สุดกว่านี้มีอีกไหม? แคมเปญสุด Extreme ผลักดันความเชื่อเรื่องแฟชั่นเครื่องหนัง โดย Viera by Ragazze และ เต่า มาทำไม?

  • 20K
  •  
  •  
  •  
  •  

Ragazze ชื่อแห่งตำนานเครื่องหนัง แบรนด์เครื่องหนังไทยที่อยู่ในวงการมากว่า 33 ปี และแม้กาลเวลาจะหมุนผ่านไปนานแค่ไหน แต่ Ragazze ก็ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในแบรนด์เครื่องหนังไทยที่ดีที่สุด และสามารถนำไปเทียบชั้นแบรนด์หรูของเมืองนอกได้อย่างทัดเทียม

แม้ว่าวันนี้เราจะรู้จัก Ragazze ในชื่อใหม่ว่า Viera by Ragazze แต่ความขลังและความเชื่อในแบบของ Ragazze ก็ยังคงอยู่ในทุกอณู ซึ่งแม้ว่าตลอดเวลากว่า 30 ปีจะมีทั้งขึ้นและลง แต่แบรนด์เครื่องหนังแห่งนี้ก็ยังคงทวนกระแสได้อย่างดี นั่นเพราะการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย การพัฒนาตนเองอย่างไม่หยุดยั้ง และที่สำคัญคือการไม่ยึดติดกับความสำเร็จในอดีตของตัวเอง

viera1

และในวันนี้กับอีกก้าวของการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งของ Viera by Ragazze ทาง Marketing Oops! จึงได้โอกาสมาพูดคุยถึงเบื้องหลังความสำเร็จทั้งด้านธุรกิจ ดีไซน์ กับทีมของ Viera by Ragazze ได้แก่  คุณเป้-ธีรเมศ เลิศเศวตพงศ์ Brand Manager คุณบอย-วรรณศิริ คงมั่น Head of Design Team และ คุณพลอย-แสงแข เหมกมลเศรษฐ์ Senior Designer รวมไปถึงแคมเปญไวรัลสุดปัง Craft By Lifeซึ่งสร้างสรรค์โดยทีมเอเจนซี่รสแซ่บ SOUR Bangkok ได้แก่ คุณเล็ก-ดมิสาฐ์ องค์ศิริวัฒนา Co-founder and Executive Creative Director คุณวรุณพร ตรีเทพวิจิตร Creative Directorและ คุณนภัส วรเศรษฐศักดิ์ Innovation & Social Media Directorที่จะมาเผยเบื้องหลังทั้งการพัฒนาแบรนด์และแคมเปญตัวใหม่ล่าสุด

viera9
คุณเป้-ธีรเมศ เลิศเศวตพงศ์

The Revolutions

คุณเป้ เล่าว่า Ragazze เริ่มต้นจากผู้ก่อตั้ง 6 คนโดยบุคคลหลักๆ ได้แก่ คุณพ่อและคุณแม่ของคุณเป้ และกลุ่มเพื่อนสนิท โดยมีความตั้งใจว่าจะทำแบรนด์เครื่องหนังในสไตล์อิตาเลี่ยนสำหรับคนไทย ซึ่งยุคนั้นแบรนด์ไทยยังไม่มีใครทำและแม้แต่แบรนด์ต่างประเทศก็ยังเข้าไทยไม่มากนัก โดยตอนนั้นก็ได้รับการตอบรับอย่างดีทั้งจากลูกค้าในและนอกประเทศ

จากนั้นแบรนด์ก็ได้เดินทางมากกว่า 15 ปี เราก็ได้พยายามปรับลุคร้านใหม่ จากมู้ดคลาสสิคของร้านที่เป็นน้ำตาลและพื้นไม้ก็ปรับให้มีความโมเดิร์นมากขึ้น โดยเน้นไปที่สีขาว ใส่แสงนีออน และทำให้ร้านดูสว่างๆ พร้อมกับปรับโลโก้ใหม่เป็นรูปตัว R แล้วมีวงกลมล้อมรอบ ซึ่งเป็นการปรับให้เข้ากับยุคมินิมัลความนิยมในช่วงนั้นๆ

