เจาะกลยุทธ์ Digital Transformation จาก 3 CEO องค์กรชั้นนำของคนไทย “เดอะมอลล์กรุ๊ป-ไทยรี-สรรพากร” ต้นแบบของผู้นำยุคใหม่

  • 1K
  •  
  •  
  •  
  •  

แม้หลายคนจะกล่าวว่าปี 2021 ยังเป็นปีที่หนักหน่วงสำหรับเศรษฐกิจอยู่ ทว่า ก็ยังเป็นปีที่หลายคนเริ่มที่จะตั้งหลักจากวิกฤตต่างๆ ได้แล้ว และธุรกิจก็เริ่มที่จะฟื้นตัวได้บ้างเช่นกัน ที่สำคัญหลายองค์กรใช้โอกาสนี้ในการปรับตัว ผลักดันตัวเองเข้าสู่ digital transformation ดังนั้น เพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนองค์กรสู่เส้นทางของดิจิทัลให้ประสบความสำเร็จ คุณปฐมา จันทรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด จึงพาเราบุกออฟฟิศ ขอมุมมอง CEO 3 ท่านที่ประสบความสำเร็จในการผลักดันองค์กรและบุคลากรสู่โลกดิจิทัล ได้แก่ คุณศุภลักษณ์ อัมพุช ประธาน กรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด คุณโอฬาร วงศ์สุรพิเชษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) และ ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแบ่งปันประสบการณ์ในการนำพาองค์กรไปสู่ digital transformation ได้อย่างงดงาม ซึ่งเราได้รวบรวมสรุปใจความที่น่าสนใจของบทสนทนาผ่านบทความนี้

CEO พาบุกออฟฟิศ CEO ep. 1
ครั้งแรก! กับการพบกันของ 4 CEO จากองค์กรชั้นนำของไทย ร่วมหาทางออกฝ่าวิกฤติ ธุรกิจต้องปรับตัวอย่างไรในปี 2021

Women Leaders in AI ของ “ศุภลักษณ์ อัมพุช” จากเดอะมอลล์ กรุ๊ป

คุณปฐมาเริ่มต้นด้วยผู้นำแถวหน้าแห่งธุรกิจรีเทลไทย ที่วิสัยทัศน์ก้าวไกลของเธอมีส่วนทำให้ประเทศไทยกลายเป็นจุดหมายท่องเที่ยวสำคัญระดับโลก จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจ ล่าสุด เธอได้รับรางวัล Women Leaders in AI จาก IBM ซึ่งทั่วโลกมีผู้นำสตรีแค่ 40 ท่านที่ได้รับรางวัล และมีเพียง 2 คนในอาเซียนที่ โดยคุณศุภลักษณ์เป็นคนไทยคนแรกและหนึ่งเดียวที่ได้รับ

คุณศุภลักษณ์ กล่าวอย่างถ่อมตัวว่า อาจจะไม่ใช่คนแรกที่ทำเรื่อง AI แต่ก็ได้ศึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้มานานพอสมควร ซึ่งก็ต้องบอกว่าเราเป็นบริษัทที่อายุแค่ 40 ปี เติบโตมาจากธุรกิจครอบครัว ดังนั้น ก็จะมีคนที่อยู่กันมานานมาก 20-30 ปี ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะทำให้เขาเปลี่ยนแปลงกับสิ่งที่คุ้นชิน ดังนั้น ถ้าบอกว่า เดอะมอลล์ กรุ๊ป เป็นผู้นำด้าน AI อาจจะเป็นเรื่องของการสร้างแรงบันดาลใจด้านนวัตกรรมให้กับคนอื่นๆ มากกว่า อยากจะ inspire ให้ทุกคนก้าวข้ามได้ทุกๆ วิกฤต ไม่ว่าจะเป็นดิสรัปชั่นหรือโรคระบาด ดังนั้น หนึ่งในแคมเปญที่เดอะมอลล์ทำก็คือ 1) The Power of Love and Care ที่ให้ทุกคนมีความรักต่อกัน 2) The Power of Believe and Faith ให้ทุกคนมีศรัทธาว่าเราจะสามารถเอาชนะทุกอุปสรรค และ สุดท้าย 3) The Power of Unity and Togetherness เพราะมันเป็นไปไม่ได้ที่คุณจะชนะคนเดียวคุณจะต้องจับมือกันร่วมมือกัน และเมื่อมีทั้งสามอย่างนี้ก็สามารถเอาชนะทุกๆ อย่างได้

