ครั้งแรก! กับการพบกันของ 4 CEO จากองค์กรชั้นนำของไทย ร่วมหาทางออกฝ่าวิกฤติ ธุรกิจต้องปรับตัวอย่างไรในปี 2021

  • 104
  •  
  •  
  •  
  •  

ต้องยอมรับว่าปีนี้เป็นปีที่โหดหินสำหรับทุกธุรกิจ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นปีที่สร้างบทเรียนสำคัญให้กับทุกธุรกิจ ได้เรียนรู้ที่จะปรับตัวและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้สามารถก้าวข้ามผ่านวิกฤตินี้ไปให้ได้ วิกฤติที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่าเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยให้องค์กรฟันฝ่าปัญหาเพื่อกลับมาเดินหน้าเติบโตได้อีกครั้ง

(วิดีโอนี้บันทึกก่อนวันที่ 17 ธันวาคม 2563)

 

เพื่อเป็นบทเรียนสำคัญให้ทุกธุรกิจได้นำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพ ในการปรับตัวรับมือกับทุกๆ วิกฤติทั้งในปัจจุบันและอนาคต คุณปฐมา จันทรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ในฐานะผู้นำองค์กรเทคโนโลยีระดับโลก จึงพาทีม MarketingOops! เดินทางบุกบ้านพบกับ 3 CEO องค์กรชั้นนำของไทย เพื่อขอคำแนะนำในการร่วมกันก้าวเดินฝ่าวิกฤติครั้งนี้ร่วมกันให้ได้ กับท่านแรก คุณขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ท่านที่สอง คุณดิษทัต ปันยารชุน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และท่านสุดท้าย คุณสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS

ทั้ง 3 องค์กรประสบความสำเร็จกับการปรับตัวรับมือวิกฤติที่ผ่านมาได้อย่างยอดเยี่ยม และเป็นองค์กรที่เป็นแบบอย่างของการพัฒนา “บุคลากร” เพื่อเดินหน้าสู่ Digital Transformation อย่างเต็มศักยภาพ การพบปะครั้งนี้จะเต็มอิ่มไปด้วยคำแนะนำและการเผยให้ทราบถึงกลยุทธ์สำคัญในการทำงานของทั้ง 3 องค์กร ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์และเป็นบทเรียนดีๆ ให้ทุกองค์กรนำไปปรับใช้ได้ในปี 2021 และในอนาคต

 

KBank:

คนและเทคโนโลยี ต้องก้าวไปพร้อมกัน

คุณปฐมาเริ่มด้วยการพาเราไปบุกบ้านผู้บริหารหญิงเก่งและหญิงแกร่งแห่ง KBank คุณขัตติยา อินทรวิชัย CEO ของ KBank ปีนี้เรียกได้ว่า KBank ได้สร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิทัลมากมาย และยังเป็น Trendsetter สร้างมิติใหม่ๆ ให้กับวงการแบงค์กิ้งไทยอีกด้วย ซึ่งเราได้สรุปบทสนทนาที่น่าสนใจจากทั้งคู่ไว้ดังนี้

คุณขัตติยา กล่าวว่า แม้หลายฝ่ายมองว่าปี 2021 อาจจะหนักกว่าปีนี้ แต่ปีหน้าจะดีขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งความเชื่อมั่นตรงนี้เป็นเพราะว่าได้สำรวจข้อมูลจากลูกค้าที่เข้าสู่มาตรการช่วยเหลือ โดยพบว่า 73% สามารถชำระเงินคืนได้ตามกำหนด ซึ่งถือเป็นข่าวดีทั้งของตัวแบงก์เองและข่าวดีของประเทศด้วย ว่า GDP ประเทศน่าจะกลับมาเท่ากับปีก่อนได้ และใช้เวลาเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ท้าทายจริงๆ คือพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการช้อปปิ้งออนไลน์ ซึ่งมีทั้งช้อปแบบ E-Commerce และ Social Commerce เป็นเรื่องที่ต้องติดตามและจับตาให้ดีต่อไป

เทคโนโลยีจะเป็นกุญแจสำคัญในการรับมือพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งสำหรับ KBank แล้ว 3 กลยุทธ์สำคัญในการก้าวผ่าน Disruption คือ 3 RE ได้แก่ Reimagine, Resilience และ Reform

