‘ทีมเวิร์ค-นวัตกรรม’ หัวใจสำคัญของ รอยัล พารากอน ฮอลล์ World Class Venue ที่สุดของไทย

  • 145
  •  
  •  
  •  
  •  

เชื่อว่าหลายท่านคงรู้จักชื่อเสียงของ รอยัล พารากอน ฮอลล์ เป็นอย่างดี สถานที่จัดงานระดับมาตรฐานโลกใจกลางกรุงเทพฯ ซึ่งผ่านการจัดอีเวนท์ใหญ่ยักษ์มาแล้วนับไม่ถ้วน

รอยัล พารากอน ฮอลล์ เปรียบประดุจเป็นหน้าตาของประเทศชาติ ที่เปิดรับนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวชั้นดีมาจากทั่วทุกมุมโลก ซึ่งเดินทางมาเข้ามาประชุม สัมมนา ชมนิทรรศการหรือคอนเสิร์ตใหญ่ และในอีเวนท์สำคัญต่างๆ และตลอดระยะเวลา 11 ปีที่ผ่านมา สถานที่แห่งนี้ได้พิสูจน์ให้เราเห็นแล้วว่าเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม MICE ธุรกิจซึ่งนำพาเงินเข้าประเทศปีละหลายพันล้านได้เป็นอย่างดี

1

แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าปราศจากบุคคลคนนี้ คุณทาลูน เทง กรรมการผู้จัดการ รอยัล พารากอน ฮอลล์ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ดังนั้น MarketingOops! จึงขอโอกาสเข้าไปพูดคุยแบบหมดเปลือกกับเคล็ดลับความสำเร็จในการผลักดันให้ รอยัล พารากอน ฮอลล์ เป็น World Class Venue ที่สุดในเมืองไทยและเซาท์อีสต์เอเชีย

รอยัล พารากอน ฮอลล์ World Class Venue

คุณทาลูน เริ่มต้นเกริ่นให้เราฟังถึงความเป็นมาของ รอยัล พารากอน ฮอลล์ สถานที่ที่ดูยังไงก็ไม่น่าเชื่อว่าผ่านกาลเวลามา 10 กว่าปีแล้ว โดยเล่าว่า รอยัล พารากอน ฮอลล์ เปิดตัวเมื่อเดือนมีนาคม 2549 สร้างขึ้นด้วยงบประมาณ 800 ล้านบาท ภายใต้ Concept การออกแบบในรูปเหลี่ยมเพชรที่สะท้อนความงดงามของแสงธรรมชาติในยามกลางวัน และแสงไฟในยามกลางคืน นอกจากนี้ยังสร้างขึ้นเพื่อการประหยัดพลังงานตามนโยบาย Sustainable Venue ซึ่งเป็นองค์ประกอบของสถานที่จัดงานระดับ World Class ของประเทศไทย

สำหรับพื้นที่ในการจัดงาน มีขนาด 12,000 ตารางเมตร แบ่งเป็นพื้นที่จัดงาน 3 ฮอลล์ ขนาด 2,000 – 5,000 ตารางเมตร และห้องประชุม 6 ห้อง ขนาด 50 – 300 ตารางเมตร ที่สามารถจัดสรรพื้นที่ให้สามารถรองรับงานได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นงานนิทรรศการ งานประชุม งานจัดเลี้ยง และงานบันเทิงต่างๆ

2

“เมื่อ 10 ปีที่แล้วยังไม่มีการทำธุรกิจแบบนี้ ยังไม่มีฮอลล์ไซส์ขนาดนี้ใจกลางเมือง ทำให้เรามีโอกาสได้นำคำว่า World Class Venue มาอยู่ในห้างสรรพสินค้า นับเป็นความท้าทายและเป็นการนำนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาในพื้นที่ของห้าง เพิ่มความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งมีทั้ง Attraction และมี Entertainment มีงานสัมมนา และคอนเสิร์ต ฯลฯ ทำให้เราก้าวมาสู่ธุรกิจที่เรียกว่า MICE (Meeting Intensive Convention Exhibition) นั่นเอง”

MICE ยกกำลัง 3

สำหรับผู้ที่เพิ่งรู้จักกับ อุตสาหกรรม MICE ขออธิบายโดยสรุปว่า ย่อมาจาก Meeting Intensive Convention Exhibition ได้แก่

