เปิดที่มา Black Friday ที่มีประวัติความหมายแง่ลบ สู่เทศกาลลดกระหน่ำสวรรค์ของนักช้อป

  • 447
  •  
  •  
  •  
  •  

ที่มา Black Friday
เครดิตสำหรับบทความข่าว: Nelson Antoine / Shutterstock.com

หลายคนคงรู้จักกับคำว่า “Black Friday” วันที่เป็นสวรรค์ของนักช้อปชาวอเมริกันที่จะมีขึ้นทุกๆ “วันศุกร์” หลัง “วันขอบคุณพระเจ้า” หรือวันพฤหัสบดีที่ 4 ของเดือนพฤศจิกายน ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 25 พฤศจิกายนนี้ วันที่เราจะได้เห็นภาพชาวอเมริกันต่างวิ่งกันเข้าไปแย่งชิงสินค้าลดราคาตามร้านค้าและห้างสรรพสินค้ากันอย่างคึกคัก วันที่แบรนด์ต่างๆจะมียอดขายพุ่งสูงมากที่สุดในรอบปี แต่รู้หรือไม่ว่าคำว่า Black Friday นั้นถูกนำมาใช้ครั้งแรกด้วยความหมายแง่ลบ 

ต้นกำเนิดคำว่า Black Friday

คนส่วนใหญ่อาจจะคุ้นเคยกับคำอธิบายความหมายของ Black Friday ว่ามาจากสำนวน “In The Black” สำนวนทางบัญชีที่มีความหมายถึงการทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำสำหรับบรรดาร้านค้าปลีก ความหมายแง่บวกที่ถูกปรับเปลี่ยนความเข้าใจกันมาในภายหลัง แต่ก่อนหน้านั้น Black Friday มีความหมายที่ถูกใช้ในอีกแง่หนึ่ง

คำว่า Black Friday ถูกใช้เป็นครั้งแรกในปีค.ศ. 1869 หรือเมื่อ 153 ปีที่แล้วและในเวลานั้นไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเทศกาลช้อปปิ้งช่วงวันขอบคุณพระเจ้าแต่อย่างใด แต่เป็นวันที่เกิดเหตุการณ์ “ราคาทองคำ” ร่วงลงอย่างรุนแรงจนส่งผลให้ตลาดทองคำล้ม และส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจสหรัฐทั้งประเทศเป็นเวลาหลายปี เป็นการใช้คำว่า Black ในการสื่อความหมายในลักษณะเดียวกับคำว่า “Black Monday” หรือ “วันจันทร์ทมิฬ” วันที่ตลาดหุ้นสหรัฐร่วงลงอย่างหนักเข้าขั้นหายนะเมื่อปี 1987 ที่ผ่านมานั่นเอง

ความคับข้องใจของตำรวจฟิลลาเดลเฟีย

อย่างไรก็ตาม Black Friday ในความหมายที่ใกล้เคียงกับที่เราเข้าใจนั้นเกิดขึ้นในช่วงปีค.ศ.1950-1970 โดยคำว่า Black Friday ถูกนำมาใช้อธิบายวันที่การจราจรติดขัด ผู้คนจำนวนมากแห่กันออกมาซื้อของตามร้านค้าและห้างสรรพสินค้า รวมไปถึงแฟนกีฬาที่เดินทางไปชมกีฬาอเมริกันฟุตบอลประเพณีระหว่างกองทัพเรือและกองทัพบก ที่ส่งผลให้เกิดความโกลาหลบนท้องถนนทุกๆปี จนเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถหยุดพักได้เหมือนคนทั่วไป

เครดิตภาพ Huffpost

โดยคำว่า Black Friday ถูกนำมาใช้ในสื่อสิ่งพิมพ์ครั้งแรกผ่านโฆษณาในนิตยสารของนักสะสมแสตมป์ในปี 1966 และถูกอธิบายโดยนักข่าวสายตำรวจผ่านบทความใน Philadelphia Inquirer ในปี 1994 อีกครั้งว่าคำว่า Black Friday นั้นถูกคิดขึ้นโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจฟิลาเดลเฟีย เพื่อนำมาใช้อธิบายสภาพการจราจรติดขัดหนักในวันศุกร์หลังวันขอบคุณพระเจ้านั่นเอง

