ตกลงต้องโหลดไหม ? ไขข้อข้องใจ ‘หมอชนะ’ แอปนี้จะพาเราชนะ COVID-19 ได้หรือเปล่า

  • 135
  •  
  •  
  •  
  •  

หมอชนะ-cover

ทุกคนคงคุ้นหูและชินกับ ไทยชนะ มาพักใหญ่แล้ว เพราะไม่ว่าจะไปห้าง ร้าน ตลาด หรือเข้าตึกอาคารที่ไหน เป็นต้องให้สแกน QR Code ไทยชนะ เพื่อเข้า – ออก ทุกครั้งที่เข้าใช้พื้นที่ แต่ในช่วงที่เราเริ่มชินกับการยกมือถือ เปิดกล้อง รอสแกนไทยชนะ กลับมี ‘หมอชนะ’ ขึ้นมาให้คุ้นหูอีกชื่อ โดยเฉพาะการแนะนำจาก ศบค. (ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019) ที่แจ้งให้ประชาชนทุกคนดาวน์โหลดแอปหมอชนะเอาไว้ เพราะหากเกิดติด COVID-19 แล้วไม่มีแอปนี้อยู่ในมือถือ อาจมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 17 และถึงกับมีบทลงโทษด้วย!

ถ้าคุณสงสัยว่าตกลงต้องสแกนไทยชนะ หรือโหลดแอปหมอชนะ แบบไหนถึงจะเอาชนะ COVID-19 ได้ ก็อยากชวนให้ลองทำความรู้จัก หมอชนะ จากข้อมูลด้านล่างเพื่อประกอบการตัดสินใจ…

 

เคลียร์คำถามแรก หมอชนะ คืออะไร…?

ตามข้อมูลของ DGA (สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล หรือ สพร.) อธิบายไว้ว่า หมอชนะเป็นแอปพลิเคชันที่บันทึกข้อมูลการเดินทางของผู้ใช้ด้วยเทคโนโลยี GPS และ Bluetooth ร่วมกับการสแกน QR Code ไทยชนะ ที่เช็คอินตามสถานที่ต่าง ๆ  เพื่อทำให้บันทึกการเดินทางของผู้ใช้แม่นยิ่งขึ้น ดังนั้น ไม่ใช่แค่ช่วยบันทึกการเดินทางของพวกเรา แอปนี้ยังเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกให้กรมควบคุมโรคและบุคลากรทางการแพทย์สามารถสอบสวนโรคได้อย่างรวดเร็วด้วย

แอปหมอชนะ

ใครเป็นผู้พัฒนา – เก็บข้อมูลส่วนบุคคลหรือไม่ ?

หมอชนะ ได้ชื่อว่าเป็นผลงานของภาคประชาชน ภาคเอกชน และภาครัฐ โดยกรมควบคุมโรคทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล และ DGA เป็นผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล โดยได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการศึกษา เครือข่ายโรงพยาบาลและองค์กรสาธารณสุข หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรธุรกิจอีกมาก

ส่วนประเด็นจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลนั้น ทางแอปฯ ระบุว่า “เป็นไปเท่าที่จำเป็น” ตามความเกี่ยวข้องและวัตถุประสงค์ ที่จะทำให้ผู้ใช้ได้รับวิธีการปฏิบัติตนอย่างถูกต้อง โดยจะเชื่อมโยงไปยังมือถือและบันทึกการเดินทางของผู้ใช้เพื่อส่งแจ้งเตือนและคำแนะนำไปยังแอปฯ กรณีมีประวัติเคยสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วย COVID-19 การขอสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลของแอปหมอชนะจึงไม่ถามชื่อ ไม่ถามเบอร์โทร หรือเลขประจำตัวประชาชน แต่มีแค่คำขอเข้าถึง “ตำแหน่งของคุณ” ที่จับจาก GPS, “การเคลื่อนที่แบบ Motion” และ “ใช้ Bluetooth” เพื่อสแกนคนรอบตัวและแจ้งเตือนเมื่อคุณอยู่ใกล้คนที่มีความเสี่ยง

แตกต่างกับ ไทยชนะ ที่ใช้เบอร์มือถือเพื่อลงทะเบียน และใช้วิธีสแกน QR Code ด้วยตนเองเพื่อบันทึกว่าเราไปสถานที่ใดมาบ้าง

 

หมอชนะ ใช้งานอย่างไร ?

อย่างที่บอกว่า หมอชนะ จะคอยส่งบันทึกการเดินทางโดยอัตโนมัติด้วยการระบุตำแหน่งของผู้ใช้งาน เมื่อเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ พร้อมกับส่งแจ้งเตือนเมื่อผู้ใช้ไปยังสถานที่เสี่ยงหรือใกล้ชิดกับผู้ที่มีความเสี่ยง

 

 

หลังจากดูวิดีโอจบ ลองโหลดแอปหมอชนะมาใช้ พบว่า…

– ดาวน์โหลดฟรี มีทั้ง iOS และ Android

– ลงทะเบียนง่าย แค่อ่านและกดไปตามที่แอปแนะนำเรื่อย ๆ

– เลือกภาษาได้ มีเวอร์ชันไทย และอังกฤษ

– มีขั้นตอนให้ประเมินอาการ เพื่อตรวจสอบระดับความเสี่ยงของคุณ

– ระดับความเสี่ยงแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ ต่ำมาก (สีเขียว), ต่ำ (สีเหลือง), ปานกลาง (สีส้ม) และ สูงมาก (สีแดง)

– เมื่อทำการประเมินความเสี่ยงเสร็จแล้ว แอปจะทำ QR Code ประจำตัวให้คุณเพื่อเอาไว้ให้คนอื่นสแกนเช็คความเสี่ยงได้ง่าย ๆ

– สรุปฟีเจอร์หลัก ๆ ก็จะมีอยู่ 3 รูปแบบ คือ “ข้อมูล” ของผู้ใช้งานที่จะอยู่ในรูปแบบ QR Code แจ้งระดับความเสี่ยง, “สแกน QR” เพื่อให้เราได้เช็คความเสี่ยงของผู้อื่นที่มี QR Code ระดับความเสี่ยงเช่นกัน และ “ตั้งค่า” ให้สามารถเปิด – ปิด Bluetooth เพื่อค้นหาผู้ที่มีความเสี่ยงสูงซึ่งอยู่ใกล้ ๆ และแจ้งเตือนคุณ ทั้งยังให้ทำแบบประเมินตนเองได้อีกครั้ง หรือเลือกเปลี่ยนภาษา

 

ใช้ ‘ไทยชนะ’ หรือ ‘หมอชนะ’ ดีกว่า ?

บอกเลยว่าคำตอบ คือ “ควรใช้ทั้ง 2 รูปแบบ” เพราะชัดเจนแล้วว่า ไทยชนะ จะทำให้ตรวจสอบได้ว่าเราเข้าใช้หรือกลับออกจากห้าง ร้าน แห่งไหน ช่วงเวลาใด ง่ายต่อการแจ้งและติดตามผู้ที่มีความเสี่ยงซึ่งอยู่ในสถานที่และช่วงเวลาเดียวกัน ส่วน หมอชนะ จะเป็นตัวช่วยบันทึกการเดินทางที่เห็นตำแหน่งได้แม่นยำ


  • 135
  •  
  •  
  •  
  •  
Ms.นกยูง
เมื่อโลกไม่เคยหยุดหมุน เราก็ไม่ควรหยุดเรียนรู้... ชวนคุณมาทำความรู้จักหลากหลายเรื่องราว ทั้งสาระและสีสันบนโลกดิจิทัลไปพร้อมกัน