จับตา Hostel ทางเลือกธุรกิจโรงแรมไซส์เล็ก ตอบความต้องการนักท่องเที่ยว

  • 1.2K
  •  
  •  
  •  
  •  

Hostel

อย่างที่ทราบกันว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นหนึ่งแหล่งรายได้ใหญ่ของไทยรองจากธุรกิจการส่งออกและการผลิต โดยในช่วงปีที่ผ่านมาหลายปีนักท่องเที่ยวจีนถือเป็นกลุ่มที่สร้างรายได้หลักให้กับธุรกิจและประเทศ แต่หากย้อนกลับไปดูจะเห็นว่าเทรนด์การมาเที่ยวในไทยเริ่มขยายไปสู่กลุ่มที่เดินทางมาท่องเที่ยวเอง ไม่ใช่มาจากกลุ่มทัวร์เหมือนเช่นการท่องเที่ยวในรูปแบบอดีต โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z ที่นิยมมาเองมากกว่า

ไม่เพียงแค่นักท่องเที่ยวจีนเท่านั้น นักท่องที่ยวที่มาเที่ยวในไทยรองจากจีนจะเป็นกลุ่มประเทศ ASEAN โดยเฉพาะมาเลเซีย และกลุ่มนักท่องเที่ยวจากโซนยุโรปอย่างรัสเซีย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างโรงแรมของไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล แต่โรงแรมเหลานั้นมักมีราคาสูงซึ่งไม่ตอบไลฟ์สไตล์ของกลุ่มนักท่องเที่ยว Gen Z ที่เน้นใช้เงินไปกับเรื่องของอาหารและการเดินทางไปหลายๆ ที่

Chinese Traveller

Hostel หรือธุรกิจโรงแรมไซส์เล็กจึงเป้นที่นิยมของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ ซึ่ง Hostel แตกต่างจาก Homestay ตรงที่ Homestay เจ้าของบ้านที่มีหลายห้องจะปล่อยให้เช่าเป็นห้อง แต่ Hostel จะให้เช่าเป็นเตียงโดยในแต่ละห้องอาจสามารถจัดวางเตียงได้มากกว่า 2 เตียงขึ้นไป โดยมูลค่าของ Hostel อาจจะมีราคาถูกกว่า Homestay แต่ในด้านปริมาณสามารถรับนักท่องเที่ยวได้จำนวนมากกว่า

 

คนรุ่นใหม่คือปัจจัยหลักกระตุ้นธุรกิจ Hostel

Hostel อาจไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับในต่างประเทศ ขณะที่ในไทยช่วง 10 ปีผ่านมาที่พักประเภท Hostel ได้ก้าวเข้ามามีบทบาทที่สำคัญของการท่องเที่ยวไทยมากขึ้น เพื่อรองรับโครงสร้างนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป ซึ่งในปี 2561 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในไทยราว 38.3 ล้านคน ส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวในช่วงอายุ 25-34 ปี คิดเป็นสัดส่วนราว 28% ของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทั้งหมดที่มาไทย

Travellers

กลุ่มนักเที่ยวเหล่านี้ (เกิดช่วงปี พ.ศ.2524-2539) กำลังกลายเป็นผู้บริโภคหลักในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว พฤติกรรมของนักท่องที่ยวกลุ่มนี้จะให้ความสำคัญกับการสร้างความสมดุลระหว่างการทำงานและการพักผ่อน โดยเน้นเลือกเข้าพัก Hostel มากกว่ากลุ่มอื่น จากการสำรวจโดย Hostelworld Group พบว่าผู้เข้าพัก Hostel มากกว่า 70% เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่

 

พฤติกรรมการเที่ยวของคนรุ่นใหม่

เที่ยววิถีชีวิตชุมชน เป็นพฤติกรรมหลักของนักท่องเที่ยวคนรุ่นใหม่เพื่อหาความแปลกใหม่ ความท้าทาย โดยจะเน้นการหาประสบการณ์แปลกใหม่โดยเฉพาะวิถีชีวิตตามชุมชน และไม่ค่อยสนใจเรื่องการประหยัดค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยว ซึ่ง Hostel ส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ ที่นำอาคารมาปรับปรุงเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว จึงได้รับผลตอบรับที่ดีจากนักท่องเที่ยว

Travellers Hostel

ไม่ชอบเที่ยวที่คนเยอะ พฤติกรรมนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้นิยมท่องเที่ยวคนเดียว (Solo Traveler) มากกว่ามาเป็นกรุ๊ปทัวร์ โดย 58% ของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ชอบท่องเที่ยวคนเดียว อย่างไรก็ตามนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ยังเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย ความสะดวกสบายในการเดินทาง จึงนิยมหาเพื่อนนักท่องเที่ยวแบบเดียวกัน แล้วจับกลุ่มท่องเที่ยวไปด้วยกัน ซึ่ง Hostel จะกลายเป็นศูนย์รวมเพื่อพบปะและหาเพื่อนร่วมเที่ยวไปด้วยกัน

ชอบเที่ยวบ่อย จากการสำรวจพฤติกรรมพบว่า นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้นิยมเที่ยวบ่อยที่สุดประมาณ 6 ครั้งต่อปี ทำให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ใช้จ่ายค่าที่พักน้อยกว่านักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นๆ Hostel จึงเป็นทางเลือกที่สำคัญที่มีราคาถูก และตอบความต้องการได้อย่า่งชัดเจน โดยเฉพาะการเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนในท้องถิ่นและการหาเพื่อนร่วมเดินทาง

 

