In Short:
- นักท่องเที่ยวอินเดียแห่เข้ามาเที่ยวไทยหลังผ่อนคลายมาตรการโควิดแซงหน้ากลุ่มลูกค้าเดิมอย่าง จีน และ รัสเซีย
- เศรษฐกิจอินเดียกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด ส่งผลให้เกิดชนชั้นกลางในประเทศมากขึ้น มีกำลังทรัพย์ในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นเช่นกัน
- Target เดิมอย่าง จีน และ รัสเซีย มีปัญหาภายในที่หนักหน่วง จากมาตรการป้องกันโควิด และสงครามต่อยูเครน ตามลำดับ
- ไทยอาจต้องเปลี่ยนเป้าหมายไปดึงเม็ดเงินจากอินเดีย ซึ่งอาจขยายไปสู่ภาคส่วนอื่นๆ ต่อไป
เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ประเทศไทยประกาศปรับลดมาตรการ ‘Test and Go’ ลงและลดการกักตัวเหลือเพียง 2 วัน ทำให้การเดินทางเข้าประเทศไทยของชาวต่างชาติสะดวกมากยิ่งขึ้น แน่นอน การปรับลดดังกล่าว เป็นไปเพื่อ ‘ฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว’ ที่ซบเซาไปนานจากโควิด กระนั้น เรื่อง surprise ที่เกิดขึ้น กลับเป็น ‘นักท่องเที่ยวอินเดีย’ ที่หลั่งไหลเข้ามา ไม่ใช่ target หลักเดิมอย่าง จีน หรือ รัสเซีย หรือสัญญาณนี้ อาจจะบ่งบอกว่า ‘ตัวแปรใหม่’ ที่จะมาเป็น ‘พระเอก’ ช่วยไทยฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ได้เกิดขึ้นแล้ว
อินเดียบุกเดี่ยว เที่ยวไทยตั้งแต่ต้นปี
แม้จะดู surprise แต่ชาวอินเดียได้หลั่งไหลเข้ามาเที่ยวไทยตั้งแต่ช่วงต้นปีแล้ว จากข้อมูลของ ททท. นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 24 พฤษภาคม มีชาวอินเดียเข้ามาในไทยมากเป็นอันดับ 1 ถึง 100,884 คน เฉลี่ยประมาณ 3,000 คนต่อวัน ซึ่งจุดหมายปลายทางหลักที่บรรดานักท่องเที่ยวเหล่านี้เดินทางไป นั่นคือ ภูเก็ต กว่าสองสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคม ก็มีจำนวนกว่า 12,200 คน เป็นอันดับที่ 1 รวมทั้งแตะจำนวนหลักหมื่นคนประเทศเดียวโดดๆ และยิ่งไทยประกาศยกเลิกมาตรการกักตัวนักท่องเที่ยวผู้ไม่ได้รับหรือรับวัคซีนบางส่วนไปแล้วนั้น เป็นไปได้ว่านักท่องเที่ยวชาวอินเดียจะทะลักเข้ามาอีกเป็นเท่าทวี
โดย ธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ชี้ชัดว่า
“เราคาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวจากอินเดียถึง 500,000 คน เข้ามาในปีนี้ ซึ่งจะได้เม็ดเงินประมาณ 22,500 ล้านบาท หากเป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ อาจทะลุ 600,000 คน และจะได้เม็ดเงินมากถึง 27,000 ล้านบาท โดยประมาณ”
ชนชั้นกลางอินเดียมีกำลังซื้อสูงขึ้น
ส่วนหนึ่งที่นักท่องเที่ยวชาวอินเดีย ‘ออกมาใช้เงินนอกประเทศ’ กันอย่างหนาตา นั่นเพราะ อินเดียมีอัตราการเติบโตของ ‘ชนชั้นกลาง (Middle Class)’ สูงมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจาก ‘เศรษฐกิจมหาภาค’ ของประเทศเติบโตอย่างรวดเร็วและก้าวกระโดด จีดีพีโตขึ้นจากปีก่อนประมาณร้อยละ 8.7 สวนกระแสโลกที่ประสบสภาวะเงินเฟ้อ ทั้งจากโควิดและสงครามอย่างน่าชื่นชม และเมื่อพิจารณาไปใน ‘เศรษฐกิจระดับจุลภาค (ครัวเรือน)’ ก็พบว่า ในปี 2022 ประชากรเปลี่ยนสถานะจากชนชั้นกลางล่างสู่ชนชั้นกลางแตะร้อยละ 55 ไปเรียบร้อยแล้ว เช่นนี้ ทำให้หลายฝ่ายถึงขนาดคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจอินเดียจะ ‘มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก’ ภายในปี 2025 ทีเดียว