พนักงานขายแห่ลาป่วย

ไม่เท่านั้น Black Friday ยังถูกนำไปใช้อธิบายสถานการณ์ยากลำบากของภาคธุรกิจในวันศุกร์หลังวันขอบคุณพระเจ้าที่บรรดาพนักงานขายจะพากัน “ลาป่วย” เพื่อขยายช่วงเวลาวันหยุดสุดสัปดาห์ออกไปส่งผลให้ไม่มีพนักงานขายเพียงพอกับลูกค้าจำนวนมากที่จะแห่กันเข้ามาซื้อของลดราคาในวันนั้น

นั่นจึงเป็นเหตุผลให้คำว่า Black Friday จึงปรากฏในบทความที่มีชื่อว่า “Tips to Good Human Relations for Factory Executives” ในวารสาร Factory Management and Maintenance ที่อธิบายความโกลาหลของร้านค้าปลีกในวันที่ลูกค้าจะเข้ามาเป็นจำนวนมากในขณะที่พนักงานขายก็มักจะลาหยุดกันในวันนั้นนั่นเอง

พลัง PR เปลี่ยนความหมายสู่แง่ดี

เครดิตสำหรับบทความข่าว: Ververidis Vasilis / Shutterstock.com

แน่นอนว่าความหมายในแง่ลบของ Black Friday ย่อมไม่ใช่เรื่องดีสำหรับอุตสาหกรรมค้าปลีกที่สามารถทำยอดขายได้ดีที่สุดของปีในวันนี้ได้ ดังนั้นจึงเป็นที่มาของความพยายามในการนำเสนอความหมายในแง่บวกของ Black Friday ขึ้น

ในช่วงต้นปี 1961 เริ่มมีนักประชาสัมพันธ์มืออาชีพที่พยายามที่จะเปลี่ยนความเข้าใจและการรับรู้ของสาธารณะต่อคำว่า Black Friday ใหม่ โดยมีหลักฐานจากบทความผ่านจดหมายข่าวด้านการประชาสัมพันธ์ที่เขียนโดยผู้บริหารบริษัทชื่อดังที่เล่าถึงความพยายามในการเปลี่ยนคำว่า Black Friday เป็นคำว่า Big Friday เพื่อสื่อถึงวันแห่งความสุขของครอบครัวและความสุขจากการได้ช้อปปิ้ง

และอย่างที่เรารู้กันดีว่า Big Friday นั้นไม่ได้รับความนิยมหลังจากนั้น แต่ความพยายามเปลี่ยนความเข้าใจในความหมายของ Black Friday ก็เรียกได้ว่าสำเร็จแล้วในวันนี้ที่ปัจจุบันชาวอเมริกันส่วนใหญ่เชื่อมโยงวันนี้เข้ากับเทศกาลช้อปปิ้งที่สร้างยอดขายให้กับบรรดาร้านค้าปลีกได้มากที่สุดในรอบปี

ยอดการใช้จ่ายในวัน Black Friday/ The Money Balance

แน่นอนว่าแคมเปญทางการตลาดส่งเสริมการขายในวัน Black Friday กระตุ้นการใช้จ่ายเติบโตขึ้นทุกๆปีโดยข้อมูลจากสมาคมค้าปลีกแห่งชาติของสหรัฐ ระบุว่า ในรอบกว่า 10 ปีหลังมียอดใช้จ่ายรวมเติบโตเฉลี่ย 4.8% โดยในปี 2021 ที่ผ่านมามียอดใช้จ่ายรวมถึง 886,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2020 ที่ผ่านมาถึง 14.1%

