อินไซต์คนไทยเครียด! กิน “ขนม” เยียวยาจิตใจ – ผู้บริโภคอยากให้แบรนด์ “สร้างรอยยิ้ม-เสียงหัวเราะ”

  • 526
  •  
  •  
  •  
  •  

Thai Consumer Stress

จากสถานการณ์ COVID-19 ต่อเนื่องมาถึงเศรษฐกิจ ปัญหาเงินเฟ้อ ค่าครองชีพสูงขึ้น ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อ “สุขภาพจิต” ของคนไทย ทั้งจากภาวะเครียด และวิตกกังวล ทำให้ผู้คนพยายามหาทางบรรเทาความเครียดที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ด้วยวิธีการง่ายๆ เช่น รับประทาน “ขนมขบเคี้ยวกรุบกรอบ” ในระหว่างวัน เพื่อให้รู้สึกผ่อนคลาย และผลวิจัยยังพบ Insight ผู้บริโภคอยากให้แบรนด์ต่างๆ ช่วยสร้าง “รอยยิ้ม” และ “เสียงหัวเราะ” ให้กับพวกเขา

 

“ค่าครองชีพสูง” เพิ่มความเปราะบางทางการเงินครัวเรือนไทย กระทบต่อสุขภาพจิต

ผลวิจัยโดย Marketbuzzz” (มาร์เก็ตบัซซ) ในกลุ่มตัวอย่างผู้บริโภคอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป จำนวนทั้งหมด 1,000 คนพบว่า สถานการณ์ค่าครองชีพที่สูงขึ้น เพิ่มความเปราะบางต่อภาวะการเงินของครัวเรือนไทย ซ้ำยังส่งผลกระทบในเชิงลบต่อสุขภาพจิต และสร้างความเครียดให้กับผู้บริโภคในวงกว้าง

75% มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นทุกวัน ส่งผลกระทบอย่างมากต่อสถานะทางการเงินส่วนบุคคล

70% ยอมรับว่าปัญหาค่าครองชีพสูงขึ้น ยังได้บั่นทอนสุขภาพจิตอีกด้วย 

จากผลการสำรวจยังพบอีกว่า ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ประกอบกับสถานการณ์ COVID-19 ในปัจจุบันที่ยังคงอยู่ ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการใช้ชีวิตของคนไทย

52% คนประสบปัญหารายได้ที่ลดลง ทำให้สภาพคล่องทางการเงินลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว โดยเฉพาะในกลุ่มฐานรากที่ได้รับความเดือดร้อนต่อเนื่องจากเศรษฐกิจที่ย่ำแย่จาก COVID19 และกลุ่มคนวัยทำงานที่มีความสุ่มเสี่ยงจากจำนวนรายได้ต่อเดือนที่ไม่คงที่ เช่น เจ้าของกิจการขนาดเล็ก, ผู้ที่ทำงานอิสระ หรือฟรีแลนซ์

นอกจากนี้ค่าครองชีพที่สูง สร้างปัญหาให้กับครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ, ผู้บริโภคในภาคอีสาน – ภาคใต้ หรือผู้ที่กำลังว่างงาน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีสถานะทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างเปราะบางอยู่แล้ว ผลสำรวจพบว่า

– โดยเฉลี่ยแล้วคนไทยมีค่าใช้จ่ายอยู่ประมาณ 70% เมื่อเทียบกับรายได้ทั้งหมดต่อเดือน และมีเงินออมประมาณ 30%

– อย่างไรก็ตามประชากรในภาคอีสาน และภาคใต้ มีแนวโน้มที่จะประสบปัญหาทางการเงินมากกว่าผู้บริโภคในภาคอื่นๆ เนื่องจากค่าใช้จ่ายต่อเดือนสูงถึง 80% ของรายได้

Stress and Anxiety

คนไทยใช้เงินไปกับค่าอาหาร – ของใช้ภายในบ้านมากสุด

เมื่อพิจารณาสัดส่วนค่าใช้จ่าย พบว่าคนไทยส่วนใหญ่ใช้เงินไปกับค่าอาหาร และของใช้ภายในบ้าน มากที่สุดถึง 1 ใน 4 ของรายจ่ายทั้งหมด

