“ภูเก็ต” เมืองท่องเที่ยวที่ไม่มีวันตาย ที่กล้ากล่าวเช่นนั้นได้เพราะภูเก็ตเคยประสบวิกฤติใหญ่หลายครั้ง ทั้งวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งที่ภูเก็ตก็รอดมาได้ รวมถึงวิกฤติภัยธรรมชาติครั้งรุนแรงอย่างสึนามิ (Tsunami) ที่ใช้เวลาเพียง 4 เดือนในการฟื้นฟูและกลับมาแข็งแรงใหม่อีกครั้ง รวมถึงยังเป็นเสาหลักในการค้ำจุนเศรษฐกิจของไทยช่วงที่ไทยต้องประสบปัญหาเศรษฐกิจรอบด้าน
แต่วันนี้…ภูเก็ต…เข้าขั้นโคม่ากลายเป็นเมืองที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดอย่าง COVID-19 ส่งผลให้หลายประเทศ Lockdown ไม่ให้คนในประเทศเดินทางออกนอกประเทศ และไม่ให้คนนอกประทศเดินทางเข้ามาในประเทศ ส่งผลกระทบโดยตรงกับนักท่องเที่ยวที่มีการวางแผนการเดินทางไว้ล่วงหน้า
Perception ของภูเก็ตในสายตาชาวไทย
เพราะภูเก็ตคือเมืองท่องเที่ยวระดับโลก นั่นจึงทำให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาเที่ยวในภูเก็ตส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติสูงถึง 80%-90% โดยเฉพาะจีน จึงไม่แปลกที่รูปแบบการให้บริการของสถานประกอบการท่องเที่ยวต่างๆ ทั้งโรงแรม สปา ร้านอาหารจึงให้บริการในระดับ World Class ที่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงในมุมมองของคนไทย แต่ในสายตานักท่องเที่ยวต่างชาติคือราคาที่ยอมรับได้
และนั่นทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาเที่ยวเป็นจำนวนมาก อีกทั้งเมื่อภูเก็ตกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับ World Class ธุรกิจระดับ World Class จึงพากันมาลงทุนที่ภูเก็ต รวมไปถึงการเข้ามาซื้อบ้านพักในภูเก็ตของชาวต่างชาติที่มีธุรกิจในภูเก็ตและที่มาพักในช่วงเกษียณอายุ เมื่อความต้องการโครงสร้างพื้นฐานการการท่องเที่ยวเติบโต มูลค่าพื้นฐานอย่างที่ดิน วัสดุก่อสร้าง วัตดุดิบในการปรุงอาหารก็สูงขึ้นตามไปด้วย
ส่งผลให้ภูเก็ตกลายเป็นเมืองที่มีค่าครองชีพค่อนข้างสูง เรียกว่าสูงกว่าค่าครองชีพในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ซะอีก จึงไม่แปลกที่ผ่านมาหลายคนจะบอกว่าการไปเที่ยวภูเก็ตต้องเตรียมงบฯ ไปอย่างน้อย 2 หมื่น สำหรับการเเข้าพัก 3 วัน 2 คืน (ซึ่งอาจจะไม่พอด้วยซ้ำไป) ภูเก็ตจึงถูกวาง Perception ในสายตาคนไทยว่า เป็นเมืองที่เหมาะกับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่าคนไทย รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวไทยหลายคนที่ได้รับประสบการณ์ “ไม่ต้อนรับ” นักท่องเที่ยวไทยอีกด้วย
ชาวต่างชาติเป็น 0 นักท่องเที่ยวไทยเป็น 0
ตอนนี้ภูเก็ตกำลังประสบปัญหาอย่างรุนแรงจากสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 ส่งผลให้นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางมาที่ภูเก็ตได้ ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในช่วงต้นภูเก็ตเป็นจังหวัดที่ได้รับผลกระทบหนักมากที่สุด ถึงขนาดที่ต้องใช้มาตรการ Lockdown ในระดับตำบล ส่งผลให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ รวมถึงคนที่เดินทางมาทำงานในจังหวัดภูเก็ตต่างเดินทางออกพื้นที่
