‘ยูนิคอร์น’ กับโอกาสบน Digital Economy เมื่อดิจิทัลไลฟ์สไตล์กลายเป็นก้าวสำคัญ ดันธุรกิจวิ่งลงทุนเทคโนโลยี

  • 1
  •  
  •  
  •  
  •  

Digital Economy

เมื่อปีที่แล้ว เรายังได้ยินประโยคที่ว่า “ตามหายูนิคอร์นตัวแรกของประเทศไทย” หรือไม่ก็ “จะเป็นยูนิคอร์นตัวแรกของไทย” แต่เพียงข้ามปี ตอนนี้ประเทศไทยมียูนิคอร์นแจ้งเกิดแล้ว 3 ราย คือ Flash Express และ Ascend Money และ Bitkub

แม้ทั่วโลกจะมียูนิคอร์นมากกว่า 800 ราย แต่การที่ 3 ยูนิคอร์นไทยได้แจ้งเกิดก็สร้างความโดดเด่นในกลุ่มนักลงทุนอยู่ไม่น้อย สอดคล้องกับข้อมูลจากรายงานล่าสุดของ CB Insights ที่ระบุว่า การลงทุนในระดับ Global Venture Funding ทำให้เกิดจำนวนยูนิคอร์นใหม่เพิ่มขึ้น 127 บริษัท จากทั้งหมด 848 บริษัท ซึ่งเป็นยูนิคอร์นจากเอเชีย 30 บริษัท ส่งผลให้มีเงินทุนในเอเชียเพิ่มขึ้น 95% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 50,200 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีส่วนแบ่งจากตลาดเงินทุนโลกเติบโตจาก 26% ในไตรมาส 2 เป็น 32% ในไตรมาส 3 ของปีนี้

ขณะเดียวกัน ก็ยังมีอีกหลาย ๆ ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพ เช่น นโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ และการมุ่งลงทุนของภาคเอกชนเพื่อใช้ดิจิทัลเสริมศักยภาพ เป็นต้น ทั้งหมดนี้ถือเป็นปัจจัยกระตุ้นบริษัทผู้ให้บริการในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เร่งพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างบริการรองรับความต้องการและ Digital Journey ของผู้บริโภคให้ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ก็เป็นโอกาสของสตาร์ทอัพและบริษัทด้านเทคโนโลยี ที่มีความพร้อมและตอบโจทย์ธุรกิจที่จะได้รับความสนใจจากบริษัทขนาดใหญ่ทั้งในแง่การร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ และดึงดูดการลงทุนเพื่อก้าวเป็นยูนิคอร์น

 

FinTech หนุนความสำเร็จบริการดิจิทัล

ต้องยอมรับว่าทิศทางตลาด การแข่งขัน และพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป โดยเทคโนโลยีเป็นหนึ่งในปัจจัยเร่ง ดังนั้น จึงเห็นว่ามีผู้เล่นจากหลายอุตสาหกรรมก้าวข้ามตลาดมาลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อเสริมศักยภาพธุรกิจเดิม อาทิ การลงทุนของสถาบันการเงินขนาดใหญ่ในธุรกิจเทคโนโลยีสตาร์ทอัพ การจับมือเป็นพันธมิตรระหว่างธนาคารหรือบริษัทประกันภัยหรือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกับผู้ให้บริการดิจิทัลวอลเล็ทเพื่อนำนวัตกรรมฟินเทค หรือภาคอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจโรงภาพยนตร์ที่เปิดรับสกุลเงินคริปโตเพื่อสร้างสีสันในตลาด สะท้อนแนวโน้มการปฏิวัติวงการเทคโนโลยีและบริการทางการเงินสู่ยุคใหม่

จากการศึกษา Fintech Adoption 2021 จัดทำโดย App Annie และ EY เพื่อวิเคราะห์ผู้เล่นอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดและเติบโตเร็วที่สุดในอาเซียน เปิดเผยว่าผู้ประกอบการที่เติบโตเร็วที่สุดหลายราย ใช้กลยุทธ์การเป็นพันธมิตรกับผู้ให้บริการทางการเงินแบบ Win-Win ทั้งสองฝ่าย การเป็นพันธมิตรธุรกิจระหว่าง Financial และ Non-Financial ทำให้ต้องร่วมกันพิจารณาโอกาส ความเสี่ยงและผลตอบแทนของการทำงานร่วมกัน เพื่อช่วยให้กำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น อาทิ ป้องกันตำแหน่งทางธุรกิจอย่างไร ต้องแข่งขันอย่างไร หรือแม้แต่พิจารณาขยายขอบเขตการเป็นพันธมิตรกับผู้ให้บริการกลุ่มอื่น ๆ ด้วย

 

จะเกิดอะไรกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ?

สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อสร้างความสำเร็จ

  1. ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ ๆ ในอาเซียนกำลังขยายบริการ TechFin เพื่อครอบคลุมบริการทางการเงินบนแพลตฟอร์มของตนเอง พร้อมกับมองหาพันธมิตรในกลุ่ม FinTech เพื่อผสานความแข็งแกร่งระหว่างแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและอีวอลเล็ท รวมถึงใช้โอกาสในการขยายฐานผู้ใช้ร่วมกัน และผสานความสามารถในการนำดาต้ามาปรับใช้เป็นกลยุทธ์ในการพัฒนานวัตกรรมและเพิ่มโอกาสทางการตลาด
  2. ผู้ให้บริการ FinTech เริ่มมีบทบาทสำคัญกับในการเพิ่มมูลค่าบริการของสถาบันการเงิน รวมถึงเพิ่มการเข้าถึงบริการ และตอบรับความต้องการของผู้คนที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงินรูปแบบเดิม ๆ ให้ได้รับประโยชน์จากบริการทางการเงินหลากหลายรูปแบบในแอปเดียวนอกเหนือจากการจ่ายและโอน เช่น การซื้อประกัน การลงทุนในกองทุน หรือการซื้อหุ้น เป็นต้น
  3. FinTech สามารถมอบบริการที่มีความยืดหยุ่นกว่า ด้วยความได้เปรียบจากการมีเทคโนโลยีที่ปลดล็อคข้อจำกัดต่าง ๆ ในอดีต ทำให้เกิดการรีโมเดลธุรกิจเพื่อลดกระบวนการดำเนินงาน การให้บริการ และอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้มากขึ้น เช่น สินเชื่อรถยนต์ที่ปรับรูปแบบให้สามารถทำได้ผ่านแอปแทนการไปยื่นเอกสารด้วยตนเอง หรือการนำเสนอสินเชื่อที่ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลจากพฤติกรรมการใช้จ่ายสินค้าและบริการ
  4. หลายผู้ให้บริการกำลังมองหาและขยายการลงทุนใน Deep Tech อาทิ Artificial Intelligence, Blockchain, Big Data, Quantum Computing เป็นต้น เพื่อสร้างนวัตกรรมบริการที่ตอบสนองดิจิทัลไลฟสไตล์ และต้องตอบโจทย์ประสบการณ์ของลูกค้าให้ได้มากที่สุด รวมถึง การสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่เพื่อเพิ่มศักยภาพทางการเงินให้ผู้บริโภคที่มาเลือกใช้สินค้าและบริการ หรือเป็นเครื่องมือสนับสนุนการทำงานและสร้างความปลอดภัยทางการเงินในระบบนิเวศขององค์กร

 

หากถามว่าทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องกับสถานะยูนิคอร์นของสตาร์ทอัพในไทยอย่างไร คงต้องตอบว่า…นี่คือหนึ่งในสัญญาณชี้วัดศักยภาพของธุรกิจ ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งสามารถสร้างโอกาสและความเปลี่ยนแปลงทั้งในประเทศและต่างประเทศ พร้อมผลักดันให้เกิดมิติของเศรษฐกิจดิจิทัลที่สร้างงาน สร้างรายได้ ภายใต้ขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศนั่นเอง


  • 1
  •  
  •  
  •  
  •  
Ms.นกยูง
เมื่อโลกไม่เคยหยุดหมุน เราก็ไม่ควรหยุดเรียนรู้... ชวนคุณมาทำความรู้จักหลากหลายเรื่องราว ทั้งสาระและสีสันบนโลกดิจิทัลไปพร้อมกัน
CLOSE
CLOSE