และเมื่อชนชั้นกลางในประเทศมีมากขึ้น แน่นอนว่า สิ่งที่ตามมาคือ ‘กำลังซื้อ (purchasing power)’ ของคนในประเทศย่อมมีสูงมากขึ้นตามไปด้วย จากสถิติของ Trading Economics เผยให้เห็นถึงรายได้สุทธิส่วนบุคคลเพื่อการใช้จ่าย (disposable income) ของอินเดีย เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากประมาณ 4 ล้านรูปี ในปี 1990 สู่ประมาณ 230 ล้านรูปี ในปี 2021 โดยคาดว่าจะเติบโตยิ่งขึ้นไปอีกเรื่อยๆ ในอนาคต
โดยเฉพาะ รายได้จากบุคลากรในภาคส่วน ‘เทคโนโลยี’ ที่รัฐบาลอินเดียออกมาตรการสนับสนุน (Subsidy Scheme) มาโดยตลอดด้านเงินทุนในการผลิตสินค้า IT และพัฒนาบุคลากรกว่า 26,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถึงขนาดได้ฉายาว่า ‘Tech Stack’ ซึ่งตอบโจทย์ตลาดในยุคดิจิทัล ที่กำลังขาดแคลนบุคลากรทั่วโลก ณ ขณะนี้เป็นอย่างมาก นี่จึงเป็น ‘ช่องทาง’ สำหรับชาวอินเดีย ในการเข้าสู่ภาคส่วนดังกล่าวเพื่อให้เกิดการ ‘ใต่เต้าทางสังคม (Social Mobility)’ นำมาซึ่งความเป็นอยู่และรายได้ที่ดีขึ้น
‘ชนชั้นกลางเกิดใหม่’ ของอินเดียนี้เอง ที่มีความต้องการ ‘จับจ่ายใช้สอย’ ในระดับที่สูงมากๆ ให้คิดตามว่า จากแต่เดิมมีเงินน้อย แล้วมามีเงินมากขึ้น ย่อมมีความอยาก ‘บริโภค’ เป็นธรรมดา เข้าทำนอง ‘อัดอั้นมานาน ขอใช้เงินสักทีเถอะ’ จึงไม่แปลกใจ หากบรรดาคนเหล่านี้ จะมีการจับจ่ายใช้สอยกันในระดับสูง โดยเฉพาะ การไปเที่ยว ที่ถือเป็นการเปิดหูเปิดตา และไปเจอสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยพบมาก่อน ไทยเป็นหนึ่งในนั้น
Target เดิมบ๊ายบาย เพราะวุ่นวายแต่เรื่องของตน
สิ่งที่ surprise ไม่แพ้การทะลักเข้ามาของนักท่องเที่ยวอินเดีย นั่นคือ คำถามที่ว่า ทำไม ‘ฐานลูกค้าเดิม’ ถึง ‘เงียบเป็นเป่าสาก’ แบบผิดวิสัยเช่นนี้ แต่เมื่อพิจารณาดีๆ จะพบว่า สาเหตุนั้น มาจาก ‘ปัจจัยและบริบทภายในประเทศ (Internal Factor/ Context)’ เป็นสำคัญ
ฐานลูกค้าเดิมอย่างประเทศจีน ตอนนี้ยังคงประกาศใช้นโยบาย ‘โควิดเป็นศูนย์ (zero-COVID policy)’ ซึ่งรัฐบาลปิดพรมแดน ไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศ และไม่อนุญาตให้คนออกนอกประเทศหากไม่จำเป็น เช่นกัน หรือแหากจำเป็นต้องออกนอกประเทศ หากกลับมา ก็ต้องใช้เวลากักตัวอย่างน้อย 14 หรือ 21 วัน เช่นนี้ ทำให้คนจีนไม่สามารถขยับตัวไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวกนัก การกลับมาเที่ยวไทยเหมือนแต่ก่อนแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในตอนนี้
ส่วนรัสเซีย ยิ่งไม่ต้องกล่าวถึง เพราะตอนนี้ กำลังอยู่ใน ‘สงครามกับยูเครน (Russia-Ukraine War)’ ซึ่งแน่นอนว่าคนในประเทศได้รับผลกระทบด้านรายได้อย่างมาก การจ้างงานไม่เกิด ทำธุรกรรมทางการเงินไม่ได้ เศรษฐกิจชะงักงันไปหมด รวมถึงการคว่ำบาตรในหลายประเทศ ก็ยิ่งทำให้รัสเซียได้รับการปิดกั้นทุกช่องทาง เงินในมือก็น้อยลง ไปที่ใดก็ลำบาก นับประสาอะไรกับการคิดถึงเรื่องท่องเที่ยว
สงครามดังกล่าว ยังส่งผลกระทบอีกทอดหนึ่งในวงกว้างต่อทวีปยุโรปทั้งหมด เพราะมองเรื่อง ‘ภัยคุกคาม’ ที่คืบคลานเข้ามาใกล้ตนเรื่อยๆ ได้ทุกเมื่อ ทั้งภัยจากความรุนแรง และภัยเรื่องปากท้องอย่าง ‘เงินเฟ้อจากสงคราม’ ทำให้ชาวยุโรปทั้งผองจึงไม่อยู่ในอารมณ์ที่จะท่องเที่ยวได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวไทยด้วย เพราะนักท่องเที่ยวจากยุโรปเป็น Target รองๆ ของไทยเช่นกัน
