เทคโนโลยี 5G จะช่วยเร่งการพัฒนาแอพพลิเคชัน IoT รูปแบบใหม่ๆ

  • 34
  •  
  •  
  •  
  •  

เทคโนโลยี 5G กำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับอินเทอร์เน็ตอ็อฟธิงส์ (Internet of Things: IoT) โดยเป็นเทคโนโลยีอันทรงพลังที่จะผลักดันให้เกิดเคสการใช้งาน (use case) ใหม่ๆ ที่ใช้ประโยชน์จาก edge computing ในการทำให้ IoT ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น

สภาพแวดล้อมในการประมวลผลที่มีพลวัตและทรงพลังมากขึ้น ที่เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นพร้อมๆ กับการที่กลุ่มธุรกิจด้านโทรคมนาคมเริ่มออกแบบเครือข่ายสำหรับรองรับ 5G ขึ้นมาใหม่ จะเร่งให้เกิดการนำแอพพลิเคชันและบริการ IoT มาใช้ทั่วทั้งอุตสาหกรรม

เทคโนโลยี 5G จะช่วยเร่งการพัฒนาแอพพลิเคชัน IoT รูปแบบใหม่ๆ

ประเทศไทยถือเป็นชาติแรกในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ที่เริ่มใช้บริการสื่อสาร 5G ในเชิงพาณิชย์ โดยจาก (ร่าง) แผนฯ ของคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติค าดว่าเครือข่าย 5G จะเข้าถึงร้อยละ 98 ของประชากร ทุกพื้นที่ของเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ EEC และประชากรทั้งหมดในแต่ละจังหวัดที่ได้รับการประกาศเขตให้เป็น Smart City ภายในปี 2570

ขณะเดียวกัน รัฐบาลได้เห็นชอบในหลักการของมาตรการส่งเสริมและเพิ่มประสิทธิภาพการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งครอบคลุมถึงมาตรการภาษีในการส่งเสริมการวางโครงข่ายไฟเบอร์ ส่งเสริมการลงทุนขยายโครงข่าย เช่น การลดภาษีเงินได้ (Corporate Tax) สำหรับการลงทุนในโครงข่ายและอุตสาหกรรมอื่น

ก่อนที่เราจะไปเจาะลึกเกี่ยวกับการใช้งาน IoT รูปแบบใหม่ๆ เรามาดูประโยชน์ต่างๆ ของการประมวลผลผ่าน Edge อันทรงพลังที่จะเป็นจริงได้ด้วยเทคโนโลยี 5G ด้วยแบนด์วิดธ์ที่สูงขึ้นและมีเวลาแฝงต่ำกว่าเครือข่าย 4G และ LTE ที่ใช้ในปัจจุบัน

แบนด์วิดธ์ที่เพิ่มขึ้นจะช่วยให้สามารถส่งข้อมูลได้มากขึ้นในช่วงเวลาที่กำหนด ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเพย์โหลดที่มีความต้องการใช้งานสูงอย่างเช่น วิดีโอ เป็นต้น มีการคาดการณ์ว่าผลจากการที่มีความจุของช่องสัญญาณเพิ่มขึ้น จะทำให้มีการใช้เซนเซอร์วิดีโอและการสตรีมข้อมูลวิดีโอเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้ระบบตรวจสอบและติดตามแบบที่ไม่ต้องมีผู้ควบคุม (โดรนและหุ่นยนต์) อย่างแพร่หลายมากขึ้น

เวลาแฝง (เวลาที่ใช้ในการส่งข้อมูลไปถึงปลายทาง) ของ 5G ที่ต่ำกว่ามาก จะทำให้เราสามารถตอบสนองต่อข้อมูลได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ในขณะที่เวลาแฝงโดยเฉลี่ยของการเชื่อมต่อแบบ 4G อยู่ที่ 50–100 มิลลิวินาที เวลาแฝงของการเชื่อมต่อแบบ 5G อาจจะอยู่ที่ 10 มิลลิวินาทีหรือน้อยกว่านั้น

ในทางกลับกัน แบนด์วิดธ์ที่สูงขึ้นและเวลาแฝงที่ต่ำลงของ 5G จะเร่งให้เกิดการนำ edge computing มาใช้ ซึ่งเป็นการประมวลผลในจุดที่อยู่ใกล้กับแหล่งกำเนิดข้อมูลและจุดที่กิจกรรมต่างๆ เกิดขึ้นมากที่สุด

