เปิดฐานค่าเหนื่อย ‘มนุษย์เงินเดือนไทย’ ปี 63 อาชีพไหนรายได้สูงสุด

  • 533
  •  
  •  
  •  
  •  

Salary Guide 2020 ที่จัดทำโดยบริษัท อเด็คโก้ ประเทศไทย HR Agency ที่ให้บริการทรัพยากรบุคคลแบบครบวงจร ได้เปิดเผยถึงอัตราเงินเดือนในสายอาชีพต่าง ๆ พบว่า ในปีนี้อาชีพที่มีเงินเดือนเริ่มต้นสูงสุดได้แก่ อาชีพในสาย IT ซึ่งเด็กจบใหม่มีเงินเดือนแตะที่ 40,000 บาทต่อเดือน

เมื่อเทียบกับเรทเงินเดือนเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ฐานเงินเดือนพนักงานออฟฟิศของเด็กจบใหม่มีการปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย จากเดิมเริ่มต้นที่ 9,000 บาท มาเป็น 12,000 บาท และสูงสุดที่ 40,000 บาท แต่หากดูภาพรวมโดยเฉลี่ยแล้วพบว่า ในปีนี้เด็กจบใหม่ส่วนใหญ่จะได้เงินเดือนราว 18,000 – 25,000 บาท

ส่วนอาชีพทำเงินสูงสุดสำหรับเด็กจบใหม่ใน 2563 ได้แก่ อาชีพ “Programmer/Software Developer” ที่มีเงินเดือนสูงสุดอยู่ที่ 40,000 บาท เนื่องจากเป็นสายงานที่มีความต้องการจากตลาดสูง หลายๆ องค์กรต่างก็ต้องการพัฒนาเว็บไซต์และแอปพลิเคชันเป็นของตัวเอง

ดังนั้น หากเด็กจบใหม่มีทักษะและความสามารถในการเขียนโปรแกรมได้ตรงตามที่องค์กรกำหนด สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี ก็มีโอกาสที่จะได้เงินเดือนเริ่มต้นสูงถึง 40,000 บาท หรืออาจมากกว่านั้น อย่างไรก็ตาม ก็ขึ้นอยู่กับโครงสร้างเงินเดือนของแต่ละองค์กรด้วย

รองลงมาในอัตราเงินเดือนสูงสุด 35,000 บาท ได้แก่ อาชีพ Sales Engineer, Project Coordinator, Personal Assistant, เลขานุการ, ล่ามภาษาญี่ปุ่น และตำแหน่งงานด้านการขายที่ใช้ภาษาญี่ปุ่น

ผู้บริหารระดับสูงเงินเดือนพุ่งทุกสาขา รับการปรับตัวสู่ Digital Transformation

ข้อมูลจาก Salary Guide 2020 ยังพบว่า ในปี 2563 เงินเดือนของผู้บริหารระดับสูงสูงเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในทุกตำแหน่ง ซึ่งมีสาเหตุมาจากสภาพการตลาดที่มีการแข่งขันสูง แต่ละองค์กรต่างต้องการคนเก่งในหลากสาขา เพื่อเข้ามากำหนดทิศทางการบริหารงาน และเปลี่ยนแปลงธุรกิจด้วย Digital Transformation แต่จำนวนของผู้บริหารระดับสูงในปัจจุบันยังอยู่ในสภาวะขาดแคลน (Talent Shortage) องค์กรจึงต้องเพิ่มค่าตอบแทนให้กับผู้บริหารระดับสูง เพื่อที่จะสามารถดึงดูดและเก็บรักษาผู้บริหารมือดีได้มากขึ้น

ข้อมูลนี้สอดคล้องกับเทรนด์โลกที่พบว่า ช่องว่างเงินเดือนระหว่างพนักงานระดับปฏิบัติการกับผู้บริหารมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในหลายประเทศ จากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล ที่ทำให้กลุ่มพนักงานระดับปฏิบัติการ ถูกทดแทนด้วยการใช้ระบบอัตโนมัติ ส่งผลให้เกิดภาวะแรงงานล้นตลาด

