อะไรคือจุดอ่อนของ Netflix ? เมื่อการลงทุนทำคอนเทนต์อาจได้ไม่คุ้มเสีย

  • 565
  •  
  •  
  •  
  •  

ในยุคที่ซีรีย์ในจอแก้วกำลังทำเงินได้มากขึ้น ทำให้บริษัทสื่อความบันเทิงของอเมริกาอย่าง Netflix ทำรายได้มากขึ้นเรื่อยๆ มีสมาชิกเพิ่มขึ้นทุกปี อย่างเมื่อกลางปี Netflix ก็มียอดสมาชิกที่อเมริกาและประเทศอื่นครึ่งต่อครึ่ง รวมเกือบ 104 ล้านคน ทำรายได้ไป 2.79 พันล้านเหรียญ ตอนนี้คนดูวีดีโอบน Netflix ไม่ต่ำกว่าหนึ่งชั่วโมงทุกวัน และมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆทุกปี

ดูเหมือนว่ากิจการของ Netflix กำลังไปได้สวย แต่จริงๆแล้วอาจจะไม่ใช่อย่างที่เราคิด โดยเฉพาะคนที่ชอบดูคอนเทนต์ใน Netflix

Netflix movies list

 

วิธีทำเงินของ Netflix: หมดยุคเช่าหนังมาดูที่บ้านแล้วต้องคืนก่อนเสียค่าปรับ

 

ใครที่ใช้บริการ Netflix จะรู้ดีว่าถ้าอยากดูคอนเทนต์ ก็ต้องเสียค่าสมาชิกรายเดือน แล้วเลือกดูซีรีย์และภาพยนตร์ รวมถึงคุณภาพของตัววีดีโอบนแพลตฟอร์มของ Netflix ซึ่งเสิร์ฟคอนเทนต์แท้ๆไม่ซ้ำแพลตฟอร์มเจ้าไหนเพื่อเพิ่มฐานสมาชิก ไม่ว่าจะเป็นการซื้อลิขสิทธิ์หรือเอาข้อมูลจากฐานสมาชิกมาทำคอนเทนต์ตอบโจทย์ แล้วเสนอแพกเกจสมาชิก จนปีที่แล้ว Nexflix มีซีรีย์รวม 20,000 กว่าตอน คัดเฉพาะหนังและซีรีย์มาแนะนำสมาชิกแต่ละคนโดยเฉพาะ

ธุรกิจ Video Online Streaming จึงไม่ต้องเสียค่าดำเนินการหน้าร้านเหมือนร้านเช่าวีดีโอที่กลายเป็นอดีดเรียบร้อย

 

netflix-streaming-at-home

 

ส่วนฐานสมาชิกทั่วโลกของ Netflix ก็มาจากคนอายุ 17 – 60 ปีซึ่งถือว่าใหญ่มาก มีรายได้เฉลี่ย 30,000 เหรียญขึ้นไป แต่ Netflix ไม่ได้ตั้งเป้าสมาชิกตามอายุและเงินเดือน แต่มองว่าจะต้องตอบโจทย์คนที่ยุ่งเกินกว่าจะออกไปข้างนอกเพื่อไปดูหนัง เช่าหนังดูบ่อยๆ และอยากประหยัดเงินมากกว่า กลายเป็นว่า Netflix มีตลาดที่กว้างมากๆ จนโกยรายได้เรื่อยๆ

 

โมเดลธุรกิจของ Netflix จะไปรอดหรือไม่ท่ามกลางคู่แข่งที่เพิ่มขึ้น?

 

แต่ก่อนโมเดลธุรกิจของ Netflix ตอบโจทย์คนชอบดูซีรีย์ดูหนัง ไม่ต้องไปเข้าร้านเช่าวีดีโอเหมือนแต่ก่อน บริการวีดีโอสตรีมมิ่งของ Netflix ชูจุดแข็งทั้งในเรื่องของราคา คอนเทนต์ที่เป็นเอกลักษณ์และเข้าถึงง่าย ดูที่ไหนตอนไหนก็ได้ แถมไม่ต้องปวดหัวเรื่องคืนเทปหนังช้าแล้วเสียค่าปรับด้วย

 

netflix-reed-hastings

Reed Hastings ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Netflix ในปี 1997 หลังจากได้แรงบันดาลใจจากการถูกปรับหลังคืนวีดีโอที่เช่าช้าเกินกำหนด

 

แต่โมเดลธุรกิจของ Netflix ก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไรมาก บริษัทเจ้าอื่นก็ลอกเลียนแบบได้ง่ายด้วยเทคโนโลยีที่มี แถมตลาดใหญ่น่าลงทุน ทำให้ตอนนี้ Netflix เจอคู่แข่งอย่าง HBO Now, Amazon Prime Video, Hulu แม้แต่บริษัทที่ไม่ได้เริ่มจากธุรกิจ Video Streaming อย่าง Google, Apple และ Facebook ก็ทุ่มงบลงทุนทำคอนเทนต์วีดีโอ

