CAT หนุนเกษตรกรไทยพันธุ์ใหม่ เปลี่ยนสู่ Smart Farmer

  • 268
  •  
  •  
  •  
  •  

จากความคาดหวังที่อยากเห็นพี่น้องเกษตรกรสามารถพัฒนาศักยภาพการทำอาชีพด้านเกษตรกรรมยุคใหม่ เพื่อนำไปสู่การมีรายได้สูงขึ้นและยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทย

ทั้งความเชื่อว่าการมี “นวัตกรรม” จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยแก้ปัญหาของเกษตรกรไทยให้มีความเป็นอยู่ทีดีขึ้น และจะส่งเสริมให้ประเทศไทยยังคงเป็นฐานการผลิตสำคัญของผลิตผลเกษตรของโลก

CAT จึงเกิดแนวคิดการจัดตั้งโครงการ CAT Digital Come Together ขึ้น โดยมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมให้ชาวนาและเกษตรกรเรียนรู้การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล และสามารถนำมาใช้ในการประกอบอาชีพได้ โดยการสนับสนุนให้เป็นศูนย์การเรียนรู้และถ่ายทอดความรู้การใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์ เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์เป็นศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบให้กับเกษตรกรชุมชน และพัฒนาเพื่อก้าวสู่การเป็น Smart Farmer อย่างเต็มตัว

เพราะอย่างที่ทราบว่าประเทศไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญของโลก แต่ที่ผ่านมาการทำเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมได้ส่งให้ผลผลิตไม่ดีเท่าที่ควร จึงทำให้เกษตรกรของไทยยังคงมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก ขณะเดียวกันการมองเห็นว่าในยุคที่โลกกำลังขับเคลื่อนสู่ความเป็น Smart ในทุกเรื่อง เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตกำลังมีบทบาทในการทำเกษตรยุคใหม่มากขึ้น

หลังก่อตั้งโครงการในปี 2559 CAT ได้ริเริ่มโครงการนำร่อง Smart Farmer ในพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาโครงการกสิกรรมไร้สารพิษอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมาเป็นแห่งแรก และนำเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตและการสื่อสารเข้ามาช่วยเกษตรกรในการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนและประหยัดเวลา จนสามารถยกระดับการทำอาชีพด้านเกษตรกรรมให้ก้าวหน้าได้ผลผลิตที่ดีขึ้น และยังขยายผลไปสู่ทุกพื้นที่ของสังคมไทยในระยะยาว

CAT  ร่วมทำงานกับเกษตรกรไทย นำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาอาชีพเกษตร โดยเฉพาะหนึ่งในเทคโนโลยีที่มีบทบาทเป็นอย่างมากคือ Internet of Things (IoT) ได้เข้ามาช่วยสร้างความสะดวกให้กับเกษตรกรหรือชาวบ้านในพื้นที่ ทำให้เกษตรกรประหยัดเวลา และประหยัดแรงได้มากขึ้น

สำหรับความสำเร็จในปี 2561 ของโครงการ CAT Digital Come Together สามารถช่วยส่งเสริมต่อยอดให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี และมีหลายโครงการที่น่าสนใจซึ่งกำลังจะกลายเป็นต้นแบบ Smart Farmer ที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับเกษตรกรไทยทั่วประเทศ

“แปลงผักรดน้ำด้วย IoT”

หนึ่งในเทคโนโลยีที่กลายเป็น “จิ๊กซอว์” ตัวสำคัญของโอกาสการเรียนรู้ที่ไม่รู้จบ ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อคุณครูสิริวรรณ บุญลือ ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนเทศบาล๓  บ้านต่ำบุญศิริ จังหวัดนครนายก พบปัญหาการใช้น้ำในการรดพืชผัก ซึ่งนอกจากค่าน้ำจะแพงแล้ว นักเรียนยังเสี่ยงอันตรายจากการเดินเท้าเข้าไปรดน้ำเองอีกด้วย

