เปิดอินไซต์ Skateboard จาก Street Culture สู่ธุรกิจสวนกระแส พยุงเศรษฐกิจช่วงตกสะเก็ด

  • 531
  •  
  •  
  •  
  •  

ตอนนี้ไม่ว่าไปที่ไหนก็เห็นว่ามีหลายคนหนีบเอาเจ้าแผ่นกระดานมีล้อไปชิลล์เอาท์ไปด้วยในหลายๆ ที่ แถมยังเป็นธุรกิจที่ทำรายได้ดี สร้างเงิน สร้างโอกาสให้หลายคนเป็นกอบเป็นกำ สวนกระแสแทบจะทุกธุรกิจในยุคโควิด-19 ครองเมืองไปแล้ว

เทรนด์ที่เรากำลังพูดถึงคงเป็นเรื่องอื่นไปไม่ได้นอกจาก Skateboard ซึ่งตอนนี้วัยรุ่นนิยมหันมาเล่นกันเป็นจำนวนมาก ทั้งรุ่นเล็ก และรุ่นใหญ่ ต่างก็หยิบจับเจ้าสเก็ตบอร์ดมาเล่นกันทั่วบ้านทั่วเมืองเต็มไปหมด และเนื่องจากความฮอตฮิตของมันนี่เอง เราเลยขอไปเจาะลึกในสไตล์ MarketingOops! ร่วมพูดคุยกับผู้ประกอบการ 3 ร้านดังที่เป็นทั้งเจ้าของแบรนด์ และเป็นผู้นำเข้าสเก็ตบอร์ดจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายในไทย ได้แก่ เจนชัย มนต์เลิศรัศมี หรือ “เจน” ตัวแทน ร้าน Preduce Skateboards, ธีร์รัฐ ว่องวัฒนะสิน หรือ “วิค” อดีตผู้ก่อตั้งแบรนด์แฟชั่น Vickteerut ปัจจุบันเป็นเจ้าของแบรนด์ V Activewaer และนำเข้าเสิร์ฟสเก็ต และ ณัฐภัทร ปัญญารัตนา หรือ “ไก่” เจ้าของแบรนด์ Dreg และ Second และยังเป็นเจ้าของกิจการ DIY SkateShop & SkatePark

 

ร้าน Preduce Skateboards – ยอดขายพุ่งมากกว่า 200-300%

“เจน” ตัวแทน ร้าน Preduce Skateboards ให้ความเห็นถึงสาเหตุของการที่คนนิยมสเก็ตบอร์ดมากขึ้นในช่วงนี้ว่า น่าจะเป็นเพราะ สถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่ปีที่แล้ว ก็คือคนไม่มีอะไรทำ Work from home เวลาว่างค่อนข้างเยอะขึ้น ก็เลยหากิจกรรมทำกันในช่วงอยู่บ้าน ซึ่งสเก็ตบอร์ดมาสามารถเล่นคนเดียวได้ หรือจะเล่นกับคนไม่กี่คนในครอบครัวได้ ซึ่งมองว่ากิจกรรมประเภทนี้อันที่จริงก็มีความ Social Distancing ค่อนข้างสูงอยู่เหมือนกัน ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลให้ยอดขายสเก็ตบอร์ดโตแบบพุ่งพรวด ทั้งหน้าร้านและออนไลน์

“ยอดขายดีขึ้นมากครับ สวนกระแสทุก Business ทุกอย่างเลย เหมือนแบบ ศูนย์ขึ้นไปถึง 200-300% เลย”

ซึ่งเจนเองก็มองว่า นอกจากผลของโควิดแล้ว บรรดาอินฟลูเอนเซอร์ ดารา หรือแม้แต่แพล็ตฟอร์มอย่าง TikTok ก็มีผลต่อความนิยมที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิง ที่เล่นมากกว่าเมื่อก่อนเป็นเท่าตัว

