เรียกรถผ่านแอปต้องถอย? กรมขนส่งเตรียมดัน Taxi OK มั่นใจ ปลอดภัย ตอบโจทย์การเดินทาง

  • 275
  •  
  •  
  •  
  •  

ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ แถมยืดเยื้อมากว่า 3 ปีแล้ว สำหรับการออกกฎหมายเพื่อรองรับ “บริการร่วมเดินทาง” อย่าง Uber และ GrabCar แต่ล่าสุดก็มีกระแสข่าวว่า กรมการขนส่งทางบกเตรียมเปิดให้บริการ Taxi OK และ Taxi VIP ภายในเดือนกันยายนนี้ หลังจากที่มีแนวคิดในการให้บริการ Taxi รูปแบบดังกล่าวมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2559

สำหรับจุดเด่นของ Taxi OK และ Taxi VIP คือ…เป็นโครงการจากความร่วมมือระหว่าง “กรมการขนส่งทางบก กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกองทัพบก” มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมมาตรฐาน Taxi ไทยให้สามารถอำนวยความสะดวกและปลอดภัยต่อการเดินทางแก่ประชาชน ด้วยการติดตั้ง GPS , มีกล้องภายในรถ , ปุ่มแจ้งเหตุฉุกเฉิน , เครื่องสแกนคนขับ ซึ่งเจ้าของโครงการมั่นใจว่าจะช่วยแก้ปัญหาการใช้งานบริการรถสาธารณะที่ผู้บริโภคพบในปัจจุบัน และคาดว่าภายในปี 2561 จะมี Taxi เข้าร่วมโครงการนี้ไม่ต่ำกว่า 80,000 คัน

รายละเอียด Taxi OK / Taxi VIP
รายละเอียด Taxi OK / Taxi VIP

เรื่องนี้สะท้อนอะไร? ส่งผลกระทบต่อธุรกิจประเภทบริการร่วมเดินทาง ผู้ร่วมขับ และผู้บริโภคอย่างไร…?

บริการร่วมเดินทาง ครองใจผู้บริโภค

แม้ว่าบรรดาผู้ที่เคยเรียกรถผ่านแอปที่ให้บริการร่วมเดินทางจำนวนหนึ่ง จะเคยพบผู้ขับที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม หรือได้รับความไม่สะดวกจากการใช้บริการ เช่น เงื่อนไขโปรโมชั่นส่วนลด เรทค่าบริการแพงขึ้นตามช่วงที่มีความต้องการใช้งานสูง แต่เป็นอันรู้กันว่าผู้ใช้บริการ Taxi สาธารณะและเคยใช้งาน Uber GrabCar ส่วนใหญ่ต่างเทใจไปใช้และรักบริการร่วมเดินทางมากขึ้น แถมยังรู้สึกอยากใช้ซ้ำ นึกออกใช่มั้ยสาเหตุที่ทำให้ผู้คนอยากใช้การเรียกรถผ่านแอป เพราะอย่างน้อย ผู้โดยสารก็ไม่ต้องเสียความรู้สึกกับการถูกปฏิเสธ ไม่ว่าจะเติมแก๊ส ส่งรถ ล้างรถ หรือแม้แต่ “ไปไม่ทันครับ เดี๋ยวผมต้องไปรับเมีย” (เหตุผลนี้เราเจอมากับตัวเอง) ยังไม่รวมความสะดวกแค่กดเรียกแล้วนั่งรอรถมาจอดรับได้ถึงหน้าบ้าน เรียกว่าได้รับการบริการของจริง!

ประชาชนอยากใช้ แต่ภาครัฐกั๊ก?

