ย้อนรอยประวัติมาร์เกตติ้งแดนอาทิตย์อุทัยกับ “ฮิตโตะ โชวฮิน”

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

nissin-dombei-noodles-japanese-woman-small-34798

 

ภาพประกอบจาก adver to log

 

เจแปนไทมส์รายงานข่าวเชิงลึกย้อนรอยประวัติการทำมาร์เกตติ้งอันชาญฉลาดของชาวอาทิตย์อุทัยโดยระบุว่า มาร์เกตเตอร์ชาวญี่ปุ่นสร้างวัฒนธรรม “ฮิตโตะ โชวฮิน” หรือ สินค้าฮิตที่ทุกคนใฝ่ฝันจะเป็นเจ้าของ (คล้ายๆ อเมริกันดรีม) โดยมีรากลึกตั้งแต่หลังญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง

 

เป็นที่ทราบกันดีว่าความเป็นอยู่ของประชาชนหลังแพ้สงครามโลกนั้นแร้งแค้นและความอดยากเกิดขึ้นทุกหัวระแหง แม้ประชาชนที่ตั้งตัวได้ก็ไม่ทราบว่าอะไรเป็นจุดมุ่งหมายในชีวิตที่จะทำให้ตัวเองมีความเป็นอยู่ดีขึ้น ดังนั้นมาร์เกตเตอร์ในขณะนั้นจึงสร้างค่านิยม “ซันชู โนะ จินกิ” หรือ สามสมบัติสำคัญ ซึ่งเป็นสามสิ่งที่แสดงสถานะทางสังคมของชาวญี่ปุ่น (และยังมีแนวคิดเลียนแบบมาจากสามสมบัติที่จักรพรรดิครอบครองระหว่างพิธีปราบดาภิเษกซึ่งเป็นอัญมณี) คือ “ชิโระคุโระ เทเรบิ” “เซนตะคุคิ” “เรโซวโกะ” หรือ ทีวีขาวดำ เครื่องซักผ้า และตู้เย็น ตามลำดับ

 

ผ่านพ้นจนถึงปี 1960 ยุคนี้เป็นยุคที่ชาวญี่ปุ่นรู้จักกันในนาม “โกวโดะ เคย์ไซ เชโชวกิ” หรือ ยุคเศรษฐกิจรุ่งเรือง สินค้ายอดนิยมในทัศนะของมาร์เกตเตอร์ก็เริ่มขยับตัวตามฐานะประชาชนเป็น 3 C คือ “คาร์” “คูวร่า” และ “คารา เทเรบิ” หรือ รถยนต์ เครื่องปรับอากาศ และทีวีสี อย่างไรก็ตาม ภายในเวลาไม่นานอัตราการครอบครองสินค้าเหล่านี้ของชาวญี่ปุ่นก็พุ่งสูงถึง 90% อันมีเหตุจากฐานะที่ร่ำรวยของชาวญี่ปุ่นในขณะนั้น แนวทางมาร์เกตติ้งต่อมาจึงเป็นการ “โคดาวาริ” หรือ การที่ลูกค้าพิจารณาแบรนด์ประกอบการตัดสินใจ พวกเขาเริ่มช่างเลือกทั้งสี ขนาด ดีไซน์ และประโยชน์การใช้งานที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ของพวกเขา

 

httpv://youtu.be/RxtQKdVEHBg

โฆษณา  Asahi Pentx ที่โด่งดังในยุค 60s

 

ต้นยุค 70 ผู้ผลิตเริ่มเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปและผลิตสินค้าสำหรับตลาดจำเพาะ (niches market) ซึ่งมีดีไซน์ ชื่อ ราคา และกลยุทธ์การโฆษณาหลากหลายกันไปตามกลุ่มผู้บริโภค ในตอนนั้นเองที่ศัพท์คำว่า ฮิตโตะ โชวฮิน กำเนิดขึ้น โดย “นิกเคย์ เรียวซึ ชิมบุน” หรือ วารสารการตลาดนิกเคย์ (NMJ) เป็นผู้ริเริ่มคำนี้เพื่อโปรโมท NMJ ใช้วิธีการจัดอันดับสินค้าเลียนแบบการจัดอันดับนักกีฬาซูโม่ผู้เก่งกาจของปีและเรียกว่า “บันซูเกะ” โดยลงข่าวการจัดอันดับสินค้าในหน้าหนึ่งของฉบับส่งท้ายปีเก่า และมอบรางวัลสินค้าขายดีที่หนึ่งเป็น grand champion รองลงมาเป็น champion และ junior champion และอันดับอื่นๆ ไล่เรียงกันลงไป

 

ทั้งนี้ การจัดอันดับ ฮิตโตะ โชวฮิน ของ NMJ มิได้ให้ค่ากับสินค้าขายดีเท่านั้น แต่ยังพิจารณาถึงคอนเซปต์ของสินค้าที่เปลี่ยนทัศนคติของประชาชน (เช่น สินค้าอนุรักษ์ธรรมชาติ) ซึ่งเป็นคอนเซปต์ที่ไม่เคยมีมาก่อนในวงการมาร์เกตติ้งญี่ปุ่น และเมื่อเศรษฐกิจแดนซากุระเข้าสู่ขาลง การจัดอันดับก็เพิ่มความคิดเรื่อง “สินค้าที่มีราคาสบายกระเป๋า” ซึ่งเข้ากับความคิดผู้บริโภคในขณะนั้น

 

อ้างอิงการจัดอันดับ บันซูเกะ ของ NMJ ฉบับวันที่ 4 ธันวาคมปีที่แล้ว ฮิตโตะ โชวฮิน 10 อันดับของปี 2013 คือ 1. “เซบุน คาเฟ่” หรือ กาแฟร้านเซเว่นอีเลเวน 2. “อะมาจัง” หรือ รายการทีวีตอนเช้า 3. “ชินเกะคิ โนะ เคียวจิน” หรือ ผ่าพิภพไททัน และอื่นๆ  สำหรับศัพท์ยอดฮิตปีที่แล้ว แชมป์เป็นของคำว่า “อาเบะโนมิก” ซึ่งหมายถึงความพยายามปฏิรูประบบเศรษฐกิจญี่ปุ่นของรัฐบาลนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรี ส่วนรางวัลสำหรับคำน่าผิดหวังคือ “โชคุฮิน กิโซว เฮียวจิ” หรือ ฉลากอาหารปลอมที่เขย่าวงการโรงแรมและภัตตาคารของญี่ปุ่น


  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
อุ้งทีนหมี
เตาะแตะในโรงเรียนชายล้วนแถวยศเส ก่อนเติบโตต่อในมหาวิทยาลัยริมฝั่งน้ำเจ้าพระยา ที่สุดจับพลัดจับผลูเข้าทำงานในนแวดวงสื่อสารมวลชนมาแล้วกว่า 4 ปี โต้ลมโต้ฝนทั้งในวงการข่าวต่างประเทศ เยาวชน ธุรกิจ การเมือง สังคม ฯลฯ แต่สุดท้ายกลับลำมาหลงรักวงการมาร์เก็ตติ้งที่ข้ามน้ำข้ามทะเลไปขี่จิงโจ้เรียนปริญญาโทมา เลยตัดสินใจหันหางเสือออกสู่การผจญภัยครั้งใหม่อีกสักตั้ง