เทรนด์ใหม่การหางานปี 2565 เสิร์ช ‘ชื่อบริษัท’ มากกว่าตำแหน่ง เหตุคนรุ่นใหม่มองหาบริษัทที่มี “คุณค่าในองค์กร” ตรงกับความต้องการของตัวเอง   

  • 15
  •  
  •  
  •  
  •  

วิกฤตโควิด-19 ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและพฤติกรรมของผู้คนในวงกว้าง ทั้งยังสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในตลาดงานทั้งในระดับโลก รวมถึงประเทศไทย ทำให้คนที่กำลังมองหางานใหม่นั้นก็มีพฤติกรรมหรือแนวคิดในการตัดสินใจเลือกสมัครงานที่เปลี่ยนไปจากยุคก่อนโรคระบาด องค์กรหรือผู้ประกอบการจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องต้องปรับตัวให้ทันสถานการณ์และความต้องการของคนทำงานในโลกหลังวิกฤตโควิด

 

คุณดวงพร พรหมอ่อน กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “วิกฤตโควิด-19 ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงมุมมองและทัศนคติด้านความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานและองค์กร เมื่อผู้หางานไม่ได้มองหาแค่งานที่ให้ค่าตอบแทนที่ดีที่สุดหรือสวัสดิการรูปแบบเดิม ๆ อีกต่อไป หากแต่ให้ความสำคัญกับ Employer Value Proposition (EVP) หรือ คุณค่าในองค์กรที่พนักงานต้องการที่ตอบรับกับสถานการณ์ในปัจจุบัน รวมไปถึงภาพลักษณ์ขององค์กร หรือ Employer Brand ว่าสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ ความเป็นตัวตน หรือทัศนคติความเชื่อของตนหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็น วัฒนธรรมการทำงานที่มีความเห็นอกเห็นใจกัน บรรยากาศในการทำงาน ความยืดหยุ่นเรื่องเวลาและสถานที่ทำงาน ค่านิยมขององค์กรที่มีต่อสิ่งแวดล้อม และการเคารพในความหลากหลายและความเท่าเทียมกันของพนักงาน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเข้ามามีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจเลือกสมัครงานในปี 2565 นี้ทั้งสิ้น

 

ผู้หางานให้ความสำคัญกับ “องค์กรหรือบริษัท” เป็นอันดับหนึ่ง

ข้อมูลน่าสนใจจากแพลตฟอร์มของ จ๊อบส์ดีบี (JobsDB)  พบว่า ในปี 2564 ที่ผ่านมา “ชื่อบริษัทหรือองค์กร (company)” เป็น คีย์เวิร์ด (Keyword) มาแรงที่ผู้หางานในประเทศไทยใช้ในการ เสิร์ชค้นหางานสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งที่ 51% เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ซึ่งอยู่อันดับสองที่ 38% เท่านั้น รองลงมาคือ “ตำแหน่งงาน (position)” ที่ตกลงมาเป็นอันดับที่สองอยู่ที่ 32% จาก 41% ในปีก่อนหน้า

ข้อมูลดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงเทรนด์ที่ผู้หางานส่วนใหญ่ในปัจจุบันได้ให้ความสำคัญกับ “องค์กรหรือบริษัท” เป็นปัจจัยอันดับแรก ๆ ในการตัดสินใจเลือกสมัครงาน

 

ดังนั้น บริษัทหรือองค์กรแบบไหนที่เหล่าผู้สมัครงานมองหา?

