จาก Youtube Creator สู่ผู้บริหาร Online Channel แถวหน้าเอเชีย ล้วงความลับ Key Success จาก Bie The Ska

  • 28
  •  
  •  
  •  
  •  

ปัจจุบัน Youtube Creator หรือ Youtuber ที่เรียกๆ กันเกิดขึ้นมากมายบนโลก บ้างก็ดังชั่วข้ามคืน แล้วก็หายไป บ้างก็อยู่นานหลายปีกว่าจะมีชื่อเสียง เราเห็นพัฒนาการของทั้งคนทำคอนเทนต์แลคอนเทนต์ผ่านแพล็ตฟอร์ม Youtube แห่งนี้มากมาย แต่ไม่ว่าวงการ Content Creator จะเปลี่ยนแปลงสักแค่ไหน แต่ชื่อของคนๆ นี้ก็ยังถูกพูดถึงและกลายเป็น Role Model ของ Creator หลายคนในปัจจุบัน และก้าวขึ้นมาเป็น Creator ระดับตำนาน เขาคือ “บี้ เดอะ สกา”

“บี้” หรือชื่อจริงตามบัตรประชาชนก็คือ “กฤษณ์ บุญญะ” มีชาแนลในช่องตัวเองในชื่อ Bie The Ska ซึ่งมียอด Subscribe 12 ล้าน เคยได้รับ รางวัล Thailand Most Popular Channel บนเวที WebTVAsia Awards 2015 ปัจจุบันเปิดบริษัทในชื่อว่า บริษัท เดอะสกาฟิล์ม จำกัด  จากวันนั้นที่เป็นเพียง Youtube Creator จนมาถึงวันที่ก้าวมาเป็นผู้บริหาร เปิดบริษัทของตัวเอง มีลูกน้องกว่า 20 ชีวิตที่ต้องดูแลปากท้อง “บี้” ได้มาเปิดใจทุกเรื่องราวกับเรา รวมไปถึงเคล็ดลับในการทำงานอย่างไรให้เอาอยู่ทั้งคอนเทนต์ที่สดใหม่เสมอไม่เคยตกยุค รวมไปถึงการทำงานร่วมกับแบรนด์ที่เขาได้ผ่านอย่างโชคโชน การทำงานกับทีมงานคนรุ่นใหม่ในฐานะผู้บริหาร เชื่อว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับทั้งแบรนด์ นักการตลาด รวมไปถึงคนที่อยากจะมาเป็น Creator ด้วยเช่นกัน มาทำความรู้จักกับเขาในทุกแง่มุมกันเถอะ

ลาออกจากงานประจำเพื่อทำคอนเทนต์อย่างจริงจัง แต่ที่สิ่งที่คิดไม่เป็นดั่งหวัง

“บี้” เล่าถึงชีวิตก่อนที่จะมาเป็น บี้ เดอะ สกา ทุกวันนี้ว่า เริ่มต้นจากเป็นนักเรียนจากต่างจังหวัดมาเรียนที่กรุงเทพฯ ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) หรือเทคโนโลยีบางมด คณะวิศวะคอมพิวเตอร์ พอเรียนอยู่ปี 2 ก็อยากทำคอนเทนต์ตลกๆ ให้เพื่อนดูคลายเครียดช่วงสอบ พอทำแล้วก็มีคนชอบ ก็เลยทำมาเรื่อยๆ ซึ่งมีอยู่คลิปหนึ่งทำล้อเลียนพี่บี้ เดอะสตาร์ แล้วคนก็ชอบมาก จนเป็นที่มาของชื่อที่ใช้ในวงการทุกวันนี้

ช่วงแรกคนดูอาจจะไม่เยอะ แต่ละคลิปประมาณแค่ 800 กว่าวิว แต่ตอนนั้นเราก็รู้สึกว่ามันเยอะมาก มันก็มีความภูมิใจ เริ่มมีคนรู้จักจากคลิปต่างๆ มากขึ้น ก็รู้สึกดีใจที่ทำให้คนสนุกได้แล้วก็มีคนติดตามเราพอสมควร แต่ตอนนั้นยังไม่ได้หารายได้จาก Youtube ยังทำสนุกเล่นๆ อยู่

พอเรียนจบก็มาทำงานเป็น Developer ที่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ทำได้ประมาณ 1 ปี ตอนนั้นหลังจากมีชื่อเสียงบ้างแล้ว ก็เลยมีงานโฆษณา มีงานแคสต์ต่างๆ เข้ามาบ้าง เลยทำให้รู้สึกว่าอาชีพตรงนี้มันทำเงินได้ มีรายได้ดีกว่างานประจำก็เลยตัดสินใจลาออกมาทำงานด้านนี้เต็มตัวเลย

