Gen 40+ มาแรง แซงกลุ่ม Young Gen

  • 1
  •  
  •  
  •  
  •  

gen40Gen 40+ มาแรง แซงกลุ่ม Young Gen

  • สินค้าบริการปรับแผนส่งผลิตภัณฑ์เฉพาะกลุ่มสนองความต้องการ
  • กลุ่มบันเทิงระบุ โปรดักซ์หลายๆ ตัวที่ประสบความสำเร็จล้วนมาจากผู้บริโภคกลุ่มนี้ เหตุมีรายได้ การเก็บออม และแบรนด์ลอยัลตี้สูง
  • นักการตลาดเล็งอีก 7 ปี กลุ่มผู้บริโภค Gen 40+ จะโตเพิ่มขึ้นอีก 30%

การแข่งขันที่รุนแรงของสินค้าวัยรุ่น โดยเฉพาะกลุ่ม Generation ใหม่ ทั้ง X และ Y หรือกลุ่ม Hip ทำให้บรรดาสินค้าและบริการหลายๆ ประเภทต้องหันไปเปิดตลาดกับผู้บริโภคกลุ่มใหม่ ทำให้กลุ่ม Gen 40+ หรือกลุ่มผู้บริโภคที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ถูกหยิบขึ้นมาเป็นเป้า ด้วยเหตุที่คนกลุ่ม ส่วนใหญ่เคยมีประสบการณ์ในการใช้สินค้าและบริการของสินค้าบางแบรนด์ ในช่วงที่เป็นวัยรุ่นมากก่อน อีกทั้ง Gen 40+ ส่วนใหญ่อยู่ในฐานะของคนทำงาน และเจ้าของธุรกิจ ที่มีรายได้สูงพอสมควร

แกรมมี่เกาะติดคนวัยเลข 4 ชี้ ‘แฟนฉัน – กรีนเวฟ’ คือความสำเร็จสุดยอด

ช่วงเวลา 20-30 ปี ที่ผ่านมาของคนที่อยู่ในช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไปในวันนี้ ยังมีความทรงจำอยู่กับแบรนด์สินค้าหลากหลายที่คนรุ่นต่อๆ มาอาจไม่รู้จัก ยาสีฟันเปปโซเดนท์, แชมพูทิมโมเท ร้านไอศกรีมศาลาโฟร์โมสต์ หรือโรงภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด เช่นเดียวกับศิลปินนักร้องยอดนิยมในวันนั้น เต๋อ เรวัติ พุทธินันท์, แจ้ ดนุพล แก้วกาญจน์, พุ่งพวง ดวงจันทร์ ที่เสียงเพลงของเขายังคงแว่วอยู่ในหูของคนในวัย 40 อัพ คนกลุ่มนี้จึงเป็นตลาดที่สำคัญยิ่งอีกตลาดของค่ายเพลงอันดับ 1 เมืองไทย จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่

อายุขององค์กรบันเทิงแห่งนี้ หากถอยหลังไปในวันเริ่มต้นเมื่อ 25 ปีก่อน ก็ไปจวบกับช่วงวัยทีนของคนวัย 40 ในวันนี้ จึงอาจกล่าวได้ว่า จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ หรือแกรมมี่เอ็นเตอร์เทนเม้นต์ในวันนั้น เติบโตมาพร้อมกับคนกลุ่มนี้ก็ไม่ผิดนัก นักร้องรุ่นบุกเบิกของแกรมมี่ อย่าง นันทิดา แก้วบัวสาย, ฐิติมา สุตสุนทร, บิลลี่ โอแกน คริสติน่า อากีลาร์, ใหม่ เจริญ ปุระ หรือแม้แต่เจ้าของค่าย อย่าง เรวัติ พุทธินันท์ ล้วนแต่เป็นไอดอลของชาวโฟร์ตี้ จึงไม่น่าแปลกใจนักที่จนถึงวันนี้ ‘อากู๋’ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด(มหาชน) ยังไม่เคยลบคนกลุ่มนี้ออกจากเป้าหมายธุรกิจของบริษัทเลย Baby Boomer หรือ Vintage หรือ Retro ล้วนเป็นชื่อเรียกกลุ่มเป้าหมายกลุ่มนี้ ที่แกรมมี่ตั้งขึ้นมา