  • Meeting การจัดการประชุม
  • Intensive คือ การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล เช่น กลุ่มบริษัทไดเร็คเซลล์ เมื่อขายได้ยอดทะลุเป้าก็จะพาไปเที่ยวตามเมืองต่างๆ มีตั้งแต่กลุ่มที่มาประมาณ 300-500 คนขึ้นไปจนถึงหลายพันคน
  • Convention ก็คือการประชุม สัมมนา การประชุมเพื่อหาความรู้เพิ่มเติม
  • Exhibition การจัดนิทรรศการ เช่น งานฟู้ด งานการศึกษาต่อต่างประเทศ ฯลฯ

ทว่า ในส่วนของ รอยัล พารากอน ฮอลล์ นั้น คุณทาลูน กล่าวเสริมว่า โดยทั่วไป E นั้นจะมีแค่ตัวเดียวคือ Exhibition แต่ของเราจะเพิ่มไปอีก 2 ตัว ได้แก่คำว่า Entertainment และ Event เพราะว่าเราต้องการที่จะเป็นศูนย์กลางในการจัดไลฟ์สไตล์ด้วยนั่นเอง ทำให้เราตอบโจทย์ของการเป็น MICE บวก E บวก E ดังนั้น เราจึงเรียกว่า MICE ยกกำลัง 3

3

“อย่างงานประเภท Entertainment ที่เราเคยจัดมาเช่น ทอล์กโชว์ “หมู่ โน๊ต อุดม” ก็ใช้พื้นที่ของเราในการจัดงาน หรือคอนเสิร์ตระดับโลกของ อันเดรอา โบเชลลี ศิลปินโอเปร่าระดับโลก ที่หาชมได้ยากก็มาจัดแสดงที่ประเทศไทยเป็นครั้งแรก ซึ่งต้องพร้อมไปด้วยระบบแสงสีเสียง สถานที่ก็ต้องระดับโลก แต่เขาก็เลือกใช้ที่นี่ในการจัดคอนเสิร์ต เรียกได้ว่าพื้นที่ของเราเป็นสถานที่ที่ทำได้หลากหลายรูปแบบ”

สำหรับในเรื่องความจุของคนนั้น คุณทาลูน กล่าวว่า ถ้าเป็นงานคอนเสิร์ตใหญ่ ก็สามารถจุคนได้ไม่ต่ำกว่า 5-6 พันคนต่อครั้ง แต่ถ้าเป็นประเภทนิทรรศการก็สามารถจุคนได้ 8,000-100,000 คน เพราะลักษณะของนิทรรศการจะเป็นการที่หมุนเวียนกันเข้าออกทำให้รับคนได้มากกว่า เช่น งานที่เพิ่งจัดไปล่าสุดของคณะภริยาทูต The Diplomatic Red Cross Bazaar มหกรรมช้อปเพื่อการกุศล เพียงแค่ 2 วันก็มีคนมาร่วมงานมากกว่า 45,000 คนเลยทีเดียว ลักษณะงานแบบนี้เราจะเรียกว่า B2C (Business to Consumer) และงานไลฟ์สไตล์ที่โดดเด่นอีกงานคือ การศึกษาต่อต่างประเทศ ที่จะมีบู๊ธของสถานศึกษาต่างๆ มากมายจากทั่วโลกมาจัดงาน ดังนั้น คงจะไม่ผิดนักถ้าจะเรียกสถานที่ของเราว่าเป็นระดับเวิร์ลคลาสจริงๆ

4

นักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

เมื่อถามว่า MICE สำคัญต่อการส่งเสริมและผลักดันเศรษฐกิจไทยอย่างไร คุณทาลูน กล่าวว่า MICE Industry เป็นธุรกิจที่สร้างเงินเข้าประเทศ นำรายได้เข้าประเทศค่อนข้างเยอะกว่าการท่องเที่ยวทั่วๆ ไป เพราะไม่ใช่การมาท่องเที่ยวโดยตรง แต่เป็นการมาพบปะกันในเรื่องของธุรกิจ โดยจะมีเรื่องของการเที่ยวพักผ่อนปะปนด้วย

