เปิดแนวคิดไวรัล “มนุษย์ฝรั่ง” โดยนิสิตจุฬาฯ พร้อมเปิดใจ “ดัฟฟี่” กับคำด่าคำแรก in BKK.

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

เป็นไวรัลที่ได้รับการกล่าวขวัญมากที่สุดในขณะนี้ สำหรับคลิป “มนุษย์ฝรั่ง” ของนิสิตจากคณะนิเทศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งทำให้ “ดัฟฟี่” นิสิตสาวน้อยลูกครึ่งไทย-อเมริกัน ดังเป็นพลุแตกในชั่วข้ามคืน เพราะเพียงแค่ 2 วันยอดวิวพุ่งไปกว่าล้านแล้ว

หลายคนอาจจะทราบไปบ้างแล้วว่า ที่มาของการจัดทำคลิป เพราะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “The Gun-Chon Project กันชนไม่ชนกัน” โครงการดีๆ เพื่อรณรงค์ลดอุบัติเหตุบริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โครงการโดยนิสิตจุฬาฯ เพื่อนิสิตจุฬาฯ ภายใต้โปรเจ็คต์ Campus Challenge 2014 โดยโตโยต้า ถนนสีขาว ซึ่งขณะนี้ทีมงานเดินทางมาสู่รอบ 10 ทีมสุดท้ายแล้ว duffie HiLi ทีมงาน Marketing Oops ได้มีโอกาสเข้าไปพูดคุยกับน้องๆ นิสิตชั้นปีที่ 3 เจ้าของโปรเจ็คต์กลุ่มนี้ ได้แก่

-อรณิชา ยอดพินิจ (นิ้ง) เอกภาควิชาการประชาสัมพันธ์ สาขาการโฆษณา
-วรัมพา เล้าประเสริฐ (แพรว) เอกภาควิชาการประชาสัมพันธ์ สาขาการโฆษณา
-นารดา อังคทะวานิช (น้ำหอม) เอกภาควิชาวาทะวิทยา
-พิชณิกา เพชรสังข์ (ปุ๊) เอกภาควิชาการประชาสัมพันธ์

ลองมาฟังแนวคิดของคนรุ่นใหม่ ที่จะทำให้ผู้ใหญ่อย่างเราทึ่งและชื่นชมในฝีมือเด็กไทยดูบ้าง และที่พลาดไม่ได้กับ “ดัฟฟี่” สาวน้อยลูกครึ่งที่ตอนนี้ครองใจคนไทยไปเรียบร้อยแล้ว

จุดเริ่มต้น “The Gun-Chon Project กันชนไม่ชนกัน”

“น้องนิ้ง” เล่าให้เราฟังว่า จากการที่ตนและ “น้ำหอม” ได้เรียนวิชา STRATEGIC CSR ด้วยกัน อาจารย์ท่านหนึ่งแนะนำว่าตอนนี้โตโยต้ามีโครงการถนนสีขาวอยู่ และเปิดให้นิสิตนักศึกษาส่งโครงการเข้าร่วมประกวดการทำ CSR เพื่อลดอุบัติเหตุบริเวณมหาวิทยาลัย อาจารย์เห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีที่นิสิตจะได้มีโอกาส เขียนแผนจริง ทำงานจริง และถ้าเข้ารอบก็อาจจะได้ทำงานจริงๆ ด้วย จากนั้นก็ได้ชวนเพื่อนๆ อีก 2 คน ได้แก่ “แพรว” และ “ปุ๊” มาร่วมทีมกัน โดยได้ทำรีเสิร์ชก่อนตั้งโจทย์แล้วว่าการขับรถ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุในสถาบันบ่อยที่สุด จึงตัดสินใจเลือกธีมนี้

“ตอนแรกก็คิดว่าจะเน้นทำงานนี้ให้ออกมาในโทนเป็นเศร้าเหมือนกัน และคิดว่ามันน่าจะ infectiveมากกว่า เพราะว่าตอนที่ไป workshop กับโตโยต้า เขามีคลิปวิดีโอให้ดูบอกว่าประเทศไทยมีคนตายเยอะเป็นอันดับ 2 ของโลกในด้านอุบัติเหตุ เฉลี่ย 1 ชม. มีคนตาย 3 คน คิดว่า message ลักษณะนี้เรารู้สึกได้ ฉะนั้น คนอื่นก็อาจจะรู้สึกด้วย ตอนแรกเลยคิดที่จะทำแนวเศร้าไปเหมือนกัน” น้ำหอม เล่าเกริ่นให้ฟัง “นิ้ง” กล่าวเสริมว่า แต่อาจารย์ท่านแนะนำมาว่าให้ดูที่ target audience ก่อน และมี insight ยังไง แล้วถ้าตลกมันจะอิมแพ็คมากกว่าหรือไม่