ต้นปี 2550 หลังจากจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความตกต่ำ พฤติกรรมการบริโภคความบันเทิงของคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไป ยอดขานสินค้า Physical ทั้งเทปเพลง ซีดี ดีวีดี ตกลง ไฟล์เพลง การดาวน์โหลดเติบโตขึ้น โดยที่ค่ายเพลงนำสินค้าของตนวิ่งตามไม่ทัน ปล่อยให้ผู้บริโภคเสพความบันเทิงโดยการละเมิดลิขสิทธิ์ เมื่อไพบูลย์เริ่มปรับทิศทางองค์กรได้ หันมาทำการตลาดในรูปแบบ ไลฟ์สไตล์ มาร์เก็ตติ้ง แบ่งกลุ่มลูกค้าเป้าหมายออกเป็น 4 กลุ่มหลัก เจาะตลาดตั้งแต่เด็กอายุ 9 ขวบ ไปจนถึงกลุ่ม Baby Boomer ที่มีช่วงอายุตั้งแต่ 40 จนถึง 59 ปี

ไพบูลย์กล่าวว่า ผู้บริโภคในกลุ่ม Baby Boomer เป็นผู้ไม่ถนัดในเทคโนโลยีการฟังเพลงสมัยใหม่ที่เปลี่ยนเป็นการดาวน์โหลด การออนไลน์ แต่ยังคงบริโภคผ่านช่องทางออฟไลน์ ซื้อสินค้า Physical เป็นกลุ่มเป้าหมายของสินค้าซีดี วีซีดี ดีวีดี ไปจนถึงโชว์บิซทั้งคอนเสิร์ต และทอล์กโชว์

ในเวลาต่อมา จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ตั้งชื่อโปรดักส์ที่จะนำเสนอคนกลุ่มนี้ว่า Vintage เป็นเหมือนเหล้าองุ่นที่ใช้เวลาหมักบ่ม จนเป็นไวน์คุณภาพดี นำเสนอต่อกลุ่มเป้าหมายที่มีกำลังซื้อ มีแบรนด์ ลอยัลตี้สูง และส่วนใหญ่มีศิลปินในดวงใจที่ตนเป็นแฟนคลับมายาวนาน ไม่สนใจสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ราคาถูก แต่ใช้แต่สินค้าของจริง และพร้อมจะควักกระเป๋าซื้อสินค้าพรีเมียมของศิลปินที่ตนชื่นชอบ มีการผลิตอัลบั้มเฉพาะกิจ หรือนำอัลบั้มเก่าๆ ของศิลปินในอดีตมาทำแพ็คเกจใหม่ เช่น ผลงานรวมอัลบัมเรวัติ พุทธินันท์ และรวมอัลบัม อัสนี-วสันต์ โชติกุล รวมไปถึงการจัดคอนเสิร์ตของศิลปินรุ่นเก่า อาทิ คอนเสิร์ต ปั่น ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว กับ ชรัส เฟื่องอารมณ์ และล่าสุดคอนเสิร์ต Burn ของ 2 สาวเคยฮอต คริสติน่า อากีเลร่า และใหม่ เจริญปุระ

เกรียงกานต์ กาญจนะโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ ในฐานะกรรมการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า กลุ่มเป้าหมายอายุ 40 ขึ้นไป ถือเป็นกลุ่มที่สร้างรายได้ให้กับจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่อย่างมากมาโดยตลอด เพราะเป็นกลุ่มที่เติบโตขึ้นมาพร้อมกับแกรมมี่ และวันนี้ส่วนใหญ่จะทำงานอยู่ในระดับ Middle Management หรือสูงถึงระดับ Management มีบทบาทในสังคม ซึ่งหากจะมองไอดอลของคนกลุ่มนี้คือ นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

‘โปรดักส์ที่ประสบความสำเร็จหลายตัวของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ล้วนทำมาเพื่อเซิร์ฟคนกลุ่มนี้ ภาพยนตร์ไทยเรื่องแฟนฉัน ที่ทำรายได้ถล่มทลาย ก็เป็นเรื่องที่เล่าถึงอดีตของคนในวัยนี้ คลื่นวิทยุยอดนิยม กรีนเวฟ ก็เป็นคลื่นเพลงของคนที่อยู่ในกลุ่มอายุขนาดนี้ คอนเสิร์ตแบบเบิร์ด เบิร์ด บัตรราคา 5,000 บาท ก็เจาะตลาดคนกลุ่มนี้ และที่สำคัญคนกลุ่มนี้ที่วันนี้กลายเป็นหัวหน้าครอบครัว มีลูก มีหลาน ดูคอนเสิร์ตแต่ละครั้งก็จะไม่มาคนเดียว แต่พาคนในครอบครัวมาด้วย 3-4 คน รวมแล้วใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 20,000 – 30,000 บาท ต้องบอกว่าเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อน่าสนใจมากในวันนี้’

