เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2557 ที่ผ่านมา Y&R Thailand ได้เผยพฤติกรรมผู้บริโภคทรงพลัง อายุ 35 – 59 ปี โดยเรียกว่ากลุ่ม Generation Power สำรวจจากลุ่มตัวอย่าง 16,000 คนโดย และได้ร่วมมือกับสาขาในภูมิภาคเอเชียกว่า 10 ประเทศ อันได้แก่ ไทย จีน ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ สัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างที่เป็นกลุ่ม Generation Power ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อเข้าใจถึงพฤติกรรมและทัศนคติของคนกลุ่มนี้ที่มีต่อประเด็นต่างๆ กว่า 17 หมวดหมู่ ครอบคลุมทั้งทัศนคติการใช้ชีวิตทั่วไป รถยนต์ ความสวยความงามทั้งชายและหญิง การสื่อสาร การเสพสื่อเพื่อความบันเทิง แฟชั่น การเงิน การอุปโภคบริโภคอาหาร การดูแลสุขภาพ การเลี้ยงดูบุตร ความรัก การเลือกซื้อสินค้าในกลุ่มแบรนด์หรูหรา การเปิดรับสื่อ กีฬา เทคโนโลยี รวมถึงไลฟ์สไตล์การท่องเที่ยว เพื่อเข้าใจชีวิตและความเป็นไปของคนกลุ่มนี้ในเชิงลึก ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อนักการตลาดและนักบริหารแบรนด์สำหรับกำหนดทิศทางการเติบโตของธุรกิจในอนาคตข้างหน้า
โดยได้รับเกียรติจาก คุณโอลิเวอร์ กิตติพงษ์ วีระเตชะ Chief Strategy & Innovation Officer ประธานบริหารฝ่ายสร้างสรรค์กลยุทธ์และนวัตกรรม หน่วยงาน Energy Brand Consulting ภายใต้เครือ Young & Rubicam Brands เป็นผู้อธิบายถึงผลสำรวจดังกล่าวนี้
เมื่อศักยภาพของเอเชียทวีกำลังขึ้น แสดงให้โลกเห็นถึงความก้าวหน้า พัฒนาการและความยิ่งใหญ่ ทุกธุรกิจจึงไม่สามารถเพิกเฉยได้อีกต่อไป ฐานประชากรของโลกกว่า 1 ใน 2 คือชาวเอเชีย และคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนในวัย 35-59 ปี ที่เปี่ยมไปด้วยพลัง ทั้งอำนาจในการลงทุน และอิทธิพลต่อคนรอบข้าง คนกลุ่มนี้เปรียบเสมือนขุมพลังหลักในการขับเคลื่อนเอเชียให้เคลื่อนที่ไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและก้าวกระโดดอย่างที่เราไม่อาจคาดคิด เพราะเหตุนี้เราจึงขนานนามคนกลุ่มนี้ว่า Generation Power
จากการไขรหัสทัศนคติและพฤติกรรมของคนกลุ่มนี้ ทำให้เราค้นพบค่านิยมร่วมที่สามารถอธิบายถึง “10 ลักษณะนิยามบุคลิกที่กรอบวิถีชีวิตของชาว Generation Power – 10 Generation Power Characteristics” ได้ดังต่อไปนี้
1. Uncompromising succeeder : นักจัดการตัวยง จรรโลงคุณค่าและสมดุลชีวิต
ทุกความสำเร็จในชีวิตที่ตัวเองสร้างขึ้นมา เกิดจากจุดมุ่งหมายเดียวที่เป็นแรงผลักดันอยู่เบื้องหลัง นั่นคือ ลูกและคนในครอบครัว พวกเขาพยามยามทำงานหนักเพื่อสร้างหลักที่มั่นคงให้กับอนาคตของคนที่เขารัก อย่างไรก็ดี ไม่ได้หมายความว่าเขาจะปล่อยให้ชีวิตการทำงานเข้ามาคุกคามเวลาอยู่กับครอบครัว แต่เป็นการบริหารจัดการที่ทำให้ชีวิตของตนเองและครอบครัวสมดุลมากที่สุด จากผลวิจัยพบว่า 71% ของคนกลุ่มนี้ คิดว่าจุดมุ่งหมายสำคัญของการลงทุนควรเป็นการให้หลักประกันที่มั่นคงกับครอบครัวในอนาคตตอนที่ตัวเองจากไปหรือไม่ทำงานแล้ว และ 68% ยังเชื่อว่าการมีลูกและครอบครัวต้องใช้เงินเยอะ ดังนั้นพวกเขาจึงจำเป็นต้องสร้างหลักฐานการเงินที่มั่นคงให้เกิดขึ้น หากแต่ 62% ของคนกลุ่มนี้กลับยอมทุ่มเทกับงานน้อยลง เพราะคิดว่า หากงานทำให้ไม่มีเวลาอยู่กับครอบครัวหรือตัวเอง การทำงานจะกลายเป็นสิ่งที่ไม่คุ้มค่าขึ้นมาทันที