รองลงมาเป็นค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าไฟฟ้า, ค่าน้ำ, ค่า WiFi / อินเตอร์เนท (13%), ค่าช้อปปิ้งของใช้ส่วนตัว หรือการดูแลสุขภาพ ความสวยความงาม (9%) และค่าผ่อนบ้าน, ค่าเช่าบ้าน หรือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับที่พักอาศัย (9%) เป็นต้น

– 62% จากกลุ่มตัวอย่างมีค่าใช้จ่ายต่อเดือนมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว โดยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากการที่สินค้า หรือบริการมีราคาสูงขึ้น เช่น ข้าวของเครื่องใช้ในบ้าน, สาธารณูปโภค หรือการเดินทาง เช่น ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน เป็นต้น

รัดเข็มขัด ปรับพฤติกรรมการใช้จ่าย

แล้วคนไทยจะปรับตัวอย่างไรในสภาวะข้าวยากหมากแพงเช่นนี้ ?

จากผลสำรวจพบว่าคนไทยได้มีการวางแผนในการรับมือกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น

– 67% ตั้งใจจะงด หรือลดค่าใช้จ่ายสำหรับสินค้า หรือบริการที่ไม่มีความจำเป็น

– 50% จะปรับพฤติกรรมในการบริโภค/อุปโภค เช่น ลดการรับประทานอาหารที่มีราคาแพง, ลดการใช้ของต่างๆ ให้น้อยลง

– 43% พยายามซื้อสินค้าหรือบริการที่ให้ข้อเสนอที่ดีที่สุด เช่น คูปอง, แสตมป์, ส่วนลด

Shopping

มร.แกรนท์ บาร์โทลี่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Marketbuzzz กล่าวว่า ผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคไม่เพียงแต่กังวลเรื่องรายได้ที่ลดลงเท่านั้น ปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นก็เป็นสิ่งที่น่ากังวลด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น ค่าอาหาร, ค่าสาธารณูปโภค และค่าน้ำมัน

นอกจากนี้ผลการสำรวจยังชี้ให้เห็นอีกว่า ปัญหาเหล่านี้ได้ส่งผลต่อสุขภาพจิต โดย 70% ยอมรับว่าตนเองกำลังประสบกับภาวะเครียด โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคที่มีอายุระหว่าง 35-44 ปี, ผู้หญิง, ประชากรในภาคอีสาน, ภาคใต้ หรือเจ้าของกิจการขนาดเล็ก

“การที่คนต้องเผชิญกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นนั้น ท้ายที่สุดแล้วจะส่งผลต่อสภาพจิตใจ ทำให้เกิดภาวะเครียดขึ้น ดังนั้นคนส่วนใหญ่จึงวางแผนที่จะรับมือกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยงดการจับจ่ายใช้สอยในสิ่งที่ไม่จำเป็น อย่างไรก็ดี วิธีการดังกล่าวก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะช่วยควบคุมค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้ในระยะยาว หากปัญหาเรื่องราคายังไม่ได้รับการแก้ไข หรือคลี่คลายในอนาคต

ดังนั้น คนไทยส่วนใหญ่จึงมีมาตรการรัดเข็มขัดการใช้จ่ายในครัวเรือน เพื่อหลีกเลี่ยงการก่อหนี้ หรือภาวะหนี้ในครัวเรือนอันเนื่องมาจากรายได้น้อยลงซึ่งสวนทางกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น  อย่างไรก็ตาม หากผู้บริโภคไม่สามารถปรับตัวกับการที่รายได้ลดลง ประกอบกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นได้ ก็มีความเป็นไปได้สูงที่คนเหล่านั้นจะรู้สึกกดดันในการดำเนินชีวิต และส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาทางสังคมอื่นๆ ตามมาก็เป็นได้”

Stress and Anxiety

 