ระหว่างที่กำลังคิดหาทางแก้ปัญหานี้สักพักหนึ่ง คุณครูสิริวรรณก็ได้พบกับ นายปัญญพงศ์ พุทธรัตน์ หรือ “พี่แจ้”  ซึ่งเป็นโปรแกรมเมอร์ของ CAT  ที่กำลังสนใจทำเรื่องระบบน้ำอยู่พอดี ทั้งสองก็เลยได้คุยกันถึงปัญหาที่พบและร่วมกันมองหาทางออก หลังจากที่คุณครูชวนพี่แจ้มาเยี่ยมชมโรงเรียน จึงกลายเป็นโอกาสดีที่พี่แจ้จะได้เห็นพื้นที่จริง และมองหาวิธีการพัฒนาแปลงผักรดน้ำด้วยเทคโนโลยี IoT ต่อไป

จากความเป็นผู้ให้ของคุณครูสิริวรรณร่วมกับการสนับสนุนจากพี่แจ้ ส่งต่อให้ทั้งคู่นำความรู้เรื่องเทคโนโลยีการรดน้ำนี้ไปสอนให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้ จดจำ ทำตาม และสอนให้รู้จักทุกกระบวนการ จวบจนทำคำสั่งการรดน้ำติดตัวเป็นความรู้เพื่อนำไปช่วยพัฒนาการเกษตรของครอบครัว อีกทั้งยังสามารถต่อยอดสู่สิ่งที่นักเรียนสนใจในอนาคตได้

“นวัตกรรมการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ด้วย IoT

หลังจากคุณแพง จุฑาวรรณ อุ้มชู ผู้ก่อตั้งฟาร์มสุข ได้มีโอกาสเข้าร่วมในโครงการ Young Smart Farmer ของจังหวัดสงขลา ซึ่งทางโครงการได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทำการพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกัน โดยมี CAT เข้ามาร่วมสนับสนุนโครงการด้วยการนำกล่อง IoT หรือ Internet of Things มาให้เกษตรกรในพื้นที่

คุณแพง จุฑาวรรณ กล่าวว่า “เรามีโอกาสได้ไปเข้าเรียนกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยส่วนตัวเรามีความสนใจอยู่แล้ว พอเราไปเรียนก็ทำให้เราเขียนโปรแกรมได้สามารถต่อยอดธุรกิจ เปลี่ยนการให้น้ำแทนการพ่นหมอก”

“เกษตรอินทรีย์ IoT การรับไม้ต่อของทายาทศูนย์กสิกรรมธรรมชาติโป่งแรด

อีกหนึ่งตัวอย่างเกษตรกรรุ่นใหม่ต้นแบบ คุณนุ่ม วรเพชร วงษ์เจริญ ได้ใช้ความรู้และประสบการณ์การทำงานด้านเทคโนโลยีเป็นทุนเดิม ทดลองนำความรู้ในการทำแปลงผักมาพัฒนาร่วมกัน ผนวกกับโครงการ CAT Digital Come Together ได้เข้ามาช่วยสนับสนุนด้านเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ทำให้คุณนุ่มสามารถนำองค์ความรู้และอุปกรณ์ต่างๆ ไปใช้ต่อยอดในการทำเกษตร พร้อมทั้งอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรคนอื่นๆ ได้ต่อไปเป็นวงจรของเกษตรกรที่ทำให้การทำเกษตรกรรมยั่งยืนต่อไปในอนาคต

“ครอบครัวสิมศรีกับอนาคตว่าที่ Smart Farmer เมืองไทย”

อดีตเกษตรกรผู้ที่ทิ้งเมืองกรุงมุ่งสู่วิถีชาวเกษตร ลุงสนั่น สิมศรี และครอบครัว เจ้าของสวนผักปลอดสารพิษ ที่ได้กลายเป็นศูนย์เรียนรู้การทำเกษตรแบบสมาร์ตฟาร์มเมอร์  (Smart Farmer) แก่เกษตรกรที่สนใจได้เข้ามาศึกษาและเรียนรู้