เกรียงกานต์กล่าวว่า กลุ่มคนอายุ 40 ปีนี้ เป็นที่สนใจของนักการตลาดมาโดยตลอด แต่ที่ผ่านมาอาจยังไม่สามารถพัฒนาสินค้ามาเพื่อรองรับคนกลุ่มนี้ได้อย่างชัดเจนเหมือนเช่นในวันนี้ แต่แม้กลุ่มนี้จะเป็นผู้ที่มีกำลังซื้อสูง ก็ยังมีข้อควรพิจารณาสำคัญในการจะนำสินค้าเจาะคนกลุ่มนี้ คือ การเป็นคนที่ตัดสินใจด้วยเหตุผลมากกว่าอารมณ์ความรู้สึกเหมือนสินค้าในกลุ่มวัยรุ่น มีความชื่นชอบ แต่ถ้าไม่ได้ซื้อ หรือไม่ได้ชมก็ได้ ไม่รู้สึกอะไร ต่างจากวัยรุ่นที่หากมีผลงานของศิลปินที่ชื่นชอบ ต้องหาซื้อมา หรือต้องหาบัตรเข้าชมการแสดงให้ได้ ดังนั้นการเลือกโปรดักส์ที่จะเจาะเข้าหาคนกลุ่มนี้ต้องมั่นใจว่าเป็นที่ต้องการ และมีคุณภาพอย่างแท้จริง

‘อินเด็กซ์ฯ ก็เคยประสบความสำเร็จในการจัดคอนเสิร์ตเจาะกลุ่มคนในวัยตั้งแต่ปลาย 30 ขึ้นไปจนถึง 40 ปี โดยเลือกนิติพงษ์ ห่อนาค มาเป็นศิลปิน เนื่องจากมั่นใจว่า เป็นที่สนใจของกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง ในการเป็นนักเขียนเพลงอันดับ 1 ของเมืองไทย มีผลงานเพลงที่อยู่ในความทรงจำของคนในรุ่นนี้มากมาย ผลที่ออกมาคือ กลุ่มเป้าหมายจูงลูก จูงหลาน ซื้อบัตรเข้าชมใบละ 2,000 บาท เดินทางไปถึงฟาร์มโชคชัย นครราชสีมา ต้องนอนค้างคืนที่นั่น รวมแล้วแต่ละครอบครัวจะจ่ายไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท เป็นกรณีศึกษาว่า หากนำเสนอโปรดักส์ที่ดี มีคุณภาพ และตรงความต้องการของคนในกลุ่มนี้อย่างแท้จริง ก็จะสามารถสร้างความสำเร็จได้เป็นอย่างดีแน่นอน’ เกรียงกานต์กล่าว

ฟลูโอคารีล ‘Segment By Age’ บุกตลาดยาสีฟัน จับคนวัย 40 ปี

แม้แต่สินค้าหมวดยาสีฟันก็มีการแตกเซกเมนต์ โดยใช้ ‘อายุ’ มาเป็นเกณฑ์ในการแบ่งตลาดด้วย ซึ่งแบรนด์ฟลูโอคารีลนับเป็นผู้เล่นรายแรกที่โดดเข้าสู่ตลาดนี้อย่างเต็มตัว ด้วยการเปิดตัว ‘ฟลูโอคารีล 40 พลัส’ ยาสีฟันที่ใช้เวลาพัฒนานานกว่า 3 ปี เพื่อตอบโจทย์คนวัย 40 ปีเมื่อปีที่ผ่านมา ที่เป็นเช่นนี้ พนิดา วัฒนาปฐิมากุล ผู้จัดการแผนกผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภค บริษัท ดีทแฮล์ม ผู้ได้รับไลเซ่นส์ให้ทำตลาดในเมืองไทย อธิบายถึง ที่มาที่ไปของยาสีฟันสูตรนี้ว่า บริษัทต้องการสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง พร้อมกับหาจุดยืนที่ชัดเจนและแข็งแกร่งให้แบรนด์

