Design journey เบื้องหลังโปรเจค ‘IKEA x Greyhound’ ที่จะส่ง ‘วิถีไทย’ ไปไกลทั่วโลก

  • 169
  •  
  •  
  •  
  •  

เพราะการทำงานกับแบรนด์ระดับโลกไม่ใช่เรื่องง่าย ก็เลยไม่แปลกใจเมื่อ ภาณุ อิงคะวัต ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Greyhound Original ถึงกับเอ่ยปากว่า “หินมาก” สำหรับโปรเจคนี้ที่ได้ร่วมงานกับ ‘อิเกีย’ ในการสร้างสรรค์คอลเลคชั่น ‘SAMMANKOPPLA/ซัมมันคอปล่า’ แปลเป็นไทยว่า “การเชื่อมต่อเป็นหนึ่งเดียวกัน” ที่เตรียมจะวางขายเดือนสิงหาคม ปี 2563 ในทุกสโตร์ของอิเกีย 52 ประเทศทั่วโลก

“ก่อนหน้านี้ ผมก็เหมือนคนทั่วๆ ไป คือเป็นลูกค้าอิเกียคนหนึ่ง ไม่ได้รู้จักใครที่นั่นเลย ตอนที่มีอีเมลติดต่อมาจากสวีเดนบอกว่า อยากจะร่วมงาน Collaboration Project กับเรา ก็คิดว่าต้องมีคนมาโกหกกันแน่ๆ (หัวเราะ) จึงไม่ได้ตอบอะไรกลับไป จนพอมีอีเมลที่สองติดต่อมาอีก ก็เลยถามไปที่อิเกียประเทศไทย ว่า มีคนชื่อนี้ไหมที่สวีเดน ถึงได้รับการคอนเฟิร์ม” ภาณุ เล่า

นั่นคือเรื่องเมื่อปลายปี 2016 ที่ทางอิเกีย สวีเดน ติดต่อมาหาเขา จนมาสู่การร่วมงานครั้งแรกของทั้งสองแบรนด์ และเป็นครั้งแรกที่สวีดิชแบรนด์รายนี้ได้ร่วมงานกับแบรนด์จากฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

คอลเลคชั่น SAMMANKOPPLA ดีไซน์โดย Greyhound

ทำไมต้อง​ ‘Greyhound’ ?

จากต้นปี 2017 ที่สองทีมงานจากคนละซีกโลกได้ร่วมแชร์ไอเดีย เวลาผ่านไปสองปีครึ่ง ในที่สุดผลงานต้นแบบคอลเลคชั่น SAMMANKOPPLA หรือที่แปลเป็นไทยว่า “การเชื่อมต่อเป็นหนึ่งเดียวกัน” ก็ได้นำออกโชว์เป็นครั้งแรกในงาน Democretic Design Days 2019 ณ เมืองอัลมุล์ท ประเทศสวีเดน เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา 

จากการเป็นแฟนประจำติดตามผลงานของเกรฮาวด์มาโดยตลอด บวกกับทิศทางที่อิเกียกำลังเดินไป นั่นคือการค้นหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ จากทั่วโลก ทำให้ Michael Nikolic หัวหน้าฝ่ายสร้างสรรค์ IKEA Sweden ตัดสินใจติดต่อมาหายังเกรฮาวด์

ไมเคิล อธิบายถึงพฤติกรรมของผู้คนวันนี้ว่า..

ผู้คนในปัจจุบัน ต่างก็อยากจะแต่งบ้านที่สะท้อนตัวตน แต่ด้วยพื้นที่จำกัดโดยเฉพาะสำหรับในเมืองใหญ่ บวกกับงบประมาณที่ไม่ได้มีมาก ก็ทำให้ความคิดที่อยากจะมีบ้านที่ตรงใจ เป็นได้แค่ในฝัน
Michael Nikolic ขณะทดลองใช้ “หมอนสามเหลี่ยม” นอนกับพื้นแบบไทยสไตล์

“การแก้ปัญหาการอยู่อาศัยในพื้นที่จำกัดด้วยงานออกแบบที่มัลติฟังก์ชั่น แต่ยังคงความเป็นงานดีไซน์เอาไว้ได้เป็นกุญแจสำคัญในเรื่องนี้ เราจึงติดต่อไปที่ Greyhound Original”

เขาอธิบายถึงเหตุผลที่ตัดสินใจเลือกเกรฮาวด์ ซึ่งมีแนวคิดการทำงานในทางเดียวกับกับอิเกีย โดยเฉพาะในเรื่องของ Form follows function หรือ “ฟังก์ชั่นต้องมาหลังดีไซน์”