หลังจากออกจากงานประจำแล้ว สิ่งที่คิดว่าชีวิตจะดีขึ้นกับสายเอ็นเตอร์เทน ไม่ได้เป็นอย่างที่คิด  บี้ เล่าว่า ได้ออกมาทำคอนเทนต์บน Youtube อย่างจริงจัง ทำอยู่ 6 เดือน ปรากฏว่าไม่ได้เป็นอย่างที่คิด ตอนนั้นคิดว่าถ้าออกมาทำอย่างจริงจัง คนติดตามจะเพิ่มขึ้น คนดูจะเยอะขึ้น รายได้จะเยอะขึ้น แต่กลับกันหมดเลย คนติดตามเท่าเดิม ยอดวิวดรอป ตอนนั้นออกไปแคสต์เยอะจริง แต่ไม่ได้ ได้แค่บางอัน ตัวงานสปอนเซอร์ไม่มีในตอนนั้น ก็คิดอยากกลับไปทำงานประจำ อย่างน้อยยังมีสกิลด้านโค้ดดิ้ง แต่ตอนนั้นก็มีน้องๆ ที่ทำงานอยู่กับเรา เราก็พยายามดูแลค่าใช้จ่ายให้ แต่ยังไม่ได้เปิดเป็นรูปบริษัท มันสนุกก็จริงแต่มันไม่ทำเงิน

เกือบไม่ได้ทำ Youtube ต่อ แต่คลิปเดียวเปลี่ยนชีวิต

จนกระทั่งมีคนส่งคลิปหนึ่งมาให้เขา อาจเรียกว่าเป็นคลิปเปลี่ยนชีวิตคนๆ หนึ่งเลยก็ได้ บี้ เล่าว่า ตอนนั้นมีคนส่งคลิปมาให้ เขาบอกพี่ลองเลียนแบบเพลงนี้สิ เราก็ว่าเป็นความคิดที่ดี เพราะเราก็โตมาจากพวกคลิป Parody ก็ถ้าไม่เวิร์คก็แค่กลับไปทำงานประจำ พอตัดสินใจได้ก็ประกาศกับแฟนๆ บนเพจว่า มีใครอยากจะมาร่วมแจมทำคลิปกับเราบ้าง ไม่มีสตางค์ให้นะแต่ได้สนุกด้วยกันแน่นนอน ก็เลยตัดสินใจทำคลิปล้อเลียนเพลงนั้น ซึ่งก็คือเพลง “กังนัมสไตล์”

 

 

ปรากฏว่า มันดังมาก มีคนดูเยอะมาก เป็นล้านวิว มีรายการทีวีมาขอสัมภาษณ์มากมาย เราก็พาน้องๆ ที่ไปเต้นด้วยกันไปออกด้วย ทำให้เริ่มมีค่าตัว มีงานไปโชว์ตามต่างจังหวัดมาก คลิปนั้นทำให้มี Follower เพิ่มขึ้นประมาณ 60,000 คน ช่องก็เติบโตไวมาก เริ่มมีเงินเก็บบ้างแล้วก็ตัดสินใจเปิดเป็นบริษัทต่อมาเลย

กล้าคิดและลงมือทำเลย สำคัญต้องเติมความรู้ให้ตัวเองอยู่ตลอด

เมื่อถามถึงการหยิบไอเดียต่างๆ มาทำงานแต่ละชิ้นได้ไอเดียมาจากไหนบ้าง บี้ เผยว่า มันเกิดจากประสบการณ์ การใช้ชีวิตในแต่ละวัน การได้พบเจอได้สังเกตผู้คน พฤติกรรมต่างๆ เช่น ขึ้นรถเมล์ ขึ้นแท็กซี่ ทุกอย่างในการใช้ชีวิต หยิบเอาเกร็ดเล็กๆ ตรงนั้นมาเป็นแก๊ก

“คุณตาบอกกับผมบอกกับแม่ผมเสมอว่า ให้ลองทำก่อนชาวบ้าน สำเร็จหรือไม่สำเร็จ ลองทำดูก่อน จะได้รู้ว่าดีไม่ดี ถือว่าโชคดี ณ วันนั้น เลือกว่าทำคอนเท้นท์ เลือกเปิดบริษัท ลองทำอะไรบางอย่างที่ยังไม่เคยได้ลองทำ”