“ผู้หญิงก็หันมาเล่นมากขึ้นเพราะว่าดารามาเล่นมากขึ้น อย่างมี “เต้ย” (จรินทร์พร) มี “ไอซ์” (อภิษฎา) หรืออย่างผู้ชายก็มี “โจอี้ บอย” หรือ “โดม ปกรณ์ ลัม” จริงกลับมาเล่นกันเยอะมาก “พะแพง AF” ที่เป็นผู้หญิงก็เล่น เขาเห็นเขาก็เลยชอบ แบบว่าเราคิดว่าเราน่าจะเล่นได้ด้วยนะ มาลองเล่น ไม่น่ายาก”

นอกจากนี้ ความบูมของสเก็ตบอร์ด ยังช่วงสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างอาชีพเกิดใหม่เพิ่มขึ้นมากมาย เจน เล่าว่า เนื่องจากกระแสสเก็ตบอร์ดมันมาแรงมาก อย่าง Preduce บิสสิเนสโมเดลของเรา คือเราต้องการให้งานกับเด็กสเก็ต และให้เด็กสเก็ตทุกคนสามารถทำงานในสิ่งที่ตัวเองชอบได้ และมีรายได้ สามารถอยู่ได้อย่างจริงๆ ซึ่งช่วงที่ผ่านมา เราสามารถให้งานเด็กสเก็ตได้เพิ่มขึ้น เพราะว่าธุรกิจเราดีขึ้น ก็สามารถจ้างเด็กสเก็ตมาทำงานเพิ่มขึ้นได้เขาก็มีรายได้ที่ดีขึ้น ทำให้ ธุรกิจโดยรวมขอสังคมสเก็ตประเทศไทยจะโตขึ้นด้วยอย่างมาก

“สำหรับนักสเก็ตอาชีพปกติ ในประเทศไทย ก็จะมีรายได้ อยากบอกว่ามีรายได้สูงกว่ารายได้ขั้นต่ำแล้วกัน คืออยู่ได้สบายเลย”

 

และนอกจากจะทำให้รายได้ของนักเสก็ตมืออาชีพดีขึ้นแล้ว ยังเกิดการสร้างอาชีพอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็น อาร์ทติส ศิลปินที่ออกแบบดีไซน์บนแผ่นสเก็ต อาชีพช่างไม้ ที่มีรายได้ดีจากการทำแรมพ์ ทำโบว์ หรือแม้แต่ชั้นวางสเก็ตบอร์ด อาชีพรับสอนสะเก็ตก็ดีมากเช่นกัน

ล่าสุดกับ Chiropractor คือนักกายภาพบำบัด ที่จะมาช่วยดูแลจัดกระดูกให้กับนักสเก็ต หรือให้คำแนะนำว่าต้องวอร์มร่างกายอย่างไรเป็นต้น ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ธุรกิจสเก็ตบอร์ดกำลังบูม

 

V Activewear โดย “วิค ธีร์รัฐ” ดีมานด์ที่สูงพร้อมกันทั่วโลก ทุกที่ต่างแย่งของกันไปหมด

“วิค” จากอดีตผู้ก่อตั้งแบรนด์แฟชั่น Vickteerut ปัจจุบันเป็นเจ้าของแบรนด์ V Activewear และนำเข้าเสิร์ฟสเก็ต 2 ยี่ห้อดัง ได้แก่ Swelltech แบรนด์ดังจากสหรัฐฯ และ Shark Attack จากโปรตุเกส เล่าว่าเริ่มหันมาจากธุรกิจนี้ได้ก็เพราะเล่นกีฬานี้อยู่แล้ว เล่นมาประมาณ 3-4 ปี ซึ่งตอนนั้นยังไม่ฮิตในเมืองไทยเลย แต่ก็คิดว่ามันน่าจะดีเลยติดต่อขอเป็นตัวแทนจำหน่ายดู ซึ่งแต่ละตัวนั้นก่อนสั่งจะต้องทดสอบด้วยตัวเองก่อนทุกครั้ง

ส่วนสนนราคาของ 2 แบรนด์นี้ Shark Attack จะอยู่ที่ประมาณ 4,000-5,000 บาท ส่วน Swelltech อยู่ที่ประมาณ 12,000 – 15,000 บาท

