จากลีกแข่งเกมสู่กีฬาอาชีพใหม่ เปิดค่าตอบแทน #อีสปอร์ต ทำเงินมหาศาล ? สายงานที่เกี่ยวข้องมีอะไรบ้าง

  • 1
  •  
  •  
  •  
  •  

Esport-1
credit: Roman Kosolapov / Shutterstock.com

ย้อนกลับไปไม่กี่ปีที่ผ่านมา อีสปอร์ต (Esport) ยังคงเป็นเพียงกีฬารูปแบบใหม่ในประเทศไทย คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นเพียงการแข่งขันเกมที่ถูกยกระดับเป็นลีก มีการชิงแชมป์ระดับประเทศ ระดับภูมิภาค หรือระดับโลก สามารถสร้างชื่อเสียงและทำรายได้แก่ผู้เล่นแต่ก็ยังไม่แพร่หลาย แต่มุมมองของอีสปอร์ตอาจเปลี่ยนไปหลังจากถูกบัญญัติให้เป็น กีฬาอาชีพใหม่ ตามที่มีการประกาศผ่านเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ว่า…ให้เพิ่มเติม อีสปอร์ต เป็น กีฬาอาชีพ

(ตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ. 2556 ได้กำหนดกีฬาอาชีพเอาไว้ 13 ชนิด คือ กอล์ฟ, จักรยาน, จักรยานยนต์, เจ็ตสกี, ตะกร้อ, เทนนิส, บาสเกตบอล, แบดมินตัน, โบว์ลิ่ง, ฟุตบอล, รถยนต์,วอลเลย์บอล และสนุกเกอร์ ซึ่งกีฬาอาชีพจะได้รับการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนา ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการกีฬาอาชีพ และมีการกีฬาแห่งประเทศไทยเป็นผู้สนับสนุน)

 

จริง ๆ แล้วคนไทยเริ่มให้ความสนใจความสำเร็จที่เกิดขึ้นในวงการเกมออนไลน์และอีสปอร์ต มาระยะหนึ่งแล้ว ตั้งแต่เริ่มมีลีกการแข่งขันระดับนานาชาติมากขึ้น มีทีมและนักกีฬาอีสปอร์ตที่ประสบความสำเร็จ มีเทรนด์สตรีมเกม นักแคสเกม เป็นต้น และคาดว่านับจากนี้ ทุกอาชีพ ทุกเทรนด์เกี่ยวกับอีสปอร์ต จะยิ่งได้รับความสนใจ เพราะนอกจากการได้รับการสนับสนุนเป็นกีฬาอาชีพแล้ว ว่ากันว่าสร้างรายได้มหาศาล ยกตัวอย่างเพื่อเรียกน้ำย่อย…กับนักกีฬาอีสปอร์ตผู้ที่ทำรายได้สูงสุดของโลก ในปี 2020 (ตามข้อมูลของ Esports Earnings) อย่าง Sven Magnus Carlsen เซียนกีฬาหมากรุกที่ใช้ชื่อในการแข่งขันว่า DrNykterstein โดยเขาทำรายได้จากการแข่งขันตลอดทั้งปี 2020 ไปได้ทั้งสิ้น 510,586.52 เหรียญสหรัฐ

เพื่อให้ทุกคนได้รู้จักและเห็นเทรนด์อีสปอร์ตมากขึ้น เราจึงสรุปแนวทางอาชีพและรายได้ที่เกิดจากเทรนด์ดังกล่าว มาให้ทุกคนได้ทำความรู้จักไปพร้อมกัน ว่าอาชีพที่อยู่ในแวดวงของอีสปอร์ตนี้ ค่าตอบแทนเป็นอย่างไร น่าสนใจแค่ไหน

Esport-2

สำหรับสายอีสปอร์ต สามารถแบ่งอาชีพได้เป็น 3 กลุ่มหลัก คือ…

(ข้อมูลจาก Garena Academy)

 

