หนุน “พนักงาน” เป็น “สตาร์ทอัพ” สิริ เวนเจอร์ส ปั้น “THE FOUNDER” เสิร์ฟ PropTech หัวกะทิประดับวงการ

  • 155
  •  
  •  
  •  
  •  

startup

เราคงคุ้นชินกับการที่องค์กรใหญ่ลงทุนกับ “สตาร์ทอัพ” ด้วยหลากหลายเป้าหมาย ทั้งที่คาดหวังความคุ้มค่าจากผลตอบแทน หวังต่อยอดสู่การสร้างบริการใหม่เพื่อออกสู่ตลาดและใช้งานภายในองค์กรเอง แต่ภาพที่เราไม่ค่อยได้เห็นในประเทศไทย คือการที่องค์กรเป็นฝ่ายสนับสนุนให้พนักงานก้าวสู่เส้นทางสตาร์ทอัพเสียเอง แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่มีเลย เพราะบางองค์กรก็เริ่มหันมาใช้แนวทางดังกล่าวแล้ว

ทำไมองค์กรต้องผลักดันให้บุคลากร เปลี่ยนสถานะจาก “พนักงาน” สู่ “สตาร์ทอัพ” ?

ถ้าไม่นับความท้าทายจากการแข่งขันทางธุรกิจ ยุคนี้องค์กรยังต้องเผชิญอีกหลายปัจจัย ทั้งหมดทั้งมวลก็เกิดจาก “การปรับตัว” ไม่ว่าจะการรับมือกับเทคโนโลยี การกระตุ้นให้ผู้คนในองค์กรตื่นตัวเข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง เป็นต้น ที่กล่าวมานี้ ไม่ใช่แค่องค์กรเก่าแก่ที่ดำเนินงานมายาวนานต้องทำ เพราะแม้แต่องค์กรที่เต็มไปด้วยคนรุ่นใหม่ ก็ต้องใส่ใจเรื่องเหล่านี้…หากไม่อยากพลาด “โอกาส”

THE FOUNDER

แสนสิริ ก็คงมีแนวคิดลักษณะเดียวกัน เพราะเพิ่งจัดโครงการ THE FOUNDER ปั้นพนักงานให้กลายเป็นสตาร์ทอัพ โดยถือเป็น คอร์ปอเรท อินโนเวชัน โปรแกรม ครั้งแรกขององค์กรก็ว่าได้ ภายใต้เป้าหมายสร้างแรงกระเพื่อมในองค์กร ทำให้บุคลากรเกิดกระบวนการคิดรูปแบบใหม่ ๆ และสร้างการเปลี่ยนแปลง

“หากมองแค่ปัจจัยภายนอก จะเห็นว่ามีความเปลี่ยนแปลงมากมายและเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว การที่องค์กรจะพัฒนาให้เท่าทันโลกภายนอก ไม่ควรเกิดขึ้นแค่บริษัทที่ทำธุรกิจมายาวนาน มีอายุงานนานหลายสิบปี แต่ทุกองค์กรต้องทำ ส่วนของแสนสิริ เราก็เชื่อว่าพนักงานเป็นคนที่พร้อมเรียนรู้และปรับเปลี่ยนได้ เพียงแต่ขาดความกระหาย บริษัทจึงอยากสนับสนุนผ่านโอกาสจากโครงการดังกล่าว”

คุณจิรพัฒน์ จันทร์เจิดศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยี สิริ เวนเจอร์ส อธิบายเป้าหมาย THE FOUNDER และเล่าให้ฟังอีกว่า โปรเจคนี้จะช่วยส่งเสริมอีโคซิสเต็มส์สตาร์ทอัพของไทยให้เติบโตขึ้น โดยเฉพาะ PropTech ที่มีจำนวนน้อยมากในประเทศไทย จากสถานการณ์ทั่วโลกที่มีราว 7,000 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในอเมริกาและยุโรป ส่วนไทยอยู่ในอันดับที่ 15 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากขาดความหลากหลายทางเทคโนโลยี ขาดเทคโนโลยีเชิงลึก

เฟ้นสุดยอด “หมาจิ้งจอก” ฉายภาพใหม่ PropTech

โครงการ THE FOUNDER ใช้สัญลักษณ์หมาจิ้งจอกเป็นตัวแทน เนื่องจากหมาจิ้งจอกเป็นสัตว์ที่มีความเฉลียวฉลาด สามารถเอาตัวรอดจากความเสี่ยงได้ทุกสถานการณ์ ทั้งยังมีไหวพริบ คล่องตัว จึงเชื่อว่าจะเป็นตัวแทนที่ดีของโปรเจคดังกล่าว