สำหรับความแตกต่างระหว่าง สตรีทสเก็ตบอร์ดปกติ และเสิร์ฟสเก็ต มีความแตกต่างกันมากทีเดียว โดยสเก็ตบอร์ดปกติ ระบบล้อมันจะไม่เหมือนกันเสิร์ฟเสก็ต มันสามารถหมุนได้เยอะกว่า เพราะว่ามันใช้โมเมนตัมในการเหวี่ยงร่างกายเพื่อให้บอร์ดมันขยับ นอกจากนี้ สเก็ตบอร์ดปกติจะเล่นด้วยการกระโดด เล่นทริค ทำท่าต่างๆ มีความผาดโผนมากกว่าเสิร์ฟเสก็ต ซึ่งน่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้หญิงส่วนใหญ่นิยมเล่นเสิร์ฟเสก็ตมากกว่า นอกจานกี้ เสิร์ฟเสก็ต ต้นกำเนิดมันเกิดจากการที่คนเล่นเสิร์ฟบอร์ดในทะเล แล้วในช่วงที่ลงทะเลไม่ได้ก็อยากมาเล่นบนทบกแทน ดังนั้น สเก็ตสองตัวนี้จึงต่างกัน

ที่น่าสนใจคือ กระแสนิยมในสเก็ตบอร์ดไม่ได้มีแค่ในเมืองไทย แต่กลายเป็นว่ามันมีพร้อมกันหมดทั่วโลก กลายเป็นกระแสฮิตไปหมด ความต้องการในตลาดจึงมีสูงมาก แต่โรงงานซึ่งส่วนใหญ่ผลิตที่จีน กลับผลิตไม่ทันเพราะด้วยสถานการณ์โควิด นั่นจึงทำให้เกิดปัญหา มีดีมานด์ แต่ไม่มีสินค้าส่งให้ลูกค้า จึงไม่แปลกใจที่จะเห็นการทุ่มตลาดซื้อจากตัวแทนจำหน่าย ที่ต้องกว้านหาของให้ได้ แม้แต่ตัวแทนจากสหรัฐฯ เองก็ยังต้องยอมจ่ายมากกว่าเพื่อมาตามหาซื้อในเมืองไทยเลยด้วยซ้ำ

“พอโควิดมันบูม ดีมานด์ที่มันสูงพร้อมกันทั่วโลก มันก็เลยทำให้ทุกที่มันแย่งของกันไปหมด แต่ละที่ distributor ก็ได้ของมาน้อย โรงงานก็ผลิตได้น้อย เนื่องจากโควิดอีก โรงงานโดนปิด คือมันเป็นแบบนี้มันเชนรีแอคชั่นกันไปหมด”  

 

และจากปัญหาดังกล่าว ย่อมต้องส่งผลกับคุณภาพของสินค้า ซึ่ง “วิค” มองว่าถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ อาจส่งผลเสียต่อตลาดเสก็ตในอนาคต และไม่ดีกับผู้บริโภคอย่างแน่นอน

“อยากจะแนะนำคือ ให้ซื้อกับตัวแทนที่ถูกต้องดีกว่า อาจจะรอนานหน่อย แต่มันมีอาฟเตอร์เซลล์เซอร์วิสที่ดี ผมเห็นหลายๆ คนที่รับมาขายหรืออะไรก็ตาม หลายคนที่ไม่รู้จริงว่าเวลาเสียมันต้องแก้ยังไง อะไหล่ตรงนี้มันคือตรงไหนที่เอาซ่อมได้ ถ้าเกิดมันมีปัญหากับบอร์ดขึ้นมา คือผมคิดว่าตัวแทนคือคนที่รู้จริงและรับผิดชอบได้มากที่สุด เพราะว่าบอร์ดมันไม่ได้ราคาถูก ดังนั้น ถ้าซื้อกับตัวแทนแล้วมันมีคนที่เซอร์วิสด้วยได้จะดีกว่า”  

 