Basic with a twist

เมื่อนึกถึงเกรฮาวด์ สิ่งแรกที่หลายๆ คนคิดถึง คงหนีไม่พ้น ‘สีดำ’ ซึ่งก็ไม่ผิด

ภาณุอธิบายว่า แบรนด์ Greyhound มีความเป็น Controlled color คือไม่ขาวก็ดำ ไม่ดำก็เทา

“นอกจากสีแล้ว แบรนด์เรายังมีความมาสคิวลีน (Masculine)แล้วก็มีความเป็นสตรีท เออร์เบิน สูงมาก เมื่อบวกกับสโลแกนของเกรฮาวด์ที่ว่า ‘Basic with a twist’ คือถึงเราจะดูเรียบง่าย แต่ก็ซ่อนความสนุก ขี้เล่น กวนนิดๆ ไว้ในนั้น” ภาณุขยายภาพถึงความเป็นเกรฮาวด์

ถ้าเปรียบเป็นคน เกรฮาวด์ก็จะเป็นคนที่ชอบ deconstruct (รื้อ, แยกส่วน) ชอบหยิบเอาของเบสิกมารื้อออก และเปลี่ยนให้มีความร่วมสมัย

ไม่ใช่แค่กับดีไซน์เสื้อผ้า เพราะแม้กระทั่งร้านอาหารของแบรนด์ก็ยังมีความกวนซ่อนอยู่ อย่างเช่น เมนูข้าวผัดปู ที่นี่จะเรียกว่า ปูผัดข้าว เป็นต้น

“แบรนด์เราจะเป็นส่วนผสมของ Artisitic ที่บวกกับความขบถหน่อยๆ เราชอบศิลปะ แต่ศิลปะของเราจะมีความขบถซ่อนอยู่ กราฟิกของเราก็จะไม่ใช่แค่ทำให้สวยๆ แต่จะใส่ความคิดของเราลงไปด้วย” ภาณุกล่าว

ภาณุ อิงคะวัต

ดีไซน์เจ๋ง ก็เจ๊งได้

เมื่อแบรนด์ที่เคยทำงานเอามันส์ๆ เน้นความสนุก ต้องมาทำงานออกแบบเชิงอุตสาหกรรม ผลิตกันทีเป็นหลักแสนชิ้น ทำให้เวลาสองปีครึ่งของการร่วมงานกัน ภาณุถึงกับยกให้เป็น journey ที่สนุกมาก ได้เรียนรู้เยอะมาก กว่าจะได้ชิ้นงานโปรโตไทป์เป็นสินค้า 25 รายการในคอลเลคชั่น SAMMANKOPPLA ที่นำออกโชว์เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

“ดีไซน์เจ๋งๆ ตกไปเยอะ วันที่นัดดูชิ้นงานรอบสุดท้าย มีคนรอเราอยู่ 15 คน มีทั้งทีมโปรดักชั่น ทีมดีไซน์ รวมถึงนักกฎหมาย และทนายความ
วันนั้น เราทำบานพับที่เป็นบานเฟี้ยมไปโชว์ เขาทักว่า ถ้าเด็กยื่นหัวเข้าไปก็จะติดได้ คือเขาละเอียดมาก และคิดถึงผู้บริโภคจริงๆ”

หลักของ “Democratic Design” คือ เหตุผลที่ทำให้ดีไซน์เจ๋งๆ ต้องตกรอบไปอย่างที่ภาณุ เล่า โดยหลักการดังกล่าวประกอบด้วย​ 5 ประการ คือ รูปทรง ประโยชน์ใช้สอย ความคุ้มค่าคุ้มราคา ฟังก์ชั่น และความยั่งยืน ซึ่งเป็นสิ่งที่อิเกียยึดถือมาโดยตลอด

“ตอนที่ได้ยินเรื่อง Democratic ตอนแรกก็งงว่า มันเกี่ยวอะไรกับการเมือง ถามเขา เลยได้คำตอบว่า สิ่งที่อิเกียยึดถือ คือ ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในการที่จะได้ใช้ของดี ของสวย ในราคาที่จับต้องได้” ภาณุเล่าเสริม

เขาบอกว่า ทุกอย่างเบื้องหลังคอลเลคชั่นนี้ ถือเป็นความท้าทายสุดๆ สำหรับเกรฮาวด์ ทั้งเรื่องที่พวกเขาไม่เคยทำเฟอร์นิเจอร์มาก่อน แถมเมื่อคิดจะทำ ก็ยังต้องมาทำงานในมาตรฐานระดับโลกอย่างอิเกีย

