ในปีที่ผ่านมาภาพของการ Disruption องค์กรเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคเริ่มขยายวงกว้างมากขึ้นจนไปสู่การ Disruption ของทั้งอุตสาหกรรม ที่เห็นได้อย่างชัดเจนคืออุตสาหกรรมการเงินและธนาคารหรือที่เรารู้จักในชื่อ “FinTech” แต่ดูเหมือนการ Disruption จะไม่หยุดแค่เพียงอุตสาหกรรมเดียวเท่านั้น แต่กำลังขยายตัวออกไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น และอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่เริ่มเห็นภาพการ Disruption อย่างกว้างในปีนี้ก็คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ นั่นเอง
จากผลสำรวจในรายงาน KPMG Global Automotive Executive Survey พบว่าผู้บริหารในอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกเห็นว่า การรวมกิจการ (Consolidation) ในอุตสาหกรรมยานยนต์มีแนวโน้มขยายตัวอย่างรวดเร็ว จากการที่บริษัทเทคโนโลยีระดับโลกก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งในด้านการขายรถยนต์และการผลิตชิ้นส่วนเทคโนโลยียานยนต์ ซึ่งจะค่อยๆ ปรับเปลี่ยนโฉมรูปแบบของอุตสหกรรมนี้
โดยผู้บริหารในอุตสาหกรรมยานยนต์และเทคโนโลยีรวม 900 คน และลูกค้าอีกกว่า 2,100 คนทั่วโลก พบว่า 74% เชื่อว่าสัดส่วนการผลิตรถยนต์ในยุโรปตะวันตกจะลดลงเหลือน้อยกว่า 5% ภายในปี 2030 โดยสายการผลิตรถยนต์ส่วนใหญ่จะถูกย้ายมาที่ทวีปเอเชีย นอกจากนี้ยังคาดว่าจำนวนตัวแทนจำหน่ายรถยนต์เกือบ 50% จะปิดตัวลงภายในปี 2025 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่ไม่ได้เข้าไปที่ตัวแทนจำหน่ายเพื่อเลือกซื้อรถ
ขณะที่ระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูล (Data Security)ในรถยนต์จะเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญในการตัดสินใจซื้อรถ และหวังว่าระบบรักษาความปลอดภัยจะเป็นอุปกรณ์มาตรฐานในยานยนต์ รวมไปถึงเทรนด์การผลิตรถยนต์จะเปลี่ยนจากรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ (BEV) ไปเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV)
การเข้ามาของกลุ่มเทคโนโลยี
ผสานตัวเองกับอุตสาหกรรมยานยนต์
จากการที่ Tesla ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าโชว์ศักยภาพเทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับ ส่งผลให้กลุ่มบริษัทในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีรายใหญ่หลายราย เริ่มให้ความสนใจและก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์อย่างเต็มตัว ซึ่งบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้ล้วนมีความแข็งแกร่งทางการเงิน และโดดเด่นกว่าค่ายผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่หลายค่าย หากเทียบสัดส่วนแล้วเมื่อรวมบริษัทยานยนต์รายใหญ่ 50 ราย กลับมีมูลค่าตลาดรวมกันเพียง 20% ของมูลค่ารวมเมื่อรวมบริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุด 15 ราย
ดังนั้น หากผู้เล่นเดิมในอุตสาหกรรมยานยนต์ต้องการเอาชนะบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ๆ ที่เข้ามาเป็นคู่แข่งในตลาดรถยนต์ และผู้รับจ้างผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ให้กับ โรงงานประกอบรถยนต์ (Original Equipment Manufacturer – OEM) จำเป็นต้องหาจุดสมดุลระหว่างการแข่งขันและการร่วมมือกัน เพื่อรับมือกับคู่แข่งด้านดิจิทัลที่เข้ามาสู่แวดวงยานยนต์อย่างรวดเร็ว
สะท้อนให้เห็นว่า บริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลมีศักยภาพทางการเงินที่เหนือชั้นกว่ามาก และสำหรับผู้ผลิตยานยนต์ที่เน้นปริมาณฐานลูกค้า การสร้างพันธมิตรถือเป็นกุญแจสำคัญในการเอาตัวรอดจากบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ๆ และแม้จะอยู่ในสถานะที่ดีกว่า ซัพพลายเออร์ที่เน้นตลาดบนต่างตระหนักดีถึงสถานการณ์ดังกล่าวเช่นกัน ซึ่งเป็นผลให้เกิดแนวคิดการให้บริการร่วมกัน อาทิ การให้บริการแผนที่หรือสถานีชาร์จรถไฟฟ้า
