รู้จักตำแหน่ง  C-Level ยุคใหม่ พวกเขาคือใคร ทำหน้าที่อะไรบ้าง

  • 204
  •  
  •  
  •  
  •  

บุคคลในตำแหน่งที่สำคัญมากที่สุดตำแหน่งหนึ่งที่จะชี้วัดความสำเร็จและนำทางองค์กรไปในทิศทางที่ถูกต้องก็คือคนในตำแหน่งบริหารซึ่งคนในตำแหน่งเหล่านั้นก็มีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไปอย่างที่คุ้นเคยกันดีก็เช่น CEO, CFO รวมถึง COO แต่ในปัจจุบันมีตำแหน่ง C-level หรือที่เรียกอีกอย่างว่า C-suite ใหม่ๆเกิดขึ้นมากมายที่อาจไม่คุ้นหู ที่เรียกได้ว่าเป็นชื่อตำแหน่งที่พยายามให้คำจำกัดความบทบาทหน้าที่ในยุคสมัยปัจจุบันให้ถูกต้องมากที่สุด ซึ่งในบทความนี้เราจะมาพูดถึงตำแหน่งเหล่านี้เพื่อให้เข้าใจความหมายที่ถูกใช้ในโลกธุรกิจยุคปัจจุบัน

C-suite คืออะไร?

C-suite หมายถึงระดับงานที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “Chief” เป็นกลุ่มงานระดับผู้บริหารภายในบริษัท รับหน้าที่บริหารงานในภาพใหญ่ในหลากหลายส่วนงาน และตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาตำแหน่งงานในระดับ C-suite นั้นส่วนใหญ่จะรับผิดชอบงานอยู่ในมือมากมายหลายอย่าง อย่างไรก็ตามในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ก็เริ่มมีตำแหน่งงาน C-suite ใหม่ๆให้เห็นมากขึ้นสอดคล้องไปกับบริบทของโลกในยุคปัจจุบัน ที่มีบริษัทเทคโนโลยี และ Startup จำนวนมากที่เกิดขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับ C-suite ในตำแหน่งที่คุ้นเคยกันแบบดั้งเดิมก็เช่น Chief Executive Officer (CEO) ตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารที่เป็นตำแหน่งสูงสุดของกลุ่ม C-suite , Chief Financial Officer (CFO) ที่ดูแลด้านการเงินการบัญชีขององค์กร, Chief Operating Officer (COO) ที่ดูแลเกี่ยวกับกิจการภายใน รวมถึงงานบุคคล, Chief Marketing Officer (CMO) ผู้บริหารด้านการตลาด แบรนด์ดิ้ง และอื่นๆ ,Chief Information Officer (CIO) ) ที่ดูแลด้าน IT รวมถึง Chief Human Resources Officer (CHRO) ที่ดูแลงานบริหารงานบุคคล คล้ายกับ COO ซึ่งส่วนมากองค์กรขนาดใหญ่จะมีทั้ง  CHRO และ COO เป็นต้น

ตำแหน่ง C-suite ยุคใหม่

ปัจจุบันเทคโนโลยี การบริการลูกค้ารวมถึงเรื่องของความยั่งยืนเริ่มมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในโลกธุรกิจ นั่นจึงหมายถึงการที่ตำแหน่ง C-suite ก็ต้องปรับตัวตามไปด้วยเนื่องจากการแต่งตั้งใครซักคนในตำแหน่งใหม่ๆเหล่านี้ก็เป็นภาพสะท้อนความใส่ใจของบริษัทที่มีต่อเรื่องนั้นๆไปยังพนักงาน ลูกค้า คู่ค้า เรื่อยไปจนถึงนักลงทุนได้

1.Chief Data Officer (CDO) & Chief Analytics Officer (CAO)

Data หรือข้อมูลในยุคปัจจุบันเป็นสิ่งสำคัญมากและ CDO จะรับหน้าที่ในการบริหารจัดการข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Data Management, Data Quality, Data Strategy, Data Analytic และนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์หา Insight ที่เป็นคุณค่าช่วยผลักดันธุรกิจให้เดินหน้าต่อไป ในขณะที่ CAO ก็มีบทบาทหน้าที่คล้ายกันในการหา Insight จาก Data ซึ่งบางบริษัทก็ควบ 2 ตำแหน่งนี้เข้าด้วยกันไปเลยในชื่อว่า Chief Data Analytic Officer (CDAO) นั่นเอง

