ทีมชาติไหนจะชนะ?! “Big Data” กับเบื้องหลังทำนายผลแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ที่แม่นยำ

  • 56
  •  
  •  
  •  
  •  

fifa-world-cup-2018-resized
Photo Credit : fifg / Shutterstock.com

ในช่วงทัวร์นาเมนต์การแข่งขันที่สำคัญ มีข้อมูลจำนวนมหาศาลที่สามารถนำมาวิเคราะห์และประมวลผล หากบริษัทและนักวิเคราะห์รวบรวมและใช้ข้อมูลดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากเลยทีเดียว โดยปกติแล้ว กูเกิล (Google) มีทีมงานพิเศษที่ทำหน้าที่จัดหาข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการแข่งขันฟุตบอลโลก โดยใช้ประโยชน์จากข้อมูลการค้นหาแบบเรียลไทม์ เพื่อนำเสนอข้อเท็จจริงและภาพต่างๆ ให้แก่ผู้ใช้

ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม 2561 มีการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกทั้งหมด 64 คู่ให้แก่ผู้ชมทั่วโลกราว 3,200 ล้านคน โดยฟีฟ่า (FIFA) ใช้เงินลงทุนมากถึง 241 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 8,000 ล้านบาท เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ชมทั่วโลกจะมีโอกาสได้รับชมภาพการแข่งขันในครั้งนี้

ยิ่งไปกว่านั้น การแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้ยังทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในแง่ของการโฆษณาทั่วโลก โดยองค์กรธุรกิจและแบรนด์ต่างๆ ทุ่มงบโฆษณาสูงถึง 2,400 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 80,000 ล้านบาท ด้วยเงินลงทุนจำนวนมาก ความตื่นเต้น และการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางของผู้คนทั่วโลกในการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้ จึงมีข้อมูลมากมายมหาศาลที่สามารถนำมาวิเคราะห์ประมวลผลและใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม

“ระบบวิเคราะห์คลังข้อมูล” หรือ “Big Data Analytics” จะมีบทบาทอย่างไรในการกลั่นกรองข้อมูลทั้งหมดนี้ให้กลายเป็นข้อมูลเชิงลึกที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย “เน็ตแอพ” (NetApp) ได้ระบุแนวทางที่สำคัญ 3 ข้อดังต่อไปนี้:

Resize Netapp_World_Cup Info_01

1. การปรับปรุงประสิทธิภาพของนักเตะโดยอาศัยการเรียนรู้จากข้อมูล

การใช้ระบบวิเคราะห์ข้อมูลบิ๊กดาต้าจะช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพของนักฟุตบอลที่เข้าร่วมการแข่งขันได้อย่างง่ายดาย ย้อนกลับไปเมื่อปี 2557 ทีมฟุตบอลของเยอรมนีได้ร่วมมือกับเอสเอพี (SAP) เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยข้อมูลเชิงลึกจากการแข่งขันในแมตช์ต่างๆ ซึ่งช่วยในการฝึกซ้อมนักฟุตบอลทีมชาติ และส่งผลให้ทีมชาติเยอรมนีครองถ้วยแชมป์ฟุตบอลโลกในปี 2557!

สี่ปีต่อมา เยอรมนียังคงใช้ประโยชน์จากข้อมูลบิ๊กดาต้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับปรุงการฝึกซ้อม ด้วยความหวังว่าจะสามารถคว้าตำแหน่งแชมป์ฟุตบอลโลกสมัยที่ 5 ได้สำเร็จ แต่น่าเสียดายที่ครั้งนี้พวกเขาไปไม่ถึงฝั่งฝัน อย่างไรก็ดี มีทีมใหม่ๆ หลายทีมที่ทำผลงานได้ดีเกินคาดในการแข่งขันครั้งนี้ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่เราได้รับรู้ว่าทีมอื่นๆ ก็ใช้ประโยชน์จากการวิเคราะห์ข้อมูลบิ๊กดาต้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเล่นให้กับทีมของตนเองเช่นกัน