2. Health and wealth are the new future self : กระหายความเพิ่มพูนในการบริหารสุขไม่น้อยไปกว่าทรัพย์
การรู้จักวางแผนทางการเงินที่ดีเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความมั่นคงและมั่งคั่งให้กับชีวิตในอนาคตได้ แต่สิ่งที่สำคัญนอกเหนือจากการสร้างทรัพย์แล้ว การสร้างสุขให้ตัวเองก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน แท้จริงแล้วความสุขที่ว่านี้ คือการมีสุขภาพที่ดีเป็นต้นทุน เพราะพวกเขาเชื่อว่าสิ่งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นในการทำให้มีความสุขที่แท้จริงในบั้นปลายชีวิต เห็นได้จากผลวิจัยที่พบว่า กว่า 86% ของคนกลุ่มนี้ เลือกวางแผนทางการเงินเพราะเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการรับมือกับเหตุกาณ์ที่คาดไม่ถึง แต่อย่างไรก็ตาม กว่า 89% เชื่อว่าการมีความสุขเฉพาะการเงินคงไม่เพียงพอ แต่การรู้จักดูแลสุขภาพในช่วงต้นของชีวิต จะทำให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อตัวเองแก่เฒ่า และ 61% เลือกที่จะใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพที่ดีถึงแม้จะสั้น ซึ่งดีกว่าการมีอายุยืนยาวแต่กลับมีปัญหาสุขภาพติดตามมาด้วย
3. Knowledge savvy, smart decision maker : นักพินิจพิเคราะห์ที่ตัดสินใจบนความรอบรู้
การใฝ่หาความรู้เป็นสิ่งที่สำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือต้องรอบรู้ด้วย เพราะพวกเขาคิดว่าการมีข้อมูลที่เพรียบพร้อมจากหลากหลายช่องทาง จะทำให้สามารถตัดสินใจด้วยความมั่นคงและมั่นใจได้อย่างไม่มีข้อผิดพลาด ผลวิจัยพบว่า กว่า 77% ของคนกลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับการศึกษาข้อมูลรีวิวจากผู้ใช้จริงทางออนไลน์ให้มากที่สุดก่อนการตัดสินใจซื้อ และกว่า 69% ให้ความสำคัญกับการค้นคว้าและเปรียบเทียบการลงทุนในหลากหลายรูปแบบก่อนการตัดสินใจลงทุน หรือแม้แต่การได้รับคำแนะนำจากเพื่อนหรือครอบครัว ก็ทำให้พวกเขามั่นใจก่อนตัดสินใจในครั้งสำคัญ ซึ่งนับเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 58% ของคนในกลุ่ม Generation Power
4. Inspi-rience seeker : นักแสวงหาประสบการณ์เพื่อผลักดันพลังการสร้างสรรค์
การแสวงหาแรงบันดาลใจทำให้ชีวิตมีความหมาย เพราะการได้พบเจอสิ่งใหม่ๆ ทำให้พวกเขาเกิดการเรียนรู้ชีวิตในอีกด้านหนึ่งที่ไม่เคยพบเจอ สิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนพลังสำคัญที่ทำให้ชีวิตยังหายใจอยู่ได้ และขับเคลื่อนต่อไปอย่างไม่มีวันหลับ จากการศึกษาวิจัยทำให้พบว่า กว่า 78% ของคนกลุ่มนี้ เลือกที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวในสถานที่สำคัญที่ไม่เคยไป โดยที่ 76% ของคนกลุ่มนี้มองว่า การท่องเที่ยวในประเทศต่างๆ เป็นวิธีการที่ดีที่จะเรียนรู้วัฒนธรรมที่ดีงามของประเทศเหล่านั้น และยังพบว่ากว่า 75% มักจะเชื่อว่าสิ่งใหม่ๆ ที่พวกเขาได้ค้นพบนั้น เป็นผลพวงมาจากการได้ไปท่องเที่ยวในที่ๆ พวกเขาให้ความสนใจอีกด้วย
