ไม่กี่วันมานี้ มีโอกาสได้รู้จักแอพตัวหนึ่งที่ชื่อ Clubhouse (คลับเฮ้าส์) บนแพลทฟอร์ม iOS จากการแนะนำของเพื่อน สงสัยอยู่นานว่ามันคืออะไร ลองไปค้นหาใน App store ดูก็หาไม่เจอ จริงๆ หาเจอแต่มองข้าม เพราะไม่คิดว่า หน้าตาของไอค่อนแอพ จะเป็นรูปคน สีเทาๆ ดูสบายๆ ไม่ดูเป็น โซเชียลเน็ทเวิร์ก หรือแพลทฟอร์มแบบที่มักจะเป็นกัน จนได้ฝึกทดลองใช้จากประสบการณ์ตรง และการอ่านข้อมูลที่มีผู้เขียนแนะนำไว้บ้าง เลยถือโอกาสขอมาแชร์ประสบการณ์การทดลองใช้งานเบื้องต้น เพื่อเป็นประโยชน์แก่ ผู้ที่สนใจ และยังสงสัยเหมือนกันว่า Clubhouse คืออะไร หรือ ทำไมถึงเป็นกระแสในเมืองไทยช่วงนี้เป็นอย่างมาก
เรื่องที่เกี่ยวข้อง |
เปิดเหตุผลที่ทำให้ Clubhouse แอปฯ ใหม่มาแรง ดังกระหึ่มในไทย |
เปิดสถิติ Clubhouse ปังไม่ไหว #Top5 ใน App Store – เครือข่ายสังคมออนไลน์ #Unicorn น้องใหม่ในวงการสตาร์ทอัพ |
Clubhouse คือแพลทฟอร์มโซเชียลมีเดียใหม่ ที่รูปแบบของคอนเทนท์ มีประเภทเดียวคือ เสียง ไม่มีภาพ ไม่มีข้อความ และเป็นเสียงที่มาจากการจัดรายการสด ไม่มีฟังย้อนหลัง จึงไม่เหมือนพอดแคสท์ จะเรียกว่าเป็นเหมือนศูนย์รวมของ ห้องแชทพูดคุย ที่มีหัวข้อที่หลากหลาย จากทั่วโลก หลายภาษา มีคนตั้งห้องพูดคุยอยู่ตลอดเวลา ก็ว่าได้
ถ้าจะเปรียบเทียบกับแพลทฟอร์มในปัจจุบันอย่าง YouTube จะเรียกว่าเป็น YouTube ที่เข้าไปแล้ว ไม่มีวิดีโอ แต่มีห้องจัดรายการทอล์กโชว์สดๆ ให้เราเข้าไปฟังได้ มากมาย หลากหลายหัวข้อ คล้ายๆ แบบนั้น
Clubhouse มีฟีเจอร์เด่นๆ อะไรบ้าง
โดยฟีเจอร์ที่สำคัญ คือการควบคุมห้องแชท ผู้ที่เป็นผู้สร้างห้อง จะเพิ่มผู้ที่เป็นผู้ควบคุมห้อง (Moderator) ร่วมกับตนเองได้ โดยผู้ควบคุม จะสามารถ โยกคน จากผู้เข้ามาฟัง ให้ขึ้นมาเป็นผู้ร่วมสนทนาได้ และสามารถโยกกลับลงไปเป็นผู้ฟัง (พูดไม่ได้) หรือปิดไมค์ผู้ที่กำลังพูดอยู่ชั่วคราวก็ได้เช่นกัน เรียกว่า ทำให้สามารถควบคุมห้องสนทนาได้
สำหรับเราๆ ที่เป็นคนเข้าไปเป็นผู้ฟัง จะไม่สามารถพูดได้ ถ้าเราต้องการจะพูด เราสามารถกดปุ่ม “ยกมือ” ที่มุมขวาล่างของห้อง แล้วผู้ควบคุมจะเห็นว่ามีคนยกมือ และโยกเราขึ้นไปร่วมสนทนาได้ แต่ถ้าเรายกมือแล้วเขาไม่เห็น หรือไม่ให้สิทธิ์เราในการร่วมสนทนา ก็ฟังอย่างตั้งใจกันต่อไปนะ ^^” อ้อ ในการเข้าไปฟัง ก็เพียงแค่คลิก ที่ชื่อห้องที่เราสนใจ ก็เข้าไปได้แล้ว ส่วนการออกจากห้อง ก็คลิกที่ Leave quietly (ย่องออกไปอย่างเงียบๆ)