“ที่ผ่านมาความฟินของเราในการออกแบบ คือ ทำของออกมาให้สวย ที่ใช้งานได้ เจ๋ง ตั้งในห้องแล้วเท่ แต่เขาคิดมากกว่านั้น เช่น มันเป็นอันตรายกับเด็กไหม จะล้มง่ายไหม ก็เป็นสิ่งที่เราไม่เคยคิด เป็นแง่มุมที่น่าสนใจ”

บดินทร์ อภิมาน ผู้ช่วยดีไซเนอร์ เกรฮาวด์ ออริจินัล หนึ่งในทีมออกแบบร่วมเสริม

นอกจากนี้ความละเอียดรอบคอบในการออกแบบแล้ว ยังมีเรื่องสเกลการทำงานที่เป็นงานออกแบบอุตสาหกรรมต้องผลิตกันทีเป็นแสนๆ ชิ้นต่อหนึ่งดีไซน์ ทำให้หลายๆ ไอเดียต้องตกไป เพราะเป็นไปได้ยากในการผลิตจริง

“เอาแค่หาวัสดุให้ได้เพียงพอก็ยากแล้วครับ ตอนแรกเราเคยคิดกันถึงขั้นอยากจะใช้นุ่นเมืองไทยมาทำหมอน ก็จบเลย จะไปหาจากไหนมาให้เขา” ภาณุเล่า

‘สนุก + สบาย’ คือ ไทยแท้

จากโจทย์หลัก คือ การใช้ดีไซน์เข้าแก้ปัญหา Pain point เรื่องการอยู่อาศัยในพื้นที่เล็ก รวมถึงการตอบโจทย์ในเรื่องราคาและความคุ้มค่าไปพร้อมๆ กัน นำมาสู่คอลเลคชั่น SAMMANKOPPLA ทั้ง 25 ชิ้น

ชีวิตของคนยุคใหม่ในเรื่องของ urban life ที่ใช้ชีวิตในเมือง พื้นที่ถูกจำกัดมากขึ้น หรือแม้กระทั่งการประกอบอาชีพ ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่เริ่มต้นทำร้านเล็กๆ ก็มีปัจจัยเรื่องพื้นที่เช่นกัน เราก็อยากจะช่วยแก้ปัญหา รวมถึงการหยิบเอาเรื่องของ Multi-function และ Asian flavor เข้าไปสอดแทรกในนั้น เลยออกมาเป็นไอเดียที่เรียกว่า “สบาย สบาย” และหยิบความเป็นไทยมาใช้ในคอลเลคชั่นนี้”

เสื่อพลาสติกที่นำลายผ้าขาวม้าหลายๆ ลายมาผสานไว้ด้วยกัน
คนไทยรักความสบาย คนไทยชอบพื้นราบ การใช้งานบนพื้น ก็ทำให้สเปซเล็กๆ มีความหมาย เปลี่ยนการใช้งานได้ ตอนนี้ใช้เป็นห้องกินข้าว เดี๋ยวเปลี่ยนเป็นห้องดูทีวี เป็นห้องทำงาน หรือบางบ้านใช้เป็นห้องนอนได้ด้วย
โคมไฟที่มีแรงบันดาลใจจาก แกลลอนใช้แล้ว ที่คนไทยชอบดัดแปลง เอามาผ่าครึ่งและใส่หลอดไฟเข้าไป

เกี่ยวกับแรงบันดาลใจวิถีไทยๆ ที่ทีมงานเก็บรวบรวมมา มีตั้งแต่การสะท้อนภาพความยุ่งเหยิง แต่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาของเมืองไทย เรามีแท็กซี่สารพัดสี มีสายไฟระโยงระยาง มีอารมณ์ขันข้างถนน

นอกจากนี้ คนไทยยังเก่งในเรื่องพลิกแพลง ดัดแปลง เอาของที่ไม่ใช้แล้วมาปรับเปลี่ยนจนเกิดสิ่งใหม่ได้อย่างน่าทึ่ง เช่น เอาโครงเหล็กในล้อรถมาเปลี่ยนเป็นที่ห้ามจอด ดีไซน์รถเข็นขายของแบบ DIY ไม่ซ้ำใคร ​ฯลฯ

สิ่งเหล่านั้นก็เป็นแรงบันดาลใจให้ทีมงานหยิบเอาไทยสไตล์ที่เห็นกันจนชินตามาต่อยอดเป็นไอเดียที่ได้ทั้งความจิดกัด แต่ยังคงแก่นของฟังก์ชั่นการใช้งานเอาไว้

