมาให้บริการในบางเส้นทางแล้ว แต่ยังคงต้องเข้มงวดมาตรการสุขอนามัย และเว้นระยะห่าง ทำให้จำนวนที่นั่งในแต่ละไฟลท์ลดลง ทำให้ต้นทุนการดำเนินธุรกิจสายการบินเพิ่มสูงขึ้น ย่อมส่งผลกระทบกับราคาค่าตั๋วต้องปรับเพิ่มขึ้นตามมา

อย่างไรก็ตามเวลานี้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวเตรียมความพร้อมกลับมาเปิดให้บริการแล้ว พร้อมทั้งอัดโปรโมชั่น เช่น ราคาที่พัก ดึงดูดใจให้คนกลับมาท่องเที่ยว

เพราะฉะนั้นในขณะที่สถานการณ์ COVID-19 ยังไม่รู้จะคลี่คลาย หรือสิ้นสุดลงเมื่อไร ต่อไปจะได้เห็นการขับรถท่องเที่ยวเองมากขึ้น เพราะผู้บริโภคมองว่าสามารถควบคุมความปลอดภัยด้านสุขอนามัยได้มากกว่า

 

สามารถติดตามรับฟัง Marketing Oops! Podcast
ผ่านทางช่องทางต่างๆ ได้ที่

Google Podcasts


  • 5.7K
  •  
  •  
  •  
  •  
Neil Pan
ณีว มาวิจักขณ์ ผู้บริหารแผนกพัฒนาและการตลาด กรุ๊ปเอ็ม ประเทศไทย นักวางแผนกลยุทธการสื่อสาร นักเดินทาง มีความหลงใหลในศิลปะการเก็บภาพโมเม้นท์ผ่านมือถือพอๆ กับการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค, แพน จรุงธนาภิบาล รองผู้อำนวยการ แผนกพัฒนาและการตลาด กรุ๊ปเอ็ม ประเทศไทย นักศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค นักการตลาด และผู้ชื่นชอบการวิ่งเป็นชีวิตจิตใจ