5. Energized by love and romance : ขับเคลื่อนด้วยความรักและการปรนเปรอ
ถึงแม้ชีวิตคู่ของตัวเองจะเคยผ่านช่วงเวลาที่ฉ่ำหวานที่สุดมาแล้ว แต่อย่างไรก็ตามความรักและความปรารถนาของชีวิตคู่ยังคงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นสำหรับทุกๆ วัน โดยที่พวกเขามองว่า ไม่ต้องรอคอยช่วงเวลาพิเศษเพื่อแสดงความรัก แต่สามารถแสดงออกได้ในทุกสถานการณ์ตราบเท่าที่ใจของพวกเขาต้องการ และนั่นคือเวลาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการแสดงออกหรือพูดออกไป ความน่าสนใจของผลวิจัยพบว่า 79% ของคนกลุ่มนี้มองว่า การสร้างความโรแมนติกหลังชีวิตแต่งงานเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตคู่ และกว่า 74% คิดว่า พวกเขาไม่จำเป็นต้องกำหนดวันที่จะแสดงความรักกับคนที่พวกเขารักและให้ความสำคัญ
6. Preserved and progress : ห่วงหาคุณค่าที่สั่งสมมา แต่ไม่ลดละที่จะผลักดันโลกใหม่
เรื่องราวชีวิตในอดีตที่ผ่านมา มีคุณค่าความทรงจำบางอย่างต่อการดำเนินชีวิต แต่เขาเชื่อว่า ชีวิตไม่ได้หยุดอยู่กับความหลัง ภาระและความเป็นไปที่เข้ามาทำให้เขาต้องเดินต่อไปข้างหน้าเพื่อหาความหมายของการเติบโตให้กับอนาคต โดยผลวิจัยพบว่า 60% ของคนกลุ่มนี้มองว่า สังคมในปัจจุบันมีความเจริญก้าวหน้าและเปิดรับความคิดเห็นใหม่ๆ มากกว่าตอนที่พวกเขายังเป็นเด็ก แต่ในขณะเดียวกัน 73% กลับกังวลว่าวัฒนธรรมและคุณค่าความเชื่อที่ดีงามกำลังหายไปตามยุคสมัยที่เจริญมากขึ้น
7. Risk manager, stability builder : นักเสี่ยงบนความมั่นคง
ความกล้าได้กล้าเสี่ยงจะเป็นจุดสำคัญที่ทำให้เขาเดินไปสู่ความสำเร็จในชีวิตได้ แต่การเสี่ยงในแต่ละครั้งนั้น เกิดจากการคิดคำนวณมาอย่างถี่ถ้วนจนมั่นใจได้ว่า พวกเขาจะมีโอกาสชนะบนความเสี่ยงที่ตัวเองตัดสินใจ เพราะคิดว่าชีวิตกว่าจะเดินทางผ่านมาถึงจุดนี้ จะล้มอีกครั้งคงไม่ได้อีกแล้ว โดยผลวิจัยพบว่า 74% ของคนกลุ่มนี้คิดว่าการเจอความเสี่ยงทำให้ชีวิตประสบผลสำเร็จในชีวิตข้างหน้าได้ แต่ในทางตรงข้าม พบว่ากว่า 64% ของคนกลุ่มนี้กลับชอบการลงทุนที่ปลอดภัยหรือแน่นอนถึงแม้ว่าจะได้ผลตอบแทนน้อยกว่าการลงทุนที่มีผลตอบแทนสูงแต่มาพร้อมกับความเสี่ยงที่สูงเช่นเดียวกัน
8. Substance is as important as style, design is function : แก่นสารสาระคือภาพลักษณ์ที่ไม่ลวงโลก
