เจาะลึกผู้บริหาร ซัมซุง ประเทศไทย กลยุทธ์ใดที่ทำให้แคมเปญการตลาดของซัมซุงประสบความสำเร็จ

  • 74
  •  
  •  
  •  
  •  

samsung-sitthichoke

ปี 2015 ที่ผ่านมา ถือเป็นปีที่เราได้เห็นผลงานด้านโฆษณาของไทยออกสู่ตลาดกันอย่างคึกคัก หลายๆแบรนด์หันมาใหัความสำคัญกับสื่อดิจิทัล และมองเห็นถึงพลังของการใช้ สื่อออฟไลน์และออนไลน์ร่วมกัน สิ่งสำคัญที่สุด คือ นักการตลาดไทย มีกลยุทธ์ในการเลือกใช้สื่อเพื่อตอบโจทย์ความต้องการในการทำการตลาดได้อย่างดี   เป็นปีที่ตัวเลข like บน Facebook ไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดอีกต่อไป   ในขณะเดียวกัน ความสำคัญของผู้บริโภค การทำ Content Marketing และการใช้สื่อ Online Influencers หรือผู้ทรงอิทธิพลบนสื่อออนไลน์ กลับมีบทบาทที่นักการตลาดให้ความสำคัญมากที่สุดในปีที่ผ่านมา

หากกล่าวถึงแบรนด์ที่มีความโดดเด่นในผลงานด้านการตลาดของปีที่ผ่านๆมาSamsung ประเทศไทย ถือเป็นแบรนด์ที่มีความสตรองในหลายๆแคมเปญ หรือเป็นหนึ่งในฮีโร่แบรนด์ในไทยที่ปล่อยแคมเปญการตลาดโปรโมทตัวสินค้าได้อย่างสมบูรณ์ ตอบโจทย์ไลฟสไตล์ของผู้บริโภครุ่นใหม่ และสร้างความฮือฮาให้กับทั้งสื่อออฟไลน์และออนไลน์ ได้อย่างประสบความสำเร็จ และน่าติดตาม

แน่นอนว่าเรา และใครๆก็คงอยากทราบถึงแนวคิด และกลยุทธ์การทำงานของผู้บริหารและทีมงานของซัมซุง ถึงเบื้องหลังของความสำเร็จในหลายๆแคมเปญของซัมซุง ประเทศไทย ที่ผ่านมา    Marketing  Oops! จึงได้ขอสัมภาษณ์แบบเอ็กซ์คลูซีฟกับบุคคลสำคัญของฝ่ายการตลาด ซัมซุง ประเทศไทย ผู้คุมกลยุทธ์และทิศทางการตลาดและอยู่เบื้องหลังความสำเร็จในทุกๆ แคมเปญของซัมซุง ได้แก่  “คุณสิทธิโชค นพชินบุตร” รองประธานฝ่ายกลยุทธ์ธุรกิจโทรคมนาคมและไอที บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด

แคมเปญที่โดดเด่นที่สุดของซัมซุงในปี 2015 คือแคมเปญใด?

คุณสิทธิโชค ระบุว่า ความจริงแล้วเรามีหลายแคมเปญ แต่ขอพูดถึง Series A และ Series J ที่เพิ่งเปิดตัวไปปีที่แล้ว เป็นโปรดักส์ที่ขายดีมากตั้งแต่เราขายSmartphone มาเลย จนกลายเป็นการสร้างตลาด Smartphone จอใหญ่ได้สำเร็จ ซึ่งต่อมาก็มีผู้ผลิตรายอื่นต่างก็ออกโปรดักส์จอใหญ่ขึ้นมาเหมือนกับเรา ฉะนั้น สิ่งที่ Samsung ทำแคมเปญในตอนนั้นได้ดีเยี่ยมก็คือ “การทำให้ผู้บริโภคเข้าใจได้ว่าโทรศัพท์มือถือขนาดที่มันเหมาะสมคือหน้าจอที่มีไซส์ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม” จากนั้นต่อมา Series A7  J7  A8 และแม้กระทั่ง Note 5 ก็ขายดีตามมาด้วย

