ส่องโอกาสการเติบโตของเวียดนาม และสิ่งที่ไทยอย่าประมาทในการรับมืออนาคต

  • 16
  •  
  •  
  •  
  •  

ช่วงนี้ใครที่ติดตามข่าวเศรษฐกิจหรือการตลาด การลงทุน จะเห็นว่าหลายธุรกิจเริ่มมองหาช่องทางการออกไปขยายตลาดในต่างประเทศ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตลาดไทยเกิดการอิ่มตัวในหลายภาคอุตสาหกรรม หรือคนไทยสามารถเข้าถึงตลาดต่างๆ ได้มากกว่า 90% อีกทั้งประเทศไทยก้าวเข้าสู่ ยุคสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ซึ่งหมายถึงปัญหาใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทย อีกทั้งค่าแรงของไทยยังปรับตัวสูงขึ้น

ถ้ามองในแง่ภูมิศาสตร์โดยเฉพาะกลุ่ม CLMVT (Cambodia, Laos, Myanmar, Vietnam, Thailand) จะเห็นว่าประเทศไทยมีการพัฒนาสูงที่สุดในกลุ่ม ในขณะที่กลุ่มประเทศต่างๆ เหล่านี้ยังสามารถพัฒนาต่อไปได้อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม กัมพูชาและลาว (ส่วนพม่าละไว้ในฐานที่เข้าใจ) แต่ดูเหมือนเวียดนามจะมีศักยภาพการเติบโตได้สูงกว่าประเทศอื่นๆ

 

ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของเวียดนาม

หากศึกษาประวัติศาสตร์ของเวียดนามที่ผ่านมาจะพบว่า ความใกล้ชิดของเวียดนามและจีนมีความสัมพันธ์กันอย่างเหนียวแน่น ทั้งวิถีชีวิตความเป็นอยู่ แนวคิดและประวัติศาสตรที่มีร่วมกัน ขณะที่ช่วงระยะเวลาหนึ่งก็ได้รับอิทธิพลของฝรั่งเศสในฐานะประเทศอาณานิคมและมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตชาวเวียดนาม ทำให้ในปัจจุบันเวียดนามมีวัฒนธรรมผสมผสานระหว่างตะวันตกและตะวันออกที่เข้ากันอย่างลงตัว

หลังสิ้นสุดสงครามนับตั้งแต่นั้นมาประเทศเวียดนามอยู่ภายใต้การปกครองแบบสังคมนิยม จนกระทั่งเกิด การรวมกลุ่มประเทศอาเซียน (AEC) ส่งผลให้การเคลื่อนย้ายแรงงานสะดวกมากขึ้น นั่นทำให้เวียดนามประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน เพราะแรงงานส่วนใหญ่เวียดนามเดินทางออกไปทำงานในต่างประเทศ เวียดนามเองก็เห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงเริ่มมีนโยบาย “เปิดประเทศ” เพื่อให้แรงงานฝีมือเข้ามาในประเทศเวียดนามมากขึ้น

การเปิดประเทศของเวียดนามยังส่งผลให้ธุรกิจต่างชาติเข้ามาลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศในกลุ่ม AEC ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์และไทย ส่งผลให้เวียดนามเริ่มดำเนินการปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อสอดรับกับการเปิดประเทศมากขึ้น ดึงดูดนักลงทุนหลากหลายประเทศให้เข้าไปลงทุนในเวียดนาม ประเทศที่ยังทรัพยากรยังอุดมสมบูรณ์ หลายธุรกิจที่เข้าไปจึงกลายเป็นการเปิดตลาดใหม่

เมื่อกลับมามองในภูมิศาสตร์จะเห็นว่า ด้านตะวันออกของเวียดนามติดกับมหาสมุทรแปซิฟิค ขณะที่ด้านเหนือติดกับจีน นั่นทำให้จีนสามารถผลิตสินค้าไปขายในจีนและส่งออกไปยังญี่ปุ่น เกาหลีใต้และฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ ได้ และด้วยข้อตกลงของ AEC ทำให้การส่งออกไปประเทศในกลุ่มทำได้ง่ายและสะดวก จึงไม่แปลกที่ในช่วงระยะเวลาไม่นานเวียดนามสามารถก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเติบโตสูงมาก

 

ปัจจัยที่ช่วยให้เวียดนามเติบโต

จีนคือโมเดลสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีอย่างชัดเจน เวียดนามก็เป็นอีกหนึ่งโทมเดลที่สำคัญในการใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาประเทศ เห็นได้จาก Startup ของเวียดนามเกิดใหม่จำนวนมาก และมีอีกจำนวนมากที่สามารถก้าวขึ้นสู่ระดับ Unicorn (บริษัทที่มีเงินลงทุนระดับหนึ่งพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ขณะที่เทคโนโลยี 5G ของเวียดนามยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญหลายโรงงานการผลิตเตรียมนำระบบ Automation เข้ามาเสริมเต็มประสิทธิภาพการผลิต