ยิ่งจังหวัดภูเก็ตติดอันดับ 2 ของจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในประเทศไทย รองจากกรุงเทพฯ ยิ่งทำให้ความกลัวของคนไทยในการเดินทางไปภูเก็ตเพิ่มมากขึ้น จนกระทั่งสถานการณ์คลี่คลายลงแต่ภูเก็ตก็ยังไม่ฟื้น เนื่องจากนโยบายภาครัฐในการห้ามการเดินทางระหว่างประเทศ ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้
และแม้ว่ารัฐบาลจะสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ แต่คนส่วนใหญ่ยังกังวลกับเรื่องของความไม่แน่นอนในด้านการเงินทำให้ระมัดระวังการใช้จ่าย และเป็นที่ทราบกันดีว่าภูเก็ตคือเมืองท่องเที่ยวที่มีค่าใช้จ่ายสูง อีกทั้งการเดินทางที่ค่อนข้างไกลราว 800 กิโลเมตรโดยประมาณ นั่นจึงทำให้หลายคนแทบไม่มีชื่อเมืองท่องเที่ยวอย่างภูเก็ตอยู่ในหัว
ไม่มีนักท่องเที่ยว ไม่มีรายได้ ไม่มีงาน
อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า ภูเก็ตมีนักท่องที่ยวต่างชาติราว 80%-90% รายได้ของภูเก็ตเกือบ 100% จึงมาจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก เมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไม่ได้ ผู้ประกอบการหลายรายจึงต้องหันไปให้ความสำคัญกับนักท่องเที่ยวชาวไทยด้วยการลดราคากว่า 50% แต่ถึงกระนั้นคนไทยก็ยังไม่ค่อยเดินทางมาเที่ยวที่ภูเก็ต
ส่งผลให้ผู้ประกอบการโรงแรมรายย่อยเริ่มประสบปัญหาสภาพคล่องและต้องออกมาตรการทำงาน 50% เพื่อให้พนักงานยังคงรักษาสถานะการทำงาน และเป็นการลดต้นทุนในช่วงที่รายได้ยังไม่มีเข้ามามากเท่าไหร่ โดย คุณนิวัฒน์ จันทร์ตระกูล ผู้ประกอบการโรงแรม A2 Resort ชี้ว่า สถานการณ์ธุรกิจโรงแรมในภูเก็ตถือว่าแย่มาก เพราะโรงแรมเชนขนาดใหญ่ก็ลดราคาลงมาใกล้เคียงกับธุรกิจโรงแรมรายย่อย ทำให้กลุ่มลูกค้าราชการและงานสัมมนา ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักเลือกที่จะใช้บริการโรงแรมเชนใหญ่
ขณะที่ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมรายย่อยบางรายใช้วิธี เสริมธุรกิจอาหารบุฟเฟ่ด้วยการจ่ายเพิ่มเพียงเล็กน้อย โดยมีการคาดการณ์กันว่า สภาพคล่องของธุรกิจในภูเก็ตจะอยู๋ได้ถึงแค่สิ้นปีนี้ หากยังไม่มีสัญญาณที่ดีเกิดขึน และจะส่งผลให้เกิดการปลดพนักงานออกอีกเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงการปิดตัวลงของอีกหลายธุรกิจ
แหล่งท่องเที่ยวยามราตรีไร้นักท่องเที่ยว
อีกสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือสถานบันเทิงยามราตรีของภูเก็ตอย่าง “ซอยบางลา” หรือ “BangLa Walking Street” แหล่งรวมสถานบันเทิงยามราตรีของภูเก็ตที่วันนี้แทบกลายเป็นถนนร้าง กับร้านค้าที่มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวกันบางตา และหลายร้านต้องปิดตัวลงเพื่อให้ต้นทุนเพิ่มมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ร้านสะดวกซื้อที่เลือกปิดร้านมากกว่าเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยว
จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่พบว่า ซอยบางลาจะมีนักท่องเที่ยวมากที่สุดช่วงสุดสัปดาห์ แต่ก็ไม่ได้มากมายจนถึงขนาดแน่นหนาตา ซึ่งสถานการณ์ที่เงียบเหงาเช่นนี้เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่การประกาศ Lockdown และนักท่องเที่ยวทะยอยเดินทางออกนอกพื้นที่ ขณะที่แหล่งสถานบันเทิงยามราตรีย่าน “วงเวียนม้าน้ำ” ยังพอดูคึกคักจากนักท่องเที่ยวพื้นที่
ขณะที่แหล่งท่องเที่ยวอย่าง “เมืองเก่า (Old Town)” ที่มีสถาปัตยกรรมแบบชิโน-ยูโรเปี้ยน (หรือชื่อเดิม ชิโน-โปรตุกีส) ที่เคยเป็น Landmark ในการท่องเที่ยวต้องมาถ่ายรูปเก็บบรรยากาศเมืองเก่าก็ดูเหงียบเหงาลง ร้านค้าเปิดให้บริการตามปกติแต่ไม่มีลูกค้าเท่าที่เคยมี
SCB จัด Boot Camp พร้อมรับมือนักท่องเที่ยว
ในช่วงที่ภูเก็ตกำลังฟื้นฟูจากสถานการณ์โรคระบาด แต่ธุรกิจยังคงต้องเดินหน้าต่อไปแม้จะยังไม่มีนักท่องเที่ยว นี่คือสถานการณ์จริงที่ภูเก็ตกำลังเผชิญ เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติก็ไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้ ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวไทยก็ยังไม่มีวี่แววที่จะเดินทางมาเที่ยวยังภูเก็ต แต่ทันทีที่รัฐบาลมีนโยบายให้นักท่องเที่ยวพิเศษที่อยู่ยาวสามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้ ความหวังก็เกิดขึ้นทันที
แต่จะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการเตรียมพร้อมรับมือการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ที่ต้องบอกว่ามีกำลังซื้อสูงเนื่องจากต้องพำนักระยะยาว ธนาคารไทยพาณิชย์ ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดหลักสูตร “เสริมศักยภาพนักธุรกิจมือโปร SCB IEP Bootcamp: The Hospitality Survival” โดยเป็นการจัดติวเข้มผู้ประกอบการโรงแรมและท่องเที่ยวทั่วทุกภูมิภาค โดยเริ่มจากพื้นที่ภาคใต้ครอบคลุมจังหวัดภูเก็ต กระบี่และพังงา
โดยเน้นหลักสูตรเรียนลัดอัดแก่นความรู้ทางธุรกิจในยุคดิจิทัล สามารถประยุกต์ใช้กับธุรกิจเพื่อกระตุ้นยอดขายช่วยเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจโรงแรม พร้อมด้วยการลดต้นทุนหนุนธุรกิจเติบโตแบบยั่งยืนในระยะยาว รวมถึงการแนะนำปรับกลุ่มเป้าหมายเจาะตลาดนักท่องเที่ยวไทยกลุ่มใหม่ๆ เพื่อประคองธุรกิจให้เดินต่อไประหว่างรอนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น และจะมีการจัดอบรมหลักสูตรดังกล่าวในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย
Over Supply และเวลาของการ Reset Standard
จากข้อมูลของ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภูเก็ต พบว่า เศรษฐกิจจังหวัดภูเก็ตขับเคลื่อนด้วยการท่องเที่ยวเกือบ 100% ส่งผลให้จังหวัดภูเก็ตมีโรงแรมเปิดให้บริการจำนวน 1,800 แห่ง แบ่งเป็นห้องพักมากกว่า 100,000 ห้อง แต่จากสถานการณ์โรคระบาดส่งผลให้มีโรงแรมที่เปิดให้บริการเหลือเพียง 125 แห่ง แถมแต่ละแห่งไม่สามารถเปิดห้องพักที่มีทั้งหมด ทำให้เหลือห้องพักให้บริการประมาณ 8,400 ห้องเท่านั้น