คนไทยกิน “ขนมกรุบกรอบ” เยียวยาจิตใจ

จากความเครียดและความวิตกกังวลที่คนไทยประสบนั้น ประกอบกับวิถีชีวิตแบบคนเมืองที่เร่งรีบวุ่นวาย ทำให้ผู้คนพยายามหาทางดูแลสุขภาพทางอารมณ์ของตัวเองด้วยวิธีการต่างๆ หนึ่งในนั้นคือ การรับประทานขนมกรุบกรอบ โดยผลวิจัยผู้บริโภคล่าสุดของ Mintel พบว่า

– คนไทย 77% หันมารับประทานขนมกรุบกรอบ เพื่อเป็นการให้รางวัลตัวเอง และตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 81% ในกลุ่มอายุ 25-34 ปี

– 76% ของผู้บริโภคไทยมีพฤติกรรมรับประทานขนมกรุบกรอบระหว่างทำงาน ระหว่างเดินทางท่องเที่ยว หรือระหว่างกิจกรรมยามว่างอื่นๆ หรือที่เรียกว่า “ภาวะเคี้ยวไปเรื่อย” เป็นสิ่งที่ทำเป็นประจำ

Snacks

“การรับประทานขนมกรุบกรอบเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคไทยชอบทำเพื่อฆ่าเวลาในระหว่างวัน จากผลการวิจัยผู้บริโภคของ Mintel Global ในปี 2564 พบว่าคนไทยมีการรับประทานขนมกรุบกรอบและเครื่องดื่มแทนอาหารมื้อหลักมากที่สุดเป็นอันดับสอง รองจากคนอินเดียเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดอื่น ๆ ในเอเชียแปซิฟิก

ความสนใจของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างอาหารและอารมณ์นั้นช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับแบรนด์ขนมกรุบกรอบต่าง ๆ ในการสื่อสารภาพลักษณ์ของตัวผลิตภัณฑ์และแคมเปญการตลาดในแง่ที่ว่าเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้สุขภาวะทางอารมณ์ดีขึ้น” คุณพิมพ์วดี อากิลา นักวิเคราะห์ตลาดอาหารและเครื่องดื่ม บริษัท Mintel Reports Thailand ขยายความเพิ่มเติม

– ผู้บริโภคไทยจำนวนมากรับประทานขนมกรุบกรอบในโอกาสที่เรียกว่า we-time” หรือช่วงเวลาที่ใช้ทำกิจกรรมพิเศษร่วมกับผู้อื่น (54%) รวมไปถึงเวลาที่พบปะสังสรรค์กับเพื่อน ๆ และคนในครอบครัว และ me-time” หรือช่วงเวลาที่รู้สึกเบื่อหรือเครียด (45%)

– เมื่อพิจารณาตามกลุ่มอายุ คนรุ่นมิลเลนเนียล (อายุ 25-44 ปี) จำนวน 59% จำแนกตนเองเป็นคนที่กินแบบ we-time” ในขณะที่คนรุ่น Gen Z (อายุ 18-24 ปี) จำนวน 58% กินแบบ me-time” มากกว่า

Snacks

อย่างไรก็ตามแม้ขนมกรุบกรอบจะช่วยเรื่องการผ่อนคลายอารมณ์ แต่โซเดียม สารเติมแต่ง และวัตถุกันเสียที่ใส่เข้ามาก็ยังคงขัดกับความต้องการของผู้บริโภคในเรื่อง “อาหารเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น” อ้างอิงจากฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์ใหม่ของ Mintel Global (GNPD) ระหว่างเดือนมกราคม 2562 ถึงเดือนธันวาคม 2564 การเปิดตัวของขนมกรุบกรอบที่ทำด้วยวัตถุดิบจากธรรมชาติและไร้สารเติมแต่ง ปราศจากวัตถุกันเสียและสารก่อภูมิแพ้มีเพิ่มมากขึ้น (19%) ขณะที่ผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมก็เติบโตขึ้นเช่นกัน (17%)