แนวทางการใช้งานกับ IoT

การผสมผสานกันระหว่างเทคโนโลยี 5G และ edge computing สามารถนำสู่การใช้งานและนวัตกรรมใหม่ๆ ในหลากหลายอุตสาหกรรม ยกตัวอย่างเช่น ไอบีเอ็มและ Verizon กำลังร่วมมือกันพัฒนาโซลูชัน 5G และโซลูชัน edge ไม่ว่าจะเป็นการมอนิเตอร์จากระยะไกลและการตรวจสอบด้วยภาพ หุ่นยนต์ที่ควบคุมจากระยะไกล การวิเคราะห์วิดีโอแบบกึ่งเรียลไทม์ ระบบการทำงานอัตโนมัติประเภทต่างๆ ในโรงงาน รวมถึงการทำงานแบบอัตโนมัติในสภาพแวดล้อมที่อยู่ห่างไกลในสเกลที่ใหญ่ขึ้น เช่น เหมืองแร่ ยานยนต์อัจฉริยะ เป็นต้น เรามาดูตัวอย่างการใช้งานหลายๆ รูปแบบในสภาพแวดล้อม IoT กันค่ะ

การตรวจสอบจากระยะไกล

ช่างเทคนิคในหลายๆ อุตสาหกรรมต้องทำหน้าที่ตรวจสอบและบำรุงรักษาอุปกรณ์ที่อยู่ห่างไกลหรือเข้าถึงได้ยาก เช่น เสาไฟฟ้า หม้อแปลงไฟฟ้า และอุปกรณ์อื่นๆ ในโครงข่ายพลังงานที่กระจายอยู่ตามจุดต่างๆ เป็นระยะทางหลายพันไมล์ ซึ่งงานเหล่านี้มักเป็นการส่งช่างไปตรวจสอบอุปกรณ์ด้วยตัวเองเพื่อให้สามารถระบุปัญหาต่างๆ งานเหล่านี้มีค่าใช้จ่ายสูงและต้องใช้ทรัพยากรมาก เทคโนโลยี 5G จะเข้าช่วยให้สามารถใช้โดรนหรือกล้องระยะไกลในการตรวจสอบ ส่งภาพ วิดีโอ และข้อมูลเซ็นเซอร์อื่นๆ ไปยัง AI ในระบบคลาวด์เพื่อตรวจจับปัญหาโดยอัตโนมัติ

ตัวอย่างหนึ่งของการใช้งานในด้านนี้ก็คือ โซลูชันโครงสร้างพื้นฐานด้านวิศวกรรมโยธาที่ไอบีเอ็มกำลังพัฒนาเพื่อตรวจสอบสะพาน อุโมงค์ ทางหลวง และทางรถไฟที่ใช้งานมาเป็นระยะเวลายาวนาน โซลูชันนี้จะใช้ข้อมูล IoT กึ่งเรียลไทม์ที่สร้างจากเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งอยู่บนโครงสร้างต่างๆ รวมไปถึงกล้องวงจรปิดและโดรน โซลูชันดังกล่าวจะรวมข้อมูล IoT กับโมเดลการวิเคราะห์ที่เฉพาะเจาะจง เพื่อช่วยระบุและวัดผลกระทบของความเสียหาย เช่น รอยร้าว สนิม และการกัดกร่อน รวมไปถึงการสั่นสะเทือนของการกระจัด และความเค้น

โดรนสามารถตรวจสอบโครงสร้าง สายไฟ และท่อส่งก๊าซจากทางอากาศ โดยส่งข้อมูลภาพกลับมา การตรวจสอบจากระยะไกลสามารถดำเนินการได้โดยที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการส่งทีมงานออกไป ช่วยให้สามารถตรวจพบสัญญาณบ่งชี้ปัญหาได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งช่วยป้องกันความเสียหายด้านโครงสร้างที่อาจก่อให้เกิดภัยพิบัติ การรั่วไหลของท่อก๊าซ หรือสายไฟที่ตกลงมา