ทำให้ตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็น target หลักหรือรองๆ ของไทย ล้วน ‘พับความคิด’ เรื่องการท่องเที่ยวไว้ในลิ้นชักเหมือนกันเสียหมด ฉะนั้น การอยู่กับปัจจุบัน เปลี่ยนโฟกัส โดย ‘หันกลับมามองอินเดีย’ ก็อาจจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าขบคิดไม่น้อยเลยทีเดียว
ไปให้สุด อย่าหยุดแค่ ‘การท่องเที่ยว’
เมื่อพิจารณาจากข้างต้น การดึงเม็ดเงินจากอินเดีย อาจจะนับว่าเป็นสัญญาณอันดีต่อการฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยได้ประการหนึ่ง อย่างไรเสีย สิ่งที่ ‘น่าพิจารณา’ ในขั้นต่อไป อาจจะเป็นการฉวยใช้โอกาสนี้เพื่อ ‘ต่อยอด’ ไปยังภาคส่วนอื่นๆ โดยข้อเสนอเรื่องการต่อยอดดังกล่าวจากบทความ India is the Key to Boosting Thailand’s Post-Pandemic Recovery ใน The Diplomat มีความน่าสนใจอย่างมาก ซึ่งมีที่ประเด็นเกี่ยวข้องดังนี้
ประการแรก บทความเสนอให้ใช้โอกาสนี้ หาผลประโยชน์ ‘ด้านธุรกิจการดูแลสุขภาพ (Wellness)’ ที่เกี่ยวกับ การดูแลความงาม เวชศาสตร์ฟื้นสภาพ (rehabilitation) การดูแลผู้สูงอายุ หรือกระทั่ง E-health ถึงแม้ยังคงเป็นเทรนด์ใหม่สำหรับไทย แต่รัฐบาลนั้นผลักดันอย่างมาก โดยกำหนดว่า ภายในปี 2027 ไทยจะต้องได้ market share จากธุรกิจดังกล่าวจากทั่วโลกร้อยละ 10 และกำหนดในจังหวัดแถบอันดามัน ร่วมมือกันเป็น ‘เขตพัฒนาพิเศษด้านธุรกิจดูแลสุขภาพ (Wellness Corridor)’ และกำหนดให้เป็น ‘พื้นที่เฉพาะด้านธุรกิจดูแลสุขภาพ (wellness single license)’ อีกด้วย
เมื่อเป็นเช่นนี้ ยิ่งเข้าทาง เพราะจังหวัดที่นักท่องเที่ยวอินเดียไปเยือนจำนวนมากที่สุด นั่นคือ ภูเก็ต ซึ่งอยู่ในแถบอันดามัน ทำให้สามารถขยายผลไปสู่การจัดทัวร์จังหวัดแถบนี้ พร้อมเข้ารับบริการ Wellness ไปในตัว และที่เข้าทางไปกว่านั้น ชาวอินเดียมีความเชื่อเกี่ยวกับการรักษาแบบ ‘อายุรเวท (Ayurvedic medicine)’ ซึ่งเป็นต้นทางของ Wellness ก็ยิ่งทำให้ธุรกิจดังกล่าวมีโอกาสที่จะเติบโตได้จากเม็ดเงินของอินเดีย ถือเป็นการ ‘ยิงปืนนัดเดียวได้นกสามตัว’ ทีเดียว
ยิ่งไปกว่านั้น บทความเสนอว่า ควรขยายผลสู่ความร่วมมือ ‘ด้านเทคโนโลยี’ ด้วยเช่นกัน จากที่กล่าวในส่วนต้น ว่าอินเดียถือเป็นแหล่งกำเนิดบุคลากรน้ำดีทางด้านนี้ การหมายให้กลุ่มบุคคลเหล่านี้เพื่อ ‘ถ่ายทอด’ วิชาความรู้ เพื่อให้สอดรับกับความต้องการบริโภคเทคโนโลยีของไทยที่เพิ่มขึ้่นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงประโยชน์แก่วงการ Startup ไทย ที่จะได้เรียนรู้จากประเทศที่มี Unicorn (บริษัท Startup ที่มีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) มากกว่า 100 บริษัท ย่อมเป็นผลดีไม่น้อย ซึ่งได้มีสัญญาณอันดีในส่วนภาครัฐมาบ้าง จาก อนุปริยา พาเทล (Anupriya Patel) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพานิชย์และอุตสาหกรรมอินเดีย ได้แสดงเจตจำนงค์ว่าอยากถ่ายทอดวิชารวมถึงเปิดโอกาสให้ Startup ไทย เข้ามาร่วมมือกับ Startup อินเดียได้หากว่าไทยต้องการ
แน่นอน ทั้งหมดที่กล่าวมา จะเป็นผลดีกับ ‘ภาคธุรกิจอื่นๆ’ ในไทย ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งตรงนี้ เป็นเรื่องของภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อไป
ที่มา:
The Diplomat, The Nation, The Pattaya News, Financial Express, Asian Studies, The Economist India Briefing