ถอดรหัสสร้างแบรนด์สไตล์ CK เพราะแบรนด์คือสิ่งที่คนจะต้องพูดถึง ตอนที่คุณไม่อยู่ในห้อง

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

ในวันนี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก CK ที่ถูกยอมรับในฐานะ Content Creator คนสำคัญ และในอีกบทบาทกับการเป็น CEO ของ Fastwork แพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับฟรีแลนซ์ บวกกับสไตล์การสื่อสารและมุมมองที่เรียกว่าโดนใจใครหลายคน ทำให้แนวคิดของ CK ในการทำการตลาดโดยเฉพาะเรื่องของการสร้างแบรนด์ได้รับความสนใจอย่างมาก

โดยในงาน AssetWise presents Marketing Oops! Summit 2025 ที่ผ่านมาบนเวที SME Power Up Stage ทาง CK ได้ขึ้นมาให้ความเห็นถึงแนวคิดการสร้างแบรนด์เอาไว้ว่า หลายคนคิดว่าแบรนด์คือการทำตลาดสวยๆ ทำโฆษณาให้ปังๆ แต่จริงๆ แล้ว แบรนด์คือสิ่งที่ลูกค้าจะต้องพูดถึงเกี่ยวกับเราตอนที่เราไม่อยู่ในห้อง นั่นแหละคือของจริง!

โดยแนวคิดและกลยุทธ์ที่ทำให้แบรนด์แข็งแกร่งจนคนต้องพูดถึงในสไตล์ของ CK มี 6 เรื่องสำคัญ

 

สินค้า (Product) คือหัวใจของแบรนด์ ไม่ใช่การตลาด!

CK เน้นให้เห็นภาพของแบรนด์ชัดเจนว่า แบรนด์คือสินค้า ไม่เกี่ยวอะไรกับการตลาดเลย เพราะแม้ว่าคุณจะทำการตลาดให้ดีเลิศมากแค่ไหน มีคนชอบแนวคิดการตลาดของคุณมากแค่ไหน แต่ถ้าสินค้าของคุณไม่ดีจริง คนก็ไม่พูดถึง ดังนั้นคุณต้องมั่นใจก่อนว่าสินค้าของคุณดีจริงๆ เมื่อสินค้าดีแล้วก็ต้องมีการสร้างคอนเท้นต์ให้กับสินค้า เพราะคอนเทนต์ก็คือตัวสินค้า ไม่ว่าจะเป็นบทความ วิดีโอ หรือรูปภาพ คนชอบเพราะคอนเทนต์ที่คุณพูด ไม่ใช่แค่หน้าตาสินค้าสวยหรูเท่านั้น

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าแบรนด์เราดีแล้ว เพราะในความเป็นจริงคุณไม่สามารถสร้างแบรนด์ให้กับตัวเองได้ การจะเป็นแบรนด์ได้ต้องเป็นสิ่งที่คนดูมอบให้คุณ เหมือนกับยอดขายที่ลูกค้ายอมควักเงินมามอบให้คุณ แล้วมักจะเกิดคำถามตามมาว่า จะทำอย่างไรให้ลูกค้ายอมรับในแบรนด์ ก็ต้องกลับไปดูว่าก่อนจะสร้างคอนเทนต์หรือธุรกิจ ลองถามตัวเองก่อนว่า เรากำลังแก้ไขปัญหาอะไรให้ลูกค้าอยู่หรือเปล่า

โดย CK ยกตัวอย่างว่า เขาพูดในสิ่งที่สังคมไม่กล้าพูด เช่น เรื่องอสังหาฯ กองทุน หรือการศึกษา การทำธุรกิจเพราะอยากรวยแต่ตอนนี้ไม่รวย แต่ถ้าทำเพื่อแก้ปัญหาบางสิ่งบางอย่างให้กับลูกค้า หรือปัญหาที่ยังแก้ไม่ได้ในสังคม นั่นคือโอกาสของการสร้างแบรนด์ และเสียงบ่นคือโอกาส โดยเฉพาะเสียงบ่นของคนรอบข้างเรา นั่นเพราะเขายังหาวิธีแก้ปัญหาไม่ได้ ถ้าคุณแก้ไขปัญหาให้ลูกค้าได้เสียงบ่นก็จะหายไปเอง และทุกอย่างก็จะตามมาเอง

ย้อนกลับไปที่การสร้างคอนเทนต์ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า คอนเทนต์ที่สร้างมาดีมีคุณภาพเพราะถ้าไม่มีคุณภาพแล้ว มันจะกลายเป็นสิ่งที่น่ารำคาญสำหรับลูกค้า ซึ่ง CK ให้วัดคุณภาพของคอนเท้นต์จาก 5 สิ่งนี้