สำหรับ Resilience ก็คือความสามารถในการยืดหยุ่นปรับตัวได้ไว และต้องทนทานพอที่จะผ่านวิกฤติต่างๆ ไปให้ได้ ส่วน Reimagine คือการปรับเปลี่ยนวิธีคิด ทำธุรกิจใหม่หมด แม้แต่วิธีในการเข้าหาลูกค้าก็ต้องคิดใหม่เช่นกัน เพราะว่าลูกค้ามีพฤติกรรมเปลี่ยนไป ดังนั้นจะใช้วิธีเดิมคงไม่ได้ สุดท้ายคือ Reform ก็คือต้องทำให้ทุกอย่างบรรลุผลให้ได้ ซึ่งทั้งหมดมีเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ อย่างไรก็ตาม คุณขัตติยา ยังระบุว่าทั้งหมดจะสามารถทำให้เกิดผลสำเร็จได้ สิ่งสำคัญที่สุดเลยก็คือ People หรือบุคลากรในองค์กร

“เทคโนโลยีต้องไปกับคน เทคโนโลยีไปอย่างเดียวไม่ได้ เพราะว่ามันไม่มีความหมาย ไม่ได้ตอบโจทย์วัตถุประสงค์อะไร ดังนั้น ต้องไปด้วยกัน”

ดังนั้น สิ่งสำคัญสุดท้ายที่คุณขัตติยาฝากไว้เพิ่มเติมสำหรับการพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้สามารถก้าวผ่านสู่ Digital Transformation ได้คือต้อง Unlearn หรือการเลิกคิดในวิธีเดิมๆ เพื่อที่จะสามารถเติมเต็มและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้มากขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่ระดับพนักงานแต่ผู้บริหารก็ต้องทำ คุณขัตติยาเองยืนยันว่าเธอเองก็ต้อง Unlearn เช่นกัน และที่สำคัญคือการสื่อสารภายในและการรีวอร์ดคนในองค์กร ทั้งหมดจะต้องทำไปพร้อมๆ กัน แล้วจะสามารถผ่านทุกวิกฤติและทุกสถานการณ์ไปด้วยกันทั้งประเทศได้

 

PTT Trading:

Data แบบ Real Time ช่วยให้ตัดสินใจได้รวดเร็วแม่นยำ

อีกหนึ่งองค์กรที่ผ่านมาแล้วหลายวิกฤติทั้งระดับประเทศและระดับโลก แต่ก็ยังสามารถก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ มาได้ ที่ที่สำคัญปีนี้ยังสามารถทำกำไร 130% ของเป้าหมายด้วย และหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ PTT Trading ประสบความสำเร็จก็คือการใช้เทคโนโลยีอย่างชาญฉลาด ดังนั้น คุณปฐมา จึงพาเรามาพบกับผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จดังกล่าว ซึ่งก็คือ คุณดิษทัต ปันยารชุน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่นำเอาเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้ได้ข้อมูลแบบ Real Time สำหรับการตัดสินใจ

คุณดิษทัต เล่าว่านโยบายสำคัญของ PTT Trading ก็คือ One Global Book, One Global Control และ One Global Information ซึ่งภาพรวมของทั้ง 3 อย่างนั้นหมายถึง ต้องสามารถทำงานร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวได้ในทุกมุมโลก บนมาตรฐานเดียวกัน ที่มีการแชร์ข้อมูลเดียวกัน ดังนั้น เครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้ทำได้อย่างประสบความสำเร็จ ก็คือต้องใช้เทคโนโลยีที่วิเคราะห์ Data หรือข้อมูลได้อย่าง Real Time

คุณดิษทัต ยังยกตัวอย่างห้องที่พาเราไปชม คือ ห้อง T Space@8 บนชั้น 8 ของสำนักงานใหญ่ ปตท.ว่าเป็นห้องที่ใช้ระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาก ซึ่งนอกจากจะเป็นห้องที่ไว้ใช้พัฒนาศักยภาพของพนักงานและผู้บริหารแล้ว ก็ยังเป็นห้องที่สามารถติดตามหรือแทร็คเรือบรรทุกน้ำมันของ ปตท.ทุกลำบนโลกได้แบบ Real Time ด้วยระบบดาวเทียม เช่นถ้าเกิดปัญหาในอ่าวเปอร์เซีย จอนี้จะสามารถบอกตำแหน่งเรือของ ปตท.ได้เลยว่าอยู่ที่ไหน ช่วยให้สามารถเรียกเรือกลับมาได้ทันที นอกจากนี้ ยังใช้เป็นห้องวอร์รูมหรือวางกลยุทธ์ต่างๆ ด้วย