การตรวจสอบด้วยภาพ

ในกระบวนการผลิตนั้น เทคโนโลยี 5G ช่วยให้การตรวจสอบเครื่องจักรที่ใช้ในการดำเนินงานและสายการผลิตด้วยภาพเป็นจริงได้ เนื่องจากมีเวลาแฝงต่ำ ตัวอย่างเช่น การใช้ระบบตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ โดยกล้องจะจับภาพในขณะที่สินค้าถูกลำเลียงไปตามสายการผลิต ภาพจะถูกวิเคราะห์โดย AI เพื่อตรวจจับข้อบกพร่องหรือปัญหาด้านคุณภาพ โดยเทคโนโลยี 5G จะทำให้ฟังก์ชันที่ใช้กันทั่วไปในปัจจุบันมีความล้ำสมัยยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น ปัจจุบันไอบีเอ็มมีระบบการตรวจสอบด้วยภาพที่ทำงานด้วย AI เพื่อใช้ในการตรวจจับข้อบกพร่องของผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ

ในระดับที่กว้างขึ้นไปนั้น เทคโนโลยี 5G ช่วยให้โรงงานต่างๆ สามารถเพิ่มเซ็นเซอร์และอุปกรณ์ไร้สายได้อย่างง่ายดาย ซึ่งสามารถเชื่อมต่อโดยตรงกับเครือข่าย 5G โดยไม่ต้องใช้สายหรืออุปกรณ์ไอทีเฉพาะในการบำรุงรักษาและจัดการ การเชื่อมต่ออุปกรณ์การผลิตเข้ากับบริการต่างๆ บนระบบคลาวด์โดยตรง เช่น ระบบบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ จะช่วยให้ระยะเวลาทำงานเป็นไปอย่างต่อเนื่องสูงสุดและลดต้นทุนในการบำรุงรักษา

ความช่วยเหลือสำหรับช่างเทคนิคผ่าน AI และโลกเสมือน (AR): ช่างเทคนิคมักจะต้องขอคำแนะนำและแนวทางในการแก้ปัญหาจากแหล่งข้อมูลหรือผู้ที่มีประสบการณ์มากกว่า เทคโนโลยี 5G และการประมวลผลผ่าน edge จะนำสู่แบนด์วิดธ์และการจัดการเวิร์คโหลดแบบไดนามิคเพื่อให้ช่างเทคนิคสามารถทำงานได้ในสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย ด้วยการใช้ระบบเสมือนจริง (Virtual Reality) และโลกเสมือน (Augmented Reality) ได้อย่างน่าเชื่อถือ ทำให้ช่างเทคนิคได้รับคำแนะนำและความช่วยเหลือจากระยะไกลได้ทุกที่ ทุกเวลาที่ต้องการ ตัวอย่างเช่น IBM Assist ที่ช่วยให้ช่างเทคนิคภาคสนามสามารถปรึกษา AI และทำงานร่วมกันบน AR แบบสองทิศทาง เพื่อช่วยให้การทำงานของช่างเทคนิคในภาคสนามง่ายขึ้น รู้ว่า “next best action” คืออะไร อีกทั้งยังได้รับคำแนะนำโดยตรงผ่านภาพจากผู้เชี่ยวชาญที่อยู่อีกที่หนึ่ง

การจัดการอาคารและสถานที่

เทคโนโลยี 5G จะช่วยให้สามารถเชื่อมต่อเซ็นเซอร์ในอาคารได้ง่ายขึ้นเพื่อผลักดันโซลูชันใหม่ๆ สำหรับการประหยัดพลังงาน การจัดการการเข้าพัก และประสบการณ์ของผู้ที่มาติดต่อ ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้นสำหรับสถานที่ที่มีขนาดใหญ่ ที่มีทรัพย์สินจำนวนมากที่ต้องการการตรวจสอบและการบำรุงรักษา เช่น สนามกีฬา สนามบิน ห้างสรรพสินค้า และโรงเรียน

ยานยนต์อัจฉริยะ

รถยนต์สมัยใหม่ได้มีการรวบรวมข้อมูลจำนวนมากไว้ในรถ ซึ่งคาดว่าอาจมากกว่า 1 เทราไบต์ต่อวัน เวลาแฝงที่ต่ำลงของเทคโนโลยี 5G ประกอบกับแบนด์วิดธ์ที่มากขึ้น และการเชื่อมต่อที่เชื่อถือได้มากยิ่งขึ้น จะนำสู่การใช้งานกับรถยนต์อัจฉริยะที่หลากหลายยิ่งขึ้น