การตัดสินใจเลือก “ดัฟฟี่” มาร่วมโครงการ

“น้องแพรว” บอกว่า ส่วนตัวสนิทกับ “ดัฟฟี่” อยู่แล้ว และด้วยบุคลิกน่ารักและตลกของดัฟฟี่ด้วย ทำให้รู้สึกว่าน้องน่ารักมาก ก็เลยลองชวนดู อีกสิ่งหนึ่งที่ทีมนี้ตัดสินใจเลือก “ดัฟฟี่” ไม่ใช่เพราะเป็นแค่เด็กน่ารัก สดใส แต่ได้ดึงความเป็นต่างชาติที่พูดไม่ชัดออกมา ซึ่งทีมมองว่าเป็นความน่าเอ็นดูที่คนไทยมักจะมองชาวต่างชาติแบบนี้ ทำให้การส่ง message ของโครงการดูนุ่มนวลขึ้น ไม่แข็งกร้าว และดูไม่เป็นทางการ

สื่อและงบประมาณที่ใช้

น้องๆ เล่าว่า ด้วยงบประมาณที่ให้มาคือ 2 หมื่นบาท และเวลาอันจำกัด ดังนั้น ความคิดแรกที่แวบขึ้นมาเลยก็คือการใช้สื่อโซเชียลมีเดียทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ยูทูบ และอินสตาแกรม

หลังจากนั้นก็มีการรณรงค์ภายในมหาวิทยาลัยด้วย การทำ ambient ad ตามด้วยขั้นสุดทายคือการทำแบบ POP คือเป็นป้ายจราจรพร้อมกับข้อความ “ช้า ชะลอ หยุด” โดยจะโยง “ดัฟฟี่” ไปกับทุกๆ มีเดียที่เราใช้ เพื่อเห็นความเป็น unity เดียวกันของแคมเปญ duffie

ฟีดแบค และ ผลลัพธ์

ฟีดแบคโดยภาพรวมแน่นอนว่ามีทั้งชื่นชมและตำหนิ โดยเฉพาะเรื่องการใช้คำหยาบคายในหมู่เยาวชน อย่างไรก็ตาม นิสิตชุดนี้เห็นว่าแม้จะมีดราม่าเรื่องคำหยาบคาย แต่ผู้ชมหลายคนก็มาตอบแทนแล้วว่าขอให้ดูที่ message ที่ต้องการสื่อด้วยว่าเพื่ออะไร อย่างไรก็ตาม ทีมงานยอมรับว่าเน้นที่การปรับทัศนคติมากกว่าพฤติกรรม เพราะด้วยเวลาและงบฯจำกัด การจะไปเปลี่ยนนิสัยของคนเลยมันยาก แต่อย่างน้อยถ้ามีทัศนคติในการขับรถที่ดีก็หวังว่าจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้เอง

คอมเม้นท์วงการโฆษณาไทย ในมุมมองคนรุ่นใหม่

“แพรว” บอกว่า คิดว่าคนไทยเรามีศักยภาพมาก หลายเอเจนซี่ไทยเราก็ได้รางวัลคานส์เยอะ แต่อยากให้มีเหมือนต่างประเทศคืองานแบบ interactive ซึ่งเมืองไทยเราเห็นค่อนข้างน้อย และชอบงานแบบ ambient ที่โผล่ขึ้นมากลางสาธารณะ

“นิ้ง” มองว่า Ad ดีๆ มันมีเยอะมาก และคนไทยก็ได้รางวัลเยอะด้วย แต่กลับไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก อย่างไรก็ตาม มันก็ขึ้นอยู่กับ Target Audience กับ Client คือลูกค้าก็อยากให้เราขายทุกอย่างใส่ไปให้หมด แต่นักโฆษณาก็ค่อนข้างสวนทาง อยากให้ทำความเข้าใจร่วมกันว่าปัจจุบันนี้คนไทยเข้าใจงาน get idea กว่าเดิมเยอะแล้ว