samsung-interview-1

“ในแง่ของการตลาดเราก็มีสิ่งใหม่ๆ เยอะ อย่างเช่นที่เราใช้เรื่องของการเชิญผู้บริโภคหรือเซเล็บมาคุยให้ฟังว่าใช้โทรศัพท์มือถือแล้วเกิดประโยชน์อย่างไรบ้าง ใช้แล้วดีอย่างไร อันนี้น่าจะเป็นสิ่งหลักๆ ที่เห็นค่อนข้างชัดในปีที่แล้ว”

อีกจุดหนึ่งที่ คุณสิทธิโชค กล่าวเพิ่มเติมได้อย่างน่าสนใจ เกี่ยวกับกลยุทธ์สำคัญ คือ ‘Consumer Journey’ การศึกษาเส้นทาง การตัดสินใจซื้อของลูกค้า

“แต่ละเส้นทางในการตัดสินใจซื้อของลูกค้า เราได้อยู่ถูกที่ถูกทางแล้วหรือไม่ ที่สำคัญคือเราจะต้องคิดไปก่อนล่วงหน้าลูกค้าเสมอ คือเพียงแค่ลูกค้าคิดจะซื้อ เราต้องไปยืนอยู่ตรงนั้นก่อนเพื่อพาให้ลูกค้ามาจบที่การซื้อสินค้าเราให้ได้ สำหรับสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์สมาร์ทโฟน Journey ของการตัดสินใจเริ่มคิดที่จะซื้อตั้งแต่ 6 เดือนที่แล้ว เราจะต้องช่วยคิดไปกับเขาด้วย และหลังการซื้อแล้วเราก็ยังต่อด้วย Galaxy gift เพื่อเป็นสิทธิพิเศษให้กับลูกค้าที่ซื้อมือถือของเรา เพื่อให้มั่นใจว่าตลอดเวลาที่เขาใช้ซัมซุง มีแต่เรื่องดีๆ เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นตั้งแต่ตัดสินใจจะซื้อซัมซุงแล้ว”

การเลือกใช้สื่อของแต่ละแคมเปญ เหมือนหรือต่างกันอย่างไร?

คุณสิทธิโชค บอกว่าในส่วนของวิธีคิดแต่ละแคมเปญไม่ได้แตกต่างกัน คือ เอาลูกค้าเป็นตัวตั้ง และหาว่าอะไรคือสิ่งที่ลูกค้าต้องการ แล้วนำโปรดักส์ของเราไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ แต่จุดที่ต่างกันน่าจะเป็นเรื่องของ “การสื่อสาร” มากกว่า

“วิธีในการสื่อสารของลูกค้าแต่ละกลุ่มต่างหากที่สำคัญ นำมาสู่การเลือกประเภทของสื่อที่จะใช้เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่ม ทำให้เกิดความแตกต่างกันไป เช่น ถ้าเป็นลูกค้ากลุ่ม Mass จะเห็นว่าเรายังคงใช้ Traditional Media ปกติ ไม่ว่าจะเป็น ทีวี วิทยุ หรือสิ่งพิมพ์ แต่ถ้าเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ แน่นอนว่าจะต้องเน้นที่สื่อดิจิทัลมากขึ้น”

ในปีที่ผ่าน ซัมซุง เลือกใช้สื่อดิจิทัลมีเดีย มากน้อย อย่างไร?