การบริโภคขนมกรุบกรอบที่ได้รับการรับรองคุณภาพจากองค์กรภายนอก อย่างการได้รับตราสัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ” เป็นที่ต้องการถึง 77% ในกลุ่มผู้บริโภคไทยที่เคยเห็นและทราบว่าตราสัญลักษณ์นี้มีความหมายอย่างไร

“นอกจากการลดลงของส่วนผสมที่ส่งผลร้ายต่อสุขภาพในขนมกรุบกรอบแล้ว (เช่น โซเดียม, สารเติมแต่ง) ผู้บริโภคไทยยังมองหาผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพเพิ่มเติมเพื่อที่จะทำให้รู้สึกผิดน้อยลงเมื่อกินขนมกรุบกรอบ อีกทั้งผู้ที่ชอบทดลองรสชาติใหม่ ๆ เองก็ยินดีจะจ่ายให้สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพเพิ่มขึ้น

การเติมสารอาหารเพิ่มเป็นแนวทางหนึ่งที่ได้รับการยอมรับ ที่แบรนด์สามารถทำเพื่อยกระดับคุณค่าด้านสุขภาพของผลิตภัณฑ์ได้ เห็นได้ชัดว่าการเพิ่มคุณประโยชน์ทางด้านสุขภาพและการสร้างสรรค์รสชาติใหม่ ๆ โดยไม่สูญเสียรสชาติที่ดีไปจะเข้ามามีบทบาทในการทำให้ขนมกรุบกรอบเป็นส่วนหนึ่งของการกินเพื่อสุขภาพในหมู่ผู้บริโภคไทย” คุณพิมพ์วดี กล่าวทิ้งท้าย

Salty_Snacks_Thai_Inforgraphic

 

ผู้บริโภคอยากให้แบรนด์ “สร้างรอยยิ้ม มีอารมณ์ขัน” 

ในขณะที่ผู้บริโภครู้สึกว่าไม่มีความสุข แล้วในมุมของแบรนด์ควรทำอย่างไร เพื่อให้ยังสามารถ Connect กับผู้บริโภค และช่วยบรรเทาความเครียดให้ได้ไม่มากก็น้อย ?

จากงานศึกษาครั้งใหม่ของ Oracle (ออราเคิล) และ เกร็ตเชน รูบิน นักเขียนขายดี 5 สมัยของนิวยอร์กไทม์และนักพูดพอดคาสต์ ระบุว่าผู้คนอยากให้แบรนด์ต่างๆ สร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้แก่พวกเขา แต่ผู้บริหารธุรกิจส่วนใหญ่กลับยังกลัวที่จะใช้อารมณ์ขันในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า

งานศึกษาครั้งนี้สำรวจความคิดเห็นของผู้คนมากกว่า 12,000 รายใน 14 ประเทศ รวมถึงมากกว่า 5,000 รายในเอเชียแปซิฟิก ระบุว่าผู้คนต้องการประสบการณ์ใหม่ที่ทำให้ยิ้มและหัวเราะได้ และจะตอบแทนแบรนด์ที่ใช้อารมณ์ขันด้วยการภักดีต่อแบรนด์ การบอกต่อ และการซื้อซ้ำสินค้าแบรนด์นั้น และจะเลิกใช้แบรนด์อื่นๆ ที่ไม่มีอารณ์ขันอีกด้วย

Happiness

ผู้คนในเอเชียแปซิฟิกต้องการความสุขรูปแบบใหม่และยินดีจ่ายเพิ่ม

นับเป็นเวลานานกว่า 2 ปีมาแล้ว ที่ผู้คนไม่เคยได้สัมผัสถึงความสุขที่แท้จริง วันนี้ พวกเขาจึงต้องหาวิธีสร้างความสุขอีกครั้งแม้ว่าต้องจ่ายเงินเพิ่มก็ตาม ต่อไปนี้คือคำตอบส่วนหนึ่งในงานวิจัยครั้งนี้

44% ของผู้ทำแบบสอบถามในเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่าพวกเขาไม่ได้สัมผัสความสุขที่แท้จริงมานานกว่า 2 ปีแล้ว และ 25% ไม่รู้หรือลืมไปแล้วว่าการมีความสุขที่แท้จริงเป็นอย่างไร