กลุ่มนักกีฬา

เช่น นักกีฬาอีสปอร์ต (Esports Player): รายได้เฉลี่ย 15,000 – หลักล้านบาทต่อเดือน

ผู้ฝึกสอนกีฬาอีสปอร์ต (Esports Coach): 15,000 – 100,000 บาทต่อเดือน

สตรีมเมอร์ (Streamer): 10,000 – 100,000 บาทต่อเดือน

เกมแคสเตอร์ (Game Caster): 40,000 – 50,000 บาทต่อเดือน

นักพากย์การแข่งขัน (Shout Caster): 50,000 – 150,000 บาทต่อเดือน

 

กลุ่มนักพัฒนาและนักออกแบบเกม

เช่น นักพัฒนาเกม (Game Developer): รายได้เฉลี่ย 25,000 – 100,000 บาทต่อเดือน

นักพัฒนาเกม AR/VR (Game AR/VR Developer): 20,000 – 40,000 บาทต่อเดือน

นักออกแบบเกม (Game Designer): 15,000 – 100,000 บาทต่อเดือน

นักทดสอบระบบเกม (Game QA Tester): 15,000 – 50,000 บาทต่อเดือน

เกมแอนิเมเตอร์ (Game Animator): 15,000 บาทขึ้นไปต่อเดือน

เกมอาร์ตติส (Game Artist): แบ่งเป็น เกม 2D 15,000 – 25,000 บาทต่อเดือน เกม 3D 50,000 – 100,000 บาทต่อเดือน

 

กลุ่มนักการตลาดและประชาสัมพันธ์เกม

เช่น นักการตลาดด้านเกม (Game Marketer): รายได้เฉลี่ย 18,000 – 350,000 บาทต่อเดือน

นักข่าววงการเกม (Game Journalist): 15,000 – 30,000 บาทต่อเดือน

ทีมควบคุมการผลิตสื่อและถ่ายทอดสด (Esports Broadcast Team): 30,000 บาทต่อเดือน

เกมมาสเตอร์ (Game Master): 20,000 บาทขึ้นไปต่อเดือน

Esport-3

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ถือเป็นเพียงข้อมูลรายได้คร่าว ๆ ของนักกีฬาอีสปอร์ตและอาชีพที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งนักกีฬากลุ่มนี้ไม่ได้แข่งขันเป็นรายบุคคลเท่านั้น แต่มีการแข่งขันเป็นทีม ซึ่งแต่ละทีมอาจมีมูลค่าและทำรายได้มหาศาล จากหลาย ๆ ปัจจัย เช่น รายการที่ลงแข่งขัน สโมสร และอันดับแชมป์ของทีม เป็นต้น

ซึ่งนอกจากอาชีพใหม่ ๆ และรายได้ ที่เกิดขึ้นจากกระแสอีสปอร์ตแล้ว เราก็จะเห็นว่าในระยะหลังเทรนด์ Sport Marketing ก็มาแรง แบรนด์หันไปทำตลาดผ่านกิจกรรมกีฬา เป็นผู้สนับสนุน เป็นส่วนหนึ่งในการแข่งขัน ซึ่งแน่นอนว่าในการแข่งขันอีสปอร์ตก็เช่นเดียวกัน และแบรนด์ก็เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเช่นกัน

ดังนั้น อีสปอร์ต จึงไม่ใช่เทรนด์ใหม่ แต่กำลังกลายเป็นเทรนด์ที่น่าจับตา ทั้งในส่วนของการเป็นกีฬาอาชีพใหม่ รวมถึง เป็นช่องทางการทำตลาดรูปแบบใหม่ ๆ ที่แบรนด์พยายามเข้าถึงผู้คนมากขึ้น


  • 1
  •  
  •  
  •  
  •  
Ms.นกยูง
เมื่อโลกไม่เคยหยุดหมุน เราก็ไม่ควรหยุดเรียนรู้... ชวนคุณมาทำความรู้จักหลากหลายเรื่องราว ทั้งสาระและสีสันบนโลกดิจิทัลไปพร้อมกัน