The Duffie-มนุษย์ฝรั่ง

นาทีนี้ไม่มีใครไม่รู้จัก “ดัฟฟี่” หรือ วธิดา แชนนอน นิสิตนิเทศศาสตร์ ชั้นปีที่ 1 โปรแกรมอินเตอร์เนชั่นแนล ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาวน้อยลูกครึ่งไทย-อเมริกัน ที่มีทั้งความสดใสและร่าเริง ทั้งนี้ การสนทนากับ “ดัฟฟี่” เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ เพราะความน่ารักสดใสและเป็นธรรมชาติของเธอ ทำให้ไม่แปลกใจเลยที่คนไทยจะหลงรักเธอ

อย่างไรก็ตาม บทสนทนาบางส่วนเป็นการถอดจากคำพูดซึ่ง “ดัฟฟี่” ตั้งใจจะพูดภาษาไทยด้วยตนเอง และเพื่อให้เห็นเสน่ห์ความน่ารักของเธอเราจึงถอดคำตามนั้น duffie (3)

มาเรียนที่นิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ได้อย่างไร 

“ดัฟฟี่” เรียนจบไฮสคูล ที่ George Washington High School ที่เดนเวอร์ รัฐโคโลราโด เธอบอกว่าตัวเองเป็นเด็กที่เรียนหนังสือเก่งมาก ได้เป็นประธานชมรมถึง 4 ชมรมด้วยกัน และได้เป็นตัวแทนนักเรียนในเมืองเดนเวอร์ของรัฐโคโลราโดเลยทีเดียว และสิ่งที่ทำให้เธอภูมิใจที่สุดก็คือการได้เป็นประธานของ Pre-Medical Program ซึ่งจะคัดแต่นักเรียนหัวกะทิเท่านั้นถึงจะมีสิทธิมาอยู่ในโปรแกรมนี้ได้

“ตอนนั้นยอมรับว่าไม่รู้จะทำอะไรกับชีวิต ตอนเรียนดัฟฟี่เรียนเก่งมากๆ แต่ที่อเมริกาถึงจะมีมหาวิทยาลัยดีๆ แต่ต้องเลือกเมเจอร์ก่อน แต่ตอนนั้นไม่รู้จะทำอะไร แล้วก็ไม่อยากใช้เงินพ่อแม่ ก็กำลังคิดอยู่ว่าจะเรียนที่ไหน ก็นึกถึงเมืองไทย เมืองไทยเราไปบ่อยๆ มีครอบครัวอยู่ที่นั่น แล้วเพื่อนๆ ก็แนะนำว่าถ้าเรียนเมืองไทยต้องเรียนที่ มหิดล ธรรมศาสตร์ หรือจุฬาฯ ก็เลยมา apply ที่นิเทศฯ จุฬาฯ”

“ดัฟฟี่” เล่าต่อว่า ในตอนแรกอยากเรียนหมอมากๆ ถึงได้ตัดสินใจเข้าโปรแกรม Pre-Medical แต่พอเรียนไป รู้เลยว่าไม่ใช่ เพราะนอกจากจะยากมากๆ แล้ว สิ่งที่ทำไม่ได้ที่สุดคือเวลาเห็นเลือด มันจะเกิดอาการคลื่นไส้ขึ้นมาทันที หลังจากนั้นเธอก็เริ่มสำรวจตัวเองว่าเป็นคน ชอบทำอะไร ก็มาค้นพบว่าตัวเองนั้นชอบคุยกับคนอื่นๆ ชอบไปประเทศอื่นๆ เรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่างได้รวดเร็ว และไม่เขินอายที่จะคุยกับคนแปลกหน้า ทำให้สนใจ Class Culture Communications ที่จุฬาฯมาก จึงตัดสินใจมาเรียนทางนิเทศศาสตร์

ทำไมถึงมาร่วมโครงการนี้

“ดัฟฟี่” บอกว่า เพราะเห็นความสำคัญของการขับรถในมหาวิทยาลัย แล้วก็ห่วงเด็กเล็กๆ ข้ามถนนจริงๆ แม้แต่ตัวเองที่เป็นผู้ใหญ่แล้วก็ยังข้ามถนนไม่ได้เลย รถวิ่งเร็วมากเลยอยากจะช่วยพี่ๆ ในโครงการนี้ คืออยากจะให้ทุกคนตระหนักว่าทุกชีวิตมีครอบครัวและมีคนที่รัก ดังนั้น จะขับรถอย่างไรก็ขอให้นึกถึงความปลอดภัยของคนอื่นๆ ด้วย