ส่วนหนึ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญการการเติบโตอย่างก้าวกระโดดคือนโยบายรัฐที่ชัดเจน อย่างนโยบายเพื่อสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีผ่านส่วนลดด้านภาษีกับนักลงทุน โดย 3 ปีแรกที่มีการลงทุนจะไม่มีอัตราค่าภาษีจากนั้นจะเริ่มเก็บภาษีในอัตราส่วนลดอีกราว 7 ปี หลังจากนั้นจัดเก็บภาษี 20% ส่วนโรงงานที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงต้องมีการขออนุญาตและเมื่อผ่านการตรวจสอบภายใต้หลักเกณฑ์ของรัฐบาลเวียดนามแล้ว หลังได้รับอนุญาตจะได้รับการลดภาษีพิเศษ รวมถึงการงดเก็บค่าเช่าที่ดินด้วย

นอกจากเรื่องของเทคโนโลยีแล้ว สภาพสังคมของเวียดนามยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เศรษบกิจเวียดนามเติบโต โดยเฉพาะการที่มีประชากรในช่วงวัยหนุ่มสาวจำนวนมาก ส่งผลให้ตลาดแรงงานของเวียดนามมีศักยภาพสูง และตลาดของเวียดนามก็พร้อมเติบโตจากความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มสูงมากขึ้น ที่สำคัญยังมีแรงงานเวียดนามที่ไปทำงานในต่างประเทศจนกลายเป็นแรงงานมีฝีมือ กลับเข้ามาพัฒนาฝีมือแรงงานของเวียดนามเองด้วย

และอีกเรื่องที่ต้องจับตามองคือปัญหาการกระทบกระทั่งกันระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งจะเป็นปัจจัยเสริมอุณหภูมิ “สงครามการค้า (Trade War)” ที่เพิ่มดีกรีความรุนแรง และเวียดนามก็ถูกจับตามมองในแง่ทางออกของการลงทุนหากความรุนแรงเพิ่มดีกรีถึงขีดสุด ฐานการผลิตต่างๆ จึงเริ่มขยับจากจีนเข้ามาลงทุนในเวียดนามมากขึ้น และอย่างที่กล่าวเวียดนามสามารถส่งสินค้าไปทางฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ ได้สะดวก จึงทำให้เวียดนามมีความน่าสนใจในการลงทุน

 

กับดักปัญหาของไทยที่ฉุดรั้งไว้

เมื่อมองย้อนกลับมาที่ประเทศไทยก็เกิดคำถามที่ว่า ประเทศไทยอยู่ในช่วงขาขึ้น ทรงตัวหรือขาลง? ซึ่งแน่นอนว่าประเทศไทยอาจจะผ่านช่วงขาขึ้นไปแล้วในช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมา

“ประเทศไทยตอนนี้เปรียบเสมือนคนที่มีอายุปาไป 50 กว่าๆ ขณะที่เวียดนามอายุแค่ 21-25 ปี จึงมีความกระฉับกระเฉง มีความเซ็กซี่ทางธุรกิจหรือมีแนวคิดที่แตกต่างกัน” ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินการลงทุนของไทยรายหนึ่งให้ความเห็นอย่างชัดเจน

ประเทศไทยเริ่ม Kick Start การพัฒนาในช่วงที่สามารถขุดค้นหาแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจำนวนมหาศาล เรียกช่วงเวลานั้นว่าเป็นยุค “โชติช่วงชัชวาลย์” (ซึ่งในอดีตบริษัทพลังงานรายใหญ่ของไทยนิยมใช้คำนี้) ในช่วงเวลานั้นประเทศไทยกลายเป็นประเทศเนื้อหอมของนักลงทุน เนื่องจากค่าจ้างแรงงานยังต่ำ ค่าพลังงานที่เป็นต้นทุนมีราคาถูก ประกอบกับหลายตลาดในไทยยังไม่ได้รับการพัฒนาไปมาก มีการเปิดอุตสาหกรรมใหม่ๆ

ขณะที่เทคโนโลยีต่างๆ หลั่งไหลเข้ามาโดยเฉพาะเทคโนโลยีจากญี่ปุ่น ที่เรียกได้ว่าเข้ามาสร้างมาตรฐานให้กับประเทศไทยในหลายๆ อุตสาหกรรม เรียกได้ว่าช่วงเวลานั้นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยเติบโตในระดับ 8%-9% บางครั้งแต่หลัก 10% ถึงขนาดที่ประกาศให้ประเทศไทยกลายเป็น ประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NIC – New Industry Country) ที่มีการเติบโตเร็ว จนประเทศไทยเกิดวาทะกรรม “เสือตัวที่ 5 ของเอเชีย” รองจาก ฮ่องกง, สิงคโปร์, ไต้หวันและเกาหลีใต้