สำหรับซัมซุง เราเน้นเลยว่าต้อง Digital First ตอนนี้ต้องยอมรับว่าผู้บริโภคหันมาเสพผ่านสื่อดิจิทัลแทบทั้งนั้น แม้แต่พวกเรากันเองก็ดูผ่านมือถือกัน อย่างไรก็ตาม อาจจะไม่ได้กำหนดออกมาตายตัวอย่างชัดเจนว่างบฯ ดิจิทัลเท่านี้งบอื่นๆ ต้องเป็นเท่านี้ แต่สิ่งที่เราทำคือ ไม่ว่าจะมากหรือน้อยแค่ไหน ยืนยันว่าในส่วนของดิจิทัล เราไม่เคยตัดเลย

“อย่างไรก็ตาม ในแง่ของดิจิทัล มันมีความยากตรงการส่งคอนเท้นต์ไปหากลุ่มเป้าหมาย ในอดีตเราได้ลองผิดลองถูกมาเยอะแล้ว บางครั้งส่งไปหาลูกค้าผิดกลุ่มบ้างอะไรบ้าง แต่ปัจจุบันเรามี Tools ต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้น เช่น Programmatic Buying คือการซื้อสื่อเพื่อให้ถึงกลุ่มเป้าหมาย ปัจจุบันการเลือกกลุ่มเป้าหมายไม่ได้ใช้แค่เกณฑ์ของ Demographic เหมือนอย่างแต่ก่อน แต่เราจะดูในเรื่อง  Interesting ความสนใจของผู้บริโภค ควบคู่กันไปด้วย สิ่งสำคัญในการเลือกกลุ่มเป้าหมายก็คือ “ทัศนคติ” หรือ Mindset ของ Consumer ผมคิดว่าตอนนี้นักการตลาดหลายคนเริ่มเข้าใจมากขึ้นว่าอายุของผู้บริโภค เป็นแค่ตัวเลข”

คุณสิทธิโชค ยังได้ขยายความต่อในประเด็น “อายุเป็นเพียงตัวเลข” ว่า “โดยทั่วไปอาจคิดว่าคนรุ่นใหม่อายุ 20-30 ปี เท่านั้น จึงจะสนใจเทคโนโลยี แต่เรากลับเซอร์ไพรส์มากที่พบว่าจริงๆ คนอายุ 40 ปีมีเป็นจำนวนมากที่สนใจเรื่องเทคโนโลยี มีความแอ็คทีฟสูงด้วย คือสนใจที่จะเข้ามาเรียนรู้เพิ่มเติมอย่างกระตือรือร้น จึงเป็นที่มาของการเปิดช้อปให้ลูกค้าได้เรียนรู้การใช้งานสินค้าของเรา ที่เราทำเพื่อ Educate ลูกค้า เพราะเรามองว่าโทรศัพท์ควรจะมาช่วยให้ชีวิตเราดีขึ้น ไม่ได้แค่ของเอามาโชว์ ดังนั้น เราจะอยากให้คนที่ใช้โทรศัพท์ของเราได้ใช้ประโยชน์จากมันอย่างมีประสิทธิภาพ ผมว่าทุกวันนี้เราใช้สมาร์ทโฟนจากประสิทธิภาพของมันแค่ 10-20% เท่านั้นนะยังไม่เต็มที่”

กลยุทธ์การนำโปรดักส์ เข้าถึงไลฟสไตล์ของผู้บริโภคอย่างไร?

นอกจากใช้ความสนใจของผู้บริโภคเป็นเกณฑ์ในการแบ่งกลุ่มเป้าหมายแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เราเห็นว่าซัมซุง โดดเด่นมากคือ การผูกโยงโปรดักส์เข้ากับเทรนด์และไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคได้ดี ตรงจุดนี้ คุณสิทธิโชค อธิบายว่า ในการคิดไอเดียเราจะดูที่ Passion Point ของ Consumer ดูว่าชอบ Music  หรือชอบ  Travel เราก็จะพยายามสื่อสารไปตรงกัน ยกตัวอย่างคน Gen Y รักการเดินทาง และให้คุณค่ากับประสบการณ์อย่างมาก ดังนั้น เราจึงมีแคมเปญ Samsung Galaxy The Explorer  ซึ่งเกิดจากแนวคิดที่ว่าโทรศัพท์คือสิ่งที่จะทำให้ชีวิตง่ายขึ้น เป็น Tools ที่ดีที่สุดของชีวิต จะไปไหนก็ถ่ายรูปเก็บบันทึกความทรงจำ และโปรดักส์ของเราก็จะทำให้ประสบการณ์ในการเดินทางของคุณดีขึ้น นี่คือตัวอย่างการใช้  Passion point ในการสร้างแคมเปญ นอกจากนี้เรายังมีอันอื่นอีก เช่น งานวิ่งสำหรับคนชอบออกกำลังกาย เป็นต้น