ด้านคุณบอย เสริมว่า ในช่วงที่ปรับให้เน้นสีขาวและสว่างนั้น ส่วนตัวมีความรู้สึกว่ามันไม่ใช่ เราก็เลยขอว่าอยากทำร้านใหม่ให้ดูมีความอบอุ่นมากขึ้น เลยตัดสินใจทำร้านในลุคใหม่ ที่ได้แรงบันดาลใจจากความคิดว่า ถ้ารากาซเซจะสร้าง อพาร์ทเมนต์ ใน นิวยอร์ก ขึ้นมา จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร? ซึ่งเราตัดสินใจแต่งร้านด้วยพื้นไม้ผสมกับอิฐแบบดิบๆ แล้วก็แต่งให้เหมือนกับ เป็นห้องรับแขก มีโซฟา ข้าวของก็จะวางอย่างไม่เป็นระเบียบเล็กๆ เพื่อให้รู้สึกผ่อนคลาย

“เพราะเรามีความรู้สึกว่าเวลาลูกค้าเข้าร้านแล้วจะรู้สึกเกร็ง ไม่กล้าหยิบจับ ก็เลยทำร้านให้เหมือนกับเดินเข้าอพาร์ทเมนต์ของเพื่อน ให้รู้สึกสบายๆ เดินเข้ามาร้านแล้วกล้าที่จะหยิบโน่นนี่ ใช้เวลานานกว่าปกติ ซึ่งนี้คือมู้ดของร้านในปัจจุบัน”

viera5
คุณบอย-วรรณศิริ คงมั่น

เพิ่ม ‘ศรัทธา’ เพิ่มคำ Viera

หลังจากได้คอนเซ็ปต์ร้านใหม่แล้ว ทางทีมก็เริ่มคิดกันว่า ควรจะปรับเปลี่ยนชื่อแบรนด์ด้วยหรือไม่ ถึงขนาดที่ว่าอาจจะเปลี่ยนชื่อใหม่ไปเลย หรือแยกแบรนด์ออกมาใหม่ดี ก็เป็นช่วงที่ช่วยกันเบรนด์สตอร์มไอเดีย

“ในช่วงนั้นเราก็พยายามคิดกันว่าอะไรที่เป็นปัญหามันคือดีไซน์หรือโปรดักส์หรืออะไร จนมาได้คำตอบว่า จริงๆ แล้วแบรนด์ไม่ได้เป็นปัญหาเลย แต่ความศรัทธา หรือ Faith ของคนทำต่างหากที่หายไป จึงเป็นที่มาของคำว่า Viera ในภาษาสโลวัก ซึ่งแปลว่า Faith นั่นเอง แบรนด์เราต้องเรียกศรัทธากลับคืนมา” คุณเป้ เล่าย้อนถึงที่มาในการปรับชื่อแบรนด์

แต่ที่ยังคงชื่อ Ragazze ไว้นั้น คุณบอย บอกว่า เป็นเพราะยังคงมีแฟนๆ ที่เชื่อมั่นในความเป็น Ragazze อยู่ คำๆ นี้ยังคงมีคุณค่าไม่ว่าจะผ่านกาลเวลานานแค่ไหน ดังนั้น เราจึงมั่นใจว่าเราจะใช้ Viera by Ragazze เพื่อสะท้อนทั้งสิ่งเก่าและสิ่งใหม่ของแบรนด์ให้เติบโตไปพร้อมกัน

viera7
ทีม Viera by Ragazze

ปรับดีไซน์ใหม่ ร่วมสมัยแต่ไร้กาลเวลา

สิ่งที่เพิ่มขึ้นในความเป็น Viera คุณบอยบอกว่า คือการใส่ความเป็นชีวิตยุคปัจจุบันลงไป มีฟังก์ชั่นต่างๆ ที่ตอบโจทย์ชีวิตคนเมืองเพิ่มมากขึ้น

ในขณะที่ คุณเป้ เห็นว่า มันคือ ‘สีสัน’ ที่เพิ่มขึ้น หนังไม่จำเป็นต้องมีแต่สีดำ สีน้ำตาล แต่สามารถเป็นสีแดง สีเขียวได้ด้วย และลูกค้าโดยเฉพาะสาวๆ ชอบมาก