เช่น คนที่มาประชุมด้านนี้ส่วนใหญ่จะเป็นนักธุรกิจ เป็นคนมีฐานะ ซึ่งก็จะต้องบินมา และต้องมาพักโรงแรม ทานอาหาร พวกเขาจะไม่เที่ยวแบบกรุ๊ปทัวร์ทั่วไป การใช้ชีวิตของเขาก็ใช้จ่ายเงินค่อนข้างหนัก โรงแรมต้องพัก 4-5 ดาว ตั๋วเครื่องบินต้องระดับอีโคโนมีไปจนถึงบิสสิเนสคลาส ยังไม่นับค่าดินเนอร์หรือการทานอาหารแต่ละมื้อก็ค่อนข้างหรูหรา เรียกได้ว่าเป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพมาก และหากคิดเป็นต่อหัวแล้วก็ประมาณ 80,000 บาทต่อคนต่อวัน และส่วนใหญ่ก็มักจะมาไม่ต่ำกว่า 3 วัน ดังนั้น คิดแล้ว 1 คนน่าจะมาใช้เมืองไทยมากกว่า 2 แสนบาทแน่นอน และถ้าเป็นพันคนที่มาใช้จ่ายแบบนี้ในไทย คิดว่าจะสร้างรายได้เข้าประเทศเท่าไหร่                          

5

มาตรฐานระดับโลกตอบโจทย์ MICE Industry

และในเมื่อ MICE มีความสำคัญกับเศรษฐกิจไทย รอยัล พารากอน ฮอลล์ ก็มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมตรงส่วนนี้ไม่น้อยเช่นกัน โดยคุณทาลูน ระบุว่า เราผลักดัน MICE ในฐานะเป็นพื้นที่ในการจัดงาน เพราะสถานที่ของเราอยู่ใจกลางเมือง มีการเดินทางที่สะดวก ซึ่งจะทำให้เหล่าผู้จัดงานทั้งไทยและเทศสนใจที่จะจัดงานที่นี่ ด้วยมาตรฐานระดับโลกและความพร้อมของเราที่จะจัดในรูปแบบใดก็ได้ ทำให้เราตอบโจทย์ทุกอย่าง นอกจากนี้ เรายังผ่านการประเมินมาตรฐานสถานที่จัดงาน ประเภทห้องประชุม ของ สสปน. (สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ) อีกด้วย

และนอกจากความพร้อมเรื่องของสถานที่แล้ว รอยัล พารากอน ฮอลล์ เรายังพร้อมไปด้วย ทีมงานที่มีประสบการณ์อย่างมืออาชีพ ที่จะมาช่วยเสริมให้เกิดความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

“และทั้งหมดนี้จะทำให้ผู้จัดงานจากต่างประเทศมาใช้พื้นที่เรามากขึ้น นั่นหมายถึงว่าจะนำนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพเข้าสู่ประเทศ การใช้จ่ายในประเทศสูงขึ้น Economy Impact ไทยเราสูงขึ้นด้วย ซึ่งนับได้ว่า MICE คือธุรกิจที่เราต้องผลักดัน และรัฐบาลเองก็เห็นความสำคัญและกำลังจะเพิ่ม ตรงส่วนนี้ให้มากขึ้นด้วย”

 6

สัดส่วนรายได้และผลกำไร

คุณทาลูน เผยถึงเป้าหมายด้านธุรกิจว่า 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งเป้าสัดส่วนไว้ว่า ตลาดโลคอล 80% ตลาดต่างประเทศ 20% แต่ในปีนี้ เราจะเพิ่มตลาดต่างประเทศเป็น 30% และตลาดโลคอลเป็น 70% เหตุที่เราไม่เน้นตลาดต่างประเทศมาก เพราะว่ากรณีเกิดเหตุการณ์ในบ้านเมืองต่างๆ เช่นโรคซาส์ ก็อาจจะทำให้การเดินทางหยุดชะงักได้ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องรักษาฐานลูกค้าในประเทศไทยไว้ก่อน เพราะเป็นรายได้หลัก ส่วนต่างประเทศเหมือนเป็นเชื้อเพลิงเสริมให้เรามากกว่า

ส่วนเรื่องรายได้นั้น คุณทาลูน บอกว่า เราทำรายได้ปีหนึ่งราว 185 ล้านบาทโดยมีการตั้งเป้าว่าเราจะโต 7-8% ทุกปี โดยธุรกิจประเภทนี้ปัจจุบันจะโตไม่เกิน 10% ต่อปี และเป็นธุรกิจที่มีขึ้นลงตามสภาวะของเศรษฐกิจด้วย