Hostel เตรียมรับมือเทรนด์การท่องเที่ยว

สำหรับธุรกิจ Hostel ในไทยยังกระจุกตัวอยู่ในจังหวัดแหล่งท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยพบว่า 9 จังหวัดที่มีจำนวน Hostel มากที่สุดประกอบด้วย กรุงเทพฯ, สุราษฎร์ธานี, เชียงใหม่, กระบี่, ภูเก็ต, ชลบุรี, เชียงราย, ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) และแม่ฮ่องสอน โดยกรุงเทพฯ มีสัดส่วน Hostel มากที่สุดคิดเป็น 17% ของตลาด Hostel ทั้งหมด (กว่า 3,000 แห่งทั่วไทย) รองลงมาคือ เชียงใหม่ (12%) และสุราษฎร์ธานี (9%)

ซึ่งจังหวัดแหล่งท่องเที่ยวเหล่านั้นมีอัตราการแข่งขันสูง สิ่งที่ผู้ประกอบการ Hostel ต้องใส่ใจคือ การสร้างกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจน Hostel ที่มีข้อจำกัดในเรื่องของจำนวนห้องและงบประมาณ การมีกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจนจะช่วยให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งความต้องการของนักท่องเที่ยวจะแตกต่างตามประเภทของนักท่องเที่ยว เช่น นักท่องเที่ยวเชิงธุรกิจมักมองหาที่พักเงียบๆ

Backpacker

ขณะที่นักท่องเที่ยว Backpacker ต้องการพื้นที่พูดคุยกับผู้เข้าพักอื่น บางกลุ่มชอบห้องพักที่ได้รับการตกแต่งที่สวยงาม ทันสมัย เป็นต้น เมื่อผู้ประกอบการ Hostel สร้างความชัดเจนและเข้าใจความต้องการของลูกค้าได้แล้ว ผู้ประกอบการจะสามารถวางแผนการตลาด และเจาะเข้าถึงกลุ่มลูกค้า รวมไปถึงการตั้งงบประมาณในการทำการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ประสบการณ์สำคัญที่สุด ผู้ประกอบการต้องเข้าใจว่าประสบการณ์การเข้าพัก Hostel สำคัญมาก การสื่อสารจึงนับเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่สุด โดยเฉพาะพนักงานที่ถือเป็นหน้าด่านสำคัญ ต้องสามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนแนวความคิด วัฒนธรรม พื้นฐานสังคมได้อย่างดี รวมถึงการบริการที่เป็นกันเอง นอกจากนี้การสร้างประสบการณ์เกี่ยวกับชุมชน โดยสื่อสารผ่านการตกแต่งหรือการทำให้สิ่งแวดล้อมมีความเป็นชุมชน เช่น การจัดกิจกรรมจะช่วยสร้างประสบการณ์ได้อย่างดี

 

ปากต่อปากยังคงครองโลก

หากผู้ประกอบการ Hostel สามารถสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าแล้ว อย่าอาย…ที่จะขอให้ผู้เข้าพักช่วยแสดงความคิดเห็น โดยพบว่าผู้เข้าพักกว่า 80% ยินดีที่จะเขียนรีวิวให้กับที่พัก ขณะที่หาไม่มีการร้องขอจะมีเพียง 22% เท่านั้นที่จะแสดงความคิดเห็นในเชิงบวกหลังการเข้าพักด้วยตนเอง ซึ่งการบอกต่อประสบการณ์นั้นสามารถทำได้หลายรูปแบบ ทั้งการเล่าให้นักท่องเที่ยวอื่นฟัง การเขียนรีวิวบนโซเชียลมีเดีย

OTAs

ซึ่งเป็นจุดเด่นที่แตกต่างจากธุรกิจโรงแรมขนาดใหญ่ที่จะรีวิวบนแพลตฟอร์ม OTAs (Online Travel Agents) และรีวิวนั้นจะเห็นได้เฉพาะผู้ที่อยู๋ในแพลตฟอร์มเดียวกัน ขณะที่การรีวิวของนักท่องเที่ยวที่พัก Hostel จะกระจายไปถึงทุกคนทุกกลุ่ม เพื่อช่วยกระจายประสบการณ์ระหว่างการเข้าพัก เป็นการทำการตลาดแบบปากต่อปาก (Word of Mouth) และจะส่งผลตอบรับที่ดีแก่ธุรกิจ Hostel

นอกจากการแชร์ประสบการณ์แล้ว ยังช่วยเพิ่มยอดจองโดยตรงกับทาง Hostel หลายช่องทางทั้งทางไลน์ เฟซบุ๊กแชท โทรศัพท์ อีเมล์ เว็บไซต์และช่องทางอื่นๆ แบบไม่ผ่านตัวแทน แต่ผู้ให้บริการจะต้องเตรียมระบบการจองให้สามารถจ่ายเงินได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการลดต้นทุนที่ต้องจ่ายให้กับ OTAs และสามารถนำเงินเหล่านั้นมาทำการตลาดเองบน Social Media ซึ่งผู้ประกอบการ Hostel ควรมีความรู้เรื่อง Digital Marketing ไว้

Community Trip
Credit: rainyclub / Shutterstock.com

Hostel จึงเป็นหนึ่งธุรกิจที่ SME ด้านการท่องเที่ยวสามารถดำเนินการได้ โดยใช้งบประมาณที่ไม่สูงมากนัก แต่ได้รับการตอบรับที่ดี

 

Source: SCB EIC


  • 1.2K
  •  
  •  
  •  
  •  
Gigolo
เมื่อเทคโนโลยีอยู่ใกล้กับชีวิตทุกคน มารู้เท่าทันเทคโนโลยีเพื่อใช้มัน แต่อย่าให้เทคโนโลยีมันใช้เรา