2. Chief Growth Officer (CGO)

ถูกมองว่าจะเป็นตำแหน่งที่จะเกิดขึ้นแทนที่ Chief Marketing Officer (CMO) โดยเฉพาะในองค์กรปัจจุบันที่จำเป็นจะต้องมีแนวทางที่ครอบคลุมมากกว่าเดิมในการทำการตลาดที่มาภายใต้คำว่า Growth Marketing ซึ่งมีความหมายรวมเอา Marketing, Engineering และ Finance เข้าไว้ด้วยกัน โดยตำแหน่ง Chief Growth Officer นั้นจะรับผิดชอบในการกำจัดความไม่เชื่อมโยงกันของแต่ละหน่วยงาน เพื่อให้เดินหน้าไปสู่เป้าหมายในแง่กลยุทธ์ได้

3.Chief Product Officer (CPO)

ไม่ว่าธุรกิจคุณจะเป็นอะไรสิ่งหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญมากที่สุดก็คือ สินค้า และจะต้องทุ่มเทและละเอียดละออกับทุกขั้นตอนขอการพัฒนาสินค้าแต่ละชิ้นขึ้นมา แม้ในบางบริษัทงานนี้จะอยู่ภายใต้ทีม Project Management แต่ การมี Chief Product Officer เป็นผู้นำในการให้แนวทางการพัฒนาสินค้าจะช่วยย่อนระยะเวลาที่สินค้าจะออกสู่ตลาดได้ ทำให้ตำแหน่งนี้มีความน่าสนใจเลยทีเดียว

4.Chief Automation Officer (CAO)

เป็นอีกตำแหน่งที่สำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะในยุคนี้ที่หลากหลายอุตสาหกรรมเริ่มเดินหน้าไปได้ด้วยเทคโนโลยีแบบ Automation มากขึ้นทั้งในไลน์ผลิตและการทำงานสร้าง Productivity ในองค์กร ดังนั้นหากมีผู้บริหาร C-Level ที่รับหน้าที่ impliment ในเรื่องของ Automation ได้ก็จะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพและทำให้องค์กรเดินหน้าอย่างมั่นคงมากยิ่งขึ้น

5.Chief Design Officer (CDO)

แม้ตัวย่อ CDO จะเหมือนกับ Chief Data Officer แต่บทบาทหน้าที่รับผิดชอบนั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง โดย Chief Design Officer จะรับผิดชอบดูแลนวัตกรรมและการออกแบบผลิตภัณฑ์รวมไปถึงบริการขององค์กรให้ออกมาดีที่สุดและเป็นไปตามเป้าหมาย งานที่ต้องดูแลก็จะมีทั้ง product design, architectural design, graphic design, user experience design รวมถึง package design เป็นต้น

6.Chief Experience Officer (CXO)

CXO หรือจะเรียกอีกชื่อว่า Customer Experience Officer จะรับหน้าที่วางกลยุทธ์เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีต่อสินค้าและบริการรวมถึงแบรนด์ โดยไม่ได้สร้างประสบการณ์ที่ดีเฉพาะกับลูกค้าเท่านั้นแต่รวมไปถึงบรรดา Supplier, Partner รวมถึงพนักงานเองด้วย ขณะที่ตำแหน่งของ CXO เองนั้นในกลุ่ม C-suite ด้วยกันเองจะต้องมีข้อมูลจนสามารถเป็นตัวแทนของลูกค้าได้

7.Chief Sustainability Officer (CSO)

Chief Sustainability Officer รับหน้าที่ดูแลโปรเจ็กต์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของบริษัท รวมไปถึงโมเดลธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ซึ่งเป็นเรื่องที่โลกให้ความสำคัญในยุคนี้ โดย CSO จะวิเคราะห์กระบวนการของธุรกิจทั้งหมดในปัจจุบันเพื่อสร้างกลยุทธ์ใหม่ให้มีความยั่งยืนมากขึ้นและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมในระยะยาวลง

8.Chief Relationship Officer (CRO)

Chief Relationship Officer รับหน้าที่ในการวางกลยุทธ์สร้างความสัมพันธ์ในระดับสูงกับพาร์ตเนอร์ธุรกิจ พาร์ตเนอร์ที่เป็นช่องทางการขายสินค้าเช่นแพลตฟอร์ม e-commerce หรือตัวแทนจำหน่ายต่างๆ รวมไปถึงสื่อสารกับองค์กรพัฒนาธุรกิจซึ่ง CRO จะทำหน้าที่แสดงออกถึงคุณค่าและวิสัยทัศน์องบริษัทอย่างถูกต้องกับกลุ่มงานเหล่านี้