ความสวยงามของเปลือกนอกไม่ได้สร้างความภูมิใจให้กับชีวิตได้อย่างแท้จริง แต่ในทางกลับกันประสบการณ์ของชีวิตที่ทำให้ตัวเองมาถึงความสำเร็จจุดนี้ได้ เป็นสิ่งเตือนใจให้รู้จักเลือกคำนึงถึงแก่นสาร มากกว่าสำราญอยู่กับภาพที่ฉาบฉวย เห็นได้จากผลวิจัยที่พบว่า คนกลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับการเลือกสินค้าโดยให้น้ำหนักของการตัดสินใจซื้อในด้านอรรถประโยชน์ที่จับต้องได้ ส่วนภาพลักษณ์ความสวยงามภายนอกเป็นสิ่งที่ต้องการแต่ไม่ใช่ความสำคัญที่ถูกจัดเป็นอันดับต้นๆ ยกตัวอย่างเช่น การเลือกซื้อสินค้าในกลุ่มเสื้อผ้าแฟชั่น 77% ของคนกลุ่มนี้มองหาเสื้อผ้าที่สวมใส่สบายและทนทาน ในขณะที่ 70% มองว่าการเลือกใส่เสื้อผ้าเป็นการสะท้อนทัศนคติการใช้ชีวิตของแต่ละบุคคล หรือแม้แต่การเลือกซื้อสินค้าในกลุ่มรถยนต์ก็ตาม กว่า 64% มองว่าความแรงและสมรรถณะของเครื่องยนต์เป็นปัจจัยหลักของการตัดสินใจ ในขณะที่มีเพียง 59% คิดว่ารูปลักษณ์ดีไซน์ภายนอกของรถยนต์คือสิ่งแรกที่ทำให้ตัดสินใจซื้อ
9. Traditional rebellion : ใจกว้างและเปิดรับกับอารยะธรรมร่วมสมัย
ธรรมเนียมปฏิบัติที่ถูกปลูกฝังมาตลอดชีวิต เป็นเพียงแค่กรอบที่เหมาะสมในช่วงเวลานั้น แต่บทเรียนที่ตัวเองได้เรียนรู้มาและสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมือนเดิม ทำให้ต้องเริ่มเปิดรับสิ่งใหม่ เพราะคิดว่าสิ่งเหล่านั้นอาจเป็นคำตอบที่ใช่กว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประสบการณ์ที่ตนเคยผ่านการดิ้นรนมาทั้งชีวิต จากผลวิจัยพบว่า กว่า 48% ของคนเอเชียเริ่มคิดว่าพ่อหม้ายและแม่หม้ายสามารถแต่งงานใหม่ได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นโสดต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนอินเดีย ที่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้กว่า 76% ในขณะที่คนจีน เห็นด้วยกับแนวคิดนี้กว่า 70%
10. Family inclusion, social seclusion : แม้มีครอบครัว พื้นที่ส่วนตัวก็ยังไม่หาย
ความสุขที่สมบูรณ์ ไม่ได้เกิดขึ้นจากการที่ได้อยู่ร่วมกันกับคนในครอบครัวเพียงเท่านั้น หากแต่ความสุขส่วนตัวก็ยังเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเติมเต็มความหมายให้กับอีกด้านของชีวิตไปพร้อมๆ กัน เห็นได้จากผลวิจัยที่พบว่า กว่า 74% ของคนกลุ่มนี้คิดว่า การใช้ชีวิตและได้ทำกิจกรรมร่วมกับคนในครอบครัวจะช่วยสร้างความสุขให้กับตัวเขาได้ แต่ในขณะเดียวกัน 76% ของคนกลุ่มนี้ต่างคิดว่า นอกเหนือจากการสร้างความสุขให้กับคนในครอบครัวแล้ว การหาเวลาส่วนตัวให้กับตัวเองก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน
และเมื่อเปรียบเทียบกับผลวิจัยของ Y&R ที่ทำการศึกษาค่านิยมระหว่างกลุ่มคนเอเชียรุ่นใหม่ (อายุ18-35 ปี) ในปี 2012 และกลุ่มคนเอเชียรุ่นใหญ่ (อายุ 35-59 ปี) ในปี 2014 พบว่า แม้ทั้งสองกลุ่มจะอยู่ในช่วงวัยที่แตกต่างกัน แต่คนทั้งสองกลุ่มกลับมีค่านิยมที่สอดคล้องกันในหลายเรื่องอย่างมีนัยสำคัญ เรียกได้ว่า คนรุ่นใหม่มองการณ์ไกล ผู้ใหญ่ไล่ตามเทรนด์ (Value collision between Asian generations) โดยพบว่ากว่า 1 ใน 3 ของกลุ่มคนรุ่นใหม่และรุ่นใหญ่ต่างก็ให้ความสำคัญกับการวางแผนในอนาคตของตัวเองด้วยทัศนคติในแง่ดี และประมาณ 60% ของทั้งสองกลุ่มให้ความสำคัญกับการออมเงินอย่างมีวินัย รวมทั้งกว่า 70% มีการเก็บข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจก่อนลงทุนทางการเงิน