ปัจจุบันลุงสนั่นกำลังเริ่มต้นอาชีพเกษตรยุค IoT เพื่อความอยู่รอดของเกษตรกรไทย และที่สำคัญมองว่าอาชีพเกษตรอัจฉริยะในอนาคตจะได้รับความสนใจมากขึ้น

“ทาง CAT ส่งโปรแกรมเมอร์มาสอนการใช้เทคโนโลยี ผมรู้สึกว่ามันไม่น่ากลัว แต่น่าตื่นเต้น ถึงแม้จะไม่เคยใช้ แต่เราก็ไม่คิดว่าจะทำไม่ได้ ต้องเรียนฝึกฝนเอา เพื่อที่จะสบายขึ้นในอนาคต เพราะการนำเทคโนโลยี Internet of Things. (IoT) เข้ามาช่วย มันดีที่เร็วขึ้นกว่าเดิม ถ้าใช้คนอาจจะช้าลง แต่ระบบอัตโนมัติสามารถช่วยประหยัดเวลาของเราได้มาก การเป็นเกษตรกรถึงรายได้อาจจะได้น้อยแต่ว่าเราก็มีความสุขที่เราได้ทำ ได้ดูแลเอง” ลุงสนั่น กล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม

“โรงเรียนต้นแบบ Smart Farm  ส่งต่อสู่ชุมชน”

ในปีที่ผ่านมาทางโรงเรียนบ้านใหม่รัตนโกสินทร์ จังหวัดลำปาง ได้เข้าร่วมโครงการผลิตสื่อการเรียนการสอนผ่านห้องมัลติมีเดียกับ CAT และในปีนี้ทางโรงเรียนได้ต่อยอดมาเข้าร่วมโครงการ CAT Digital ComeTogether ซึ่งได้รับมอบอุปกรณ์ IoT เพื่อสร้าง Smart Farm ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้เรื่องการเกษตรและเทคโนโลยีไปพร้อมๆกัน โดยมีว่าที่ ร.ต. วัฒนา บุญละคร ผู้อำนวยการโรงเรียน เป็นผู้ริเริ่มผลักดันโครงการ ร่วมด้วยคุณครูธานินทร์ พรมวิชัย  ครูชำนาญการ เป็นผู้ลงมือปฏิบัติและถ่ายทอดความรู้ให้กับเด็กๆ จากแปลงเมล่อนเล็กๆ กำลังขยายเป็นความฝันใหญ่ของทั้งผู้ใหญ่และเด็กที่อยากเห็นภาพของครอบครัวและชุมชนพวกเขาได้ทำเกษตรอัจฉริยะเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น

แน่นอนว่าเทคโนโลยีที่ดีคือการทำให้ชีวิตของทุกคนดีขึ้น สามารถสร้างทั้งโอกาสและความได้เปรียบในชีวิตและการประกอบอาชีพที่ยั่งยืน

ผลจากการร่วมมือกับการพัฒนาเกษตรกร Smart ทำให้โครงการ CAT Digital Come Together ยังต่อยอดมาเป็นโซลูชัน Smart Farmer อีกมากมาย และความตั้งใจที่จะนำเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต และการสื่อสารเข้ามาแก้ไขข้อจำกัดหรือจุดอ่อนของเกษตรกรไทยนี้เอง สะท้อนถึงการมองเห็นความสำคัญของ CAT ในการนำประโยชน์จากเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตนำไปประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมบวกกับความคิดสร้างสรรค์ ภายใต้กรอบแนวคิด CAT Digital Come Together ยังทำให้ CAT มุ่งพัฒนาองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนไทยในแต่ละชุมชน และขยายสู่สังคม เพื่อนำพาสังคมให้สามารถก้าวทันยุคไทยแลนด์ 4.0  โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง


  • 268
  •  
  •  
  •  
  •