คิดอย่างไรที่มีคนแย้งว่า นิวยอร์กก็สกปรกการจราจรก็ไม่ได้ดูดีไปกว่ากรุงเทพฯ เลย

“ใช่ โอเค ทุก city ใหญ่ๆ เป็นแบบนี้ กรุงเทพฯสกปรก โอเค นิวยอร์ก สกปรก โอเค แอล.เอ. สกปรก บ้านดัฟฟี่ก็สกปรกนิดหน่อยด้วย แล้วแยกจราจรต่างๆ ในเมืองใหญ่ก็เป็นแบบในกรุงเทพฯ แต่ที่ไม่เข้าใจคือ ทำไมคนถึงได้ไปสนใจรายละเอียดเล็กๆ ตรงนั้น small detail มากๆ ทำไมไม่โฟกัสไปที่ message หลักที่แคมเปญนี้ต้องการจะสื่อ ซึ่งมันก็ไม่เกี่ยวเลย ควรจะสนใจที่ message ใหญ่ๆ แล้วก็เผยแพร่ความคิดดีๆ ออกไป” ดัฟฟี่ ตอบตรงตามความรู้สึกของคนที่อยากจะช่วยให้สังคมไทยดีขึ้น ในฐานะที่เป็นคนหนึ่งที่บอกได้เต็มปากว่าเธอรักเมืองไทยจริงๆ

First Bad Word In Thailand

จากในคลิปที่ “ดัฟฟี่” ใช้ศัพท์แสลงต่างๆ โดยเฉพาะคำหยาบคายได้คล่องแคล่ว แม้จะบอกว่าอยู่ไทยแค่ 3 เดือน “เพราะว่าพวกพี่ๆ เพื่อนๆ ชอบแกล้งดัฟฟี่ แบบเวลาไปซื้อข้าว ก็บอกว่าไม่ให้พูดว่ากิน ให้พูดว่า ดัฟฟี่หิวมาก อยากแดกข้าวแล้ว…แบบนี้” ดัฟฟี่ เล่าเหตุการณ์ที่โดนแกล้งบ่อยๆ ให้ฟัง เมื่อถามถึงคำแรกที่โดนสอนให้พูดหยาบคาย “ดัฟฟี่” ตอนแรกไม่กล้าบอก เพราะกลัวว่าจะหยาบคายเกินไปไม่เหมาะสม แต่เราก็ขอร้องว่า อยากให้เล่าเป็นเรื่องตลกๆ ขำๆ ในชีวิต

“ดัฟฟี่” บอกอย่างเขินอายว่า ถูกสอนให้พูดว่า Pa-Yu-Hee” เป็นคำแรก ส่วนใครแปลไม่ออกแอบถามเด็กนิเทศจุฬาฯ ได้เลย เพราะว่ากลายเป็น Sub Culture ไปแล้วสำหรับคำนี้ ไม่ว่าใครจะเจอเรื่องแย่ เรื่องไม่ดี หนักสุดๆ จะต้องมีการแฮชแท็กด้วยคำนี้ #PaYuHee

“มีพี่คนหนึ่งเขาสอน คือตอนนั้นพี่เขาขับรถอยู่ แล้วรถติดหนักมากๆ พี่เค้าก็บอกว่า “Pa-Yu-Hee” ดัฟฟี่ก็ถามว่าคืออะไร พี่เค้าก็บอกว่า ทุกอย่างนะดัฟฟี่ เวลาไม่ดี ไม่สบายให้บอกว่า “Pa-Yu-Hee”พูดกับทุกคนก็ได้ แล้วเวลาที่ดัฟฟี่มาที่คณะก็แบบว่า ‘โอ้ว! ช่ายวันนี้”Pa-Yu-Hee”มากอ่ะ มาสายเลย’ เพื่อนฟังก็ช็อคว่าอะไรอ่ะ ดัฟฟี่ก็ถามว่ารู้จักรึเปล่า”Pa-Yu-Hee”รึเปล่า เพื่อนก็บอกว่าเกิดมาไม่เคยได้ยินคำนี้มาก่อน เราก็ถามว่าอ้าวทำไมล่ะ เพราะว่าดัฟฟี่นึกว่าคำธรรมดา ซึ่งตอนนี้กลายเป็น signature hachtag ของดัฟฟี่ไปแล้ว หนูรู้คำหยาบเยอะมาก”