แต่นอกเหนือจากการเก็บทุกสิ่งรอบๆ ตัวมาเป็นไอเดีย สิ่งหนึ่งที่เรารู้มาก็คือ บี้เองก็ศึกษางานต่างๆ เยอะมาก เรียกว่าทำการบ้านมาเยอะมากทีเดียว มันไม่ใช่แค่ประสบการณ์จากการใช้ชีวิตอย่างเดียว มันเป็นจากการที่เราเสพย์งานที่เยอะด้วย ผมดูวิดีโอเยอะมากบนออนไลน์ ใช้เวลาดูต่อวันเยอะมำ”

แล้วบี้ยังแนะว่า การศึกษาคอนเทนต์ที่ดี ก็ต้องตามมาด้วยการถกเถียงกับทีมงานด้วย เพื่อเปิดโลกต่างๆ ให้กว้างขึ้น ซึ่งทำให้เขามีความสุขกับการทำงานทุกๆ วัน

“อย่างที่ผมสนุกคือเอาสิ่งนี้มาถามทีมงาน ทำไมอันนี้คนดูเยอะ คนดูน้อย เอามาถกกัน อันนี้ผมชอบ บางกระแส บางข่าว อาจเสพย์น้อยในวันนั้น ก็ใช้วิธีถามทีมงาน ช่วงนี้อะไรมา ช่วงนี้อะไรบ้าง ถามคนนี้คนนั้นดูแล้วเป็นอย่างไร สรุปแล้วคืออะไร จะเติมเทรนด์ข่าวสารเข้ากับตัวตลอดเวลา”

เคล็ดลับทำคอนเทนต์ให้มัดใจผู้ชม

เรียกได้ว่า บี้ เดอะ สกา เป็น Youtube Creator ที่ยังอยู่ในใจผู้ชมตลอดเวลา แต่ละครเทนต์ที่ออกมาก็โดนใจผู้มชมแทบทุกชิ้น บี้ เผยถึงเคล็ดลับในการผลิตงานแต่ละชิ้นให้ออกมาโดนใจผู้ชมว่า อย่างแรกเลยเราต้องรู้ว่าแนวทางเราไปทางไหน สมมติคุณทำตลก คุณก็ต้องรู้ว่าคนดูต้องการความสนุก ความตลก ต้องเสิร์ฟให้ถูกจุด สมมติเราทำสายท่องเที่ยว ต้องรู้ว่าคนดูต้องการอะไร ท่องเที่ยวก็มีหลายสาย บางคนชอบไปที่ยากๆ ต้องการมาดู unseen หรือท่องเที่ยวสายข้อมูล คนก็มาดูเอาความรู้ สิ่งสำคัญจะฮุคให้ได้ ต้องเข้าใจ Audience มันตอบโจทย์ได้หมด ผมกดติดตามมาร์เก็ตติ้งอุปส์ ผมจะเห็นฟีดเป็นอันแรก พอเข้าใจ พยายามเข้าใจเค้าให้มากขึ้น ทำเทสต์ด้วยคอนเท้นท์เลยว่าซักเซสไหม คนดูคนพูดถึงคอนเท้นท์เราหรือเปล่า การออกไปข้างนอกถามฟีดแบ็ก เราจะได้คุยในเชิงลึก ที่เราไม่เข้าใจในบางอย่าง

“ผมถามคนที่ดูว่า ชอบดูคอนเท้นท์อะไร ทำไมชอบดูคอนเท้นท์นี้ ผมขี้เบื่อ เบื่อที่จะทำอะไรซ้ำ ๆ เดิม ๆ เลยลองทำอะไรที่ไม่เคยทำ เหมือนที่คุณตาบอก”

วัดผลคอนเทนต์ผ่าน Analytic สร้างประสิทธิภาพมากขึ้น

แม้จะใช้สัญชาตญาณหรือการสอบถามคนดูว่าชอบไม่ชอบงานไหน แต่ บี้ ก็บอกว่าแค่นั้นยังไม่พอ เรื่องของ data หลังบ้านก็จำเป็นเพื่อนำมาวิเคราะห์ประกอบกัน มีการศึกษาผ่านข้อมูล Analytic หลังบ้าน ซึ่งพอได้ข้อมูลชุดหนึ่งแล้วก็เอามาคอนเฟิร์มกับคนจริงๆ เพื่อให้รู้ว่าแนวทางนี้คนชอบ แล้วเราก็จี้ลงไปให้ถูกจุด แต่ถ้าถามว่า กลุ่มคนดูเราเป็นกลุ่มไหน อันที่จริงไม่ได้สร้างคอนเทนต์ที่เริ่มต้นว่าจะทำเพื่อเซิร์ฟกลุ่มไหนอย่างไร แต่เป็นการที่มองว่า อยากจะทำสิ่งไหนก่อน ประเภทของรูปแบบรายการ หลังจากนั้นไปวิเคราะห์ตามหลังก็ได้