เทศกาลช้อปปิ้งที่แพร่หลายไปทั่วโลก

เทศกาล Black Friday ได้รับความนิยมสูงสุดในช่วงหลังปี 2000 ก่อนจะแพร่หลายไปในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น “แคนาดา” ที่เริ่มมีโปรโมชั่นค้าปลีกในช่วงปี 2008 เป็นต้นมา ทางด้าน “อังกฤษ” ที่รัฐบาลไม่ได้กำหนดให้วันขอบคุณพระเจ้าเป็นวันหยุดราชการเองก็เริ่มมี Black Friday เป็นมหกรรมช้อปปิ้งประจำปีตั้งแต่ช่วงหลังปี 2000 เช่นกันโดยเฉพาะในปี 2014 ที่ยอดขายในช่องทาง Online ในวัน Black Friday ที่พุ่งสูงกว่ายอดขายในสหรัฐอเมริกาด้วยซ้ำ

ในที่อื่นๆของโลกต่างนำแนวคิดของ Black Friday ไปใช้ในการกระตุ้นยอดขายด้วยเช่นกันเช่นในเม็กซิโก ที่จะมีวันหยุดสุดสัปดาห์ที่มีชื่อว่า  El Buen Fin วันหยุดสุดสัปดาห์ก่อนการเฉลิมฉลองการปฏิวัติของชาวเม็กซิกัน (Mexican Revolution) หรือวันจันทร์ที่ 3 ของเดือนพฤศจิกายนของทุกปี

เครดิตสำหรับบทความข่าว: rblfmr / Shutterstock.com

ไม่เท่านั้นในประเทศจีนเองก็มี “วันคนโสด” หรือ Single Day ที่ตรงกับวันที่ 11 พฤศจิกายน หรือวัน 11.11 ที่กลายมาเป็นวันลดกระหน่ำของแพลตฟอร์ม E-Commerce ที่สร้างยอดขายได้จำนวนมหาศาล นอกจากนี้ยังมีวันหยุดอย่าง Boxing Day หรือวันแกะกล่องของขวัญ ตรงกับวันที่ 26 ธันวาคม ในกลุ่มประเทศอังกฤษ แคนาดา ออสเตรเลีย ไอร์แลนด์ และชาติในเครือจักรภพ ที่ผู้คนจะใช้จ่ายกับการซื้อของขวัญในช่วงสิ้นปีอย่างคึกคัก

กลับมาในสหรัฐไม่เฉพาะ Black Friday เท่านั้นแต่ยังมีอีกวันที่ได้รับความสนใจไปทั่วโลกอย่าง Cyber Monday (วันจันทร์แรกหลังวันขอบคุณพระเจ้า ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 28 พฤศจิกายน) วันที่ผู้คนต่างจับจ่ายใช้สอยผ่านร้านค้าและแพลตฟอร์มออนไลน์กันแบบถล่มทลายที่ได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษในช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยสถิติการใช้จ่ายระหว่างวันขอบคุณพระเจ้าจนถึง Cyber Monday เมื่อปี 2021 ที่ผ่านมามียอดใช้จ่ายระหว่างวันรวมมากถึง 34.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว

นั่นคือที่มาของคำว่า Black Friday  วันที่นักช้อปชาวอเมริกันรอคอย ที่ด้านหนึ่งเป็นช่วงเวลาหยุดยาวหลังเทศกาลขอบคุณพระเจ้าที่ครอบครัวต่างๆจะได้มีความสุขร่วมกัน ขณะที่บรรดาธุรกิจก็สามารถกระตุ้นยอดขายให้พุ่งทะยานขึ้นไปได้ แต่ในอีกด้านหนึ่ง Black Friday ก็ถูกมองว่าเป็นภาพสะท้อนด้านมืดของลัทธิบริโภคนิยมของสหรัฐอเมริกาด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์ฝูงชนแย่งชิงข้าวของราคา จนกลายเป็นความรุนแรงซึ่งหลายเหตุการณ์ก็นำไปสู่การสูญเสียไปแล้วหลายชีวิตด้วยเช่นกัน

ที่มา Huffpost , The Balance Money


  • 447
  •  
  •  
  •  
  •