คุณพลอย เสริม ที่น่าสนใจไปกว่านั้น คือเราเห็นว่าที่ร้านมีคนทุกวัยเข้ามาซื้อ ตั้งแต่วัยรุ่นไปจนถึงคนที่อายุมากๆ ก็มาซื้อ เพราะเราอยากทำของที่ทุกคนที่รักในเครื่องหนังไม่ว่าอายุไหนก็ชอบ ใช้ได้หมด เป็น Ragazze ที่มีความร่วมสมัย อายุไหนก็ใช้ได้

“เราอยากให้พ่อแม่ลูกเดินเข้าร้านมาช้อปปิ้งด้วยกันได้ ไม่รู้สึกว่านี่คือแบรนด์รุ่นแม่อีกต่อไป ดังนั้น เราจึงเพิ่มความเป็นไลฟ์สไตล์เข้าไป มีความเป็นแฟชั่นมากขึ้น ทำให้มีมากกว่าของที่จำเป็นต้องใช้ ของที่ไม่จำเป็นเราก็มี คือเห็นแล้วเกิดความอยาก โดยไม่ต้องใช้แค่เหตุผล แต่ใช้ความรู้สึกด้วย นี่คือความเป็น Viera ที่เพิ่มเข้ามา”

viera3
คุณเล็ก-ดมิสาฐ์ องค์ศิริวัฒนา

แคมเปญ Crafted By Life ริ้วรอยคือ Value

อย่างที่เกริ่นว่าเป็นแบรนด์ที่ไม่หยุดนิ่งในเรื่องการพัฒนาตนเอง ซึ่งหลังจากที่ก้าวสู่ความเป็น Viera แล้ว แบรนด์ก็ต้องการที่จะพูดคุยกับคนรุ่นใหม่ในยุคดิจิทัลมากขึ้น จึงได้ตัดสินใจทำหนังสั้นออนไลน์ ในแคมเปญที่ชื่อว่า Crafted By Life โดยต้องการที่จะสื่อสารว่า เครื่องหนังนั้นจะค่อยๆ เปลี่ยนและพัฒนาตัวเองไปพร้อมๆ กับผู้ใช้งาน ริ้วรอยต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนเครื่องหนังเปรียบเสมือนร่องรอยของประสบการณ์ชีวิตที่ทั้งผู้ใช้และผลิตภัณฑ์ผ่านเรื่องราวมาด้วยกัน ซึ่งจะทำให้ของที่ใช้นั้นไม่เหมือนใครและมีชิ้นเดียวในโลก ดังนั้น แบรนด์จึงสนับสนุนให้คนหยิบกระเป๋าหรือรองเท้าหนังออกมาใช้ชีวิตกันให้มากขึ้น ไม่จำเป็นต้องกลัวเลอะ ไม่ต้องกลัวมีรอยเพราะนั่นคือร่อยรอยแห่งประสบการณ์ชีวิตของคุณเอง จึงเป็นที่มาของคอนเซ็ปต์ We are All Labour

คุณเล็ก แห่ง SOUR Bangkok เล่าถึงไอเดียในการสร้างแคมเปญนี้ว่า หลังจากรับบรีฟแล้ว สิ่งที่นำมาขยายความคือ คนจะเข้าใจผิดเรื่องริ้วรอยบนหนังว่าเป็นของไม่ดี อาจจะมีคนใช้แล้ว แต่ที่จริงแล้วร่องรอยต่างๆ มันคือความสวยงาม ดังนั้น อีกโจทย์หนึ่งที่เราจะสื่อสารก็คือ ทำอย่างไรให้คนเข้าใจว่า “ร่อยรอย” คือ Value เครื่องหนังที่ดีที่ผ่านการใช้งานจะต้องมีร่องรอย และจากแนวคิดดังกล่าวเราจึงขมวดให้เป็นคอนเซ็ปต์ CraftedBy Life