2. ข้อมูลเชิงลึกแบบเรียลไทม์เกี่ยวกับสื่อช่วยดึงดูดผู้ชมเพิ่มมากขึ้น

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ นอกเหนือจากทีมฟุตบอลที่ใช้ประโยชน์จากระบบวิเคราะห์ข้อมูลแล้ว สื่อแขนงต่างๆ ก็ได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีดังกล่าวเช่นกัน โดยปกติแล้ว 24 ชั่วโมงก่อนที่เกมการแข่งขันจะเริ่มขึ้น สื่อมวลชนจะได้รับทราบข้อมูลเชิงลึกในด้านต่างๆ เกี่ยวกับทีมที่จะเข้าแข่งขัน เช่น ประวัติการเจอกันมาก่อน ผู้เล่นที่มีผลงานโดดเด่น และการจัดอันดับ โดยข้อมูลเชิงลึกจำนวนมากนี้มีประโยชน์ต่อสื่อ เพราะจะช่วยให้สามารถรายงานข่าวได้อย่างน่าสนใจที่สุดตลอดช่วงการแข่งขัน ตัวอย่างเช่น อาจมีการวิเคราะห์ประมวลผลข้อมูลเพื่อสร้างกระแสความตื่นตัวและกระตุ้นความสนใจของผู้ชม

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์อาจทำนายผลการแข่งขันในรูปแบบอินเทอร์แอคทีฟผ่านช่องทางดิจิทัล ขณะที่สื่อแขนงต่างๆ จะได้รับข้อมูลเรียลไทม์อย่างต่อเนื่อง และสามารถจัดเตรียมเนื้อหาการวิจารณ์รูปแบบการเล่นของแต่ละทีมสำหรับช่วงพักครึ่งเวลา รวมถึงก่อนและหลังการแข่งขันแต่ละคู่
ทั้งหมดนี้จะช่วยให้ผู้ชมทั่วโลกได้ดื่มด่ำกับกระแสเวิลด์คัพฟีเวอร์อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม

Resize Netapp_World_Cup Info_02

3. การวิเคราะห์ข้อมูลการเล่นในอดีตและปัจจุบัน เพื่อทำนายผลการแข่งขันอย่างแม่นยำ

นักวิเคราะห์การแข่งขันได้เริ่มต้นตรวจสอบว่าทีมชาติแต่ละทีมมีผลงานเป็นอย่างไรในการแข่งขันฟุตบอลโลกและทัวร์นาเมนต์อื่นๆ ที่จริงแล้วการจัดอันดับทีมต่างๆ โดยใช้ระบบ ELO Rating แบบใหม่ช่วยให้นักวิเคราะห์สามารถสร้างรูปแบบการคาดการณ์ที่ระบุได้เกือบจะแม่นยำว่าใครจะเป็นแชมป์ฟุตบอลโลกในครั้งนี้

นอกเหนือจากการทำนายว่าทีมใดจะเป็นแชมป์ฟุตบอลโลกแล้ว ระบบวิเคราะห์ข้อมูลยังสามารถคาดการณ์ได้ว่าทีมใดจะผ่านเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้ายได้อีกด้วย รูปแบบการคาดการณ์นี้ถูกใช้งานเป็นครั้งแรกในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเมื่อปี 2555 โดยนักวิเคราะห์จากโกลด์แมน ซาคส์ (Goldman Sachs) ทำนายจำนวนเหรียญรางวัลที่อังกฤษซึ่งเป็นประเทศเจ้าภาพจะได้รับ และผลปรากฏว่าคำทำนายดังกล่าวมีความแม่นยำสูงถึง 95% เลยทีเดียว!

การแข่งขันฟุตบอลโลกตอกย้ำถึงความสำคัญที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของการวิเคราะห์ข้อมูลในโลกปัจจุบัน ส่วนในโลกธุรกิจ ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ตั้งแต่การผลิตยาไปจนถึงการเงินระหว่างประเทศ ผู้บริหารกำลังสำรวจตรวจสอบวิธีการต่างๆ ในการใช้ประโยชน์จากระบบวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง หรือ “Big Data” เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานและเพิ่มผลกำไร

ข้อมูลจาก EU ระบุว่า ธุรกิจในส่วนของ Big Data มีการเติบโต 40% ต่อปี เร็วกว่า 7 เท่าเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่นๆ ในอุตสาหกรรม ICT ตลาดเทคโนโลยีและบริการด้าน Big Data ทั่วโลกมีมูลค่า 21.19 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 704 พันล้านบาทในปี 2560 และคาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องจนแตะระดับ 77.58 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2,578 พันล้านบาทภายในปี 2566 ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ย 24.15% ต่อปี

นับวัน “Big Data Analytics” ยิ่งทวีความสำคัญกับทุกวงการ เพราะฉะนั้นองค์กรในประเทศไทย และภูมิภาคอาเซียนควรจะเริ่มต้นใช้ข้อมูล “Big Data” ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพ เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตทั้งในวันนี้และวันหน้า


  • 56
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