อีกจุดเล็กๆ ที่น่าสนใจคือ ระบบทำการแบ่งแยกชื่อ ผู้ฟังที่ “ถูกติดตาม” (follow) โดยเจ้าของห้องและผู้ร่วมสนทนา ท่านใดท่านนึง ให้ลอยเด่นรวมกัน อยู่ด้านบนของรายชื่อผู้ฟังด้วย เป็นการให้เกียรติกับผู้ฟังที่ ผู้พูดในห้องนั้นๆ ให้ความสำคัญ สนใจ จึงกดติดตามเอาไว้ด้วย จุดนี้ผู้เขียนมองว่าน่าสนใจดี
ถ้าเรา ไม่อยากเป็นเพียงผู้ฟัง อยากจะสร้างห้องทอล์กโชว์ของเราเองบ้าง ก็ทำได้ง่าย แค่กด สร้างห้อง (“+ Start a room”) ที่ตรงกลางข้างล่างจอ ก็จะมีห้องขึ้นมา 3 ประเภท ได้แก่ ห้องแบบ Open คือ ใครๆ ก็เข้ามาฟังได้, ห้องแบบ Social ที่จำกัดเฉพาะ “ผู้ที่เราติดตามเขา” เท่านั้นที่เข้ามาร่วมฟังได้ และ แบบที่สาม ห้องแบบ Closed ที่จำกัดให้เฉพาะผู้ที่เราเลือกเท่านั้น สามารถเข้ามาร่วมฟังได้ หลังจากเลือกระดับความลับของห้องที่ต้องการ ก็พิมพ์ Topic ตั้งชื่อห้องสักหน่อย กดปุ่ม Let’s go ก็สร้างห้องได้แล้ว ง่ายจริงๆ เมื่อเราทำการทอล์กโชว์จบ หรือพูดจนเหนื่อยแล้ว ก็กด End room เป็นการปิดห้อง เป็นอันเสร็จสิ้น ห้องก็จะหายไป สิ่งที่พูดกันไปก็ไม่มีการบันทึกใดใด
ยังมีฟีเจอร์ที่ไม่ใช่แค่ “ห้อง” แต่เรียกว่า “คลับ” ที่จัดตามหมวดหมู่ต่างๆ อันนี้เราไม่สามารถสร้าง เองได้ แต่ทราบว่าต้องส่งเรื่องขอเข้าไปในการจะสร้าง “คลับ” เพิ่ม ผู้เขียนขอไปทดลองเล่นก่อน ยังไม่พูดถึงนะครับ
การทำงานหลักๆ ของ Clubhouse
มาพูดเรื่องระบบการทำงานหลัก ที่น่าสนใจกันบ้าง จากการทดลองใช้ พบว่าระบบ Clubhouse ให้ความสำคัญกับ “การติดตาม” (follow) ของเรา กับผู้ใช้คนอื่นๆ มาก ห้องรายการทอล์คโชว์ ที่เราจะเห็น จะปรากฏขึ้นมา ก็จะดูจากว่า เรามีความสัมพันธ์กับผู้สร้าง หรือผู้ที่พูด (speaker) ในห้องนั้นๆ แค่ไหน หลักการง่ายๆ ถ้าเราอยากจะเห็นห้องทอล์คโชว์เยอะๆ ก็ทำการ กดติดตาม ผู้ใช้คนอื่นๆ ทั้งคนที่เรารู้จัก หรือเพื่อนใหม่ๆ ที่เราสนใจ ไม่ว่าจะเป็น influencers, นักการตลาด หรือ ผู้บริหารชาวต่างประเทศ ก็จะทำให้เราเห็นอะไรๆ มากขึ้น
อยากจะเล่นบ้าง ต้องทำอย่างไร?