เวลาแฝงต่ำของเทคโนโลยี 5G ช่วยเปิดโอกาสในการสื่อสารแบบสองทิศทางมากขึ้น ซึ่งอาจนำสู่การแชร์ข้อมูลกับรถคันอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียงเพื่อขยายขอบเขตความสามารถในการ “มองเห็น” รถรอบข้าง สิ่งนี้จะมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับรถยนต์ไร้คนขับ ซึ่งข้อมูลที่รวบรวมจากรถยนต์จำนวนมากในพื้นที่หนึ่งจะช่วยขยายการเข้าถึงเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งอยู่ในรถแต่ละคัน ทำให้รถสามารถมองเห็นได้ไกลขึ้น และมองทะลุผ่านสิ่งกีดขวางและบริเวณทางโค้งเพื่อความปลอดภัยในการขับขี่มากยิ่งขึ้น

การขนส่งและโลจิสติกส์

สามารถติดตามและตรวจสอบการขนส่งสินค้าและตู้คอนเทนเนอร์จำนวนมากได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถควบคุมและคาดการณ์ระบบโลจิสติกส์ในห่วงโซ่อุปทานได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น

เกษตรกรรม

โดรนจะบินสำรวจพืชผลในไร่โดยไม่ต้องมีผู้ควบคุม และจะใช้การวิเคราะห์ด้วยภาพที่ทำงานใกล้แหล่งข้อมูลมากที่สุดเพื่อประเมินปัจจัยต่างๆ รวมถึงอัตราการเติบโตของพืชและการสูญเสียผลผลิตเนื่องจากศัตรูพืช ข้อมูลนี้จะช่วยให้เกษตรกรปรับระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวผลผลิตให้เหมาะสมและกำหนดเป้าหมายในการพ่นยากำจัดศัตรูพืชหรือดำเนินการอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ที่ผ่านมา คณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติ ได้เห็นชอบการดำเนินการโครงการนำร่องในการต่อยอดการใช้ประโยชน์ 5G ของประเทศไทยในระยะสั้น ประกอบด้วยโครงการนำร่องเกษตรดิจิทัลด้วยเทคโนโลยี 5G ณ อ.ดอยตุง จ.เชียงราย และโครงการร้อยใจรักษ์ อ. แม่อาย จ.เชียงใหม่ รวมถึงโครงการนำร่องโรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospital) ที่โรงพยาบาลศิริราชเป็นแห่งแรกของประเทศไทย

เครือข่าย 5G ได้รับการออกแบบมาเพื่อให้รองรับการใช้งาน IoT ประเภทต่างๆ ซึ่งต่างกับเครือข่าย 3G และ 4G สิ่งนี้จะนำสู่โมเดลการกำหนดราคารูปแบบใหม่ และการนำระบบการเชื่อมต่อแบบไร้สายมาใช้กับแอพพลิเคชัน IoT ที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น

5G จะนำสู่การเพิ่มขึ้นของการสื่อสารผ่านเครือข่ายแบนด์วิดธ์สูงที่เชื่อถือได้ และการกระจายพลังประมวลผลที่มีอยู่อย่างรวดเร็วไปทั่วทั้งเครือข่าย ทำให้ต้องใช้วิธีการที่ยืดหยุ่นกว่าเดิมมากในการสร้างและติดตั้งแอพพลิเคชันและโมเดล AI ต่างๆ เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในการประมวลอย่างคุ้มค่ามากที่สุด ปัจจุบันโมเดล AI เหล่านี้สามารถทำงานบนอุปกรณ์ที่ประมวลผลผ่าน edge ซึ่งเชื่อมต่อกับเครือข่ายของ edge ทำให้การประมวลผลข้อมูลมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ทั้งหมดนี้เป็นแค่จุดเริ่มต้นของความเป็นไปได้ในการพลิกโฉมสู่สิ่งใหม่ๆ ด้วยเทคโนโลยี 5G และ edge computing

 

โดย ปฐมา จันทรักษ์ รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด

 

บทความนี้เป็นบทความ Exclusive นำเสนอที่แรกบน Marketing Oops!


  • 34
  •  
  •  
  •  
  •  
CLOSE
CLOSE