ทั้งที่ผ่านมา ตลาดยาสีฟันในบ้านเราจะแบ่งตาม ‘คุณสมบัติของยาสีฟัน’ คือ ยาสีฟันครอบครัว 26% ไวท์เทนนิ่ง 6% เด็ก 3% เซนซิทีฟ หรือแก้เสียวฟัน 7% กลุ่มเฮอร์เบิล หรือสารสกัดจากธรรมชาติ 26% และกลุ่มเพื่อลมหายใจหอมสดชื่น 31% ตามมาด้วย การแบ่งเซกเมนต์ตาม ‘ช่วงเวลา’ เช่น ยาสีฟันสำหรับแปรงก่อนนอน โดยมี ‘เดนทิสเต้’ เป็นผู้เล่นที่เข้ามาจุดพลุเป็นแบรนด์แรก จากนั้นไม่นานก็มีคู่แข่งให้ความสนใจโดดขึ้นสังเวียนตามมาด้วย คือ ‘อะโลเด้นท์’ ยาสีฟันสัญชาติอังกฤษ ซึ่งค่ายเอชทู

ฉะนั้น หากฟลูโอคารีลต้องการสร้างความแตกต่างและเป็นรายแรกที่เปิดตลาด แน่นอนว่า ‘อายุ’ คือ เงื่อนไขในการสร้างเซกเมนต์ใหม่ที่น่าสนใจเลยทีเดียว โดยครั้งนี้ฟลูโอคารีลเลือกวางโพซิชันนิ่งแบรนด์เป็นยาสีฟันสำหรับคนวัย 40 ปี แม้ผลการสำรวจพบว่า ผู้บริโภควัยตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไปมีโอกาสพบปัญหาในช่องปากสูง ทั้งเรื่องอาการเสียวฟัน สุขภาพเหงือก กลิ่นปาก หรือแม่แต่ฟันผุที่มีโอกาสกลับมาฟันผุเพิ่มขึ้น 34% แต่ฟลูโอคารีล กลับเลือกผูกแบรนด์ไปกับคนอายุ 40 ปีขึ้นไป แทนที่จะเลือกคนวัย 30 ปี ทั้งนี้เพราะผู้บริหารแบรนด์นี้ได้พบพฤติกรรมสำคัญที่ว่า ผู้หญิงไม่อยากยอมรับว่าตนเองมีอายุเข้าสู่หลัก 3 และไม่ต้องการหยิบสินค้าที่บ่งบอกว่าสำหรับวัย 30 ปีขึ้นไป ขณะที่คนวัย 40 ปี จะให้การยอมรับในเรื่องดังกล่าวง่ายกว่า อีกทั้ง ลูกค้ากลุ่มนี้ยังใส่ใจสุขภาพตนเอง และศักยภาพในการใช้จ่ายสูง ซึ่งการกำหนดราคาสินค้าตัวนี้สูงกว่าสินค้าสูตรเดิมราว 40% จึงไม่เป็นปัญหาในการตัดสินใจซื้อ แต่เพื่อให้ได้ลูกค้าในวงกว้าง จะสังเกตได้ว่าฟลูโอคารีลยังส่งสารผ่านหนังโฆษณาว่า ผู้ที่มีอายุต่ำกว่าก็สามารถใช้ได้เพื่อป้องกันก่อนมีปัญหาสุขภาพในช่องปาก

‘ฟลูโอคารีลต้องการนวัตกรรมที่เราเป็นผู้ผลักดันเป็นรายแรก เพื่อสร้างโพซิชันนิ่งพร้อมหาพื้นที่ให้แบรนด์ระยะยาว ซึ่งวันนี้ฟลูโอคารีลต้องการพื้นที่ชัดเจนว่าเราเป็นยาสีฟันที่พัฒนาเพื่อคนวัย 40ปี’

ที่ผ่านมา ฟลูโอคารีล เป็นยาสีฟันที่ถูกจัดอยู่ในตลาดพรีเมียม ซึ่งมีผู้เล่นที่ชัดเจนเพียงไม่กี่ราย อาทิ เซ็นโซดายน์ พาราดอนแทค แต่ในช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าการแข่งขันของตลาดยาสีฟันกลุ่มพรีเมียม กำลังได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้เล่นหลายราย เพราะเป็นเซกเมนต์ที่มีการขยายตัวสูงถึง 10 – 15% มากสุดเมื่อเทียบกับเซกเมนต์อื่น แม้ตอนนี้ยาสีฟันระดับพรีเมียมจะมีสัดส่วนเพียง 15%จากตลาดยาสีฟันมูลค่า 5,200 ล้านบาทก็ตาม ที่สำคัญ ‘ราคา’ ไม่ใช่กลยุทธ์สำคัญของตลาดนี้ ต่างจากการแข่งขันในตลาดแมสที่พบว่า ‘ราคา’ คือ กลยุทธ์ที่ขาดไม่ได้

จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นผู้เล่นทั้งหน้าเก่ารายใหม่พยายามขยับขึ้นมาเล่นเซกเมนต์นี้มากขึ้น แม้แต่ ‘คอลเกต’ ยาสีฟันที่มีภาพลักษณ์เป็นสินค้าระดับแมส ต้องโหมปั้นกลุ่ม ‘โททอล 12’ เป็นหัวหอกในการเพิ่มส่วนแบ่งตลาด รวมทั้งขยายตลาดพรีเมี่ยมและซูเปอร์พรีเมี่ยม โดยชูจุดเด่นด้วยนวัตกรรมสูตรไตรโคลการ์ดที่พัฒนาร่วมกับทันตแพทย์ เพื่อตอบสนองลูกค้าที่ต้องการยาสีฟันที่เป็นมากกว่าการทำความสะอาดฟันทั่วๆไป

และนี่คือ สาเหตุสำคัญที่ฟลูโอคารีลต้องยอมทุ่มเม็ดเงินเพิ่มขึ้น 2 เท่า (เทียบกับสูตรเดิม) สำหรับการพัฒนานวัตกรรมตัวนี้ โดยหวังว่าจะเขยิบหนีและรักษาพื้นที่มั่นของตนเองให้ชัดเจน เพื่อไม่เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอย เมื่อครั้งที่ฟลูโอคารีลเป็นผู้เล่นในตลาดยาสีฟันรายแรกของโลกที่นำ ‘ฟลูออไรด์’ มาเป็นส่วนประกอบในยาสีฟัน จนเป็นที่ยอมรับและได้รับความนิยม แต่หลังจากที่คู่แข่งโดดเข้าสู่ตลาดนี้มากขึ้น ส่งผลให้โพซิชันนิ่งความเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านฟลูออไรด์ของฟลูโอคารีลถูกกลบไปโดยปริยาย

ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าติดตาม เพราะหากฟลูโอคารีลจุดพลุเซกเมนต์นี้ได้เหมือนเมื่อครั้ง ‘ฟลูออไรด์’ เชื่อว่า ผู้บริโภคบ้านเราคงมีโอกาสได้เห็นการแข่งขันที่ดุเดือดยิ่งขึ้นในเซกเมนต์นี้อย่างแน่นอน

ตลาดสุขภาพอายุ 40 บูม “ขุมทอง”ของรพ.เอกชน

สุภาษิตของชาวตะวันตกเชื่อกันว่า คนที่เข้าสู่ช่วงอายุ 40 ปีนั้นวัยนี้ จะมีความพร้อมทั้งหน้าที่การงาน วุฒิภาวะ รวมถึงฐานะที่มั่นคง แน่นอนว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีกำลังซื้อสูงและมีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆในโลกใบนี้

จากตัวเลขการคาดการณ์ประชากรของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า ในปี 2549 ชายไทยที่อายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปมีสัดส่วน 34.6% ของประชากรชายทั้งหมด , ปี 2550 สัดส่วน 35.5% , ปี 2551 สัดส่วน 36% และ ปี 2552 สัดส่วน 36.7% ซึ่งสัดส่วนประชากรชายที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปมีแนวโน้มเพิ่มสัดส่วนขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะในปี 2551กลุ่มผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป มีมากกว่า 23.4 ล้านคน เป็นตัวเลขที่ไม่น้อยเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรไทยทั่วประเทศกว่า 65 ล้านคน กลุ่มผู้บริโภควัยนี้จึงเป็นกลุ่มเป้าหมายที่เหล่าบรรดาสินค้าต่างๆ หมายปอง… แพ้กลุ่มสตรีวัย 30 ขึ้นไป

ถ้าลงลึกในพฤติกรรมกลุ่มผู้สูงอายุ จะพบว่าคนกลุ่มนี้มีกำลังซื้อเพราะเก็บออมมาทั้งชีวิต และยังเป็นลูกค้ากลุ่มเดียวที่มีแบรนด์ลอยัลตี้หรือความภักดีในตราสินค้า สูงกว่าทุกกลุ่ม และไม่ถูกโน้มน้าวด้วยโฆษณาหรือจูงใจด้วยเทรนด์เหมือนกลุ่มวัยรุ่น