ซึ่งผลวิจัยดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญในการวางแผนทางการเงินเพื่ออนาคตที่ดีของทั้งกลุ่มคนรุ่นใหญ่และคนรุ่นใหม่ ในขณะที่เรื่องการเปิดรับกระแสนิยมไม่ว่าจะเป็นเรื่องแฟชั่นและเทคโนโลยีก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่กลุ่มคนรุ่นใหม่อีกต่อไป เพราะทั้งกลุ่มคนรุ่นใหม่และกลุ่มรุ่นใหญ่กว่า 1 ใน 3 ต่างก็มีทัศนคติที่ดีต่อการเปิดรับเทคโนโลยี โดยเชื่อว่าจะช่วยให้การดำเนินชีวิตของพวกเขาง่ายขึ้น รวมทั้งกว่า 60% ของทั้งสองกลุ่มติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของเทรนด์นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ทั้งสองกลุ่มยังใช้เวลาหลายชั่วโมงต่อวันไปกับการท่องโลกออนไลน์ และประมาณ 60% เปิดรับข่าวสารใหม่ๆ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ในขณะที่เรื่องเทรนด์แฟชั่นการแต่งตัวนั้น แม้ว่ากว่า 70% ของคนทั้งสองกลุ่ม จะให้ความสำคัญกับการแต่งตัวที่มีความเหมาะสมสอดคล้องกับบุคคลิกลักษณะของตัวเอง แต่กว่า 60% ของทั้งกลุ่มคนรุ่นใหม่และกลุ่มรุ่นใหญ่ต่างก็มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการแต่งกายของตัวเองให้เข้ากับเทรนด์และยุคสมัยที่เปลี่ยนไปอยู่เสมอเช่นกัน
แม้ว่าโดยภาพรวมแล้วกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหญ่ของไทยจะมีค่านิยมที่สอดคล้องกับ 10 ลักษณะนิยามที่กรอบวิถีชีวิตของกลุ่ม Generation Power แต่จากการศึกษาแบบเจาะลึกของ Y&R Thailand ค้นพบ ค่านิยมเด่นของกลุ่ม Thai Generation Power ที่จะช่วยชี้ช่องทางในการทำการตลาดให้มีประสิทธิผลมากขึ้นดังต่อไปนี้
Image sensitive : ภาพลักษณ์ชี้นำชีวิต
กลุ่ม Thai Generation Power ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการทำให้ตัวเองดูดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มชายไทย เพราะกว่า 74% เชื่อว่า ถ้าพวกเขาดูไม่ดี พวกเขาคงขาดความมั่นใจในการทำสิ่งต่างๆ ในขณะที่ชายชาวเอเชียโดยภาพรวมมีความกังวลในเรื่องดังกล่าวเพียง 56% ด้วยเหตุนี้เอง กว่า 70% ของกลุ่มชายไทยจึงเป็นกลุ่มที่ต้องการใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้าสำหรับผู้ชายเพื่อดูแลให้อ่อนเยาว์มากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับอีก 9 ประเทศ และทำให้ตลาดสกินแคร์ของผู้ชายในประเทศไทยเติบโตอย่างต่อเนื่องมากกว่าร้อยละ 10 เห็นได้จากการเปิดตัวของผลิตภัณฑ์ยี่ห้อใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา (จากข้อมูลของ Euromonitor, January 2014)
Curious & worrisome : ความกังวลไม่น้อยไปกว่าความกังขาในการดูแลลูก
กลุ่ม Thai Generation Power ค่อนข้างมีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องอนาคตของลูก เพราะกว่า 77% ของคนไทยเห็นว่า เด็กสมัยนี้ต้องแข่งขันกันสูงและผ่านความยากลำบากเพื่อที่จะประสบความสำเร็จ ในขณะที่คนเอเชียโดยภาพรวมมีความกังวลกับเรื่องดังกล่าวเพียง 62% ด้วยเหตุนี้เองพวกเขาจึงพยายามตระเตรียมสิ่งดีๆ และพร้อมที่จะลงทุนในสิ่งที่จะช่วยให้ลูกของเขาประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสร้างเสริมสติปัญญาผ่านอาหารเสริมดีๆ และการส่งเสริมการศึกษา รวมทั้งการวางแผนออมเงินเพื่ออนาคตของลูก