ปัจจุบัน ชาแนล บี้ เดอะ สกา มีกลุ่มผู้ชมอายุเฉลี่ย 18-24 ปี ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยรุ่น รองลงมาเป็น กลุ่มผู้ใหญ่ และเด็ก

“ใจเราชอบคนเท้นท์อย่างนี้ ก็ทำแบบนี้ ผมว่าบาลานซ์ดีกว่า ลองทำแล้วหนึ่งเดือนในแบบที่ว่าประเภทรายการนี้กี่คอนเท้นท์แต่ปรากฏว่าลองแล้วไม่สนุก เซ็ทจำนวนแล้วไม่สนุก เพราะขาดความต่อเนื่องของคอนเท้นท์ ก็เลยเลิกทำ เราให้ความสำคัญกับความสนุก คนที่นี่ 25 คน ทุกคนมีใจ มีไฟ รักในการทำมันจริง ๆ มันมีเป้าหมายเดียวกัน”

วิธีในการคัดเลือกทีมงาน และการเติมไฟให้ตัวเอง

เมื่อถามถึงทีมงานในปัจจุบันเป็นอย่างไร บี้ บอกว่า ส่วนใหญ่เป็นเด็กรุ่นใหม่ อายุเฉลี่ย 25-26 ปี ที่สำคัญคือ เขาชอบทำงานกับคนรุ่นใหม่มาก เหมือนกับช่วยเติมไฟให้เขา และไม่เกี่ยงเลยว่าจะจบมาด้วยเกรดอะไร แต่ขอแค่ให้เป็นคนมีไฟมีไอเดียความคิดสร้างสรรค์ และหลายคนก็เริ่มต้นจากการเป็นแค่เด็กฝึกงานจนจบออกมาก็มาทำงานด้วยกัน ซึ่งเด็กๆ นี่แหละช่วยเติมไฟเติมความเฟรชให้การทำงานด้วย

“ผมชอบเจอคนใหม่ๆ ผมให้ความสำคัญกับการคัดนักศึกษาฝึกงานมาก ผมเห็นเขาแล้วไฟลุก มีไฟ ผมจะเลือกคนที่มาฝึกงานมองว่าเป็นพนักงานคนหนึ่งเลย ที่นี่ มีพนักงานหลายคนผันตัวจากนักศึกษาฝึกงานมาเป็นพนักงาน ตัวผมเองอยากจะเติมไฟและไม่อยากยึดติดกับแนวคิดเดิมๆ ผมกลัวว่าอยู่กับ environment เดิม ๆ คนเดิม ๆ ไม่โดนกระเทาะจากอะไรสักอย่าง จะทำให้คิดว่าสิ่งที่เราทำมันดีอยู่แล้ว ดังนั้น ผมเลยอยากได้ความสดใหม่ เฟรช จากหลายๆ คน”

ส่วนวิธีในการดูว่าเด็กคนไหนมีไฟ มีพลัง บี้แนะแนวทางสังกตว่า จะใช้วิธีดูสกิลในการสื่อสาร สีหน้า แววตา น้ำหนักในการพูด ลักษณะการทำงานกับเพื่อนฝูงจะต้องสนุก นี่คือคะแนนแรก ส่วนที่สองก็คือตอนเรียนมหาวิทยาลัยทำอะไรมาบ้าง ทำกิจกรรมไหม มีผลงานไหม มีความกล้าคิดกล้าลองสร้างสรรค์ผลงาน คนแบบนี้ไม่ยึดติดอยู่แค่ว่า อาจารย์สั่งทำ เค้าอยากใส่ ใส่ใหญ่ งานจะ unique และมีไอเดียใหม่ๆ ไหม พอมีสิ่งเหล่านิ้สิ่งอื่นก็จะตามมาเอง

 

บทเรียนจาก “โควิด”