เอาล่ะ เล่ามาจนสนใจแล้ว อยากจะเล่นบ้างทำอย่างไร ในปัจจุบัน Clubhouse ใช้ได้เฉพาะบน iOS หรือเรียกอีกอย่างว่า บนมือถือไอโฟน หรือไอแพด เท่านั้น ยังไม่สามารถใช้ได้บนมือถือระบบ แอนดรอยด์ (อันนี้ทำให้ชาวแอนดรอยด์เพื่อนผู้เขียน บ่นน้อยใจกันพอสมควร ^^”) แต่ผู้พัฒนา ก็ทราบถึงความต้องการนี้ และพูดแล้วว่ากำลังเร่งพัฒนา แอพบนแพลทฟอร์มมือถือแอนดรอยด์อยู่นะ ผู้เขียนได้ฟังมากับหูตัวเอง เมื่อเช้าวันนี้ จากการเข้าร่วมห้องทอล์คโชว์ต้อนรับผู้ใช้รายใหม่ ที่ทางผู้พัฒนาจัดขึ้นเป็นประจำ รู้สึกว่า ใกล้ชิด กับผู้พัฒนามาก ได้ฟังจากปากของเขาเองเลย บนแพลทฟอร์ม Clubhouse ที่เขาสร้าง ไม่ต้องไปอ่านตามเว็บ หรือโซเชียลมีเดียอื่นๆ
อีกเรื่องสำคัญคือ ตอนนี้ Clubhouse ยังไม่เปิดให้ ใครๆ ก็ใช้ได้อย่างอิสระ สาธารณะนะ แต่เป็นแบบ Invite only หรือ ต้องได้รับการรับเชิญ จากผู้ที่ใช้ Clubhouse อยู่ก่อนแล้ว ที่จะมีบางคน มีสิทธิ์ที่จะเชิญเพื่อน เข้าไปใช้ Clubhouse ด้วยกันได้ แต่สิทธิ์ที่ว่านี่ ก็มีไม่มาก และเท่าที่ทราบ ส่วนใหญ่ ก็ไม่ค่อยมีใครมีเหลือ ^^” (โดนขอกันไปหมด) แต่ๆ อย่างเพิ่งเสียใจ
สำหรับผู้ที่สนใจ อยากจะเล่น Clubhouse แนะนำให้โหลด แอพมา แล้วทำการลงทะเบียน ด้วย ชื่อ นามสกุล จริง เบอร์โทรศัพท์เบอร์หลัก จองชื่อ @ สวยๆ ของเรา (อย่างของผู้เขียนคือ @jarern) ระบบ จะบอกเราว่า จะให้เราต่อคิวเพื่อรอที่จะได้สิทธิ์ในการใช้งานต่อไป (รอนานแน่ๆ ดูทรง) แต่… เดี๋ยวก่อน! เรื่องมันพลิกตรงนี้ ถ้าเรามีเพื่อน ที่มีเบอร์โทรศัพท์ของเราใน contact list ของเขา (ผู้เขียนคาดว่า ระบบเช็คจากเบอร์โทรศัพท์) หรือ เหตุผลบางอย่าง ที่ทำให้ระบบรู้ว่า เรามีเพื่อนที่อยู่ใน Clubhouse นะ (ระบบฉลาดจริงๆ เนื่องจากการลงทะเบียนจะต้องใช้เบอร์โทรศัพท์มือถือ ทำให้ระบบสามารถตรวจพบเพื่อนที่อยู่ใน Contact list ของเราได้) เพื่อนของเราก็จะมีโอกาสที่จะได้รับแจ้งเตือน ถามว่า “นี่ๆ เราคิดว่า เพื่อนของคุณ มาสมัครเข้า Clubhouse นะ ชื่อ xxxxx คุณอยากจะให้เขาลัดคิว เข้ามาใช้งานเลยไหม?” ซึ่งเพื่อนเรา จะสามารถช่วยกด “ลัดคิว” (ไม่เกี่ยวกับสิทธิ์ invite นะ) ทำให้เราได้รับสิทธิ์เข้าใช้งานเลยทันทีไม่ต้องรอ! เย้! ดังนั้น ผู้เขียนจึงแนะนำ ผู้ที่สนใจให้ทดลองสมัครไปดู ถ้าโชคดี ก็อาจจะได้ใช้โดยไม่ต้องรอนาน ผู้เขียนเอง ก็ได้รับสิทธิ์คล้ายๆ อย่างนี้เช่นกัน และ ผู้เขียนก็กดลัดคิว ช่วยไปหลายคนแล้วเช่นกัน ^^