ขณะที่ ผู้บริหารมืออาชีพที่มีประสบการณ์สูงและมีทักษะทางด้านดิจิทัล กลับเกิดภาวะขาดแคลน ทำให้อัตราค่าตอบแทนของพนักงานในกลุ่มผู้บริหารพุ่งสูงขึ้น และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกว่างานในตำแหน่งอื่นๆ

เทรนด์การจ้างงานเปลี่ยน องค์กรเน้นรับพนักงานที่มีทักษะรอบด้าน

ธิดารัตน์ กาญจนวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทอเด็คโก้ ประเทศไทย กล่าวว่า ระดับเงินเดือนของแต่ละตำแหน่ง แต่ละอาชีพ เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงอุปสงค์และอุปทานของงานได้ดีอย่างหนึ่งว่า ตอนนี้ตลาดกำลังต้องการแรงงานในส่วนไหน และมีกำลังในการจ่ายค่าจ้างได้มากน้อยแค่ไหน

จากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน เราจะเห็นหลายองค์กรพยายามรัดเข็มขัด ลดต้นทุนในด้านต่างๆ มากขึ้น ซึ่งรวมถึงต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านทรัพยากรบุคคลด้วย องค์กรจะปรับตัวสู่การเป็น Lean Organization ที่บริหารโดยมุ่งเน้นการลดต้นทุนและเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้า

ดังนั้นแนวโน้มการจ้างงานในปัจจุบัน จึงมีการจ้างงานในรูปแบบฟรีแลนซ์เข้ามาผสมผสานกันมากขึ้นเพื่อลดรายจ่ายประจำของบริษัท ส่วนการจ้างงานในรูปแบบพนักงานประจำ องค์กรก็ต้องการพนักงานที่มีทักษะที่หลากหลายมากขึ้น นอกจากเหตุผลเรื่องความคุ้มค่าแล้ว ยังเป็นเพราะธุรกิจในปัจจุบันมีการ Disruption อยู่ตลอดเวลา องค์กรจึงต้องการพนักงานที่มีความรู้และทักษะรอบด้านเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการทำงานและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ

ยกตัวอย่างเช่น หากคุณทำงานในสายการตลาด นอกจากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในสายงานที่ต้องมีแล้ว ทุกวันนี้คุณยังจำเป็นต้องมีทักษะด้านดิจิทัล ทักษะด้านการออกแบบ และมีความรู้ความเข้าใจในงาน IT หรือ E-Commerce เพิ่มเติมด้วย

“ในอนาคตแนวโน้มของการกำหนดอัตราเงินเดือนจะขึ้นอยู่กับทักษะของผู้สมัครมากกว่าใบปริญญา เพราะความรู้ที่เรียนมาจะล้าหลังกว่าความรู้ในโลกการทำงานจริง ใบปริญญาจึงวัดอะไรไม่ได้ไม่มากนัก สิ่งสำคัญที่สุดคือคุณมีความรู้และทักษะที่เป็นที่ต้องการแค่ไหน ดังนั้นหากอยากก้าวหน้าในยุคนี้สิ่งสำคัญที่คนทำงานต้องมีคือการหมั่นเรียนรู้และพัฒนาทักษะอยู่เสมอ ทำให้องค์กรยอมจ่ายเงินเดือนที่สูงขึ้นและผลักดันคุณสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นในองค์กร”

 

*หมายเหตุ ตัวเลขเป็นภาพรวมอัตราเงินเดือนโดยประมาณ อาจมีบางตำแหน่งได้เงินเดือนต่ำกว่าหรือสูงกว่า ขึ้นอยู่กับทักษะความสามารถของผู้สมัครงาน สายอาชีพ และโครงสร้างเงินเดือนของแต่ละองค์กร


  • 533
  •  
  •  
  •  
  •  
CLOSE
CLOSE