 

จ๊อบส์ดีบี (JobsDB) ในฐานะแพลตฟอร์มหางานชั้นนำของเอเชีย จึงได้รวบรวมข้อมูลเชิงลึก (Insight Data) ต่าง ๆ และสรุปเทรนด์ที่คนทำงานยุคใหม่ให้ความสำคัญและมีผลต่อการตัดสินใจเลือกสมัครงาน เพื่อให้องค์กรและผู้ประกอบการได้เห็นแนวโน้ม รวมถึงทัศนคติมุมมองที่เปลี่ยนไปของคนหางานยุคใหม่ในโลกหลังโควิด-19 และสามารถปรับตัวให้องค์กรสามารถดึงดูดผู้สมัครงานคุณภาพ รักษาพนักงานเก่าให้คงอยู่ และเดินหน้าต่อไปได้ท่ามกลางความไม่แน่นอนในปี 2565 นี้

 

สวัสดิการ สิทธิประโยชน์ ตลอดจนคุณค่าในองค์การที่พนักงานต้องการ (Employer Value Proposition) ต้องได้รับการพัฒนาให้ตอบโจทย์กับโลกหลังวิกฤตโควิด-19

 

สองปีที่ผ่านมา วิกฤตโรคระบาดได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและมุมมองของคนทำงานที่มีต่อองค์กรหรือบริษัท หลายคนถูกลดวันทำงาน ลดเงินเดือน หรือเลิกจ้าง หลายคนต้องเดินทางหรือไปทำงานในสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงต่อการได้รับเชื้อโรค และบางครั้งก็นำมาซึ่งความสูญเสียของคนในครอบครัว บางคนต้องเผชิญกับภาวะเครียด เป็นโรคซึมเศร้า ฯลฯ

 

เหตุการณ์เหล่านี้ที่คนทำงานต้องพบเจอ ล้วนส่งผลให้คนทำงานเริ่มมองหาองค์กรที่ให้ความสำคัญกับพนักงานในฐานะ “เพื่อนมนุษย์” มากกว่าแค่ในฐานะ “พนักงาน” หรือ “ทรัพยากรบุคคล”

 

ดังนั้น องค์กรรวมถึงฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) ต้องตระหนักและพัฒนาสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ขององค์กรให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของคนทำงานที่เปลี่ยนไป และ คำนึงถึงคุณค่าในองค์กรที่พนักงานต้องการ (EVP) โดยเน้นให้คุณค่าในด้านความรู้สึกมากขึ้น เพื่อรักษาพนักงานเดิมไว้ และดึงดูดผู้สมัครงานใหม่ในยุคปัจจุบัน อาทิ

 

#ความยืดหยุ่นในการทำงาน

สิทธิในการทำงานจากบ้านแบบ Work from Home หรือการทำงานแบบระยะไกล (Remote Working) ความยืดหยุ่นในแง่ของสถานที่ทำงาน เป็นหนึ่งใน Employer Value Proposition ที่ผู้หางานในประเทศไทยได้ให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ ในการเลือกสมัครงานในโลกยุคหลังโควิค-19 ซึ่งจากข้อมูลบนแพลตฟอร์ม JobsDB  ในปีที่ผ่านมา พบว่า “Work from Home” เป็น คำค้นหาเดียวในหมวด “สวัสดิการ (Benefit)” ที่ติดท็อป 20 อันดับคำค้นหาที่ผู้สมัครงานในประเทศไทยค้นหามากที่สุด และได้รับการค้นหามากเป็นอันดับ 9 ผ่านทางอุปกรณ์เคลื่อนที่ ซึ่งองค์กรต่าง ๆ สามารถนำไปวางกลยุทธ์เพื่อส่งเสริมการสร้างความสัมพันธ์แบบระยะไกลระหว่างเพื่อนร่วมงาน ไปจนถึงการจัดหาเทคโนโลยีหรืออุปกรณ์เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงานจากที่บ้านหรือแบบระยะไกลให้แก่พนักงานได้อีกด้วย

 