“ไอเดียของเราคือการ encourage ให้คนใช้ชีวิต ว่าการใช้ชีวิตมันทำให้เกิดร่องรอยที่สวยงาม เดิมทีเดียวเราจะเล่นกับคนธรรมดาทั่วไป แต่เมื่อเอาไปให้ คุณเปา-ธยา สุนทรวิภาต ผู้กำกับ ดู เขาก็มองว่าเราควรเล่นไปถึงขั้นสุด เพราะในแง่ของการสร้างหนังการที่จะถ่ายทอด message ที่ลึกซึ้งขนาดนี้ในเวลาอันสั้นได้ก็จะต้องทำให้มัน Extreme ไปเลย เราจึงตัดสินใจไปเล่นกับผู้ใช้แรงงานและถ่ายทำในไซท์ก่อสร้าง เพื่อที่จะสื่อความเป็น Labour ออกมาให้ชัดเจนมากที่สุด”

viera6
ทีม Sour Bangkok

ชอบไม่ชอบไม่สำคัญ เท่ากับ message มันโดน

เมื่อตัดสินใจว่างานนี้จะสะท้อนภาพผ่านกลุ่มผู้ใช้แรงงานและถ่ายทำกันที่ไซท์ก่อสร้าง แบรนด์ซึ่งมีความลักซ์ชัวรี่มาโดยตลอดกลับรู้สึกว่ามัน ‘ใช่’ และยังสามารถถ่ายทอดความเป็นแบรนด์ออกมาได้ดีที่สุดด้วย โดยที่ไม่ทำให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์ดูด้อยลงแม้แต่น้อย

คุณเป้ บอกว่า มันคือความเป็น Viera อย่างที่สุด เพราะคนที่จะสื่อถึงแบรนด์เราได้ คือคนที่รู้จักตัวตนของตัวเอง รู้ว่าจุดดีจุดแข็งของตัวเองคืออะไร และเลือกสิ่งที่ถูกใจให้กับตัวเองได้ถูกต้อง ดังนั้น ไม่กังวลเลยว่าจะลงถ่ายที่ไซท์ก่อสร้างแล้วภาพลักษณ์จะไม่ดี แต่นี่แหละคือความ Real เพราะอาชีพก่อสร้าง เป็นอาชีพส่วนน้อยที่ขณะทำงานก็ทำโดยไม่เสแสร้ง เพราะนี่คือการใช้ชีวิต ณ เวลานั้นเขาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับงานตรงหน้า ร่องรอยที่เกิดขึ้นกับเสื้อผ้ากางเกงยีนส์ขาดๆ คือความไม่ตั้งใจที่สวยงาม เช่นเดียวกับร่องรอยที่เกิดขึ้นของเครื่องหนัง

คุณบอย เสริมว่า ถ้าถามว่าเราอยากจะให้ถึงคนกลุ่มหนึ่ง เราควรจะต้องไปให้มันสุด ซึ่งผลลัพธ์มันออกจะมาแบบดีหรือไม่ดีไปเลย แต่อย่างน้อยมันก็มีผลลัพธ์ ดีกว่ามันไม่มีอะไรเลย คือไม่ส่ง message อะไรที่มันโดดเด่น แล้วมันก็ไม่ได้อะไรกลับมา

‘ไม่ต้องรู้เรื่องก็ได้’

ต้องยอมรับว่าคลิปไวรัลชิ้นนี้ ซ่อน symbolic ไว้เยอะมาก เมื่อถามถึงเบื้องหลังถึงได้รู้ว่า แบรนด์กล้าถึงขนาดให้ทำออกมาดูไม่รู้เรื่องก็ได้คุณบอย ยอมรับว่า ใช่ ไม่ต้องรู้เรื่องเลยก็ได้ เพราะเราอยากให้หนังออกมาดูเท่สะท้อนความเป็นแบรนด์เครื่องหนัง ที่มีความลึก มีความคูล มีภาพเท่ๆ ส่วนจะรู้เรื่องไหม เราบอกไม่จำเป็นก็ได้

คุณวรุณพร Creative Director ขยายความในเรื่องนี้ว่า แม้จะบอกว่าดูไม่รู้เรื่อง แต่เราก็มี Key message หลักที่สื่อออกไปนั่นคือ คนที่สร้าง Masterpiece ของตัวเองขึ้นมา แล้วเครื่องหนังของแต่ละชิ้นของแต่ละคนก็มีชิ้นเดียวในโลก เป็น Masterpiece ของเราเอง