สาเหตุที่หน่วยงานซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแล…ยังไม่มีความชัดเจนอะไรออกมารองรับบริการร่วมเดินทางนั้น เราคงไม่รู้ถึงสาเหตุที่แน่ชัด แต่ก็พอคาดเดาได้ เช่น Taxi ที่อยู่ในระบบก็มีอยู่เป็นจำนวนมาก แถมสภาพเศรษฐกิจและตัวเลือกการเดินทางที่เพิ่มขึ้น รวมถึงโปรโมชั่นส่วนลดการใช้งานจากบริการเรียกรถผ่านแอป ก็ทำให้ผู้บริโภคหันไปเลือกใช้รูปแบบการเดินทางที่สามารถตอบโจทย์ได้ตรงใจมากกว่า และขนาดว่าปัจจุบัน Taxi ต้องขึ้นทะเบียนอยู่ในระบบ แต่ก็ยังไม่สามารถควบคุมให้มีคุณภาพเป็นมาตรฐานเดียวกันได้ หากเปิดรับบริการแบบร่วมเดินทางก็หมายความว่าภาครัฐต้องเพิ่มมาตรการให้ครอบคลุมและมีหูตากว้างไกลกว่านี้ เพื่อดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ…ซึ่งทุกอย่างก็หมายถึงงบประมาณและบุคลากรที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง

^8626FA09C3910785597EDBB52C3B5728BC407ED0D079BD65C3^pimgpsh_fullsize_distr

ผู้ให้บริการยังคงเดินหน้า รอวันได้แจ้งเกิดในไทย

ก็ถือเป็นเรื่องน่าแปลกใจ ในขณะที่บริการร่วมเดินทางยังไม่ใช่เรื่องถูกกฎหมายในประเทศไทย แต่ 2 ผู้ให้บริการทั้ง Uber และ GrabCar ก็ยังคงสนับสนุนการให้บริการอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางการกวดขันและจับ-ปรับของเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงอาสาสมัคร Taxi ทั่วประเทศที่คอยสอดส่องเป็นหูเป็นตาร่วมกับตำรวจ จนมีข่าว มีคลิปเหตุวิวาทระหว่างทั้ง 2 ฝ่ายให้เห็นอยู่เรื่อยๆ คงมีเพียงสาเหตุเดียว…เพราะบริการเพื่อตอบโจทย์การเดินทางสาธารณะนั้นยังคงมีความต้องการใช้งานระดับสูง นั่นหมายถึงโอกาสและเม็ดเงินจำนวนมหาศาล ไม่ใช่แค่เพียงจากผู้บริโภคในท้องถิ่น แต่ยังหมายรวมถึงสมาชิกที่มีบัญชีผู้ใช้งานจากทั่วโลก ทำให้ใช้งานแอปพลิเคชันเดิมได้ในท้องถิ่นที่มีเปิดบริการ ไม่ต้องยุ่งยากดาวน์โหลดหรือคอยสมัครใช้บริการใหม่

Taxi ระบบใหม่จะกลายเป็นการเดินทางในฝัน

ความต้องการหลักๆ ในการเดินทางด้วยรถสาธารณะ นอกจากไปให้ถึงปลายทางโดยสวัสดิภาพแล้ว คนส่วนใหญ่คงต้องการความปลอดภัย คนขับที่มีกิริยาและพูดจาด้วยถ้อยคำเหมาะสม รถสะอาดไร้กลิ่นไม่พึงประสงค์ แล้วถ้าให้คุณลองนึกย้อนถึง Taxi ไทยที่เคยใช้บริการมาโดยตลอด มีกี่ครั้งที่คุณรู้สึกว่าทุกอย่างเป็นไปตามมาตรฐานที่ควรเป็น ถ้าให้เทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ระหว่างความประทับใจ ความมั่นใจในการใช้บริการ กับความรู้สึกตรงข้ามกันนั้น คุณรู้สึกแบบไหนมากกว่ากัน

^C92539C6CB98B6514EBACC9C332C043DA381CC9EE54BC75F9A^pimgpsh_fullsize_distr

คงต้องรอดูกันต่อไปว่า โฉมใหม่ของ Taxi ในฝันที่ภาครัฐวางแผนไว้ กับอนาคตบริการร่วมเดินทางในประเทศไทย ใครจะได้รับสิทธิ์แจ้งเกิดก่อนกัน…!

 


  • 275
  •  
  •  
  •  
  •  
Ms.นกยูง
เมื่อโลกไม่เคยหยุดหมุน เราก็ไม่ควรหยุดเรียนรู้... ชวนคุณมาทำความรู้จักหลากหลายเรื่องราว ทั้งสาระและสีสันบนโลกดิจิทัลไปพร้อมกัน
CLOSE
CLOSE