จุดประสงค์ของบทความนี้ เพื่อต้องการแนะนำ ให้คนที่ได้ยินชื่อ Clubhouse แล้ว สงสัย เหมือนอย่างที่ผู้เขียนเป็น เมื่อวันก่อน ได้เข้าใจมากขึ้นว่า มันคืออะไร และเข้าใจวิธีการสมัคร ข้อจำกัด วิธีใช้งานเบื้องต้น บทความนี้เขียนขึ้นจากประสบการณ์การทดลองใช้งาน หากมีข้อผิดพลาดประการใด ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้นะครับ
มุมมองในเชิงการตลาด
ก่อนจากกันไป ขอวิเคราะห์ มุมมองในเชิงการตลาดไว้สักเล็กน้อย สำหรับท่านที่อยากจะอ่านต่อ กระแสการมาของ Clubhouse น่าสนใจมากในหลายๆ เรื่องสำหรับผู้เขียน ขอแยกเป็นหัวข้อ ดังนี้
- เป็นการถอยหลัง ของรูปแบบคอนเทนท์ จากวิดีโอ ถอยกลับไปเหลือแค่เสียง แต่กลับเป็นจุดดี เพราะว่า เสียง มันง่าย การพูด มันง่าย ไม่ต้องจัดแสง ไม่ต้องมีฉาก ไม่ต้องตั้งกล้อง ไม่ต้องตัดต่อ ไม่ต้องห่วงสวยหล่อ เพราะไม่มีใครเห็น มันทำให้ปัจจัยส่วนเกิน ของตัวคอนเทนท์หลายๆ อย่าง หายไป เหลือแต่เนื้อของคอนเทนท์ คือ เสียงพูด ทำให้เกิดความเด่นที่ความ “ง่าย” ไม่น่าเชื่อว่า จะมีดีมานด์หรือความต้องการของผู้ใช้ กับคอนเทนท์ และแพลทฟอร์มแบบนี้ จนเกิดเป็นกระแสขึ้นมา
- คอนเทนท์ของ Clubhouse ที่ว่าเป็นเสียง แต่ไม่ใช่ เสียงที่บันทึกไว้อย่าง พอดแคสท์ แต่เป็น “รายการสด” สดเท่านั้น ฟังย้อนหลังไม่ได้ ทำให้มันสดใหม่ ทำให้มันดู มีคุณค่าแบบว่า ถ้าพลาดไม่ได้ฟังแล้ว จะมาฟังย้อนหลังไม่ได้นะ สวนทางกับกระแส on demand ที่ถ้าเป็นแพลทฟอร์มทีวี เราบอกว่าไม่ดี แต่พอเป็นรายการสดที่เป็นเสียง กลับได้รับความสนใจ มีความต้องการซะอย่างนั้น น่าสนใจจริงๆ และการที่ไม่มีการบันทึกให้ฟังย้อนหลัง ทำให้ ผู้จัดรายการที่เป็นผู้พูด ไม่ต้องกลัวจะพูดผิด เพราะมันไม่สามารถฟังย้อนหลังได้ ทำให้ลดความประหม่าในการแชร์ ในการเล่า (ความเข้าใจร่วมของคนที่นี่คือ ไม่บันทึกเสียงกันนะครับ)