คุณเล็ก เสริมว่า ตรงนี้ก็มีผลในแง่ของการสปินมีเดียด้วย เมื่อเรารู้ว่าจะเล่นอาร์ทไดเร็คชั่นขั้นสุดแบบนี้ ดังนั้น ทาร์เก็ตที่จะเข้าใจแฟชั่นเลเวลนี่ได้ จะต้องเป็นกลุ่ม Inspirer หรือ กลุ่ม Influencer ด้านแฟชั่นตัวพ่อตัวแม่ในวงการ หรือ เอดิเตอร์หัวหนังสือต่างๆ ทำให้เราปรับแผนมีเดียไปพูดกับคนกลุ่มนั้นแทน เป็นการสื่อสารและสร้างแรงบันดาลใจทางความคิดอีกทีหนึ่ง

คุณนภัส Innovation & Social Media Director เล่าว่า หลังจากลอนช์ไปไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ ตอนนี้ยอดวิวอยู่ที่ 2.6 ล้านวิว ซึ่งถ้ารวมหลายๆ สื่อก็น่าจะราวๆ 3 ล้านวิว ส่วนยอดแชร์ตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 3 พันแชร์ ซึ่งก็อย่างที่กล่าวกันก็คือมีทั้งที่ดูรู้เรื่องและไม่รู้เรื่อง แต่คนที่ดูไม่รู้เรื่องก็ขอกดแชร์ไว้ก่อน ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะติดแฮชแท็ก #ใครซื้อเต่าให้

viera8

#ใครซื้อเต่าให้ และมันมาได้ไง

ในโฆษณาอย่างที่ทราบดีว่ามีปริศนาหนึ่งที่ถูกทิ้งไว้ชวนให้ติดตามและก็ถกเถียงกันในวงกว้างว่า “เต่า” มาได้ยังไง?? พร้อมกับแฮชแท็กฮิต #ใครซื้อเต่าให้ ที่ดันให้เรื่องนี้ไวรัล คุณบอยขออาสาเป็นผู้เฉลยปริศนาเองว่า มันคือโลโก้ใหม่ของแบรนด์ โดยมอบหมายให้ คุณทอม-วรุตม์ ปันยารชุน เป็นผู้ออกแบบให้ ซึ่งตอนแรกนั้นก็มีมาให้เลือกหลายแบบมากมาย รวมทั้งรูปสัตว์ตัวอื่นๆ ด้วย ซึ่งท้ายที่สุดเราก็เลือก “เต่า”

“ที่เป็นเต่าเพราะว่า เต่ามันเดินช้า แต่ว่ามันแน่นอน ชัวร์ และมั่นคง แล้วเต่ายังเป็นสัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความโชคดี เหมือนเลี้ยงเต่าไว้แล้วเราก็จะได้มีโชค มีลาภ ที่สำคัญคือเรามองว่า เต่าเป็นสัตว์ที่โพสิทีฟมากคือไม่มีใครเกลียดเต่า เต่าไม่มีความร้ายเลย มีแต่ความน่ารัก มันเป็นสัตว์ที่ทุกคนรัก ไม่มีใครอิจฉาเต่าแน่นอน”

ตรงจุดนี้ คุณเป้ เสริมว่า เต่ายังสัมพันธ์กับเครื่องหนังด้วย คือความที่มีอายุยืน เหมือนกับหนังแท้ แม้ว่าเจ้าของอาจจะไม่อยู่แล้วในอนาคตแต่กระเป๋าหรือรองเท้าหนังของเขายังอยู่ แถมถ้าดูแลดีๆ ยังส่งต่อให้รุ่นสู่รุ่นใช้กันได้อีก ดังนั้น “เต่า” จึงเข้ากับแบรนด์ของเรามากที่สุด

viera10

เรื่องบังเอิญของ ‘เต่า’ ในนาทีสุดท้าย

แม้จะเป็นสัญลักษณ์สำคัญของแบรนด์ และเป็นส่วนผสมที่ทำให้โฆษณาดัง แต่เบื้องหลังการใส่ “เต่า” กลับเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในนาทีสุดท้ายก่อนการถ่ายทำด้วยซ้ำ