“สินค้าของเราได้ดีไซน์มาเพื่อตอบโจทย์พวกนี้อยู่แล้ว เช่น Gears S ที่สามารถวัด Heart rate ได้แบบเรียลไทม์ เพราะคนที่ออกกำลังกายบางครั้งไม่เข้าใจว่าการออกกำลังกายแบบหักโหม หัวใจเต้นแรงเยอะมากเกินขีดจำกัดจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ อุปกรณ์พวกนี้ช่วยได้ เพราะถูกดีไซน์มาเพื่อกิจกรรมเหล่านี้ นี่เป็นส่วนหนึ่งที่เราพูด Passion point ของผู้บริโภค”

samsung-interview-2

samsung-interview-3

httpv://youtu.be/joEuGY0OzRk

กลยุทธ์ของการนำผู้ใช้งานจริงออกมาพูด

เกี่ยวกับประเด็นนี้ คุณสิทธิโชค ได้เล่าย้อนไปถึงการตลาดในอดีตที่ชอบใช้  Word of mouth ในการทำงาน แต่มีเดียในยุคนั้นอาจจะไม่เอื้อให้เกิดขึ้นได้ง่าย จนกระทั่งปัจจุบันที่สื่อดิจิทัลเข้ามาช่วยให้ผู้คนคอนเน็คเข้าหากันง่ายขึ้น เราจึงเห็น Word of mouth เกิดขึ้นแทบทุกวัน แต่ไม่ใช่การที่ผู้ผลิตไปบอกกับเขาว่าสินค้าดี แต่จะต้องเป็นการที่เพื่อนหรือคนรู้จักเริ่มใช้แล้วเป็นผู้บอกให้เขาไปลอง

“ในส่วนของ  Samsung นั้น เราจะไม่ใช้วิธีการสื่อสารข้างเดียวเหมือนโฆษณาในสมัยเก่า แต่จะเป็นการใช้ควบคู่กัน โดยการที่เราสื่อสารกับผู้บริโภคว่า เราเป็นใคร ทำอะไร และในอีกด้านหนึ่งก็ต้องทำให้ผู้ใช้งานที่มีประสบการณ์ที่ดีมาแชร์ให้คนอื่นฟังด้วย เพราะในแง่ของการพูดถึงมันมีความน่าเชื่อถือ มันเป็นเรื่องจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราอยากให้เกิดขึ้นคือเกิดการบอกต่อ แบบ  Word of mouth ฉะนั้นนี่คือที่มาที่ทำให้ซัมซุง เน้นการใช้งานของผู้ใช้จริง แล้วจึงบอกต่อ”

แม้จะเน้นรูปแบบ ‘ผู้ใช้จริงบอกต่อ’ แต่เรายังเห็นภาพของการใช้เซเลบิตี้ ดารา มาเป็นพรีเซ็นเตอร์อยู่บ่อยๆ จาก Samsung เพราะเหตุใด?