นั่งร้านก่อสร้าง กลายร่างมาเป็นชั้นวางของแนวลอฟท์ๆ

แรงบันดาลใจที่เล่ามาได้ถูกนำมาถ่ายทอด บอกเล่าใหม่ ในสไตล์ของเกรฮาวด์ เช่น “เสื่อลายผ้าขาวม้า” ที่นอกจากจะใช้ได้ทั้งสองด้านแล้ว วัสดุที่ใช้ในการผลิตยังเป็นพลาสติกรีไซเคิล ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากขยะหลอดพลาสติก

เราอยากให้คนตะวันตกสัมผัสชีวิตแบบไทยๆ เลยเอาเสื่อไทยมาเป็นหนึ่งในโปรดักต์ แต่แทนที่จะทอเป็นลายเดียวแบบปกติ เราก็หยิบเอาลาย 3-4 ลายมาใช้ร่วมกันบนเสื่อผืนเดียว” ภาณุ เล่า

ส่วนถุง FRAKTA​ ซิกเนเจอร์ของอิเกีย ทีมงานก็จัดการดีไซน์ใหม่ใส่ลายผ้าขาวม้าเข้าไป กลิ่นอายไทยสไตล์ก็สะท้อนออกมา
ถุง FRAKTA​ ของอิเกีย ก็ถูกแปลงโฉมด้วยลายผ้าขาวม้าอย่างไทยๆ

นอกจากนี้ ก็มีหมอนอิงสามเหลี่ยมที่คุ้นตากันเป็นอย่างดี เมื่อนำมาลดทอนในเรื่องของสีโดยใช้สีขาวดำเป็นหลักก็ดูโมเดิร์นขึ้น

ส่วนแกลลอนเปล่าที่ชอบเห็นคนนำมาผ่าครึ่งแล้วห้อยเป็นโคมไฟ ก็เป็นแรงบันดาลใจให้นำมาทำเป็นโคมไฟหน้าตาคล้ายแกลลอนน้ำมันที่ชอบเห็นกันตามไซต์งานก่อสร้าง

ขณะที่สายไฟฟ้าระโยงระยางในบ้านเราซึ่งโด่งดังไปทั่วโลก ก็เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดเป็นโคมไฟที่มีสายไฟยาวเฟื้อย สามารถถอดไปใช้ในที่ไกลๆ ได้ เมื่อใช้เสร็จก็เอากลับมาแขวนใหม่

และด้วยความที่เป็นแฟชั่นแบรนด์ ก็ทำให้พวกเขาอดไม่ได้ที่จะทำชิ้นงานที่เป็น apparel เข้ามาอยู่ในคอลเลคชั่นด้วย เพียงแต่มันไม่ใช่เสื้อให้คนใส่ แต่เป็นเสื้อสำหรับเก้าอี้ต่างหาก!
เสื้อ sweater for chair สำหรับสวมบนพนักเก้าอี้ พร้อมกิมมิกตรงแขนเสื้อ และด้านหลังที่มีกระเป๋าให้ใส่ของได้ด้วย

ถ้าดูตามออฟฟิศ​ เราจะชอบเห็นการถอดเสื้อแจ๊คเก็ตคลุมไว้บนพนักเก้าอี้ ทีมงานจึงออกแบบ sweater for chair ขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่ใส่ไว้เก๋ๆ เพราะนี่คือเสื้อที่ตัดเย็บให้มีกระเป๋าทั้งที่ส่วนแขน และด้านหลัง เพื่อใช้เก็บอุปกรณ์ต่าง

ความรุงรังข้างทาง มาสู่โคมไฟแอลอีดีอเนกประสงค์ด้วยสายไฟยาวเฟื้อย

 

คุ้นๆ กันไหมกับ “หมอนกลม” หนึ่งในไอเท็มยอดฮิตบนรถแท็กซี่

นอกจากนี้ อีกไอเท็มที่เห็นแล้วต้องรู้สึกคุ้นๆ ไม่ว่าจะเป็นหมอนกลมไอเท็มยอดนิยมบนรถแท็กซี่ที่เป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจสู่หมอนกลมในคอลเลคชั่นนี้ รวมถึงการเก็บแรงบันดาลใจจากภาพนั่งร้านก่อสร้างข้างทางมาแปลงร่างสู่เฟอร์นิเจอร์ที่มีทั้งชั้นวางของ​ และราวแขวนเสื้อ ฯลฯ

ทั้งหมด คือ 25 ดีไซน์ที่เหลือรอด จากกว่า 50 ไอเดียซึ่งทีมงานนำเสนอไป ซึ่งจะพร้อมอวดโฉม ให้วิถีไทยไปไกลทั่วโลก พร้อมกันในเดือนสิงหาคม 2563 ที่อิเกียสโตร์ทั่วโลก


  • 169
  •  
  •  
  •  
  •  
CLOSE
CLOSE