คุณเล็ก เล่าว่า พอทางทีม Viera แจ้งว่าโลโก้แบรนด์เสร็จแล้วขอใส่ได้ไหม เราก็โอเค แต่ตอนแรกคิดแค่ว่าอาจจะใส่ประทับโลโก้ปิดท้ายไว้เฉยๆ แต่พอได้คุยกับผู้กำกับ เราก็นึกถึงซีนที่ผู้หญิงทะเลาะกันอยู่ก็เลยแว่บขึ้นมาว่า หาปมผูกให้ผู้หญิง 2 คนทะเลาะกันเรื่องเต่าเลยดีไหม แล้วก็เกิดการอิจฉากันขึ้นว่า “ใครซื้อเต่าให้” ซึ่งสุดท้ายแล้วใครอยากจะตีความก็ได้ว่า “เต่า” อาจจะเป็นกระเป่า เป็นรองเท้า หรืออะไรก็ได้ โดยที่เราจะไม่เฉลยว่าแล้ว ‘ใครซื้อเต่าให้’ ไปคิดกันเอง

คุณเป้ เสริมว่า ต้องบอกเลยว่าตัวเองรู้น้อยมาก เพราะทีแรกคิดว่าคนจะไม่เข้าใจ ยังบอกกับทีมเอเจนซี่เลยว่ายอดเข้าชม2 แสนวิวก็โอเคแล้ว แต่นี่ไป 2 ล้านกว่า แสดงว่าคนไทยเราเข้าใจและเปิดกว้างยอมรับมันมากกว่าที่เราคิด

ความกล้า ที่สร้างความเปลี่ยนแปลง

กับความสำเร็จที่เกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าคนดูเปลี่ยนไป โฆษณาจะทำงานในรูปแบบเดิมอีกไม่ได้แล้ว โดยเฉพาะในโลกที่คอนเทนต์ออนไลน์มันโอเวอร์โหลดมากๆ แบรนด์เองต้องกล้า ที่จะทำงานอะไรใหม่ๆ ออกมา เพราะงานชิ้นนี้ของ Viera ได้พิสูจน์แล้วว่าคนไทยเข้าใจงานที่เป็นเชิงศิลปะมากขึ้น

“ส่วนหนึ่งต้องยกเครดิตให้ลูกค้าที่กล้าลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน ส่วนในแง่ฟีดแบ็คข้อดีของงานประเภทนี้อีกอย่างหนึ่งคือเป็นงานที่ไม่รักก็เกลียดไปเลย ไม่มีคนประเภทที่ดูแล้วรู้สึกกลางๆ เพราะว่ายุคนี้ที่เราต้องแข่งกับแบรนด์อื่นในแง่คอนเทนท์ออนไลน์แล้ว เรายังต้องแข่งกับดราม่าอีกมากมาย มันทำให้คนรู้สึกตายด้านกับการเสพข่าว ดังนั้น การลุกขึ้นมาสร้างอะไรที่แปลกและแตกต่างอย่างนี้จึงได้รับการตอบรับที่ดี” คุณเล็กกล่าว

ในขณะที่คุณบอย ยกความดีให้กับทุกๆ ฝ่าย โดยเรียกว่า เป็นความลงตัวในแขนงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น คุณลูกนัท-ศิริวงษ์ สุขเกษมศิลป์ ที่มาเป็นสไตลิสต์ให้ คุณโอ่ง-กงพัฒน์ ศักดาพิทักษ์ ที่มาช่วยเสริมด้านภาพ และ คุณเปา ผู้กำกับ ที่เข้าใจแฟชั่นมากจริงๆ เรียกว่าทุกคนคือส่วนผสมของตัวจี๊ดในวงการแฟชั่น

viera11

แคมเปญที่จะเปลี่ยนทัศนคติเรื่องการใช้เครื่องหนัง

หลังปล่อยแคมเปญออกไป สิ่งที่ทางแบรนด์คาดหวังกลับไม่ใช่ตัวเงินเป็นเป้าหลัก แต่ คุณเป้ อธิบายว่า เราต้องการสร้าง Awareness มากกว่า อยากให้ลูกค้าไม่ลืม Viera เมื่อเห็นงานเราบนออนไลน์ ก็อาจจะเกิดความรู้สึกอยากมาที่ร้านของเราในช่องออฟไลน์บ้าง ด้วยความที่คนเมืองเดี๋ยวนี้ทำอะไรก็ออนไลน์ ดังนั้น ตนจึงอยากจะขอแทรกตัวเข้ามาบ้าง เพื่อให้เห็นว่าการช้อปปิ้งมันมีมากกว่าหน้าจอ โดยเฉพาะการซื้อเครื่องหนังมันคือการต้องสัมผัสด้วยตนเอง