กับที่แกล้งหนักที่สุด ซึ่ง “ดัฟฟี่” บอกว่าค่อนข้างเสียใจนะ เพราะตอนนั้นมาเมืองไทยใหม่ๆ แค่เดือนแรก “มีรุ่นพี่สอนว่า ดัฟฟี่เวลาเจอผู้ชายต้องบอกอย่างนี้นะ Kor-Jub-Kuy-Hnoi” แล้วเราไม่รู้แปลว่าอะไร ก็นึกว่าแปลว่า สวัสดีค่ะ สบายดีไหม แบบนี้ แล้ววันหนึ่งดัฟฟี่ก็ไปเจอพี่ปี 3 ดัฟฟี่ก็บอกว่า “สวัสดีค่ะพี่ Kor-Jub-Kuy-Hnoi” โอ้โฮ้!! ไม่ดีมากเลย ฉิบหายเลย พี่เค้าก็ช็อคเลย ดัฟฟี่ใครสอน? ดัฟฟี่ก็เสียใจมากเลยว่าอ้าวทำไมเหรอ คำไม่ดีเหรอ ดัฟฟี่ก็ถามเฉยๆ ว่าสบายดีไหม ทำไมพี่ต้องช็อคด้วย”

ดูภายนอกเธออาจจะเป็นเหมือนเด็กวัยรุ่นที่ตลกไปวันๆ แต่เมื่อฟังความเห็นเธอแล้ว ต้องกดไลก์ให้เลย “วัยรุ่นแบบ 17, 18 ปี วัยรุ่นแบบงงๆ เวรี่ งงๆ ไม่เข้าใจกับชีวิต ไม่รู้ว่าจะทำตัวยังไงดี แต่อยาก impressed คนอื่น อยากซื้อกระเป๋าหลุยส์ วิคตอง ว่าโอ้วหนูเป็นคนรวย แต่ว่าดัฟฟี่ไม่สนใจ ใครจะคิดยังไงกับเราก็ได้ เพราะว่าดัฟฟี่รักตัวเอง” สาวลูกครึ่งตอกย้ำในตอนท้าย

ดังชั่วข้ามคืน ชีวิตเปลี่ยนไหม

“ดัฟฟี่” ยอมรับว่ายังงงๆ อยู่ ที่มีคนมาขอถ่ายรูปเยอะแยะ แต่เธอก็ยินดี แต่ไม่เคยรู้ว่าตัวเองเป็นคนดังแล้ว เพราะที่บ้านไม่มีทีวี แล้วก็ไม่เคยดูทีวีไทยด้วย “คือหนูก็ไม่รู้ว่าหนูดัง หรือเปล่า เพราะไม่มีทีวีที่ห้อง ก็ใครมาทักหรือขอถ่ายรูปก็ได้โอเค ไม่มีปัญหา ยอมรับว่า ชีวิตเปลี่ยนไปมากๆ จากวันหนึ่งเป็นคนธรรมดา พอมาวันนี้มีแต่คนมาขอถ่ายรูป “เวรี่ ช็อค มากๆ”

 คุณพ่อคุณแม่ ว่าอย่างไร

แม้ว่าคุณลูกจะดังที่เมืองไทยขนาดนี้ แต่ไม่น่าเชื่อว่าทั้งคุณพ่อและคุณแม่ไม่ทราบเรื่องนี้เลย “ดัฟฟี่” เล่าว่า ตอนนี้คุณแม่อยู่เม็กซิโก ไม่มีอินเตอร์เน็ท แต่ก็ตั้งใจว่าจะเก็บไว้เป็นเซอร์ไพรส์ให้คุณแม่ ส่วนคุณพ่อนั้น บอกแค่ว่ามีคลิปตัวเองลงในยูทูบมีล้านกว่าวิวเลย แต่พ่อกลับเฉยๆ ถามแค่ว่าอยู่ที่นี่ตั้งใจเรียนรึเปล่าแค่นั้น

