เก็บมาฝากให้ดูกันเล่นๆ ว่ามีผลการสำรวจจาก Grant Thornton เผยออกมาว่าประเทศไทยมีผู้หญิงที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงมากเป็นอันดับที่สามของโลกหรือ 38% เมื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐานโลกที่ 24% โดยประเทศที่มีจำนวนของผู้หญิงที่ได้รับตำแหน่งระดับอาวุโสมากเป็นอันดับหนึ่งของโลกคือฟิลิปปินส์ หรือ 47% ตามด้วยรัสเซีย (42%) ไทย (38%) และโปแลนด์ (32%) อย่างไรก็ตาม ประเทศที่มีจำนวนของผู้หญิงที่ได้รับตำแหน่งระดับอาวุโสน้อยที่สุดยังคงเป็นญี่ปุ่นหรือ 7% ส่วนประเทศอื่นที่มีจำนวนผู้หญิงที่ได้รับตำแหน่งระดับอาวุโสอยู่ในระดับต่ำเช่นกันได้แก่ เดนมาร์ค (13%) และเบลเยี่ยม (12%)
ผลการสำรวจจากทั่วโลกยังระบุว่าผู้หญิงที่ได้รับตำแหน่งผู้บริหารระดับอาวุโสในบริษัทเอกชนมีสัดส่วนที่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ หรือ 24% ซึ่งเท่ากับผลการสำรวจเมื่อปี 2007 และเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจาก 19% เมื่อปี 2004 นอกจากนี้ 34% ของบริษัทเอกชนทั่วโลกไม่มีผู้หญิงที่อยู่ในตำแหน่งผู้บริหารระดับอาวุโส
คุณปิ่นประดับ โชติประสิทธิ์ กรรมการ แกรนท์ ธอร์นตัน ในประเทศไทย กล่าวว่า “วัฒนธรรมไทยค่อนข้าง จะเปิดกว้างให้ผู้หญิงทำงานในตำแหน่งผู้นำ เราเห็นผู้บริหารหญิงระดับอาวุโสในองค์กรในภาคธุรกิจต่างๆ อาทิ การค้าปลีก หน่วยงานรัฐบาล บริการทางการเงิน และไม่เว้นแต่อุตสาหกรรมการผลิต ด้วยผู้บริหารผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะใส่ใจในรายละเอียด พร้อมกับแสดงความจริงจังและมีความมุ่งมั่นในการทำให้งานประสบความสำเร็จ จึงส่งผลให้ผู้บริหารผู้หญิงสามารถรับมือกับประเด็นปัญหาที่มีความซับซ้อนได้ ทั้งการเป็นผู้ฟัง ที่ดีประกอบกับความสามารถในการแก้ไขข้อพิพาทในรูปแบบที่สุภาพอ่อนโยนยังช่วยให้ผู้บริหารผู้หญิงได้รับการสนับสนุนจากพนักงานหลากหลายกลุ่มในองค์กร”
ทั้งนี้ ประเทศที่ผู้บริหารผู้หญิงเพิ่มจำนวนขึ้นมากที่สุดคือตุรกี (จาก 17% เมื่อปี 2007 เป็น 29% ในปี 2009) และเม็กซิโก (จาก 20% เมื่อปี 2007 เป็น 31% ในปี 2009) อย่างไรก็ตาม ประเทศที่มีผู้บริหารผู้หญิงลดจำนวนลงมากที่สุดคือบราซิล ซึ่งลดจาก 42% เมื่อปี 2007 เป็น 29% ในปี 2009 และฮ่องกง (จาก 35% เมื่อปี 2007 เป็น 28% ในปี 2009) สำหรับในประเทศไทย ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ (จาก 39% เมื่อปี 2007 เป็น 38% ในปี 2009)
คุณปิ่นประดับกล่าวเพิ่มเติมว่า “มีปัจจัยหลายประการที่สนับสนุนการที่ประเทศไทยมีจำนวนผู้บริหารผู้หญิงอยู่ในระดับอาวุโส หนึ่งในปัจจัยดังกล่าวคือการที่วัฒนธรรมไทยมีโครงสร้างครอบครัวขยาย ปู่ย่าตายายจึงช่วยดูแลบุตรหลานในเวลาที่แม่ออกไปทำงานนอกบ้าน นอกจากนี้ ยังสามารถรับบริการจากภายนอก เช่น พี้เลี้ยงเด็ก เนอร์สเซอรี่ และสถานเลี้ยงดูเด็กอื่นๆ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายไม่แพงจนเกินไปเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก”
Source: Grant Thornton