ถ้าไม่ชวนคุยเรื่องการฝ่าวิกฤตโควิดในช่วงที่ผ่ามาคงไม่ได้ บี้ เดอะ สกา ชาแนล ก็เช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดเช่นกัน แต่เขาก็สามารถเปลี่ยนมันให้กลายเป็นโอกาสได้ บี้ เล่าว่า ตอนแรกไม่ได้คิดว่ากระทบอะไรเยอะ ก็ยังมีรายการท่องเที่ยวต่างประเทศ มีสปอนเซอร์โน่นนั่นนี่ พอตกเดือนสาม (มีนาคม)  กระทบหนักตรงลูกค้าเลื่อนงานทั้งหมดออกไปก่อน เลื่อนไปถึงเดือนหก มีหลายตัวมาก หรือลูกค้ากำลังจองเพื่อทำคอนเท้นท์ต่างประเทศ รวมไปถึงการเลื่อนถ่ายทำแบบไม่มีกำหนดก็มี หรือเลื่อนออนแอร์ก็มี หนักเลยช่วงนั้น ก็เลยต้องมานั่งคุยกับทีมงามา  brainstorm ก่อนว่าจะทำอย่างไร เริ่มแรกก็ให้ส่วนหนึ่งทำงานที่บ้าน ส่วนหนึ่งมาทำงานที่ออฟฟิศ ซึ่งมีข้อดีว่าไม่ได้ทำงานอยู่ที่สำนักงานหรือบิวดิ้งให้เช่า มันสแตนอโลน์ ก็ยังสามารถทำงานที่นี่ได้ จากนั้น พอเข้าเดือนที่สี่ (พฤษภาคม) หลายๆ อย่างก็เริ่มดีขึ้น เริ่มมีลูกค้าเข้ามาทำแคมเปญเรื่อยๆ แล้วยอดวิวก็เยอะขึ้นด้วย เริ่มมีรายได้จาก Youtube เข้ามามากขึ้น มีคนเริ่มจองแอดฯ แล้ว หลายแบรนด์ก็ทำเริ่มทำแคมเปญบนออนไลน์มากขึ้นด้วยในช่วงโควิด

“สิ่งที่ได้ดีจากโควิดคือ เรามามองตัวเองมากขึ้น ทำให้มีเวลามาดูทีมงานว่า อะไรเป็นส่วนที่สิ้นเปลืองเวลาในการทำงาน เราได้มาคุยมาถก เรื่องการเงินบริหารจัดการได้อย่างไร process ในการทำงานเป็นอย่างไร ซึ่งหลังทบทวนการทำงานแล้วก็พบว่าทำให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น อะไรที่ไม่จำเป็นก็ลดลง”

หัวใจสำคัญของการเป็น Youtube Creator ระดับตำนาน

Youtube Creator มีมากมายที่เกิดใหม่ และบ้างเกิดเร็วแล้วก็หายไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน แม้กาลเวลาผ่านไป แต่ “บี้ เดอะ สกา” ก็ยังคงอยู่และไม่เคยตกยุค เขาเปิดใจในเรื่องนี้ว่า

“ผมอาจไม่ใช่เบอร์หนึ่ง แต่ผมอยู่มานาน ผมเชื่อว่าสิ่งสำคัญ ที่ทำให้ผมมาถึงทุกวันนี้ได้ หนึ่ง ความต่อเนื่อง การที่เราทำคอนเท้นท์สม่ำเสมอ ไม่ใช่แค่ลงคลิปทุกวันอังคาร พุธ ไม่ใช่ แต่คือการทำงานให้คนดู ทำให้แบรนด์สินค้าตอบโจทย์อย่างสม่ำเสมอ อันนี้สำคัญมาก

ข้อสอง คือการพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ และไม่ใช่แค่ตัวผมพัฒนา ในความหมายของผมคือทั้งองค์กร พัฒนาเพื่อให้ทันยุคทันสมัย ถ้าผมยังทำอะไรในรูปแบบเดิม ๆ ที่เคย success เมื่อห้าปี สิบปีที่แล้ว ปัจจุบันผมคงหายไปแล้ว แต่การที่ผมพัฒนาตัวเอง คนสนใจเรื่องอะไร กระแสเป็นอย่างไร ทิศทาง ดูอนาคต วิเคราะห์ตัวเองในอดีต พัฒนาคอนเท้นท์อยู่เสมอ พัฒนาทีมงานอยู่เสมอ พัฒนาวิธีคิดอยู่เสมอ สิ่งนี้จะทำให้เราอยู่ได้อย่างยาวนาน

อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญมากคือจิตใจของเราเองว่า เราทำคอนนเท้นท์เพื่อ stand for อะไร ทำสิ่งนี้มา เพื่ออะไร ปัจจุบันผมอยากทำคอนเท้นท์เพื่อกลุ่มคนดูให้เขาได้ดูอะไรที่สดใหม่ สิ่งที่สนุก ตลก เพลิดเพลิน มันทำให้ผมอยู่ได้ถึงทุกวันนี้ ตอบโจทย์พวกนี้อยู่ได้ตลอด เราลองกลับมาถามตัวเองว่าจริงๆ แล้วทำเพื่ออะไร สิ่งนี้มันจะทำให้เรารู้ว่า เราออกแบบคอนเท้นท์มาเพื่อสิ่งใดคน”