7

ทีมเวิร์ค คือจุดแกร่งสำคัญ ต่อให้มีเงินก็ทำไม่ได้

เราปฏิเสธไม่ได้ว่าทำเลและสถานที่โอ่โถงงดงามคือจุดแกร่งสำคัญของ รอยัล พารากอน ฮอลล์ แต่แทนที่จะยกเครดิตทั้งหมดให้กับเรื่องนั้น คุณทาลูน กลับเน้นย้ำว่า จุดแกร่งสำคัญที่สุดของเราคือ “ทีมงาน” สถานที่มีส่วนจริงแต่ถ้ามีเงินมีที่ทำเลดีๆ ใครก็ทำได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่มีใครเหมือนเราได้เลยคือ การที่มีทีมงานที่เป็นมืออาชีพและบริการด้วยใจ เราเรียกสิ่งนี้ว่า ทีมเวิร์ค”

ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมาปี 2549 เราก็ได้ดึงคนที่เป็นมืออาชีพมาร่วมงาน ทำงานด้วยใจ มีความรู้และประสบการณ์ที่พรั่งพร้อม ซึ่งนี่คือจุดแข็งที่ดีที่สุดของเรา การมีสถานที่ดีแต่ถ้าขาดทีมงานที่ดีมีคุณภาพ มันไม่อาจผลักดันให้ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ยั่งยืนได้ ด้วยความที่เราอยู่ในธุรกิจบริการ มีสถานที่ระดับเวิร์ลคลาส นั่นหมายความว่าเราต้องมีทีมงานระดับเวิร์ลคลาสด้วย

“เราสามารถสู้กันด้วยตึกอาคาร จะเท่าไหร่ก็ได้ ถ้าคุณมีเงินทำได้ แต่คุณไม่อาจสู้กับการบริการได้ ถ้าคุณไม่แน่จริง และมันคือสิ่งที่เราทำมาตลอด 10 กว่าปี ลูกค้าพอใจกับการให้บริการของเราและเราจะพัฒนาตรงนี้ไปเรื่อยๆ เพราะงานบริการอยู่ในสายเลือดคนไทย โดยเฉพาะกับการที่เรากำลังจะเข้าสู่ยุคดิจิทัล เราจะนำเอานวัตกรรม เทคโนโลยี และความเป็นมืออาชีพในการให้บริการเพื่อที่จะดึงให้ลูกค้าอยู่กับเราแบบยั่งยืน อยู่แบบไปไหนไม่ได้ อันนี้คือสิ่งที่เป็นข้อพิสูจน์ได้ว่าเราประสบความสำเร็จตรงจุดนี้”

 8

ไม่หยุดนิ่งด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ

คุณทาลูน ขยายความการนำนวัตกรรมมาใช้ในการดำเนินธุรกิจว่า ในด้านกายภาพ เราจะเน้นนโยบาย Sustainable Venue คือการประหยัดพลังงาน เช่น การใช้หลอดไฟ LED การใช้กระดาษรีไซเคิล การไม่ใช้ผ้าปูโต๊ะเพราะจะทำให้โลกร้อน รวมไปถึงเรากำลังประสานกับผู้ผลิตที่จะสร้างบู๊ธออกมาด้วยวัสดุที่รีไซเคิลได้ ฯลฯ เหล่านี้คือเทคโนโลยีด้านกายภาพที่เรามุ่งจะพัฒนาต่อไป รวมไปถึงถ้าอนาคตจะมีพลังงานรูปแบบอื่นๆ ทดแทนได้เราก็จะนำมาใช้เช่นกัน เราจะเริ่มนำร่องไปก่อนเรื่องการผลักดันการรีไซเคิล และ Green Meeting ภายในองค์กร

ส่วนถ้าเป็นทางบุคคลากร เราก็จะสนับสนุนให้บุคคลากรใช้นโยบาย Paperless คือแทนที่เราจะใช้กระดาษหรือเอกสารเยอะๆ เราก็เปลี่ยนเป็นการส่งข้อมูลผ่านทางมือถือหรือแท็บเล็ตแทน ซึ่งเราก็กำลังผลักดันในเรื่องนี้อยู่แต่ก็อาจจะต้องใช้งบประมาณพอสมควร

สูตรลับความสำเร็จ

คุณทาลูน กล่าวว่า รอยัล พารากอน ฮอลล์ เราเป็นบริษัทในเครือสยามพิวรรธน์ ซึ่งเป็นแบรนด์แม่ของเราและเป็นผู้นำความคิดสร้างสรรค์ที่ล้ำสมัย โดยความสำเร็จที่ได้มานั้นก็เพราะว่าบริษัทเรามีวิสัยทัศน์เดียวกัน มี Core Value เดียวกัน ซึ่งประกอบไปด้วย 5 ข้อดังนี้