คุณสิทธิโชคอธิบายว่า เซเลบิตี้ของเรา ถ้ามองในแต่ละสื่อจะเห็นว่า กลุ่มที่เราทำงานด้วยในแต่ละแคมเปญจะแตกต่างกันไป การที่เราเลือกใช้เซเลบิตี้เป็นเพราะมันง่ายในการสื่อสารกับผู้บริโภคที่จะเก็ทไอเดียตาม ผ่านการสื่อสารจากผู้คนที่เขารู้จักอยู่แล้ว

ในขณะที่การเลือกใช้บล็อกเกอร์ หรือเน็ตไอดอล เราจะเลือกใช้ในช่องทางสื่อ ดิจิทัล ซึ่งแต่ละชาแนลจะมีบุคลิกแตกต่างกันไป ตามแต่ว่าเราจะสื่อสารกับผู้บริโภคกลุ่มไหน คือเราจะไม่เอาเซเลบิตี้ทั่วไปมาพูดในช่องที่ไม่เกี่ยวอะไรกับผู้ฟังเลย

“ขึ้นอยู่กับ  Strategy ที่เราต้องการจะสื่อสาร เช่น ถ้าต้องการสื่อสารกับลูกค้าที่เป็น  Mass ก็จะต้องเป็น ชมพู่ โอปอลล์ หรือ แสตมป์ เป็นต้น แต่ถ้าต้องการเน้นกลุ่มผู้บริโภคที่มุ่งไปที่ความสนใจเฉพาะตัว เราก็จะใช้  Influencer ต่างๆ ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ เป็นผู้มาสื่อสาร”

ปัจจุบัน Influencer Online มีบทบาทมากขึ้น ในขณะที่ Celebrity Offline จะหายไปในแง่การตลาดหรือไม่?

คุณสิทธิโชค ให้ความเห็นอย่างน่าสนใจว่า Celebrity Offline แม้จะยังมีความจำเป็นอยู่ในแง่การตลาด แต่หากอยู่อย่างไม่ปรับตัวก็อาจจะหายไปได้ในอนาคต หรือมิเช่นนั้นคุณก็จะได้เฉพาะแค่กลุ่ม mass อย่างเดียว

“ยกตัวอย่าง ชมพู่ อารยา ถ้าไปดูอินสตาแกรมของเธอ จะมีความ Active และสร้างความเป็นตัวของเขาเองให้คนได้รู้จักได้เป็นอย่างดี   ผมคิดว่าอันนี้น่าสนใจ ชมพู่เป็นตัวอย่างที่ดีของคนที่  Evolve ปรับตัวเป็น Style Icon (Icon ด้านแฟชั่น และ Icon ด้านเทคโนโลยี) แต่ก่อนเมื่ออยู่ในทีวีจะเป็นอีกอย่าง ชมพู่ได้ปรับตัวและทำให้คนได้รู้จักตัวตนจริงๆ โดยใช้ดิจิทัลมีได้ค่อนข้างดี แต่ก็จะมี Celebrity บางคนที่ไม่ปรับตัวก็ทำให้ชื่อเสียงลดลง คนกลุ่มนี้ไม่ช้าก็หายไป คืออย่างที่บอกว่า Platform ของ Media ได้เปลี่ยนไปแล้ว”

กลยุทธ์และเกณฑ์ความสำคัญในการเลือก Influencer และ Celebrity มาเป็นตัวแทนของซัมซุง?

คุณสิทธิโชค กล่าวได้อย่างน่าสนใจว่า ยอดไลค์ ยอดฟอลโลว์ ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญในการเลือกคนดังมาเป็นตัวแทนของแบรนด์ คือนำมาพิจารณาได้ประมาณหนึ่งแต่ไม่ใช่ปัจจัยหลัก เรามองไปที่เรื่องของความน่าสนใจในตัวตนของคนๆ นั้นมากกว่า นอกจากนี้ เรายังดูไปถึง Engagement ด้วยว่ามี User เข้ามาคอมเม้นต์อย่างไรด้วย ดีหรือไม่ดี หรือมีคอนเท้นต์อะไรในนั้นบ้าง สิ่งที่สำคัญสำหรับเราคือ คุณภาพของ Content และ Character ของเขาจะต้องเข้ากับโปรดักส์ขอเราด้วย