 

คำแนะนำสำหรับคนที่จะเป็น Youtube Creator มืออาชีพ

ถ้าบอกว่าโตขึ้นจะเป็น Youtube Creator พ่อแม่คงตีมือหัก แต่ปัจจุบันก็พิสูจน์ว่าเป็นอาชีพได้ และกลายเป็นอาชีพในฝันของเด็กๆ ไม่แพ้กับการเป็นหมอ เป็นวิศวกร หรือมนุษย์อวกาศ ดังนั้น สำหรับคนที่มองว่าจะยึดเป็นอาชีพ หรือมาหารายได้ทำเงินจากตรงนี้ บี้ ให้คำแนะนำและคำเตือนว่า ถ้าใครมองว่า Youtube Creator เป็นอาชีพที่รวย อาชีพที่ทำเงินได้ด้วยไลฟ์สไตล์ของตัวเอง งั้นชั้นกระโดดเข้ามาทำด้วย ซึ่งการเริ่มต้นจะคนละแบบกับตนเองที่มาจากความชอบแล้วพัฒนามาเป็นรายได้ ถ้าเริ่มต้นอย่างนั้นก่อนอาจจะมีความเครียด เพราะเราคิดจะทำเงินจากมัน แต่ถ้าไม่ได้เงินจากมันจะเครียดมาก ยิ่งบางคนกระโดดจากงานประจำแล้วมาทำเลยถ้าไม่เป็นดังที่คิดก็จะเครีดมาก

ดังนั้นคำแนะนำคือ ถ้าจะทำอยากให้ลองทำเป็นงานอดิเรกก่อน ไม่อยากให้มาลองทำเป็นหลักหรืองานประจำ ทำไปจนกว่าคอนเทนต์มันจะหารายได้ให้ หรือหารายได้ที่มากกว่างานประจำค่อยออกมทำงานตรงนี้อย่างจริงจังจะดีวกว่า เพราะคุณไม่รู้หรอกว่า การสตารท์แล้วมันจะไปได้ไกลแค่ไหน แล้วมันใช่สิ่งที่เรารักจริงๆ หรือเปล่า สมมติคุณทำแล้วมันไม่ใช่สิ่งที่คุณรัก ไม่มีแพชชั่นกับมันจะทำได้ไม่นาน ทำได้แป๊บเดียว แต่ถ้าคุณสนุกกับมัน คุณจะทำได้นาน แนะนำ ถ้ามีงานอยู่แล้ว ลองทำเป็นงานอดิเรก ถ้าใครที่ตัดสินใจเข้ามาทำ ลองทำอย่างอื่นที่ได้เงินแล้วลองทำอันนี้ไปด้วย เพื่อทดลองว่าจริง ๆ แล้วเราชอบอะไร เราอยู่สายไหน คอนเท้นท์อะไรที่โดนกับเรา

การทำงานร่วมกับ Brand และการบาลานซ์ทีมงาน

อีกหนึ่งบทเรียนที่ บี้ ให้คำแนะนำที่ดีมากเกี่ยวกับการทำงานร่วมกับแบรนด์ ซึ่งตรงนี้มีทั้งมุมของ Creator ที่ทำงานร่วมกับแบรนด์และการเป็นผู้บริหารที่ประสานทีมงานให้ทำงานลูกค้าได้อย่างราบรื่น บี้เล่าว่า การมีแบรนด์มีความท้าทายเพิ่มมากขึ้น เหมือนกับการทำเลขแล้วมีโจทย์เป็นตัวแปร แก้ตัวแปรแก้สมการให้ได้ ตัวแปร แรกคือคอนเทนต์ที่เราทำเราต้องชอบด้วยนะ สองคือคนดูก็ต้องชอบ เพราะมันมีผลต่อยอดวิว สุดท้ายคือ Key message ต้องออกเพื่อลูกค้า ดูจบแล้วเขาต้องมี engage กับแบรนด์หรือมี Call to action สามอย่างนี้ต้องผสมกันให้ดี สมมุติว่าทั้งสามตัวแรปนี้ไม่ออก แล้วลูกค้าที่ไหนจะสนใจทำงานกับเรา

 