อีกเทคโนโลยีสำคัญที่ PTT Trading นำมาใช้ก็คือ AI เพื่อมาใช้ในการประมวลผลข้อมูลต่างๆ โดยเรียกในภาษาเทรดดิ้งว่า Trading Signal เป็นการนำมาใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจให้เกิดความถูกต้องแม่นยำมากขึ้น และยังช่วยประหยัดเวลาในการทำงานได้อีกด้วย

Key Success ของ Trading มีอยู่ 3 อย่าง หนึ่งคือ ต้องทำการตัดสินใจอย่างรวดเร็วและแม่นยำ ดังนั้น Data ข้อมูลที่ได้จะต้องเร็ว Real Time และครบถ้วนสมบูรณ์ สองคือ กระบวนการตรวจสอบจะต้องมีประสิทธิภาพและต้องชัดเจน และสามคือ บุคลากร ต้องมีศักยภาพและพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา นี่คือโพสิชั่นที่ทำให้เราประสบความสำเร็จในทุกวันนี้”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่คุณดิษทัต มองว่าเป็นความท้าทายของธุรกิจ Trading ในอนาคตก็คือ การปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยีต่างๆ โดยปัจจัยสำคัญคือต้องเริ่มที่การเปลี่ยน Mindset ของคนในองค์กรด้วย

ดังเช่นวลีที่ คุณปฐมา กล่าวตบท้ายการสนทนา ถึงความจริงที่ว่า Data today is the new oil.” นั่นเอง

 

AIS:

DQ ความฉลาดทางดิจิทัล DNA สำคัญคนยุค 2021

องค์กรสุดท้ายที่คุณปฐมาพาเราไปบุกถึงบ้าน คือผู้นำด้านเทคโนโลยีการสื่อสารของไทย ที่มีบทบาทสำคัญในการพาประเทศเข้าสู่ระบบ 5G ซึ่งก็คือ AIS โดยผู้ที่จะมาให้ความรู้และคำแนะนำ เป็นใครไม่ได้เลยนอกจาก คุณสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS นั่นเอง ซึ่งเช่นเดียวกับองค์กรอื่นๆ AIS ก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 เช่นเดียวกัน แต่มากไปกว่าการรับมือวิกฤติที่เกิดขึ้น คุณสมชัยได้ให้คำแนะนำที่น่าสนใจว่า แม้จะไม่มีวิกฤติโควิดแต่ทุกธุรกิจต่างก็เผชิญกับความท้าทายใหม่ นั่นคือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และคู่แข่งที่วิ่งเร็วเป็นเงาตามตัว

ดังนั้น คำแนะนำจากคุณสมชัยคือ บุคลากรจะต้องทำงานที่มีอยู่เดิมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยที่จะต้องสามารถสร้างงานใหม่ได้ ภายใต้ resources ที่มีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการทำงานในอนาคต ‘คน’ หรือ People ต้องเรียนรู้ที่จะ Reskill พัฒนาตัวเองในธุรกิจใหม่ได้ เพราะทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ดังนั้น คนและองค์กรจะต้องปรับตัวให้ได้ หากปรับตัวไม่ได้ก็อาจต้องล้มหายตายจากไป

เมื่อ ‘คน’ เป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาองค์กร คุณปฐมาเลยสอบถามถึงนิยามคำว่า DQ (Digital Quotient) ที่คุณสมชัยได้ระบุในหนังสือ “ธรรมดาที่ไม่ธรรมดา” ว่ามีความสำคัญอย่างไรนอกเหนือจาก IQ และ EQ คุณสมชัย อธิบายว่า ที่เสนอ Digital Quotient หรือความฉลาดทางดิจิทัล ก็เป็นเพราะโลกเราทุกวันนี้ไม่อาจปฏิเสธการใช้เทคโนโลยีหรือดิจิทัลได้ แต่จะต้องใช้มันอย่างถูกทิศถูกทาง เป็นเสมือนอาวุธที่จะต้องใช้งานให้เป็นมิเช่นนั้นจะเป็นโทษมหาศาล ดังนั้น การพัฒนาคนโดยให้มี DQ ด้วยจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก รวมไปถึงจะต้องทำการสื่อสารบ่อยๆ ไม่ใช่แค่เพื่อให้รับรู้ แต่จะต้องให้รู้สึกมีส่วนร่วม engage รับกับการเปลี่ยนแปลงด้วยถึงจะนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จได้

