อย่างที่ทราบดีว่า สิ่งแวดล้อมของเรามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดภาวะที่เป็นอันตรายต่อโลกของเรา ไม่ว่าจะเป็น ภาวะโลกร้อน ความแห้งแล้ง น้ำท่วม สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (Climate Change) ซึ่งสาเหตุที่ทำให้โลกของเราเปลี่ยนแปลงก็เกิดจากการกระทำของมนุษย์ในหลายๆ ด้าน ดังนั้น เพื่อป้องกันและควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จึงเป็นที่มาของแนวคิด “Carbon Footprint” ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่จะบอกได้ว่าองค์กรได้ปล่อยปริมาณก๊าซเรือนกระจกออกมาเท่าไรแก่สาธารณะ เพื่อนำไปสู่การลดและกำจัดให้เหลือน้อยที่สุดเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมและโลกของเราในอนาคต ดังนั้น บทความนี้จึงชวนมาทำความรู้จัก “Carbon Footprint” ว่าคืออะไร และมีความสำคัญต่อองค์กรอย่างไร
Carbon Footprint คืออะไร
เป็นตัวชี้วัดผลกระทบของกิจกรรมที่ปล่อยปริมาณก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์หรือบริการ ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การใช้งาน ไปจนถึงการกำจัดซากผลิตภัณฑ์หลังหมดอายุการใช้งาน โดยจะถูกคำนวณออกมาในรูปของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2e)
ดังนั้น Carbon Footprint จึงเป็นหนึ่งตัวชี้วัดสำคัญที่จะประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยจากกิจกรรมต่าง ๆ ว่ามีออกมาเท่าไร ซึ่งสามารถเปิดเผยผ่าน ฉลาก Carbon Footprint ที่ติดไว้บนตัวผลิตภัณฑ์เพื่อให้ผู้บริโภคได้ทราบถึงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ได้ ซึ่งจะช่วยในการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค และกระตุ้นให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีในการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
หมายเหตุ “ก๊าซเรือนกระจก” มี 7 ชนิด ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2), มีเทน (CH4), ไนตรัสออกไซด์ (N2O), ไฮโดรฟลูออโร คาร์บอน (HFCs), เพอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PFCs), ซลเฟอรเฮกซะฟลออไรด (HF6) และ ไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์ (NF3
Carbon Footprint มีกี่ประเภท
Carbon Footprint สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่
1. Carbon Footprint ขององค์กร
2. Carbon Footprint ของผลิตภัณฑ์
#1 CFO – Carbon Footprint ขององค์กร
Carbon Footprint of Organization คือปริมาณของก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมาจากกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับองค์กรหรือหน่วยงานทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้ไฟฟ้าการปล่อยจากกระบวนการซัพพลายเชน การจัดการของเสีย การขนส่ง และการใช้เชื้อเพลิงภายในองค์กร โดยแสดงผลในเชิงปริมาณตัน หรือกิโลกรัมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2e) สำหรับ Carbon Footprint ขององค์กรสามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่
1) Scope1 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรงจากกิจกรรมขององค์กร เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิงในการผลิต การปล่อยก๊าซมีเทนจากกระบวนการผลิต
2) Scope 2การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงานไฟฟ้าและความร้อนที่ซื้อจากภายนอก เช่น การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า พลังงานความร้อนและพลังงานไอน้ำ
3) Scope 3 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมอื่น ๆ ขององค์กรที่ไม่รวมอยู่ใน ข้อ 1 และ ข้อ 2 เช่น การขนส่งสินค้า การขนส่งพนักงาน การกำจัดของเสีย
ปริมาณ Carbon Footprint ของแต่ละองค์กรจะแตกต่างกันไปตามประเภทขององค์กรและกิจกรรมการดำเนินงาน ตัวอย่างเช่น องค์กรที่ดำเนินธุรกิจด้านการผลิต ส่วนใหญ่จะมี Carbon Footprint มากกว่าองค์กรที่ดำเนินธุรกิจด้านบริการ เนื่องจากต้องใช้พลังงานในกระบวนการผลิตมากกว่า