ที่สำคัญในยุคของการทำธุรกิจที่ต้องทรานส์ฟอร์มสู่อนาคต คุณศุภลักษณ์ให้ความสำคัญกับ 2 คำ คือ Globalization” และ Digitalization” ที่จะต้องมาคู่กัน การที่จะ globalize ได้นั้นไม่ได้หมายความว่าจะต้องไปเปิดห้างทั่วโลก แต่เป็นการที่จะทำอย่างไรให้องค์กรเรามีความเป็น globalization ดังนั้น จะต้องผลักดันด้วย digitalization โดยจะต้องหา winning formula ให้เจอ บนสนามที่เราคิดว่าจะสามารถชนะได้

“ดังนั้น เดอะมอลล์ กรุ๊ป เราก็ต้องไปเล่นในสนามใหญ่เท่านั้น ทำให้เราโฟกัสที่ physical stores ชนาดใหญ่และทำให้มันเป็น phenomenal และใส่คอนเทนต์ที่เป็น experience ที่มันcustomize ลงไป ไม่ใช่ทำแบบปั๊มๆ คือเหมือนๆ กันหมด แต่ทุกแห่งจะต้องมี character และมี identity ที่พิเศษและแตกต่าง คนถามว่าทำไมต้องมี The Mall ทำไมต้องมี Emporium ทำไมต้องมี Paragon มีโน่นนี่ ทำไมชื่อมันไม่เหมือนกัน คำตอบคือเพราะว่าคาแรคเตอร์มันไม่เหมือนกัน”

ประเด็นสุดท้าย คุณศุภลักษณ์ ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลพนักงานในองค์กรที่ผสมผสานทั้ง new generation และ young generation แต่สามารถก้าวสู่ทรานส์ฟอร์เมชั่นไปพร้อมกันได้ว่า มันคือการ blend ทั้ง new generation และ young generation ไปด้วยกัน คือมีแต่ new blood อย่างเดียวก็ไม่รอด แต่ถ้ามีแต่ old blood ก็ตายกลายเป็นไดโนเสาร์ ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือการสร้างให้ทั้งสองกลุ่มทำงานร่วมกันให้ได้บนความคิดเห็นที่แตกต่างกัน break the ice ถกเถียงกันได้บนเรื่องงาน เลิกแล้วจบเลย กอดคอกันเหมือนเดิม นี่คือการบริหารงาน ซึ่งเราให้ความสำคัญมาก เรียกว่าเป็น national agenda ขององค์กรเลยทีเดียว

 

ความสำเร็จของ “ไทยรี” บริษัทประกันภัยต่อแห่งแรกที่เปิดแพลตฟอร์มระดับภูมิภาค

CEO ที่ได้มีโอกาสพบในลำดับถัดมา เป็นผู้นำบริษัทประกันภัยต่อรายแรกในอาเซียนที่ลงทุนในการทำแพลตฟอร์ม reinsurance รองรับบริษัทประกันภัยไทยเกือบทั้งหมด พร้อมเปิดให้ใช้งานไม่จำกัด ซึ่งก็คือ “ไทยรี” หรือ บริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน)โดยมี คุณโอฬาร วงศ์สุรพิเชษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จเหล่านี้ และครั้งนี้จะได้แบ่งปันความรู้และประสบการณ์จากการใช้เทคโนโลยีและแนวทาง data-driven มาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเราสรุปใจความสำคัญของการสนทนาไว้ดังนี้

คุณโอฬาร กล่าวถึงอนาคตของวงการประกันภัยทั้งในไทยและต่างประเทศว่า เป็นปีที่มีการลงทุนในตัว insurtech ค่อนข้างสูง ทั้งนี้ ตัวเลขในปีที่แล้วพบว่ามีการลงทุนสูงถึง 7-9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นดีลไซส์กลางและใหญ่ และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากกว่าในอดีต สะท้อนว่าขณะนี้ insurtech เริ่มเข้ามาใกล้ตัวผู้บริโภคมากขึ้นแล้ว ดังนั้น ในฐานะผู้บริหารองค์กรก็คงจะต้องมองไปข้างหน้าใน 2-3 ปีด้วยว่าเราจะทำอย่างไรให้องค์กรเราแข่งขันต่อไปได้