85% ต้องการประสบการณ์ใหม่ที่ทำให้พวกเขายิ้มและหัวเราะ ผู้คนในเอเชียแปซิฟิกให้ความสำคัญมากที่สุดในการใช้สุขภาพ (78%) ความสัมพันธ์ส่วนตัว (77%) และประสบการณ์ต่างๆ (45%) เพื่อการสร้างความสุข

คนจำนวนมากยอมทิ้งเพื่อน (62%) สละรายได้ส่วนหนึ่ง (61%) ไม่อาบน้ำ (55%) เป็นเวลา 1 สัปดาห์ เพียงเพื่อให้ตนเองได้สัมผัสความสุขที่แท้จริงสัก 1 ชั่วโมง

– ผู้คนในเอเชียแปซิฟิกมากกว่าครึ่ง (56%) อยากให้เงินสามารถซื้อความสุขได้ โดย 81% พร้อมจ่ายเงินเพิ่มเพื่อซื้อความสุขที่แท้จริง

– 89% พยายามหาความสุขด้วยการซื้อของออนไลน์ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาด และ 47% ยอมรับว่าพวกเขามีความสุขในตอนที่ได้รับสินค้าที่สั่งไป

Payment

โฆษณา การตลาด การขาย และปฏิสัมพันธ์ของงานบริการลูกค้า ต้องเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

– ผู้คนต้องการให้แบรนด์ต่างๆ ทำให้พวกเขายิ้มและหัวเราะ แต่ผู้บริหารธุรกิจกลับกลัวการใช้อารมณ์ขันในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า เพราะกลัวถูกเมิน

– ผู้คนในเอเชียแปซิฟิก 76% เชื่อว่าแบรนด์สินค้าสามารถสร้างความสุขให้ประชาชนได้มากกว่าที่ทำอยู่ โดย 91% อยากให้แบรนด์ต่างๆ สร้างความสนุกสนานมากกว่านี้ ซึ่งในจำนวนนี้มีสัดส่วนสูงมากในคน Gen Z (95%) และ Millennials (95%)

– ด้านการโฆษณา: ผู้คนกว่า 89% มีแนวโน้มจำโฆษณาที่ตลกขบขันได้ ถึงกระนั้น ผู้บริหารธุรกิจในเอเชียแปซิฟิกยอมรับว่าแบรนด์ของตนมีโฆษณาออฟไลน์ (โทรทัศน์และป้ายบิลบอร์ด) เพียง 17% และโฆษณาออนไลน์แค่ 14% ที่ใช้อารมณ์ขันอย่างชัดเจน

– ด้านสื่อสังคมออนไลน์: ผู้คนกว่า 74% จะติดตามแบรนด์ที่สนุกสนานบนช่องทางโซเชียลมีเดีย ถึงกระนั้น มีผู้บริหารธุรกิจเพียง 12% ที่กล่าวว่าแบรนด์ของเขาใช้ความตลกบนสื่อโซเชียล

– ด้านการตลาดผ่านอีเมล: 68% จะเปิดอีเมลจากแบรนด์ที่มีหัวข้อตลกขบขัน ถึงกระนั้น ผู้บริหารธุรกิจในเอเชียแปซิฟิกเพียง 21% กล่าวว่าแบรนด์ของเขาใช้อารมณ์ขันในแคมเปญการตลาดอย่างจริงจัง

– ด้านการใช้แชตบอต/ผู้ช่วยดิจิทัล: 67% ชอบคุยกับโปรแกรมแชตบอต/ผู้ช่วยดิจิทัล ถ้าสิ่งนั้นคุยด้วยแล้วตลกขบขัน อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารในเอเชียแปซิฟิกเพียง 24% ที่จะผสานอารมณ์ขันในโปรแกรมการสื่อสารแชตบอต

Happiness

รอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้ผลตอบแทนสูง แต่ผู้บริหารยังไม่กล้าสร้างเสียงหัวเราะ