“พูดรวมๆ กันว่า เวลาทำงานกับแบรนด์สุดท้ายแล้ว สมการ เท่ากับ อรรถรสที่คนดูชอบ มี message ที่แบรนด์อยากจะปล่อยออกมา และตัวตนของเรา”

 

ส่วนคำแนะนำในการประสานทีมงานเมื่อทำงานกับลูกค้าแล้วอาจจะเกิดปัญหา ในฐานะผู้บริหารบริษัทบี้เล่าวิธีในการแก้ปัญหาว่า มันก็มีบ้างที่ลูกค้าอัด message มาค่อนข้างเยอะ ทีมงานบางครั้งก็อาจจะไม่เข้าใจ หรือครีเอทีฟก็ตกใจ เราก็จะต้องเข้าไปช่วยปรับ mindset ให้ คือมันต้องมีการปรับจูนกัน จริง ๆ อย่ากลัวที่ลูกค้าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะปัจจุบันลูกค้าเองก็ศึกษาเรามาระดับนึงแล้วว่าคอนเทนต์เราเป็นอย่างไร คนดูเราเป็นกลุ่มไหน สิ่งที่เราต้องทำคือ เข้าใจ สมมติเราเป็นแบรนด์ เราก็อยากให้สิ่งที่อยากขายออกไปเยอะที่สุด เราก็ต้องเอาตัวเองไปอยู่ในพาร์ทของเขา เข้าใจเขา ทำอย่างไรเราถึงจะทำงานร่วมกันได้ ขอแค่เข้าใจฝ่ายเขา ให้เขาเข้าใจเราด้วย

“จริง ๆ มันจะมีจุดตรงกลาง แบรนด์ก็อยากได้เยอะ สมมติลูกค้าเยอะแก้ไม่ได้ ผมก็ใช้วิธี Make fun เรื่อง Message เยอะๆ ไปเลย ผมก็จะอัด Message แล้วทำให้กลายเป็นเรื่องตลกแทน ถ้าจะขายของคนดูจะรู้ว่ามันจะขายของ แต่เราจะขายอย่างไรใหมันดูตลก ขายให้ดูเยอะเกินไป เยอะเวอร์ แต่เราไม่ได้ทำประชดลูกค้านะเราแค่ทำในแบบของเรา”

 

ทำนายวงการ Creator จะเป็นอย่างไรต่อไป

บี้ให้มุมมองว่า ตนเองอยู่มากับ Youtube หลักๆ อยู่ในวงการมานาน จึงเห็นการเปลี่ยนแปลงของแพลตฟอร์มต่างๆ หลากหลายแพลตฟอร์ม ปัจจุบันที่เติบโตก็มีหลายแพลตฟอร์ม ที่เกิดใหม่ก็มีอย่าง TikTok  ที่หายไปแล้วก็มีอย่าง Socialcam ดังนั้น จึงมองว่าอนาคตก็จะมีแพล็ตฟอร์มเกิดขึ้นอีกมากมาย คนที่เป็น Content Creator ก็มีช่องทางในการทำ  Content หลากหลายแพลตฟอร์มเพิ่มมากขึ้น แล้วก็จะสร้างโอกาสทางด้านอาชีพและธุรกิจที่เกิดขึ้นโดยที่คาดไม่ถึงในอนาคตเช่นเดียวกัน

ส่วนด้านการทำคอนเทนต์ ตนเชื่อว่าคนดูอยากจะรู้อินไซต์ ของ Content Creator เพิ่มมากขึ้น อยากรู้ว่าตัวตนคนนั้นมีวิธีคิดอย่างไร มีการทำงานอย่างไร มี mindset อย่างไร ดังนั้น ที่เราเสิร์ฟได้ก็คือ add ความชอบของเราเข้าไปในคอนเทนต์ที่คนดูชอบ ไม่ใช่นำเสนอไอเดียที่แปลกแหวกแนวอย่างเดียวแล้ว อาจต้องเสริมตรงนี้เข้าไป เพื่อให้คอนเท้นท์ครบอรรถรสมากขึ้น

เมื่อถามว่า Content Creator จะแทนดาราหรือศิลปินได้ไหม บี้บอกว่า “ผมไม่ขอใช้คำว่า แทน ผมขอใช้คำว่า Blend เมื่อก่อนคนจะแยก mainstream ชัด ๆ เลย เมื่อสองปีที่แล้ว คนอาจจะพูดว่า mainstream คือ ดาราทีวี เน็ตไอดอล แต่ปัจจุบันคนไม่ได้มองว่านี่คือดารา นี่คือเน็ตไอดอล แต่คือ Influencer คือคนที่มีอิทธิพลบนออนไลน์ ทุกคนจะอยู่ในเลเวลคล้ายๆ กัน Blend เข้าหากัน สุดท้ายทุกคนเป็น Influencer แต่เขาแค่อาจมีละครบนทีวี หรือ Content Creator ก็มีมาอยู่บนทีวีด้วยแบบนี้