Netflix จึงไม่ได้มีอำนาจในการตั้งราคาค่าสมาชิกสูงเหมือนก่อน โมเดลธุรกิจของ Netflix ที่คนมองว่าเป็น “Disruptive” ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว เพราะโมเดลธุรกิจและเทคโนโลยีเดี๋ยวนี้ลอกเลียนแบบและพัฒนาต่อยอดกันได้ง่ายๆ

Netflix จึงคิดจะทำคอนเทนต์และทำการตลาดตอบโจทย์ตลาดต่างประเทศ ซึ่งถ้า Netflix คิดจะทำคอนเทนต์แบบ Local  จะต้องเจอคู่แข่งที่มีฐานคนดูแน่นอย่าง Line TV มีหลายคอนเทนต์ให้ดูฟรีด้วย ทำให้ Netflix ต้องคิดหนัก หากจะบุกตลาดไทย

 

 cover-line-tv

Line TV มีคนดู 133 นาทีต่อวัน เสิร์ฟคอนเทนต์ที่เป็นเอกลักษณ์ร่วมกับพันธมิตรในไทย หาก Netflix จะมาบุกตลาดไทย บอกเลยว่ายาก

 

อนาคต Netflix เตรียมดับ ถ้าคอนเทนต์ไม่โดนใจคนดูได้เรื่อยๆ

เพราะถ้าว่ากันตรงๆ 6-7 ปีที่ผ่านมาของ Netflix หนี้ที่ Netflix ต้องจ่ายให้กับเจ้าของลิขสิทธิ์ซีรี่ย์และภาพยนตร์มันเพิ่มเร็วกว่ารายได้ที่ Netflix ทำได้โดยเฉพาะจากค่าสมาชิก แถม Netflix ลงทุนทำคอนเทนต์เพิ่มเองอีกต่างหาก ผลคือกระแสเงินสดที่ติดลบดิ่งลงมาหลายปีเพื่อเจียดให้กับต้นทุนคอนเทนต์ กำไรเงินสดเมื่อปีที่แล้วก็ติดลบไป 133 ล้านเหรียญ บวกกับกระแสเงินสดปีที่แล้วก็ติดลบไป 2.8 พันล้านเหรียญ

23868F26-3FAA-4A6F-93CE-9DA3E3DA2AFA

ช่วงปี 2010 เป็นช่วงที่หนี้ในการลงทุนการทำคอนเทนต์เริ่มแซงหน้ารายได้จนทิ้งห่างมากขึ้นเรื่อยๆ (ที่มา: forbes.com)

 

ซึ่งหาก Netflix อยากทำรายได้มากๆก็ต้องดูว่าซีรีย์หรือภาพยนตร์ที่ซื้อไปนั้นมันโดนใจสมาชิกแค่ไหน ถ้ากลายเป็นกระแส ก็ทำเงินได้เยอะ ไม่ต่างจากโรงหนังบ้านเราที่รายได้ขึ้นอยู่กับหนังที่ฉาย (วัดดวงกันล้วนๆ) แถมในปีหน้า Netflix ออกมาประกาศว่าจะอัดฉีดเงินอีก 8 พันล้านเหรียญกับโชว์และหนัง สู้กับคู่แข่งในสงครามคอนเทนต์ด้วย

ดูตารางรายรับ รายจ่าย และกำไรเงินสดตั้งแต่ปี 2016 ได้ ที่นี่

Netflix จึงกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ถ้าไม่เพิ่มคอนเทนต์เด็ดๆให้คนดูเพื่อประหยัดต้นทุน คนดูก็อยากต่อสมาชิก รายได้ก็หาย ถ้าเพิ่มคอนเทนต์ไปเรื่อยๆ ก็อาจจะมีคนต่อสมาชิกและมีสมาชิกใหม่เข้ามาบ้าง Netflix กำลังใช้กลยุทธ์แบบ Long-tail ผ่านคอนเทนต์ใหม่ๆ แต่ต้องทนกับต้นทุนค่าทำและซื้อคอนเทนต์ที่เพิ่มขึ้น แถมขึ้นราคาค่าสมาชิก คนดูก็ย้ายไปดูแพลตฟอร์มอื่นที่เป็นคู่แข่งของ Netflix ได้ตลอดเวลา กดดันให้ Netflix ทุ่มงบโฆษณา ยอมให้ดูคอนเทนต์ฟรีเดือนแรกชิงความสนใจของว่าที่สมาชิกอีก

 

Netflix-series-list 

โมเดลธุรกิจของ Netflix ในตอนจึงไม่ต่างอะไรกับเครื่องจักรสูบเงินสดออก รายได้ที่ Netflix ได้เป็นประจำตอนนี้คงไม่สำคัญเท่ากับกระแสเงินสดที่เปรียบเหมือนลมหายใจของธุรกิจ

ถ้า Netflix ไม่ทำอะไรสักอย่าง ก็นับวันถอยหลังถึงจุดจบ

 

Copyright © MarketingOops.com


  • 565
  •  
  •  
  •  
  •  
Sarunjade
แชร์มุมมองเกี่ยวกับ Digital Marketing, Digital Business และ Technology เท่าที่รู้ สามารถติชมหรืออยากให้เจาะลึกเรื่องไหนเป็นพิเศษ ส่งเมลมาเลยที่ contact@oopsnetwork.co.th