ท้ายที่สุดคำแนะนำจาก คุณสมชัย ที่มอบให้กับผู้บริหารเพื่อนำมาปรับใช้ในการผลักดันองค์กรก้าวสู่ Digital Transformation ในปี 2021 และอนาคต ได้แก่  “รวดเร็ว” “อย่ากลัวผิด” และ “ซื่อสัตย์สุจริต” ต่อองค์กรและงานที่ทำ

“หนึ่ง ต้อง รวดเร็ว โดยเฉพาะเรื่องดิจิทัลต้องเร็วมากๆ สอง อย่ากลัวผิด เราต้องสร้างวัฒนธรรมว่าเมื่อทำผิดแล้วให้เอามาปรับปรุงแก้ไข และอันที่สามคือ ความซื่อสัตย์สุจริต เพราะโลกเราวันนี้มันคลุมเคลือมาก บางคนอาจจะทำอะไรเร็ว ทำอะไรเยอะ แต่มีสิ่งที่เรียกว่า hidden agenda แต่ถ้าเป็นมืออาชีพจริงๆ เราจะต้องทำเพื่อองค์กรเรา ไม่มีอเจนดาส่วนตัว เพราะฉะนั้นผมอยากฝากว่าองค์กรจะรอดได้ต้อง เร็ว อย่ากลัวผิด ที่สำคัญคือ ต้องซื่อสัตย์สุจริต ด้วย”

บทสรุปส่งท้ายจากการสนทนาของ CEO ทั้ง 4 คน พบว่า ไม่ว่าจะเผชิญกับวิกฤติไหนก็ตาม หรือแม้แต่ในสถานการณ์ปกติ เทคโนโลยีคือกุญแจหลักในการขับเคลื่อนองค์กร ดังนั้น การใช้เทคโนโลยีและการตัดสินใจวันนี้ต้องอยู่บนพื้นฐานของ Data แต่จะทำไม่ได้เลยถ้าคน ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญ ไม่มี Skills หรือไม่ Reskill ตามรูปแบบของงานและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป แต่มากไปกว่านั้นคือ Vision ของผู้นำองค์กรซึ่งจะเป็นผู้กำหนดทิศทางที่ดีที่สุด องค์กรจะพัฒนาศักยภาพพนักงานหรือหยิบเอาเทคโนโลยีมาปรับใช้ได้รวดเร็วมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของผู้นำในองค์กรเป็นสำคัญ ซึ่งจากคำแนะนำของ CEO ทั้ง 4 คนเชื่อว่าจะทำให้หลายองค์กรมองเห็นแนวทางที่ควรจะก้าวเดินไปสู่ปี 2021 ที่มั่นคงได้อย่างแน่นอน

ในฐานะผู้บริหารที่คลุกคลีในแวดวงเทคโนโลยีทั้งในระดับประเทศและระดับโลก คุณปฐมา จันทรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย ได้ปิดท้ายสั้นๆ ไว้ว่า ต่อจากนี้ไป ‘ข้อมูล’ จะเป็นเหมือนพลังขับเคลื่อนทรานส์ฟอร์เมชัน ‘คลาวด์’ จะเป็นเครื่องมือ ‘AI’ จะเป็นตัวเร่ง ‘ซิเคียวริตี้’ เป็นสิ่งที่ทุกองค์กรต้องมีและให้ความสำคัญ แต่สิ่งที่จะทำให้ธุรกิจเดินหน้าได้อย่างประสบความสำเร็จก็คือ ‘คน’

 

#CEO #IBM #KBank #PTTTrading #AIS #MarketingOops #insights #digitaltransformation #ai #cloud #reskill


  • 104
  •  
  •  
  •  
  •