- แพลทฟอร์มแบบนี้ ก็มีความเสี่ยงเหมือนกัน เพราะรายการสด ควบคุมได้ยาก ในเชิงของการสร้างห้อง ที่อาจจะละเมิดกฎหมาย หรือสร้างความเสียหายแก่ผู้อื่น ที่น่าติดตามต่อไปว่า หากถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย ระบบจะจัดการอย่างไร หรือ สังคมจะมีความเห็นอย่างไร ล่าสุด ผู้เขียนพบข่าวว่า ในประเทศจีน ได้ทำการบล็อกการเข้าถึง Clubhouse ไปแล้วเรียบร้อย ^^”
- ในช่วงนี้ Clubhouse เป็นกระแส คนสนใจมาก และยิ่งไม่ได้เปิดให้ใครๆ ก็สามารถเข้าไปใช้ได้ทันที อย่างที่กล่าวข้างต้น ทำให้คนดูมีความสนใจที่จะสร้างห้องทอล์คโชว์ เล่าเรื่องราว หรือพูดคุยเรื่องต่างๆ กันมาก ผู้เขียนมองว่า คงต้องติดตามกันต่อไปว่า หลังจากกระแสเริ่มซาลง คนจะยังสร้างห้อง ทำการทอล์คโชว์กันอยู่มากน้อยเพียงใด เพราะการที่จะสร้างห้องและจัดรายการทอล์คโชว์นั้น ก็เป็นอะไรที่ใช้พลังงานไม่น้อยเลยทีเดียว
- คำแนะนำสำหรับผู้ที่คิดจะสร้างห้องทอล์คโชว์ ถ้ามีผู้ร่วมดำเนินรายการ สนทนากันอย่างน้อย 2 คนก็จะแบ่งเบา ความเหนื่อย และทำให้การสนทนาต่อเนื่องได้ดีกว่าพูดคนเดียว ถ้าประเด็นที่จะพูดหมด อาจจะใช้การตั้งคำถาม ซึ่งมักจะทำให้เกิดการสนทนา การแชร์ ได้ต่อ และอาจจะมีผู้เข้าฟัง ยกมือ อยากร่วมสนทนาด้วย ผู้เขียนไปเข้าร่วมห้องทอล์คโชว์ที่มีคนเป็นร้อยๆ ของต่างประเทศ เขามีผู้ควบคุมห้อง (Moderator) ถึง 4 คน และมีผู้ที่ร่วมสนทนา (speakers) อีกเป็นสิบคน เรียกว่า มีหลายคนก็ช่วยกันทำให้รายการทอล์คโชว์ ไม่เหนื่อย และยาวนานเป็นหลายๆ ชั่วโมงได้เลยทีเดียว
- มุมมองของผู้เขียนส่วนตัว มองว่า Clubhouse ไม่ใช่เครื่องมือที่จะมาทดแทน เครื่องมือสื่อสารทั่วไปของเรา แต่เป็นเครื่องมือสำหรับ influencers, ดารา, ผู้นำทางความคิด, นักการตลาด, เทรนเนอร์ ครู อาจารย์ และ ผู้ที่ต้องการจะแชร์เรื่องราว ความรู้ ความคิด ในรูปแบบของรายการทอล์คโชว์แบบนี้ คล้ายกับการจัดเสวนา การจัดอบรม แบบง่ายๆ และเข้าถึงคนทั่วโลก หลากหลายภาษา ในปัจจุบัน Clubhouse ยังใช้งานฟรี และ ไม่มีโฆษณาใดใด ในระบบ ทำให้ผู้ใช้ ใช้กันเพลิน ง่าย สบายตา ไม่มีอะไรมาขัด จึงน่าจะเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เติบโตอย่างรวดเร็ว
เขียนมาซะยาว โหลดแอพแล้วพบกันใน Clubhouse นะครับ ^^
@jarern เจริญ ลักษณ์เลิศกุล