ผู้แทนจำหน่ายลดลง
สอดคล้องพฤติกรรมผู้บริโภค
จากผลสำรวจพบว่า ผู้บริหารกว่า 56% ค่อนข้างมั่นใจว่า จำนวนตัวแทนจำหน่ายรถยนต์มีแนวโน้มที่จะลดลงกว่า 30%-50% ภายในปี 2025 สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคการซื้อรถที่เปลี่ยนไป โดยในอดีตผู้บริโภคจะใช้วิธีเข้าไปดูรถและหาข้อมูลจากโฆษณาต่างๆ รวมถึงข้อมูลจากพนักงานตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ รวมไปถึงการทดลองขับที่โชว์รูมตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ แต่ปัจจุบันผู้บริโภคสามารถค้นหาข้อมูลได้จากอินเตอร์เน็ตทั้งจากโซเชียลมีเดียและเว็บไซต์ของผู้ผลิตรถยนต์
นอกจากนี้ผู้บริโภคสามารถค้นหาการรีวิวของรถยยนต์ในแต่ละรุ่นที่ต้องการได้ อีกทั้งเทคโนโลยียังช่วยให้รู้สึกได้ถึงการทดลองขับด้วยตัวเอง เช่น เทคโนโลยี VR360 องศา เป็นต้น ดังนั้นตัวแทนจำหน่ายรถจึงต้องหารวิธีสร้างประสบการณ์ให้กับผู้บริโภค ทำให้ผู้บริหารเกือบ 80% เชื่อว่าทางเดียวที่ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์จะสามารถอยู่รอดได้ คือการปรับโครงสร้างของตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ให้กลายสภาพมาเป็นศูนย์บริการหรือศูนย์ธุรกิจรถยนต์มือสอง
AutoTech จุดตัดสินใจ
เทคโนโลยีที่ผู้บริโภคต้องการ
จากการที่เทคโนโลยีกระโดดเข้ามาสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ ส่งผลให้ความต้องการของผู้บริโภคในด้านยานยนต์เพิ่มมากยิ่งขึ้น จากเดิมที่ต้องการสมรรถนะเครื่องยนต์ ความสะดวกสบายในห้องโดยสาร ความปลอดภัยในการขับขี่และดีไซน์ที่ตอบโจทย์ความเป็นตัวเอง โดยเพิ่มในส่วนของการเชื่อมต่อไร้สายผ่านระบบ Bluetooth, Wi-Fi, GPS เป็นต้น รวมไปถึงการเชื่อมต่อกับระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง
ส่งผลให้หลายคนเริ่มใส่ใจและให้ความสำคัญกับเรื่องของความปลอดภัย โดยเฉพาะการแฮคข้อมูลในรถยนต์ โดยผู้บริหารกว่า 80% เชื่อว่า ข้อมูลการใช้รถและข้อมูลของผู้ขับขี่จะเป็นองค์ประกอบหลักของรูปแบบธุรกิจในอนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์ ดังนั้นอุปกรณ์มาตรฐานในยานยนต์จำเป็นต้องได้รับการนิยามใหม่ โดยผู้บริหารกว่า 85% และผู้บริโภคกว่า 75% เห็นตรงกันว่าระบบรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์และความปลอดภัยของข้อมูลจะเป็นเงื่อนไขพื้นฐานสำหรับการซื้อรถยนต์ในอนาคต
นอกจากนี้ยานยนต์ไฟฟ้าจะกลายเป็นสิ่งที่ตลาดต้องการเพิ่มมากขึ้นจากปัญหาราคาน้ำมันที่ผันผวนและปัญหาในเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ในปัจจุบันกลับมีรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่แท้จริงเพียงแค่ 2% จากทั่วโลก โดยมีการคาดการณ์ว่าบนท้องถรรในอนาคตจะไม่ได้มีเพียงรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้นที่วิ่งอยู่ แต่จะมีอุปกรณ์เคลื่อนที่ด้วยพลังงานไฟฟ้า (e-Mobility) อีกมากมายที่วิ่งอยู่บนถนน
ไม่เพียงเท่านี้มากกว่า 3 ใน 4 ของผู้บริหารในอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกยังเชื่อว่า รถยนต์ไฟฟ้าแบบเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV) จะเป็นความก้าวล้ำที่สำคัญของการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและอาจจะเข้ามาทดแทนรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ (BEV) ที่มักมีปัญหาเรื่องของแบตเตอรี่
Copyright © MarketingOops.com