“เราไม่ได้หวังยอดขายถล่มทลาย แต่เราหวังจริงๆ ว่าให้คุณออกมาสนุกกับการช้อปปิ้ง ใช้ชีวิต ฯลฯ เพราะชีวิตจริงมันก็เหมือนเครื่องหนัง เราใช้มันแค่หน้าจอไม่ได้ ซึ่งหนังโฆษณาชิ้นนี้น่าจะทำให้คุณได้ฉุกคิดจุดนี้”

คุณบอย กล่าวเสริมว่า ในระยะยาวเราแค่อยากให้คนเปลี่ยนมุมมองการซื้อเครื่องหนัง ว่าซื้อแล้วก็ให้ออกมาใช้บ้าง อยากให้คนปรับทัศนคติ ไม่จำเป็นต้องซื้อของเราก็ได้ ไม่ได้ต้องการให้คนดูดูแล้ววิ่งออกมาซื้อกระเป๋ากับเรา แต่อย่างน้อยก็ช่วยเปลี่ยนทัศนคติของคนใช้เครื่องหนังให้เปลี่ยนไป

viera2

เตรียมพบกับความรู้สึกใหม่ของ Viera เร็วๆ นี้  

เราได้เห็นการเปลี่ยนผ่านแต่ละยุคสมัยของ Viearaby Ragazze มาโดยตลอด แต่อนาคตต่อไปข้างหน้าล่ะจะเกิดอะไรขึ้น คุณบอย เป็นผู้ให้คำตอบว่า ตั้งแต่ยุคผู้ก่อตั้ง Ragazze ดั้งเดิมเราเรียกว่า ของจำเป็น ขายให้คนที่จำเป็นต้องใช้ แต่ในยุคต่อไปมันจะเป็นเรื่องของ ‘ความอยาก’ เป็นแฟชั่น เป็นอารมณ์ โดยยังคงอยู่บนพื้นฐานของความคงทน คุ้มค่า มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน และร่วมสมัย

“อนาคตเราจะนำไปสู่ความเป็นแฟชั่น แต่เป็นแฟชั่นที่คนเป็นคอแฟชั่นตัวจริงเท่านั้นที่เห็นแล้วต้องซื้อ แล้วใส่ความมินิมอลลงไป ลดความดิบลง มีความน้อยแต่มาก เรารู้สึกว่าทีมดีไซน์ของเราถนัดกับเรื่องแฟชั่น แต่ที่ผ่านมาเหมือนเรายั้งมือในเรื่องแฟชั่นเยอะ แต่จากนี้เราจะไม่คิดมากอีกแล้ว เพราะเราอยากจะคุยกับคนที่พูดภาษาเดียวกับเรา ซึ่งถ้าใครไม่ชอบก็อาจจะเกลียดเลย แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะเราเชื่อมั่นว่าในระยะยาวมันจะทำให้แบรนด์ของเราแข็งแรง”    

ก่อนที่จะตบท้ายว่า ภายในสิ้นปีนี้จะได้สัมผัสกับความรู้สึกใหม่ๆ และความเอาแต่ใจของ Viera มากขึ้นอย่างแน่นอน

บทสรุป

สิ่งที่เราได้รับหลังจากชมแคมเปญ Crafted By Life ของ Viera by Ragazze แม้จะไม่ใช่แฟนตัวจริงของเครื่องหนัง และไม่ชำนาญเรื่องแฟชั่น แต่เรากลับได้มุมมองการดำเนินชีวิตว่า ริ้วรอยของเครื่องหนังก็เปรียบดั่งบาดแผลชีวิต คนเราจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งได้ ก็ต้องออกไปข้างนอกให้ชีวิตได้พบกับบาดแผลและริ้วรอยกันบ้าง.

Copyright © MarketingOops.com


  • 20K
  •  
  •  
  •  
  •