“ยกตัวอย่าง คนที่เป็นพรีเซนเตอร์  Galaxy Note 5 คุณแอน ทองประสม ถ้าเมื่อก่อนคุณแอนเป็นดาราเฉยๆ จะรู้สึกว่าเป็นดาราที่น่าชื่นชม แต่พอเราเห็นมุมที่เป็นผู้จัดละครโอ้โห! น่าประทับใจมาก ทำละครได้ดีมาก พอไปดูเบื้องหลังการทำงาน พอได้คุย เป็นคนที่น่าสนใจมากขึ้น นี่คือคนใช้  Galaxy Note เพราะโปรดักส์มันมีอะไรมากกว่านั้น สามารถทำอะไรได้มากกว่า เอาปากกามาเขียน  Creativity หรืออย่าง น้องมะปราง ศิรดา นักเรียนที่ได้คะแนนแอดมิชชั่นอันดับ 1 ทุกวันนี้น้องมะปรางเอา Note 8 ไปใช้ในการเลคเชอร์ตลอด เราก็แฮปปี้ เพราะเราเห็น user นำโปรดักส์ไปใช้จริง”

samsung-interview-5

samsung-interview-7

ทิศทางและกลยุทธ์หลักของทีมการตลาดของซัมซุง คืออะไร

คุณสิทธิโชค ยิ้มอย่างภูมิใจก่อนตอบว่า สำหรับทีมมือถือซัมซุงนั้น วลีหลักของทีมที่ทำงานการตลาดก็คือ “ถ้าไม่ Proud อย่าทำ” อย่างน้อยพนักงานซัมซุงจะต้อง Proud กับโปรดักส์ของบริษัท อย่างทีมมือถือก็ควรจะต้องใช้โทรศัพท์มือถือของบริษัท เพราะว่าถ้าคุณ Proud จากข้างในมันก็จะออกมาที่ผลงานด้วย การตลาดเขาก็จะ Drive Passion ตรงนี้ให้เกิดขึ้น

“จริงๆ แล้วก็ตรงกับกลยุทธ์และทิศทางของปีนี้เลยก็ว่าได้ เมื่อเราพูดเรื่อง  Proud เรามองว่า  Consumer ที่ซื้อสินค้าเราไป แล้วเขาใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทำยังไงจะทำให้  Consumer รู้สึกว่า ใช้แล้วรู้สึกดีต่อตัวโปรดักส์ใช้แล้วอยากบอกคนอื่นว่า ผมใช้ Samsung นะ เป็นอะไรที่เราเองก็รู้สึกดี แน่นอนว่ากิจกรรมที่เราทำควรจะมีความหมายกับเขา ส่วนไหนที่เรายังทำได้ไม่ดี เราคิดว่าเรายังปรับปรุงได้ ไม่ว่าจะเป็น  Service ถ้า  Consumer Feedback มา เราจะฟัง อาจใช้เวลานิดนึง แต่เราปรับปรุงตามความคิดเห็น สุดท้ายเราจะทำให้แน่ใจว่า  Consumer ที่ซื้อสินค้าเราไปจะรู้สึกดี”

ภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงปีนี้อาจจะไม่ค่อยสวยนัก Samsung มีวิธีรับมืออย่างไร

คุณสุทธิโชค ให้ความเห็นว่า เศรษฐกิจมีขื้นมีลงเป็นปกติอยู่แล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ซัมซุงให้ความสำคัญคือ Innovation จะเห็นว่าแม้แต่มือถือเองยังมี Cycle ที่ขึ้นๆ ลงๆ เราก็ดูว่ามันขึ้นเพราะอะไร ทุกครั้งที่ขึ้นเพราะเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น บริษัทที่จะอยู่ได้ในระยะยาวคือบริษัทที่พัฒนาเทคโนโลยีได้ดีกว่าคนอื่น นั่นเป็นจุดแข็งจุดหนึ่งของเรา ดังนั้น จะเห็นว่าทุกครั้งที่ซัมซุงออกมือถือใหม่  เทคโนโลยีจะนำหน้าคู่แข่งเสมอ เช่น เทคโนโลยี  NFC  เราเองก็ใช้มา 2-3 ปีแล้วแต่คนอื่นเพิ่งตามมา