ร้าน DIY SkateShop & SkatePark ผลดีทั้งในเชิง Business  และในทาง Culture ด้วย

คุณไก่ เล่าว่า ร้าน DIY SkateShop & SkatePark และเป็นเจ้าของแบรนด์ Dreg และ Second เปิดมานานแล้วกว่า 10 ปี ซึ่งตอนนั้นความนิยมในการเล่นสเก็ตยังเป็นเฉพาะกลุ่มเล็กๆ อยู่ แต่ช่วงนี้บูมมาก แล้วก็ผู้คนทั้งเด็กเล็ก เด็กโต ผู้ใหญ่ ทุกช่วงวัย ทุกเพศเลย มาให้ความสนใจกับกีฬาประเภทนี้ จนงอกเงยออกมาเป็นธุรกิจหลายต่อหลายแบบในประเภทสเก็ตบอร์ด แตกออกมาเป็นได้ทั้งร้านค้า คอร์สสอนการเล่น หรือแม้แต่สนามกีฬาก็มีเพิ่มขึ้น

สำหรับธุรกิจของร้านในช่วงโควิดที่ผ่านมา อาจจะกระทบในส่วนของธุรกิจพาร์ก หรือสถานที่ให้เล่น เพราะต้องปิดตามนโยบายรัฐ แต่ในส่วนของอุปกรณ์เสก็ตบอร์ดกลับบูมขึ้นมากเลย ทั้งที่ขายหน้าร้านและขายออนไลน์ เรียกได้ว่าเติบโตประมาณ 6-7 หลักต่อเดือนเลยทีเดียว

ส่วนราคาของเสก็ตบอร์ดในปัจจุบัน นอกจากจะแบ่งตามประเภทแล้ว ก็ยังแบ่งไปตามรูปแบบของการซื้อด้วย ได้แก่ ประเภทที่เป็น Complete Set คือซื้อมาพร้อมเล่นได้เลย เหมาะกับคนที่เพิ่งเล่น ยังไม่มีความรู้เรื่องอุปกรณ์หรือส่วนต่างๆ ของบอร์ด ราคาก็ไม่ค่อยแรงมาก เริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 3,600-4,000 กว่าบาท ส่วนอีกแบบคือ Custom อันนี้ก็คือ ซื้อมาแล้วต้องมาประกอบเอง เหมาะกับคนที่ได้ศึกษามาระยะหนึ่งแล้ว ก็มีความต้องการว่าอยากได้สเป็กนั้นสเป็กนี้ คือเหมือนกับซื้อคอมพิวเตอร์มาประกอบเองเลย ราคาก็จะอยู่ที่ประมาณ 5,000 บาทขึ้นไป แล้วแต่อุปกรณ์ที่มาประกอบด้วยว่าดีขนาดไหน

ที่สำคัญคือ “ไก่” มองว่า การที่ธุรกิจสายสตรีทเข้ามาได้รับความนิยมในช่วงเศรษฐกิจซบเซา ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจมากๆ รวมไปถึงในแง่ของสังคมด้วย

“มันดีมากเลยการที่ ต้องพูดว่าสเก็ตบอร์ดก็ออกแนวสตรีทนิดนึง ก็เรียกว่าเป็นธุรกิจ Blue Ocean แต่ตอนนี้ก็ค่อนข้างเป็น Red Ocean เลยมีหลายต่อหลายเจ้าแข่งขันกัน ก็เป็นผลดีในเชิงธุรกิจและก็ในเชิง Culture ของสเก็ตบอร์ดด้วย เนื่องจากว่าเมื่อมันมีการแข่งขันสูงขึ้น ก็ทำให้เรามีผลิตภัณฑ์ที่ควอลิตี้สูงๆ เข้ามาเยอะมากขึ้นขึ้น มีกราฟฟิกที่ดีขึ้น มีอะไรต่อหลายอย่างดีขึ้น มันมีผลดีต่อในเชิงธุรกิจ และเป็นผลดีในทาง Culture ด้วย”


  • 531
  •  
  •  
  •  
  •  
pigabyte
การเรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้น มาเรียนรู้และสนุกไปกับบทความ จาก MarketingOops! กันนะคะ แล้วเราจะได้ค้นพบว่าโลกของ Marketing นั้น So Sexy and Cool!