#การสุขภาพวะที่ดี 

การให้การสนับสนุนทางด้านสุขภาวะที่ดีแบบองค์รวมของพนักงาน จากรายงาน “ถอดรหัสลับ จับทิศทางความต้องการคนทำงานยุคใหม่” (Global Talent Survey: Ultimate Guide to Work Trend 2021) ที่ จ๊อบส์ดีบี จัดทำร่วมกับ The Network และ Boston Consulting Group (BCG) พบว่า พนักงานส่วนใหญ่รู้สึกว่า สุขภาวะที่ดีของพวกเขาได้รับผลกระทบในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาหลังจากวิกฤตโควิด-19 ดังนั้น องค์กรสามารถให้การสนับสนุนสุขภาวะที่ดีทั้งด้านร่างกายและสภาพจิตใจ เช่น จัดโปรแกรมปรึกษาสุขภาพจิตฟรี การปรับแผนประกันสุขภาพให้ครอบคลุมการทำกายภาพบำบัด หรือแม้กระทั่งการให้อิสระในการจัดสรรเวลาทำงานเพื่อลดความกดดันในเรื่องกฏระเบียบข้อบังคับและบรรเทาความเครียดจากภาระที่ต้องดูแลสมาชิกในครอบครัวที่อาศัยร่วมกัน เป็นต้น

 

#สร้างวัฒนธรรมที่ดีเน้นคุณค่าพนักงาน

การสร้างเสริมวัฒนธรรมการทำงานแบบเน้นคุณค่าของพนักงาน และการมอบโอกาสในการพัฒนาทักษะใหม่ ๆ ให้แก่บุคลากร เพราะมนุษย์ทุกคนต้องการเป็นคนสำคัญในชีวิตใครคนหนึ่งเสมอ พนักงานเองก็ปรารถนาที่จะได้รับการยกย่อง ชื่นชม และการแสดงความขอบคุณสำหรับความพยายามหรือความสำเร็จที่พนักงานได้ทำไว้ เช่น การกล่าวชื่นชมในที่ประชุม ไปจนถึงการจัดทำโปรแกรม Employee Rewards and Recognition ที่เป็นรูปธรรม เพื่อรักษาและสร้างแรงจูงใจให้แก่พนักงาน นอกจากนี้ องค์กรยังสามารถสนับสนุนพนักงานให้พัฒนาทักษะเดิมและสร้างเสริมทักษะใหม่ ผ่านการจัดทำคอร์สเรียนที่ยืดหยุ่นหรือจัดฝึกอบรมเพื่อ upskill หรือ reskill ทักษะที่จำเป็น เพื่อเป็นประโยชน์ต่อพนักงาน

 

#สวัสดิการและสิทธิประโยชน์ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์

สวัสดิการและสิทธิประโยชน์ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์และความต้องการที่เปลี่ยนไปของคนทำงานยุคใหม่ เช่น การให้ส่วนลดร้านค้าต่าง ๆ การจัดสรรวัคซีนโควิดหรือ ATK ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย การเพิ่มวันลาพักร้อน ฯลฯ

 

#เงินเดือนและค่าตอบแทนที่สมเหตุสมผล

เงินเดือนและค่าตอบแทนที่สมเหตุสมผล ยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญสำหรับตลาดประเทศไทยที่ยังต้องเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจและสังคม ทั้งนี้ ขนาดขององค์กรอาจไม่ใช่สิ่งสำคัญที่จะชี้วัดอัตราเงินเดือนอีกต่อไป ในบางสายงานที่เป็นที่ต้องการ หรือต้องการความรู้ความเชี่ยวชาญ ก็มีความเป็นไปได้ที่ธุรกิจ SMEs จะเสนอเงินเดือนที่มากกว่าเพื่อให้เกิดการจ้างงาน

 

การสร้างแบรนด์หรือภาพลักษณ์องค์กร (Employer Brand) จะมีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจเลือกสมัครงาน

นอกจากการพัฒนาหรือส่งเสริมคุณค่าในองค์กรที่พนักงานให้ความสำคัญ (EVP) ตลอดจนค่าตอบแทนที่สมเหตุสมผลแล้ว การสื่อสารความเป็นตัวตนขององค์กรในเชิงการตลาดไปสู่ผู้หางานกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการสร้างประสบการณ์การรับรู้ที่ดีต่อสังคมในวงกว้าง เป็นสิ่งที่ทุก ๆ องค์กรควรให้ความสำคัญ

เพราะในโลกหลังวิกฤตโควิด-19 ผู้หางาน โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ มักจะมองหา องค์กรที่มีภาพลักษณ์และค่านิยมที่ตรงกับความเป็นตัวตนและความเชื่อของพวกเขา หลาย ๆ บริษัทที่เป็นบริษัทสตาร์ทอัพซึ่งก่อตั้งเพียงไม่กี่ปี แต่สามารถดึงดูดคนทำงานรุ่นใหม่ได้ ด้วยการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก พร้อมสื่อสารภาพลักษณ์องค์กรที่ดูทันสมัย มั่นคง มีความเป็นสากล ฯลฯ และส่งเสริม EVP ที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี

มากไปกว่านั้น จากรายงาน “ถอดรหัสลับ จับทิศทางความต้องการคนทำงานยุคใหม่” (Global Talent Survey: Ultimate Guide to Work Trend 2021) ยังพบว่า

  • 73% ของกลุ่มคนที่อายุน้อยกว่า 30 ปี ยังคำนึงถึงประเด็นด้านความรับผิดชอบขององค์กรต่อสิ่งแวดล้อม
  • 95% คำนึงถึงประเด็นด้านความหลากหลายและความเท่าเทียมของพนักงาน และมีแนวโน้มที่จะไม่เลือกสมัครงานกับองค์กรที่มีค่านิยมไม่ตรงกับทัศนคติของพวกเขาอีกด้วย

 

ทั้งนี้ จากข้อมูลเชิงลึกของ JobsDB ยังพบด้วยว่า หากเปรียบเทียบระหว่างประกาศรับสมัครงานรูปแบบธรรมดาและประกาศรับสมัครงานที่มีการระบุ EVP ซึ่งครอบคลุมทั้ง สวัสดิการ สิทธิประโยชน์ หรือค่านิยมขององค์กรที่ตอบโจทย์สถานการณ์ในปัจจุบันร่วมด้วยแล้วนั้น ประกาศรับสมัครงานที่มีการระบุ EVP จะมีอัตราการดึงดูดผู้สมัครและนำไปสู่การจ้างงานได้เร็วกว่าประกาศสมัครงานแบบธรรมดามากถึง 40%

 

ด้วยเหตุนี้ องค์กรและผู้ประกอบการในปัจจุบันจึงจำเป็นต้องตระหนักรับรู้รับฟังพนักงาน รวมถึงนำเสนอคุณค่าในองค์กรที่พนักงานต้องการ (EVP) ให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์และความต้องการที่เปลี่ยนไป มอบประสบการณ์การใช้ชีวิตที่ครอบคลุมมากกว่าแค่เรื่องงาน ปฏิบัติกับพนักงานเสมือนเป็นพาร์ทเนอร์หรือบุคคลในครอบครัว พร้อมสื่อสารความเป็นตัวตน ค่านิยม และภาพลักษณ์ขององค์กร (Employer Brand) ให้ชัดเจนและสร้างการรับรู้แก่ทั้งพนักงานและผู้หางานกลุ่มเป้าหมาย เพื่อดึงดูดผู้หางานคุณภาพมาร่วมงาน และรักษาพนักงานที่ใช่ให้อยู่กับองค์กรต่อไปได้ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนเช่นนี้” คุณดวงพร กล่าวปิดท้าย

 


  • 15
  •  
  •  
  •  
  •  
pigabyte
การเรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้น มาเรียนรู้และสนุกไปกับบทความ จาก MarketingOops! กันนะคะ แล้วเราจะได้ค้นพบว่าโลกของ Marketing นั้น So Sexy and Cool!