ผู้คนพร้อมตอบแทนแบรนด์ที่สร้างอารมณ์ขันด้วยการภักดีต่อแบรนด์ การบอกต่อ และการซื้อซ้ำสินค้าจากแบรนด์นั้น และพร้อมเมินเฉยต่อแบรนด์อื่นๆ ที่ไม่ยอมทำ

– ผู้คน 56% จะไม่รู้สึกผูกพันธ์กับแบรนด์ที่ไม่ทำให้พวกเขายิ้มหรือหัวเราะ และ 49% จะเลิกใช้แบรนด์ที่ไม่ได้ทำให้พวกเขายิ้มหรือหัวเราะไปเลย

– ถ้าแบรนด์ใช้อารมณ์ขัน ผู้คนมีแนวโน้มจะซื้อสินค้าซ้ำจากแบรนด์นั้น (82%) แนะนำแบรนด์แก่ครอบครัวและเพื่อน (81%) เลือกแบรนด์นั้นมากกว่าคู่แข่งอื่นๆ (76%) และยอมจ่ายเงินมากขึ้นให้แบรนด์ (67%)

– 90% ของผู้บริหารเล็งเห็นโอกาสที่จะใช้อารมณ์ขันในการยกระดับประสบการณ์ลูกค้า และเชื่อว่าแบรนด์ของเขาสามารถทำให้ลูกค้ายิ้มหรือหัวเราะได้มากขึ้น

– ผู้บริหาร 76% ยังกลัวการใช้อารมณ์ขันในการมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า

– 87% ของผู้บริหารธุรกิจกล่าวว่าไม่มีข้อมูลเชิงลึกหรือเครื่องมือเพื่อการใช้อารมณ์ขันให้บรรลุผลตามที่ตั้งใจ โดยผู้บริหารจะมั่นใจในการใช้อารมณ์ขันกับลูกค้ามากกว่านี้ ถ้าพวกเขามองเห็นถึงปฏิกิริยาของลูกค้าได้ชัดเจนขึ้น (54%) และเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงอย่างปัญญาประดิษฐ์ (37%)

Happiness

“เรากำลังพยายามก้าวผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากมาก และทั่วโลกก็กำลังขาดแคลนความสุข เราจึงพยายามเสาะหาประสบการณ์ที่ทำให้เรายิ้มและหัวเราะ ซึ่งแบรนด์สินค้าสามารถช่วยในเรื่องนี้ได้ 

สำหรับแบรนด์ที่ต้องการยกระดับความสุขของกลุ่มเป้าหมาย ต้องเริ่มพิจารณาจากข้อมูลและทำความรู้จักกับลูกค้าของคุณก่อน ด้วยวิธีนี้คุณจะสามารถนำเสนอส่วนผสมที่ลงตัวของอารมณ์ขัน ลักษณะเฉพาะตัวของแบรนด์ และประสบการณ์ที่จะช่วยเพิ่มความภักดีและการสนับสนุนแบรนด์ได้” มร.เกร็ตเชน รูบิน นักเขียนขายดี 5 สมัยของนิวยอร์กไทม์และนักพูดพอดคาสต์ กล่าว

คุณทวีศักดิ์ แสงทอง กรรมการผู้จัดการ ออราเคิล คอร์ปอเรชั่น ประเทศไทย กล่าวว่า ผลการวิจัยได้แสดงให้เห็นแล้วว่าผู้บริหารธุรกิจส่วนใหญ่ต้องการทำให้ผู้บริโภคได้หัวเราะมากขึ้น และเริ่มเข้าใจว่าสิ่งนี้มีความจำเป็นในการสร้างความสัมพันธ์อันน่าเชื่อถือ ข้อมูลจึงมีบทบาทสำคัญอย่างมากเพื่อช่วยให้แบรนด์ต่างๆ มีความเข้าใจในสิ่งที่ลูกค้าของตนชื่นชอบ ผ่านการวิเคราะห์และการกำหนดประสบการณ์ลูกค้าที่เหมาะสม เพื่อดึงดูดลูกค้าใหม่และรักษาฐานลูกค้าเดิมไว้ให้มากที่สุด

Happiness


  • 526
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