แม้จะไม่พูดถึงสถานการณ์ในช่วงนี้ว่าเป็นหนึ่งปัจจัย… แต่ “การทำงาน” และ “การสร้างรายได้” ในยุค “Digital Disruption” ก็เปลี่ยนแปลงหลายสิ่งไปแล้วเช่นกัน ประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคก็เป็นปัจจัยหลักที่กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน
อย่างที่รู้กันว่า ยุคนี้ธุรกิจ “Food Delivery” และ “On-Demand Service” กลายเป็นชีวิตประจำวันของผู้คนไปแล้ว ประกอบกับวันที่ 1 พฤษภาคม เป็น “วันแรงงานแห่งชาติ” เราเลยอยากชวนคุณมาวิเคราะห์เรื่องราวและสถิติเกี่ยวกับผู้ที่ทำงานในแวดวงดังกล่าว อย่างเหล่า “คนขับรถ – ส่งสินค้า – ส่งอาหาร” ว่ามีรายละเอียดอย่างไร…
- “พาร์ทเนอร์” หรือ “ผู้ขับ” ที่ให้บริการตามที่กล่าวมานั้น มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากสถานการณ์ COVID-19 ทั้งจากปัจจัยความต้องการใช้งานที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภค และการเป็นช่องทางรายได้ของผู้ที่ต้องประสบภาวะถูกเลิกจ้างหรือกิจการประกาศปิดตัว
- กว่า 3 ใน 4 ของพาร์ทเนอร์ในระบบของ Grab หรือ 77% เลือกให้บริการ “จัดส่งอาหารและพัสดุ” มากที่สุด ว่ากันว่ามีจำนวนรวมมากกว่า 100,000 คน! แม้ว่า Grab จะให้บริการหลายประเภท ทั้ง GrabFood บริการจัดส่งอาหาร, GrabExpress บริการจัดส่งพัสดุ, บริการเดินทาง GrabCar – GrabTaxi – GrabBike และ GrabDriveYourCar บริการคนขับรถยนต์ส่วนตัวสาเหตุหนึ่งอาจเพราะประเภทยานพาหนะของพาร์ทเนอร์ผู้ขับด้วย! โดย 64% ของผู้ขับในระบบของ Grab ใช้ “รถจักรยานยนต์” ในการรับงาน ส่วนอีก 3% ใช้ “รถยนต์” และอีก 1% ใช้ “การเดินเท้า” ผ่านบริการ GrabFood Walk ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นนักศึกษาที่ต้องการรายได้เสริมระหว่างเรียนเป็นผู้ให้บริการประเภทนี้
- “เพศชาย” ในวัย Gen Y นิยมเป็นพาร์ทเนอร์ โดยหากแบ่งประเภทผู้ขับออกตาม Gen จะพบว่ากลุ่ม Gen Y อยู่ในระบบพาร์ทเนอร์มากที่สุด ประมาณ 48.5% รองลงมา คือ Gen X (26%) และ Gen Z (24%) และ Baby Boomer อีก 1.5% โดย 86% ของพาร์ทเนอร์ในระบบเป็นเพศชาย
- ผู้คนมองหา “อาชีพ – รายได้เสริม” อย่างที่บอกไปแล้วว่าด้วยสถานการณ์เช่นนี้ อาจทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยพยายามมองหาอาชีพเสริมและรายได้อื่นจากงานเสริม เพื่อต่อสู่กับวิกฤตที่เกิดขึ้น สอดคล้องกับข้อมูลจาก Grab ที่ระบุว่า…มีผู้ขับในระบบมากกว่า 71% ที่เลือกรับงานแบบ Part-time (ให้บริการน้อยกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน) ส่วน 29% ให้บริการมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน (รวมกลุ่มพาร์ทเนอร์ GrabTaxi ซึ่งส่วนใหญ่ขับรถรับจ้างเป็นอาชีพ)
ข้อมูลสนับสนุนเรื่องนี้ คือ สัดส่วนของพาร์ทเนอร์ที่เข้าสู่ระบบ Grab น้อยกว่า 6 เดือน ซึ่งมีจำนวนมากที่สุดถึง 44% ขณะที่ พาร์ทเนอร์ที่ให้บริการ 1-3 ปี มีจำนวน 26.5% และกลุ่ม 6 เดือน – 1 ปี มีจำนวน 19%
จะเห็นได้ว่า จากข้อมูลเหล่านี้ ไม่ได้สะท้อนแค่เรื่องราวของการ “หาอาชีพเสริม” หรือ “หารายได้เพิ่ม” ของผู้คนในปัจจุบัน แม้จะเป็นคนเพียงจำนวนหนึ่ง แต่ก็ทำให้เห็นได้ว่า…ทั้ง New Normal ที่เกิดจากความต้องการของผู้บริโภคกับบริการออนไลน์ หรือวิกฤตจาก COVID-19 ล้วนเป็นปัจจัยส่งเสริมให้ “พาร์ทเนอร์” กลายเป็นอาชีพทางเลือกที่ผู้คนมองเห็นเป็นโอกาสใกล้ตัว มากขึ้น และมากขึ้นเรื่อย ๆ