Pro-online and offline : กระหายโลกออนไลน์และออฟไลน์ทั้งสาระกับบันเทิง
กลุ่ม Thai Generation Power กว่า 70% จะใช้สื่อออนไลน์ในการเปิดรับข้อมูลข่าวสารรายวันรวมทั้งความบันเทิงต่างๆ มากกว่าคนเอเชียในประเทศอื่นๆ ที่มีเพียง 57% และในขณะเดียวกันคนไทยกว่า 70% ยังเปิดรับสื่อดั้งเดิมแบบออฟไลน์อยู่เสมอ เพื่อตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูลข่าวสารที่ได้รับมากกว่าคนเอเชียในประเทศอื่นๆ ถึงแม้ว่าพวกเขากว่า 77% จะมองว่า ทุกสื่อล้วนมีอคติในการให้ข้อมูล
จากบทวิเคราะห์ที่ทำให้เราเข้าใจลักษณะสำคัญของกลุ่ม Generation Power ตามที่ได้กล่าวถึงข้างต้น ทำให้นักการตลาดต้องหันกลับมาวิเคราะห์ทบทวนถึงการสร้างสรรค์วิธีการสื่อสาร รวมถึงการกำหนดกลยุทธ์การตลาดในรูปแบบใหม่ เพื่อให้สามารถเข้าถึงคนที่เพรียบพร้อมด้วยพลังการจับจ่ายและอำนาจในมือได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ Y&R ขอจุดประกายแนวความคิดด้วยหลักคิดแบบกลยุทธ์ ‘IDEA’ ดังต่อไปนี้
I – Involve customers
ไม่ใช่แค่ทำการสื่อสารไปถึงผู้บริโภค แต่แบรนด์ต้องให้ผู้บริโภคมีอำนาจร่วมในการสื่อสาร เพราะในบางครั้ง ผู้บริโภคอาจเป็นนักโฆษณาที่น่าเชื่อถือกว่านักการตลาด
D – Defy the convention
แบรนด์ต้องไม่ยึดติดกับความสำเร็จในอดีตและธรรมเนียมเดิมๆ แต่จะต้องสร้างแนวคิดใหม่ๆ ที่น่าสนใจ เพราะผู้บริโภคต้องการความสดใหม่และทางเลือกที่หลากหลาย
E – Extend across diverse media into diverse audience
แบรนด์ต้องใช้สื่อที่ผสมผสาน หลากหลาย และมีมุมมองที่กว้าง เพื่อที่จะสามารถสร้างความสนใจร่วมของกลุ่มคนที่มีความแตกต่างกัน
A – Account for the stories we tell and the money we invest
แบรนด์ต้องหยุดทำตัวเองให้ ‘PERFECT’ เพราะลูกค้าอยากเปิดรับและเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์ที่น่าสนใจ ไม่ใช่ ‘สมบูรณ์แบบ’
“สื่อที่จะเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มนี้ได้ดีที่สุดคือ สื่อผสมผสาน เพราะยิ่ง Online เติบโตมากเท่าไร ผู้บริโภคก็จะยิ่งกลับไปหาอะนาล็อคมากขึ้นเท่านั้น แบรนด์จึงต้องมี Story มากขึ้น สร้างมูลค่าทางความบันเทิง ไม่ใช่การขายสินค้าอย่างเดียว สื่อสิ่งพิมพ์และวิทยุ เป็นสื่อที่ยังไม่ตาย เพราะพฤติกรรมของคนไทยยังชอบอะไรที่จับต้องได้อยู่ ซึ่งกลุ่ม Generation Power ยังมีการสร้างความมั่นใจก่อนซื้อสินค้าใดๆ โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ผู้บริโภคยังคงเห็นว่าปัจจัยที่มีอิทธิพลที่สุดคือ กลุ่มความคิด และตัวแทน แต่ทั้งนี้แม้กลุ่ม Generation Power จะอยู่ในช่วงอายุ 35 ปีขึ้นไป แต่ก็มีความกล้าที่จะทดลองสิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา” คุณโอลิเวอร์ กล่าวทิ้งท้าย