(หมายเหตุ: GHG คือ ก๊าซเรือนกระจก Greenhouse Gas)
#2 CFP – Carbon Footprint ของผลิตภัณฑ์
Carbon Footprint of Product คือปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ปล่อยออกมาตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การขนส่ง การใช้งาน ไปจนถึงการกำจัดซากผลิตภัณฑ์หลังหมดอายุการใช้งาน ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามประเภทของผลิตภัณฑ์และวิธีการผลิต เช่น ผ้าฝ้ายมักมี Carbon Footprint น้อยกว่าผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากวัตถุดิบสังเคราะห์ หรือในส่วนของกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยใช้พลังงานสะอาด-พลังงานแสงอาทิตย์ จะมีปริมาณ Carbon Footprint น้อยกว่าผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยใช้พลังงานฟอสซิล
ทั้งนี้ การติดฉลาก Carbon Footprint ของผลิตภัณฑ์เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในปัจจุบัน เพราะจะทำให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าและบริการที่ปล่อย Carbon Footprint ได้น้อย เพื่อเป็นการสนับสนุนแบรนด์หรือองค์กรที่ผลิตสินค้าที่ดีเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ โดยฉลาก Carbon Footprint ของผลิตภัณฑ์จะแสดงข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ หน่วยที่ใช้วัด เกณฑ์การคำนวณ และวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุม
ประโยชน์ของการทำ Carbon Footprint
1. นำไปสู่การวางแผนเพื่อลดค่าใช้จ่ายและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้
2. เป็นการเตรียมรับมือกับมาตรการ Non-Tariff Barriers (NTBs) หรือการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี
3. ความได้เปรียบทางการค้าขององค์การด้นสิ่งแวดล้อมที่เป็นจุดแข็งทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ
4. ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า ที่ต้องการสินค้าหรือคู่ค้าที่มีความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม
5. เป็นการแสดงความรับผิดชอบ ตามหลัก ESG สามารถนำไปรายงานด้านความยั่งยืนได้
6. มีส่วนร่วมที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจำ 20-25% ใน COP 21 ภายในปี 2030
7. องค์กรสามารถนำข้อมูลเกี่ยวกับ Carbon Footprint ที่มีไปใช้ต่อยอดและพัฒนาโครงการใหม่ ๆ ในอนาคต เช่น พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติช่วยลดโลกร้อน หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้ได้รับรองฉลาก Carbon Footprint
8. การตั้งเป้าลด Carbon Footprint เป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับองค์กร ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน เชื้อเพลิง ต้นทุนการขนส่ง รวมถึงลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ
9. องค์กรยังได้รับประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นทุนพัฒนาองค์กรต่อไปได้ในอนาคต
10. การลด Carbon Footprint ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือในสายตานักลงทุน รวมทั้งเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ที่ทรงพลัง ถือเป็นการสร้างการรับรู้และการสื่อสารที่ดีระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค นำไปสู่ความยั่งยืนให้กับธุรกิจ
ทั้งหมดนี้คงพอจะเห็นภาพแล้วว่าองค์กรควรจะต้องให้ความสำคัญกับ Carbon Footprint และเตรียมความพร้อมเข้าสู่ตลาดคาร์บอนเครดิตที่จะเติบโตมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ Carbon Footprint เป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน ปัญหา Climate Change ดังนั้น การช่วยโลกก็ช่วยเราทุกคนไปด้วยกัน และพร้อมจะส่งต่อโลกที่ดีสู่เจเนอเรชั่นต่อไปได้.
Source
• file:///C:/Users/ppp/Desktop/Workshop%20MO/webinar-21-carbon-footprint-update.pdf
• https://www.dittothailand.com/th/dittonews/carbon-footprint/
• https://climatecare.setsocialimpact.com/carethebear/article/detail/18