9.Chief People Officer (CPO)

พิจารณาแบบเผินๆแล้ว CPO อาจจะไม่ได้แตกต่างจาก CHRO เท่าไหร่ก็คือการดูแลเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรมนุษย์ แต่ตำแหน่ง CPO นั้นพัฒนาขึ้นมาเพื่อรับผิดชอบในการสร้างสถานที่ทำงานให้ดึงดูด Top Talent หรือกลุ่มคนทำงานเก่งๆให้เข้ามาร่วมงานด้วย ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศ วัฒนธรรมองค์กร และอื่นๆ

10.Chief Happiness Officer (CHO)

ปัจจุบันองค์กรต่างๆมีนโยบายการบริหารงานที่มีพนักงานเป็นศูนย์กลางมากขึ้น ความเป็นอยู่ที่ดีและความสุขของพนักงานจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆนั่นจึงเป็นที่มาของตำแหน่ง Cheif Happiness Officer (CHO) ที่เกิดขึ้นแล้วในบางองค์กร มีหน้าที่ในการลดจำนวนพนักงานลาออกและดึงดูด Talent หนุ่มสาวเข้าสู่บริษัทเรียกว่าเป็นตำแหน่งที่มีบทบาทหน้าที่เฉพาะเจาะจงมากกว่า CHRO และเริ่มมีให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ

11.Chief Inclusion Officer (CIO)

การสร้างความหลากหลายในองค์กร ให้ความสำคัญกับทุกคนทุกกลุ่มเป็นสิ่งสำคัญลำดับแรกๆที่องค์กรต้องให้ความสำคัญเพื่อให้องค์กรเติบโตได้อย่างยั่งยืน นั่นทำให้เริ่มมีตำแหน่ง Chief Inclusion Officer เกิดขึ้นมาให้เห็นในยุคหลัง โดยตำแหน่งนี้จะทำหน้าที่ทำวางกลยุทธ์เพื่อให้เกิดความหลากหลายขึ้นในองค์กร ซึ่งเรื่องนี้ก็จะสะท้อนไปสู่ภาพลักษณ์ของแบรนด์สู่ภายนอกด้วย

12.Chief Freelance Relationship Officer (CFRO)

หลายๆบริษัทต้องพึ่งพาบรรดา Freelance มากขึ้น นั่นหมายความว่าในอนาคตองค์กรจะต้องตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลงานนี้โดยเฉพาะไม่ว่าจะเป็นการประสานงานกับ Freelance หรือบรรดา Freelance Agency ดังนั้นตำแหน่ง CFRO จึงมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆในยุคนี้

13.Chief Risk Officer (CRO)

Chief Risk Officer หรือในภาษาไทยเรียกว่าประธานฝ่ายบริหารความเสี่ยง เกิดขึ้นมาพร้อมๆกับการเกิดขึ้นของหน่วยงานบริหารความเสี่ยงในช่วงหลัง โดย CRO จะทำหน้าที่บริหารจัดการและดูแลการบริหารความเสี่ยงของทั้งองค์กร ด้วยการวิเคราะห์ ประเมิน ทบทวนและรายงานผลความเสี่ยง และกำหนดนโยบายบริหารความเสี่ยงต่างๆของบริษัท และยังสามารถนำความเสี่ยงที่ประเมินเหล่านั้นไปเชื่อมโยงกับเป้าหมายเชิงกลยุทธ์เพื่อให้องค์กรเดินหน้าอย่างมั่นคงได้นั่นเอง

ทั้งหมดนี้คือตำแหน่ง C-suite ใหม่ๆบางส่วนที่เกิดขึ้นในยุคที่ธุรกิจเดินหน้าไปตามเทรนด์และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ในยุคที่มีบริษัท startup บริษัทเทคโนโลยีใหม่ๆเกิดขึ้นอย่างมากมาย ในขณะที่ตำแหน่งระดับ C-suite ใหม่ๆเหล่านี้ก็เป็นอีกทางหนึ่งที่จะสะท้อนการให้คุณค่าขององค์ไปสู่พนักงาน ลูกค้า คู่ค้า รวมถึงสังคมได้ด้วยเช่นกัน


  • 204
  •  
  •  
  •  
  •