นอกจากเป้าหมายในการกระตุ้นบุคลากรให้ตื่นตัว ปรับแนวคิดการทำงานสู่การเป็นสตาร์ทอัพ และการยกระดับความรู้ความเข้าใจด้านนวัตกรรมของพนักงานแล้ว สิริ เวนเจอร์ส ตั้งเป้าหมายได้เห็น PropTech หน้าใหม่ประดับวงการ สร้างสีสันและความเปลี่ยนแปลงแก่แวดวงสตาร์ทอัพ รวมถึงสร้างประโยชน์แก่องค์กร ทั้งโอกาสในการลงทุนกับสตาร์ทอัพหน้าใหม่ที่มีศักยภาพ หรือการกลายเป็นหน่วยงานใหม่ขององค์กรเพื่อสนับสนุนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น เพราะปลายทางของ THE FOUNDER นั้น ทีมที่มีศักยภาพมากพอจะเป็นสตาร์ทอัพ จะมีโอกาสตัดสินใจว่าจะลาออกจากการเป็นพนักงานประจำไปเดินตามแนวทางผู้ประกอบการหน้าใหม่ หรือจะทำงานร่วมกับองค์กรเดิมโดยจัดตั้งเป็นหน่วยธุรกิจใหม่ก็ได้

อย่างไรก็ตาม สิริ เวนเจอร์ส ย้ำว่า THE FOUNDER ไม่มีเงื่อนไขหรือข้อผูกมัดใด ๆ กับพนักงานที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น! โดยพนักงานจากทุกบริษัทในเครือแสนสิริ (แสนสิริ, สิริ เวนเจอร์ส, พลัส) สามารถเข้าร่วมแข่งขันในโครงการดังกล่าวได้ ซึ่งในช่วงเปิดรับสมัคร ปรากฎว่ามีผู้ให้ความสนใจถึง 30 ทีม แต่เมื่อเข้าสู่โรดแมปการพัฒนาธุรกิจในช่วง 12-18 เดือนแล้ว จะมีการคัดเลือกอย่างน้อย 1 ทีม ที่มีศักยภาพสู่การเป็นสตาร์ทอัพ และสนับสนุนเงินทุน 3 ล้านบาทต่อทีม ซึ่งในปีแรกตั้งเป้าเงินทุนสนับสนุนราว 36 ล้านบาท

3 ทีมตัวแทนของ THE FOUNDER

“ไม่ว่าจะมีทีมผ่านการคัดเลือกหรือไม่ บริษัทก็ตั้งเป้าจัดโครงการดังกล่าวต่อเนื่องทุกปี เพื่อส่งเสริมแวดวงสตาร์ทอัพไทยและพัฒนาศักยภาพบุคลากร”

ส่ง “กูรู” ประกบทุกขั้นตอน ให้คำแนะนำจากประสบการณ์จริง

หลังจากผ่านการคัดเลือกรอบแรกจนเหลือ 12 ทีมแล้ว จากนี้จะเข้าสู่ช่วง Rise (คัดเลือกทีมที่ผ่านเข้ารอบและใช้เวลาราว 3-4 เดือน ก่อนทำการนำเสนอต่อกรรมการอีกครั้ง) ต่อด้วย Bounce (ทีมที่ผ่านการคัดเลือกต้องสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบ และรับทุนสนับสนุนทีมละ 3 ล้านบาท) และ Shoot (ผลักดันสู่การให้บริการจริงเชิงพาณิชย์) ซึ่งสิริ เวนเจอร์ส ได้สนับสนุนผู้ให้คำแนะนำแก่ทุกทีมที่ผ่านการคัดเลือกในทุกขั้นตอน ทั้งบุคลากรภายในองค์กร ผู้เชี่ยวชาญจาก SCG รวมถึงเครือข่ายสตาร์ทอัพจากโครงการ dtac Accelerate ซึ่งเป็นพาร์ทเนอร์กับสิริ เวนเจอร์ส ทำให้บุคลากรที่มุ่งมั่นจะเป็นสตาร์ทอัพได้ปรึกษาและเรียนรู้จากประสบการณ์จริง

องค์กรอยากปั้นสตาร์ทอัพ ต้องเผชิญความท้าทาย ?

สำหรับองค์กรที่ต้องการปั้น Ventures Building ภายในองค์กร ได้แก่ การสื่อสารกับบุคลากรทุกระดับ ตั้งแต่ระดับผู้บริหาร หัวหน้างาน และพนักงาน เพื่อสร้างความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน และการปรับตัวระหว่างการทำงาน เพื่อเข้าสู่บทบาทสตาร์ทอัพอย่างเต็มตัว

“ความท้าทายที่สำคัญที่สุด คือ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับองค์กรใน 1.5 ปีจากนี้ หลังจบโครงการฯ เราต้องการพนักงานที่กล้าจะลุกขึ้นบอกว่าองค์กรมี Pain Point อย่างไร ควรแก้ไขอย่างไรเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างจากวิธีเดิมที่ปฏิบัติมาตลอด”


  • 155
  •  
  •  
  •  
  •  
Ms.นกยูง
เมื่อโลกไม่เคยหยุดหมุน เราก็ไม่ควรหยุดเรียนรู้... ชวนคุณมาทำความรู้จักหลากหลายเรื่องราว ทั้งสาระและสีสันบนโลกดิจิทัลไปพร้อมกัน