  • ไลค์ (Like): ถ้ามีไลค์น้อยแปลว่า ไอเดียไม่ดี คุณควรลองเปลี่ยนไอเดียใหม่
  • คอมเมนต์ (Comment): ถ้าไม่มีคอมเมนต์เลยแปลว่า คอนเทนต์นั้นไม่สร้างความรู้สึก เข้าไม่ถึงลูกค้า
  • ยอดดู (View/Watch time): ถ้าช่วงแรกคนดูน้อย อาจเป็นเพราะ “Hook” เราไม่ดีหรือไม่น่าสนใจ ควรใช้เวลาในการสร้าง Hook ให้ดีเพื่อโดนใจลูกค้า
  • แชร์ (Share): ถ้าคอนเทนต์ไม่ถูกแชร์เลยแปลว่า ลูกค้าไม่รู้จักคุณ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับคุณหรือเข้าไม่ถึงคุณ
  • เซฟ (Save): สิ่งนี้สำคัญมาก! การที่คนกดเซฟคอนเทนต์นั้นคือการที่คนดูบอกว่าคอนเทนต์นี้สามารถสร้างมูลค่าให้เขา การสร้างคอนเทนต์มาเพื่อให้คน Save และ Share เยอะๆ จะทำให้แบรนด์ของคุณเติบโตมหาศาล

ทีนี้เมื่อเรารู้แล้วว่า คอนเทนต์แบบไหนมีคุณภาพ มีคนแชร์คนเซฟเยอะ คุณจะต้องให้ทํามันไปเรื่อยๆ และเพิ่มจำนวนการโพสต์ให้มากขึ้น ภายใต้กฎ 13-13 ถ้าอยากให้คนจดจำคุณได้ภายใน 13 เดือน คนคนนั้นต้องเห็นคุณตลอด 13 ชั่วโมง โดย CK เองมีการโพสต์สูงถึง 5 คอนเทนต์ต่อวัน ทุกช่องทาง โดยไม่ได้หวังให้คนดูทุกคอนเทนต์ของ CK แต่เพื่อให้คนเห็นหน้า CK อย่างน้อยวันละครั้ง

เพื่อให้การสร้างคอนเทนต์สะดวกมากขึ้น เทคโนโลยี AI จะเข้ามาช่วยได้มาก โดยจะเรียนรู้ว่าคนชอบคอนเทนต์แบบไหน ถ้าคุณมีคอนเทนต์ดีๆ แค่คลิปเดียว แต่ไม่มีคอนเทนต์อื่นตามมา AI ก็จะแนะนำของคู่แข่งคุณ ดังนั้นคุณต้องมีคอนเทนต์จำนวนมากเพื่อให้ AI ดันคลิปคุณไม่หยุด

 

แบรนด์ต้องทำตัวเป็นนักสืบคอนเทนต์

การจะผลักให้แบรนด์กลายเป็น Content Creator ที่เก่ง คุณต้องเป็น “Active Social Media User” สิ่งแรกคือต้องสังเกตและเรียนรู้ โดยเฉพาะเวลาคุณดูคอนเทนต์ คุณจะต้องไม่ใช่แค่ดูสนุกๆ แต่จะต้องถามตัวเองว่า ทำไมคอนเทนต์นี้ถึงขึ้นฟีดมาให้เราดู และทำไมคอนเทนต์นี้มีคนดูเยอะขนาดนี้ เขาใช้อะไรในการสร้างคอนเทนต์ ทั้งแบ็กกราวด์ มุมกล้อง แสง สี แนวคิดคอนเทนต์ต่างๆ เพื่อนำมาปรับใช้และปรับปรุงคอนเทนต์ของเราเอง

ในกรณีที่ยังคิดไม่ออก การนำมาและปรับใช้ก็ไม่ถือว่าผิด ยกตัวอย่างของ CK เองก็มีการไปนำไอเดียต่างๆ มาจากสิ่งที่เขาเห็นนำมาปรับใช้และมาลองทำ การเป็นนักสืบคอนเทนต์ที่ดี ดูและวิเคราะห์คอนเทนต์จำนวนมากจะช่วยทำให้คุณสามารถสร้างสรค์คอนเทนต์ได้เก่งขึ้นอัตโนมัติ

 

แบรนด์จะต้องมีศัตรูและจุดยืนที่ชัดเจน

โดย CK ย้ำว่า คุณต้องมีศัตรู ถ้าคุณไม่มีศัตรู คุณจะไม่มีวันมีแบรนด์ได้เลย ทำไมถึงเป็นแบบนั้น นั่นเพราะการมีศัตรูหมายความว่า คุณมีจุดยืนที่ชัดเจนและเป็นจุดยืนที่ลูกค้าชอบ ทำให้มีคนอย่างมาท้าทายแข่งขันด้วย ถ้าไม่มีศัตรูก็แปลว่าคุณไม่มีจุดยืน ไม่มีใครสนใจมาท้าทายหรือแข่งขันด้วย CK ย้ำอีกว่า สิ่งที่น่ากลัวของแบรนด์ไม่ใช่คนเกลียด แต่คือการที่คนลืมคุณ และที่แย่ที่สุดคือการที่เขาไม่รู้จักคุณ คนเกลียดแต่เขายังไม่ลืม แต่ถ้าไม่รู้จักเขาจะไม่สนใจคุณเลยเรื่องนี้สำคัญมาก