ว่ากันว่าผู้บริโภคกลุ่มนี้มีกำลังซื้อสูง และใช้สินค้าจากความต้องการจริงๆ ไม่ใช่แค่เพียงแฟชั่นฉาบฉวยเหมือนกลุ่มวัยรุ่นซึ่งเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เมื่อใช้สินค้าใดแล้วมักจะใช้ต่อเนื่องคือมี แบรนด์ลอยัลตี้สูง สินค้าตัวใดที่สามารถจับกลุ่มนี้ได้จะได้ลูกค้าระยะยาว

ขณะเดียวกันสินค้าที่เหมาะกับกลุ่มนี้ ได้แก่ สินค้าด้านความงามและบุคคลิกภาพ เพราะในประเทศไทย ผู้ชายที่อยู่ในกลุ่ม เมโทรเซ็กซ์ชวล มีจำนวนไม่น้อย เห็นได้จากสินค้าต่างๆ ที่มีการเปิดตัวสินค้าสำหรับผู้ชายออกมามากมาย ซึ่งล้วนมาจากการวิจัยความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคทั้งสิ้น

นอกจากนี้ยังมีสินค้าด้านสุขภาพ ที่ถือว่าเป็นกระแสที่มาแรงมากในบ้านเรา และประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่ใส่ใจในเรื่องสุขภาพในขณะที่อายุยังน้อย ซึ่งวัย 40 ก็ถือว่าเป็นวัยที่ใส่ใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นบริการตรวจโรคในโรงพยาบาล ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือสินค้าอื่นๆ เช่น , ฟลูโอคารีล 40 พลัส (Fluocaril 40+) “วีซอย” นมถั่วเหลืองไฮแคลเซียม , แคลจี เป็นต้น คาดว่าอีก 7 ปีกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มนี้จะมีการเติบโตขึ้นอีก 30% จากปัจจุบัน ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

อย่างไรก็ตามผู้บริโภคกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เริ่มมีปัญหาของสุขภาพในด้านต่างๆ เนื่องจากผ่านการใช้งานมานาน และเริ่มเข้าสู่ภาวะการเสื่อมถอยทางด้านสุขภาพ ดังนั้น กลุ่มโรงพยาบาลจึงมองเห็นศักยภาพของตลาดวัย 40ที่ต้องการการดูแลสุขภาพมากขึ้น การจำแนกวัยของผู้ใช้บริการไม่เพียงแค่ กลุ่มเด็กและผู้ใหญ่เท่านั้น ถือว่าเป็นการแตกเซกเมนต์ตลาดใหม่ด้วย การเปิดตัวแคมเปญต่างๆของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนครั้งนี้ คาดว่าจะช่วยทำให้มีส่วนแบ่งการตลาดในช่องทางธุรกิจเพิ่มเป็น 7-8% ภายในสิ้นปีนี้ จากปัจจุบันมีอยู่ 4-5%เท่านั้น

ว่ากันว่ากลุ่มสมิติเวช เลือกกลยุทธ์ลดราคาและจัดแพ็กเกจแบบเหมาจ่ายมาใช้ ขณะที่ค่ายบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล มีการจัดโปรโมชันตรวจเช็กสุขภาพ เป็นวิธีการสร้างประสบการณ์และกระตุ้นลูกค้าใหม่ให้เกิดการใช้บริการแบบไม่ต้องลงทุน หรือแม้แต่โรงพยาบาลพญาไท 1 ยังยอมรับว่านับตั้งแต่ปี 2550-2551 คนไข้กลุ่มนี้เติบโตอย่างต่อเนื่อง 40-45% ขณะที่ไตรมาสแรกของปี 2552 นี้เติบโตอยู่ประมาณ 23 % และเพื่อกระตุ้นให้เกิดการทดลองใช้ในกลุ่มคนไข้ใหม่ ทางโรงพยาบาลจะชูจุดเด่นตรวจเช็กสุขภาพเป็นรายบุคคล หรือ Personalize Service ซึ่งมี 8 โปรแกรม เหมาะกับไลฟสไตล์ อาชีพ เพศ และวัยที่เข้าสู่ปีที่ 40

Source: ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์


  • 1
  •  
  •  
  •  
  •