นอกจากนี้ เทคโนโลยีใหม่ที่เราคิดว่ากำลังเป็นที่พูดถึงได้แก่ Visual Reality ซึ่งเป็นสิ่งที่กำลังมาแรงอย่างมาก VR ทำให้ทุกสิ่งที่เราเห็นผ่านเทคโนโลยีชิ้นนี้เสมือนจริงมากขึ้น มันคือเทคโนโลยีที่จะช่วยเรื่องการเติบโตไปข้างหน้าได้ ซึ่งต่อจากนี้ไปก็อาจจะมีเทคโนโลยีอื่นๆ เกิดขึ้นมาอีก

“ทั้งนี้ทั้งนั้น แม้เราจะมี  Innovation ที่ดีอย่างไร มาร์เก็ตติ้งก็ต้องเป็นผู้เล่าเรื่องด้วย เพื่อให้มันเกิด  Meaningful   หมายความว่า โปรดักส์ต้องเจ๋ง ขณะเดียวกัน ก็ต้องเล่าเรื่องให้ผู้บริโภคเก็ท ไอเดีย ได้ด้วยว่าอืม..มันเจ๋งจริงๆ”

samsung-interview-6

สำหรับปี 2016 มีอะไรใหม่ๆ ที่อยากให้ผู้บริโภคติดตามรอดูอีกหรือไม่

คุณสิทธิโชค แย้มว่า ในส่วนของโปรดักส์นั้น นอกจากมือถือคือ Samsung Galaxy S7 แล้ว ก็ยังจะมี Gear VR และ Gear S2 เป็นเทคโนโลยีที่เราอยากให้ลองจริงๆ เพราะถ้าเล่นแล้วรับรองจะสนุกมาก ส่วนเรื่องแคมเปญนั้น อาจจะเห็นการเปลี่ยนแปลงจากเราเพิ่มขึ้น คือที่ผ่านมาเราอาจจะเน้นไปที่ Product Lead แต่ปีนี้เราจะผลักดันเรื่องของ Creativity มากขึ้น อย่างหนึ่งที่เห็นชัดคือคอนเท้นต์ที่เป็นโฆษณาอายุสั้นมาก ในปีนี้เราก็อยากจะดันเรื่อง Quality  และ Creativity ให้มากขึ้น

“ถ้าถามว่าอะไรใหม่ๆ ให้จับตาดูโปรดักส์ใหม่ที่เรากำลังจะลอนช์ อย่าง Gear VR และ Gear S2 จะเห็น New Technology ที่จะเกิดขึ้น คือคุยกับ Samsung วันนี้เราจะคุยถึงอนาคต Next is Now”

สำหรับการสัมภาษณ์สุดพิเศษในครั้งนี้ เรียกว่าเราได้เปิดหูเปิดตา เข้าถึงกลยุทธ์การทำการตลาดจากแบรนด์ยักษ์ใหญ่ระดับโลก อย่างซัมซุง และทีมซัมซุงประเทศไทยได้อย่างเจาะลึก และได้ความรู้ที่มีคุณค่ามากสำหรับนักการตลาดไทย  ซึ่งสำหรับ ซัมซุง ประเทศไทย เองก็ว่ากันว่าเป็นความภูมิใจที่สำคัญของบริษัทแม่ประเทศเกาหลีอย่างมาก อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าทีมซัมซุงจะยังมีไม้เด็ดอีกมากมาย ที่พร้อมจะปล่อยหมัดฮุกให้เราได้เซอร์ไพรส์อย่างไม่หยุดแน่นอน.

Copyright © MarketingOops.com


  • 74
  •  
  •  
  •  
  •  
pigabyte
การเรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้น มาเรียนรู้และสนุกไปกับบทความ จาก MarketingOops! กันนะคะ แล้วเราจะได้ค้นพบว่าโลกของ Marketing นั้น So Sexy and Cool!