ยิ่งไปกว่านั้น คนในยุคนี้มีความลึกซึ้งอย่างมาก สิ่งสำคัญที่หลายคนยึดถือคือ สิ่งที่คุณทํามันเป็นความดีรึเปล่า เพราะคนในยุคนี้ แม้จะดูไม่ดี ไม่ได้เรื่อง แต่ถ้ายังทำความดีอยู่ก็ยังได้รับความสนใจ ในทางกลับกันแม้จะทำแบรนดืให้ดูดี แต่กลับไม่ดูแลสังคมสิ่งแวดล้อม ก็อาจจะไม่ได้รับความสนใจก็ได้

 

อย่ากลัวที่จะ Collaboration โดยเริ่มจากก้าวเล็กๆ

การยืนหยัดด้วยตัวเองเป็นสิ่งดี แต่ถ้ารวมพลังกันย่อมสามารถสร้างความได้เปรีบยได้มากกว่า นั่นจึงทำให้ CK เชื่อว่าการสร้างความร่วมมือ (Collaboration) หรือทำงานร่วมกับผู้อื่นสำคัญมาก นั่นจึงทำให้เขาสามารถอยู่ในทุกช่องทางและยังสามารถ Collab กับคนมากมายเพื่อสร้างคอนเทนต์ที่แปลกใหม่ ที่สำคัญการ Collab กับคนอื่นๆ จะช่วยให้คุณสามารถเข้าถึงฐานคนดูที่อีกฝ่ายมี และอีกฝ่ายก็สามารถขยายฐานไปสู่กลุ่มคนดูของคุณ ถือว่าได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย

การจะ Collab ควรเริ่มจากก้าวเล็กๆ ก่อน โดย CK เองก็ไม่ได้เริ่มจากการเป็นที่รู้จักของผู้คนมากมาย แต่เขาเริ่มจาก Collab กับเด็กจบใหม่ เจ้าของร้านดอกไม้ หรือเจ้าของโรงงาน แล้วก็ค่อยๆ ไต่เต้ามาจากก้าวเล็กๆ จนไปสู่การ Callab กับ Content Creator รายใหญ่ ถ้า CK ทำได้ คุณเองก็ทำได้เช่นกัน

 

สร้างความลำเอียงให้กลายเป็น “ของมันต้องมี”

สำหรับกรณ๊ที่แบรนด์นั้นมีสินค้าทดแทนที่สามารถได้ง่าย เช่น ร้านอาหาร เครื่องดื่ม หรืออาหารเสริม คุณต้องสร้าง “ความลำเอียง” ให้กับลูกค้ารู้สึกว่าต้องซื้อของคุณเท่านั้น โดย CK ยกตัวอย่าง แก้ว “Stanley” ที่ไม่ได้ขายเฉพาะตัวแก้วเก็บอุณหภูมิ แต่ขายความลำเอียงหรือแรงบันดาลใจของการกินน้ำ โดยเฉพาะผู้หญิงที่ต้องซื้อเพราะแก้วมันน่ารัก สร้างความสุขและทำให้รู้สึกดี แม้ราคาจะแพงกว่าแบรนด์อื่นๆ ถึง 10 เท่า แต่ก็ขายดีกว่ามาก

หรือแม้แต่แบรนด์น้ำเปล่าที่ขายความเท่อย่าง “Liquid Death” ที่บรรจุน้ำเปล่าในกระป๋องที่ออกแบบมาให้เหมือนเบียร์และมีภาพลักษณ์ที่แตกต่างไปจากน้ำเปล่าทั่วไป เพราะแบรนด์นี้ไม่ได้ขายแค่น้ำเปล่า แต่ขายสไตล์ แม้บางคนจะเกลียด แต่คนที่รักก็รักมาก โดยเฉพาะเด็กๆ ที่มีความรู้สึกอย่างเป็นผู้ใหญ่

 

กล้าที่จะแตกต่างและต้องเป็นผู้นำ

CK มองว่า การสร้างแบรนด์ให้ดีช่วยให้คนไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำไม่ใช่ผู้ตาม โดย CK เชื่อว่า คนไทยมีความสามารถ แต่ขาดความกล้าเหมือน Grab หรือ Airbnb ที่กล้าแหกกฎในรูปแบบเดิมๆ และสร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาจนสามารถก้าวสู่การเป็นแบรนด์ผู้นำในตลาด

การสร้างแบรนด์ในสไตล์ CK คือการเน้นที่สินค้าต้องดีจริง แก้ปัญหาให้คนได้ พร้อมทั้งต้องมีจุดยืนของตัวเองที่ชัดเจน กล้าที่จะแตกต่าง และอย่าหยุดเรียนรู้ ที่สำคัญต้องลงมือทำ ถ้าคุณกล้าพอ คุณก็สามารถเป็นผู้นำและสร้างแบรนด์ที่คนพูดถึงได้เช่นกัน


  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
Gigolo
เมื่อเทคโนโลยีอยู่ใกล้กับชีวิตทุกคน มารู้เท่าทันเทคโนโลยีเพื่อใช้มัน แต่อย่าให้เทคโนโลยีมันใช้เรา