วงการบันเทิง กับผู้ชายในสเป็ก

พอถาม “ดัฟฟี่” ว่าดังขนาดนี้ สนใจจะเข้าวงการบันเทิงหรือไม่ “ดัฟฟี่” ตาเป็นประกายก่อนตอบว่า “สนใจก็ได้ค่ะ ถ้ามีโอกาสได้ทำอะไรสนุกๆ คืออยากเป็นคนตลก ชอบทำให้คนตลก เวลาที่เขามีความสุข เราก็มีความสุขไปด้วย ชอบขายความสุข อยากเป็นคนตลกๆ แต่ก็จริงจังได้นะ”

แอบแย้มถามว่าชอบดาราไทยคนไหนบ้างหรือเปล่า “ดัฟฟี่” บอกว่าไม่รู้จักใครเลย เพราะไม่เคยดูทีวีไทย แต่มีดาราคนหนึ่งที่เธอจำฝังใจตั้งแต่เด็กๆ เมื่อครั้งที่มาเที่ยวเมื่อ 5 ปีก่อน ซึ่งเธอก็คือ “ชมพู่-อารยา เอ ฮาร์เก็ต”

“เมื่อ 5 ปีก่อนที่มา vacation ที่เมืองไทย เห็น “ชมพู่” (อารยา เอ ฮาร์เก็ต) อยู่ทุกที่เลย เห็นชมพู่ every where เลย ชมพู่อยู่ในสบู่ดัฟฟี่ ชมพู่อยู่ในห้องน้ำ เวลาไปกินข้าว เห็นชมพู่อยู่ในขนมปัง ชมพู่ every where เลยอ่ะ เหมือนกับดัฟฟี่เป็นเพื่อนกับชมพู่ด้วย ก่อนนอนก็เจอชมพู่ ตื่นมาก็โอ้ว! สวัสดีตอนเช้าชมพู่ ก็เลยชอบชมพู่ที่สุด แต่ว่าไม่เคยเห็นหนังของชมพู่นะ แต่ว่า 5 ปีที่แล้ว ชมพู่ ชมพู่ ชมพู่” “แล้วยังตกใจ มีผลไม้ชื่อ ‘ชมพู่’ ด้วย อ้าวมีผลไม้ชื่อชมพู่ด้วย แสดงว่าชมพู่ดังที่สุด เอ้ยคิดว่าคนไทยเปลี่ยนชื่อผลไม้ให้เป็นชมพู่เลย เพราะว่าดังมาก คือตอนนั้นอายุแค่ 12-13 ปี ตอนนั้นก็คิดแบบเด็กๆ งงๆ stupid มากๆ

ดัฟฟี่หัวเราะดังลั่น ก่อนที่จะแอบเล็ดลอดความลับเล็กๆ ว่า ชอบ “บอย ปกรณ์” ด้วยนะ เพราะว่าวันก่อนมากดไลก์ไอจีของดัฟฟี่ด้วย

เราไม่พลาดที่จะถามาว่า มีผู้ชายในสเป็กไหม “ดัฟฟี่” ตอบอย่างเขินๆ ว่า ไม่มีสเป็กค่ะ ผู้ชายไทยก็น่ารักดี แต่อยากได้สูงๆนะ เพราะว่าตัวเองก็ 173 ซม.แล้ว ถ้ามีแฟนตัวเตี้ยก็ไม่โอเค.นะ เวลาคุยกันต้องก้มลงมองหน้า (ทำท่ายืนก้มคอพับให้ดูด้วย) ที่สำคัญต้องนิสัยดี ฉลาด

สุดท้ายตามคำเรียกร้องของแฟนๆ Marketing Oops ขอ 3 คำสำหรับประเทศไทย “ดัฟฟี่” จัดให้ 3  ประโยคเต็มๆ “รักประเทศไทย” , “รักที่สุด” และ “ช้า ชะลอ หยุด” สงสัยดัฟฟี่จะนับคำไม่ค่อยเก่ง แต่เรื่องน่ารักที่สุดก็ต้องเป็นเธอคนนี้เท่านั้น “ดัฟฟี่-มนุษย์ฝรั่ง”

MarketingOops interview The Gun-Chon Project and Duffie

httpv://www.youtube.com/watch?v=O8tKfR6C8CY


  •  
  •  
  •  
  •  
  •