  • U – Understanding ต้องมีความเข้าใจ เข้าใจแบบ 360 องศา ทั้งพาร์ทเนอร์ ลูกค้า และคู่แข่ง ทุกสิ่งทุกอย่างเราต้องเข้าใจ
  • T – Trust worthy เราต้องมีความน่าเชื่อถือ บริหารธุรกิจอย่างมีจริยธรรม คุณธรรม และธรรมาภิบาล เพื่อสร้างความไว้วางใจให้กับลูกค้าของเรา
  • V – Visionary เราต้องมีวิสัยทัศน์ ต้องมองการณ์ไกล มุ่งแสวงหาโอกาสอันมีค่าที่คนอื่นมองไม่เห็น
  • C – Committed to Excellence สิ่งที่ทำทั้งหมดไม่ได้ทำแค่ตามมาตรฐาน แต่จะต้องไปไกลกว่านั้น Beyond กว่านั้น ต้องทำอะไรที่เหนือกว่าความคาดหวัง ให้บริการเหนือกว่าความคาดหวังของลูกค้า
  • D – Daring คือความกล้า กล้าที่จะออกนอกกรอบ ออกจากคอมฟอร์ทโซน เหมือนที่บริษัท สยามพิวรรธน์ฯ ทำคือนำเสนอความแปลกใหม่ให้กับประเทศอยู่เสมอ

นอกจากนี้ คุณทาลูน ยังได้แบ่งปันเคล็ดลับความสำเร็จส่วนตัวให้เราได้ทราบด้วย โดยระบุว่า คือการยึดหลักว่าผู้บริหารต้องเห็นคนทำงานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ต้องเป็นตัวอย่างให้กับผู้ใต้บังคับบัญชาได้ โดยจะไม่ปิดกั้นความคิดเห็นหรือการแสดงออก ให้ความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ในการทำงานเราสามารถปรึกษากันได้หมดทุกระดับ ทำงานร่วมกันเป็นทีมนั่นเอง และด้วยหลักการทำงานแบบนี้ ทำให้เรื่องการเทิร์นโอเวอร์พนักงานออกของเราน้อยมาก หลายคนที่ทำงานอยู่กับรอยัล พารากอน ฮอลล์ นานเป็น 10 ปีเลยทีเดียว

9

สิ่งที่จะพัฒนาต่อไปในอนาคต

คุณทาลูน อธิบายว่า บริษัท สยามพิวรรธน์ จํากัด เราจะทำอะไรจะไม่ทำในแพทเทิร์นเดียวกัน ทั้งสยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอร์รี่ และสยามพารากอน จะเห็นว่ามีความโดดเด่นแตกต่างกัน แต่ถ้าถามว่ารอยัล พารากอน ฮอลล์ เราจะไปอย่างไรต่อไปนั้น เราก็ไปพร้อมกับสยามพิวรรธน์

“ล่าสุดกับโครงการ Icon Siam เราก็เตรียมการสำหรับฮอลล์ที่นั่น ในพื้นที่ราวๆ 12,000 ตารางเมตร แต่อาจจะมีคอนเซ็ปต์ไม่เหมือนกัน โดยถ้าที่ รอยัล พารากอน ฮอลล์ เป็นเวิร์ลคลาส ที่ Icon Siam ก็จะเป็น Destination หมายถึงว่าคนทั่วโลกจะต้องมาตรงจุดนั้น โดยล้อมรอบไปด้วยโรงแรม 5 ดาว และรถไฟฟ้าสีทองที่กำลังจะมา”

รอยัล พารากอน ฮอลล์ สถานที่แห่งนี้ผ่านร้อนหนาวร่วมกับประเทศไทยมากว่า 10 ปี และด้วยความพรั่งพร้อมในหลายองค์ประกอบ ไม่แปลกใจเลยที่ทำให้ผู้จัดงานทั้งไทยและเทศ ต่างให้การยอมรับและยกให้เป็น World Class Venue ตัวจริง และในวันนี้และวันต่อไปข้างหน้า ด้วยวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกลและการพัฒนาต่อไปไม่หยุดยั้ง จะทำให้สถานที่แห่งนี้เป็นผู้นำและเป็นเทรนด์เซ็นเตอร์ในธุรกิจ MICE ระดับโลกไปอีกนาน.

Copyright © MarketingOops.com


  • 145
  •  
  •  
  •  
  •