 

จาก Youtuber สู่ผู้บริหารองค์กร ชีวิตที่เปลี่ยนไปของคนชื่อ “บี้”

เมื่อถามว่าชีวิตเปลี่ยนไปมากไหม จากเด็กต่างจังหวัดคนนึงที่มาเรียนในกรุงเทพฯ แล้วก็นึกสนุกทำคลิปให้เพื่อนๆ ดู สู่การก้าวมาเป็นผู้บริหารในวันนี้ บี้ บอกว่า ชีวิตเปลี่ยนไปมาก ไม่คิดเหมือนกันว่า จากสิ่งที่ทำในวันนั้น เป็นคนตั้งกล้องถ่ายตัวเองลิปซิงก์ วันนี้เป็นอาชีพ เป็นผู้บริหาร

“วันนึงผมก็ไม่รู้หรอกว่าจะเรียกอาชีพนี้ว่าอย่างไร วันที่ผมออกจากงานประจำมา เพื่อนของคุณพ่อคุณแม่ถามว่า ลูกทำงานอะไร ผมไม่มีคำตอบให้เค้า ผมบอกว่า ทำโฆษณาออนไลน์ เพราะคำว่า YouTuber ยังไม่ได้เป็นที่จดจำหรือเข้าใจในตอนนั้น จนมาเปิดบริษัทจึงตอบได้ว่า ผมมีบริษัทเป็นของตัวเอง บริษัททำโฆษณาออนไลน์ จนถึงวันนี้ที่มาทำอย่างจริงจังชีวิตเปลี่ยนไปมาก ผมมีความสุขกับมันมาก แล้วผมมีโอกาสทำอะไรเพื่อสังคม เพื่อกลุ่มคนดูที่เยอะขึ้น ดังกว่าเมื่อก่อน

สามารถทำอะไรที่ยิ่งใหญ่มากกว่าเดิม ช่วยให้สังคมดีขึ้นได้ด้วยคอนเท้นท์ของเรา ด้วยงานของเรา จากเมื่อก่อนที่ Impact ได้แค่คนในคณะ แต่วันนี้เป็นส่วนหนึ่งของคนในประเทศเลย ผมว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ตัวผม มีพลังที่จะทำสิ่งนั้นได้”

 

“บี้” ให้คำแนะนำถึงคนชื่อ “บี้” 

เราให้โจทย์คำถามสุดท้ายแก้ บี้ ว่าหากย้อนเวลากลับไปได้ จะไปบอกกับตัวเองว่าอะไร บี้ตอบได้น่าฟังว่า

“อยากเตือนตัวเองในเรื่องหนึ่งเมื่อตอนเด็กๆ ผมอยากให้ความเชื่อมั่นกับตัวเอง เพิ่มมากขึ้น ในตอนนั้นผมเชื่อมั่น แต่มันยังมีความพะวงอยู่ ยังมีความเกร็งจากการการเดินทาง ณ ตอนเด็กๆ ผมยังกลัวคำพูดของคนรอบข้างที่จะมองเราอย่างไร ทั้งที่สิ่งที่เราทำไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่เป็นสิ่งที่แตกต่างในสังคม การที่จะลุกขึ้นมาทำอะไรบ้า ๆ บอ ๆ ไม่ใช่เรื่องผิด ไม่ได้ทำอะไรให้สังคมเสียหาย การทำตัวเป็นจุดเด่น ที่แตกต่าง มันยังมีความเกร็งที่จะแสดงออก

ถ้าผมย้อนกลับไปวันนั้นจะไปกระซิบกับตัวเองว่า บี้อยากทำอะไร ทำไปเหอะ ตั้งใจทำเต็มที่อย่างที่ตาบอก ทำไปเลย ทำในสิ่งที่คนยังไม่ได้ทำ ทำไปก่อน ไม่รู้ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร ขอแค่อย่างเดียว อย่าทำให้สังคมแย่ลง แค่นั้น”


  • 28
  •  
  •  
  •  
  •  
pigabyte
การเรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้น มาเรียนรู้และสนุกไปกับบทความ จาก MarketingOops! กันนะคะ แล้วเราจะได้ค้นพบว่าโลกของ Marketing นั้น So Sexy and Cool!