โรงแรมเชนใหญ่จึงหันมาปรับกลุ่มเป้าหมายโดยเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทย พร้อมลดราคาลงมากกว่า 50% ทำให้เรตราคาใกล้เคียงกับโรงแรมรายย่อย (SME) ส่งผลกระทบต่อธุรกิจโรงแรมรายย่อยที่เน้นกลุ่มเป้าหมายหน่วยงานราชการและสัมมนาที่มีงบประมาณจำกัด หลายโรงแรมหาทางออกด้วยการจัดโปรโมชั่นสำหรับผู้เข้าพักกับโปรแกรมบุปเฟ่ที่จ่ายในราคาพิเศษเท่านั้น
นอกจากนี้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภูเก็ตยังมีแผน Reset Standard โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในภูเก็ตให้กลับมาเป็นค่าใช้จ่ายที่แท้จริงไม่แพงมากเกินไปอย่างที่ผ่านมา โดยเตรียมแผน 5T ประกอบไปด้วย การปรับกลุ่มเป้าหมายใหม่ (Target) โดยเน้นกลุ่มนักท่องเที่ยวในประเทศ, การเปิดเป็นจุดกักกัน (Testing) โดยนักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้จังหวัดภูเก็ตเป็น ALQ (Alternate Local Quarentine) โดยนักท่องเที่ยวจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งที่พักและอาหารในระหว่างกักกันโรค
การสร้างแอปฯ ติดตาม (Tourism) เพื่อสร้างความปลอดภัยในการท่องเที่ยวช่วยให้สามารถติดตามเส้นทางการท่องเที่ยว, การดูแลรักษา (Treating) เพื่อรองการเทรนด์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพหรือ Medical Travel และความเชื่อมั่นในการดูแลจัดการ (Trust) เพื่อให้ภูเก็ตกลับมาเป็นเมืองท่องเที่ยวเป้าหมายอีกครั้ง
ทั้งนี้จะเป็นไปตามยุทธศาสตร์ GEMMSS ที่ประกอบไปด้วย Gastronomy การส่งเสริมธุรกิจด้านการแปรรูปอาหารพื้นถิ่น, Education การส่งเสริมด้านการศึกษาและสถาบันต่างๆ, Medical ส่งเสริมการรักษาพยาบาลควบคู่การท่องเที่ยว, Marina ส่งเสริมธุรกิจอู่ต่อเรือ ซ่อมเรือและผลิตชิ้นส่วนเรือ โดยเฉพาะเรือยอชท์, Sport สนับสนุนการจัดการแข่งขันด้านกีฬาและกิจกรรมอื่นๆ และ Smart City ในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีเพื่อสอดรับกับวิถีรูปแบบการใช้ชีวิตใหม่
บทสรุปที่คนไทยต้องช่วยเหลือคนไทยด้วยกัน
ทั้งหมดนี้เพื่อจะบอกว่า “ภูเก็ต” พร้อมเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวไทยด้วยราคาคนไทย ยิ่งในช่วงเวลานี้ถือเป็นสวรรค์ของนักท่องเที่ยวชาวไทย เพราะนอกจากจะได้ที่พักราคาถูกแล้ว แหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตยังฟื้นฟูกลับมาสวยงามดังเดิม หลังจากที่เคยรองรับนักท่องเที่ยวหลายพันคนต่อวัน ที่สำคัญชาวภูเก็ตยังพร้อมใจกับปรับราคาค่าครองชีพให้เท่ากับจังหวัดท่องเที่ยวอื่นๆ
ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภูเก็ตชี้ว่า เตรียมจัดทำแผนการท่องเที่ยวภูเก็ตในรูปของ Guide Book ร้านค้าและโรงแรมราคาสัมผัสได้ รวมไปถึงการเชิญเหล่า Influencer ด้านการท่องเที่ยวให้นำเสนอ การเที่ยวภูเก็ตด้วยงบประมาณจำกัด เพื่อลบภาพจำ (Perception) เดิมของจังหวัดภูเก็ตที่ทั้งราคาแพงและไม่ต้อนรับคนไทย