แม้ปัญหาการเมืองบวกปัญหาเศรษฐกิจจะฉุดรั้งจนดับฝันการเป็นเสือ แต่ฝันการเป็นเสือไม่ได้ดับไปด้วยจนถึงปัจจุบัน

“ประเทศไทยยังคงติดกับดักแนวคิดการพัฒนาในรูปแบบเดิมที่เคยทำให้เติบโตในช่วงเวลานั้น โดยลืมดูไปว่าโลกปัจจุบันพัฒนาด้วยเทคโนโลยีไม่ใช่เรื่องของพลังงาน” ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินการลงทุนของไทยรายหนึ่งกล่าวไว้

นั่นเพราะนักลงทุนทั่วโลกกำลังมองหา Solution เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าและตอบโจทย์ต้นทุนการผลิตด้วยเทคโนโลยี

 

สิ่งที่ประเทศไทยต้องระวัง…หากไม่มองโลก

สิ่งที่ต้องยอมรับคือ เวียดนามจับเทรนด์ของโลกได้ถูกไม่ว่าจะเรื่องของ Startup หรือการพัฒนาเทคโนโลยี อีกสิ่งที่เวียดนามมองเห็นคือการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นั่นจึงทำให้นักลงทุนทั้งในเวียดนามและต่างชาติหันมาพัฒนาเพื่อสิ่งแวดล้อม อย่างเช่น นโยบายการใช้พลังงานทางเลือกหรือการวางแผนพัฒนาสู่การใช้รถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาทดแทน ซึ่งรัฐบาลเวียดนามพร้อมสนับสนุนอย่างมาก

อย่าง Pham Nhat Vuong ผู้นำอาณาจักร VinGroup เจ้าของแบรนด์ VinFast ค่ายรถยนต์สัญชาติเวียดนามแท้ๆ เตรียมขยายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้ประเทศเวียดนามเปลี่ยนผ่านมาเป็นการใช้รถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด พร้อมเตรียมส่งออกไปที่ยุโรป ขณะที่โรงงานผลิตหลายแห่งเริ่มหันมาใช้โซลาร์เซลล์เพิ่มมากขึ้นเพื่อลดการใมช้พลังงานหลัก และมีการใช้เทคโนโลยี Automation ทดแทนแรงงานคน และนำคนเหล่านั้นไปอยู่ในส่วนงานที่มีความซับซ้อนและใช้ฝีมือมากขึ้น

“ตอนนี้ทั่วโลกให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ยุโรปเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเนื่องจากมีการกำหนดนโยบายที่ชัดเจนด้านสิ่งแวดล้อม และพร้อมกีดกันการค้ากับประเทศที่ไม่มีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ขณะที่ในประเทศไทยก่อนหน้านี้เคยตื่นตัวเรื่องของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ถึงขนาดมีการจัดทำ Carbon Footprint เพื่อขายเป็น Carbon Credit แต่ดูเหมือนเรื่องเหล่านี้ในปัจจุบันจะเงียบหายไป

ซึ่งหากยังเพิกเฉยหรือไม่กระตือรือร้นเรื่องสิ่งแวดล้อม ก็มีโอกาสที่จะถูกกีดกันการค้า และสิ่งที่ยุโรปทำจะกลายเป็นมาตรฐานทั่วโลก หมายความว่าประเทศไหนที่ไม่มีนโยบายด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ชัดเจนจะถูกกีดกันการค้าจากทั่วโลก เมื่อถึงเวลานั้นอุปกรณ์หรือเทคโนโลยีต่างๆ ที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจะมีราคาสูงขึ้นกว่าในปัจจุบันหลายเท่า และจะกลายเป็นต้นทุนที่ทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นกว่าสินค้าที่มาจากประเทศที่มีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมก่อนหน้านี้อย่างชัดเจน” ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินการลงทุนของไทยรายหนึ่งอธิบายไว้

บทสรุปของเรื่องนี้คือการชี้ให้เห็นว่า นโยบายรัฐที่ชัดเจน ภาคเอกชนที่ดำเนินการอย่างจริงจัง และภาคประชาชนที่มองเห็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นโดยภาพรวม จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถผ่านพ้นปัญหาและพัฒนาสู่ประเทศที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยีให้กลายเป็นภาคธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้ อย่างกลุ่ม Startup หรือการพัฒนา Solution ที่ภาคธุรกิจต้องการ ไม่น้อยหน้าไปกว่าภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว


  • 16
  •  
  •  
  •  
  •  
Gigolo
เมื่อเทคโนโลยีอยู่ใกล้กับชีวิตทุกคน มารู้เท่าทันเทคโนโลยีเพื่อใช้มัน แต่อย่าให้เทคโนโลยีมันใช้เรา