การสร้างนวัตกรรมการให้บริการในธุรกิจประกันภัยรวมถึงการสร้างแพลตฟอร์มreinsurance เป็นที่แรกในอาเซียน คุณโอฬารเล่าถึงวัตถุประสงค์ในการทำว่า เนื่องจากในภูมิภาคอาเซียนส่วนใหญ่บริษัทประกันภัยและประกันชีวิตมีไซส์ขนาดเล็กถึงกลาง การลงทุนด้านเทคโนโลยีจึงมีความเสี่ยงและมีต้นทุนที่ค่อนข้างแพง เพราะฉะนั้นทำอย่างไรให้บริษัทไซส์เล็กไซส์กลางที่อยู่ในภูมิภาคเราสามารถมา share cost ตรงนี้ได้ ดังนั้น ไทยรี จึงเป็นผู้ลงทุนก่อนแล้วให้มาใช้แพลตฟอร์มนี้ด้วยกัน แล้วไทยรี ก็ค่อยๆ เก็บเกี่ยวกลับมาจากตรงนั้น โดยที่ออกแบบให้แพลตฟอร์มสามารถ customize ได้ ให้เกิดความแตกต่างในแต่ละบริษัท ให้มี uniqueness ของตัวเอง เพราะแต่ละบริษัทเองก็มี positioning และมีลูกค้าต่างกัน จึงไม่สามารถที่จะมีทุกอย่างเหมือนกันได้ และที่สำคัญที่สุดคือเพื่อช่วยสร้าง ecosystem ในวงการและทำให้บริษัทต่างๆ เข้ามาใช้เซอร์วิสในราคาที่เหมาะสม

สำหรับ blockchain ที่ได้ IBM เป็นพาร์ทเนอร์ คุณโอฬารเล่าว่า เป็นเพราะในอดีตข้อมูลต่างๆ เก็บกันผ่านไฟล์บนฮาร์ดก็อปปี้หรืออีเมล์บ้าง ซึ่งทุกอย่างไม่ได้ลิงก์ไปกับระบบ ทำให้เกิดปัญหาทั้งความไม่ถูกต้อง ข้อมูลหาย เอกสารหายบ้าง เหล่านี้เป็น pain ในการทำงานอย่างมาก ดังนั้น การทำงานแพลตฟอร์มโดยเอา blockchain มาใช้งานจึงทำให้สามารถติดตามตรวจสอบได้ง่ายและถูกต้อง

“และส่วนหนึ่งที่เราเลือก blockchain ของ IBM ก็คือความ stable อันนี้ต้อง stable มาก เพราะว่าในอนาคตเราต้องการให้แพลตฟอร์มนี้กระจายไปทั่วทั้งอินดัสทรี ระหว่างบริษัทประกันภัยกับบริษัทประกันภัย บริษัทประกันภัยกับไทยรี โบรกเกอร์กับบริษัทประกันภัย บริษัทประกันภัยไปโบรกเกอร์ คือมันจะต้องกระจายไปทั่ว เพราะฉะนั้นความ stable ของระบบมีความสำคัญมาก เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้ระบบของ ecosystem มีปัญหา ทั้งอินดัสทรีมันมีผลกระทบหมดเลย การเลือกใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีจึงสำคัญอย่างยิ่ง”

สุดท้ายคุณโอฬารได้ฝากคำแนะนำในการรันธุรกิจให้ก้าวผ่านทุกวิกฤติได้ โดยบอกว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือ stakeholder ทั้งหลาย ตั้งแต่ผู้ถือหุ้น กรรมการ ผู้บริหาร พนักงานทุกคนจะต้องมีส่วนรับรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นจริงๆ ในองค์กร แต่มากไปกว่านั้นก็คือการที่ตัวผู้นำในองค์กรมีความเชื่ออย่างแน่วแน่ว่าเราจะต้องทำได้ ถ้าเราไม่คิดอย่างนั้นก็ไม่อาจจะนำพาทุกคนก้าวข้ามไปได้ หลังจากนั้นก็ถ่ายทอดความคิดนี้ไปสู่คนอื่นๆ

“ทุกคนต้องเชื่อในทิศทางที่องค์กรกำลังไป คนและองค์กรต้องไปในทิศทางเดียวกัน ต้องเดินไปด้วยกันเพื่อให้องค์กรเดินหน้าอย่างยั่งยืน”

 

“กรมสรรพากร” พลิกโฉมหน่วยงานราชการด้วยการทำงานแบบ Design Thinking

สุดท้ายสำหรับ CEO meets CEOs ในเทปนี้คือหน่วยงานที่พลิกโฉมหน้าหน่วยงานราชการด้วยการใช้เทคโนโลยีและมีวิธีการทำงานที่ทันสมัย ด้วย design thinking และ agile ซี่งถือเป็นหน่วยงานราชการแห่งแรกที่ใช้แนวคิดนี้ในการทำงาน ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ได้แก่ “กรรมสรรพากร” ดังนั้นผู้ที่จะมาเปิดเผยถึงการก้าวสู่การทำงานราชการยุคใหม่จึงเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร

ดร.เอกนิติ ได้เล่าถึงจุดเริ่มของแนวคิดการทำงานโดยอาศัยแนวทาง design thinking ที่ไอบีเอ็มได้เข้ามามีส่วนสนับสนุนตั้งแต่แรกว่า เพราะกรมสรรพากรนอกจากจะมีหน้าที่ในการเก็บภาษีจากประชาชนแล้ว เราก็ต้องทำงานตอบโจทย์ประชาชนด้วย ซึ่งหลักแนวคิดใหม่ในการทำงานของเราได้แก่ การให้ผู้เสียภาษีเป็นศูนย์กลางในการทำงาน customer centric บนวิสัยทัศน์ที่ว่า “ตรงเป้า ตรงกลุ่ม ตรงใจ” ซึ่งทั้งหมดนี้จะสำเร็จไม่ได้หากไม่มีการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วย จึงเป็นที่มาของการคิดกลยุทธ์ที่เราเรียกว่า D2DRIVE”

สำหรับ D2DRIVE” มีรายละเอียดดังนี้D” ตัวแรกคือ Digital Transformation คือเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับกระบวนการทำงานให้บรรลุเป้าหมาย D” ตัวที่สองคือ Data Analytics ใช้เรื่องข้อมูลมาตอบโจทย์ R คือเรื่อง Revenue Collection การออกกลยุทธ์การเก็บภาษีอย่างไรให้ให้ตรงเป้า I คือ Innovation กลยุทธ์ที่ทำอย่างไรให้innovation เป็นวัฒนธรรมของกรมสรรพากร ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการเอา design thinking มาใช้ในองค์กร ซึ่งเราดำเนินการมาก่อนถึง 2 ปีแล้ว และทำกันแม้แต่ในจังหวัดเล็กๆ Vคือตัว Value ได้แก่เรื่ององค์กรคุณธรรม เราให้ความสำคัญกับการนำคุณธรรมมาใช้ในการขับเคลื่อนองค์กร และตัวสุดท้ายคือ E คือ Efficiency คือประสิทธิภาพ ทำอย่างไรให้คนเก่งขึ้น เป็น smart people และ smart office ทั้งหมดนี้เป็นกลยุทธ์หลักที่เรานำมาขับเคลื่อนกรมสรรพากรในปัจจุบัน

อีกเรื่องที่สะท้อนถึงการทำงานแบบคิดนอกกรอบผ่านเทคโนโลยี คือแนวคิด Open API(Open Application Programming Interface) การเปิดแพลตฟอร์มให้สตาร์ทอัพร่วมพัฒนาแอปฯ หรือการใช้เทคโนโลยี blockchain เพื่อสร้างประสิทธิภาพในการบริการประชาชนให้ดีขึ้น เช่น การพัฒนา e-Stamp การลดขั้นตอนการยื่นภาษี หรือการยื่นภาษีออนไลน์ ทำเองได้ที่บ้านโดยเรียกว่า Tax from home โดยได้รับความร่วมมือกับ ETDA(สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ สพธอ.) เพื่อสร้างมาตรฐานที่ดีในการใช้งาน ซึ่งผลจากความร่วมมือครั้งนี้ทลายข้อกัดในเรื่องงบประมาณและสร้างประสิทธิภาพการทำงานตอบโจทย์ประชาชนได้ดีโดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโควิดที่ผ่านมา อันนี้คือสิ่งที่เราเรียกว่าการนำ digital transformation มาใช้งานนั่นเอง

ท้ายที่สุด อธิบดีกรมสรรพกรได้ฝากเคล็ดลับในการนำพาองค์กรก้าวสู่ digital transformation ให้ได้ประสิทธิภาพ สำคัญคือต้องเริ่มเปลี่ยนที่ “คน” โดยต้องเริ่มต้นที่คนเป็นผู้นำก่อน ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชาให้เห็น เมื่อเขาเห็นความมุ่งมั่นตั้งใจดีของเราว่าเราไม่ได้ทำให้ตัวเราเองแต่เราทำให้ส่วนรวม ทำให้กับประเทศชาติ สุดท้ายแล้วองค์กรก็จะเติบโตขึ้นในอนาคต

“ลีดเดอร์ อย่างที่เราได้ยินคำ quote ต่างๆ ก็คือ do right things คือถ้าเราเชื่อว่ามันต้องปรับต้องเปลี่ยน แต่ว่าคนเขาอาจจะยังไม่เห็น แต่เราจะต้องกล้าที่จะนำองค์กร กล้าที่จะปรับเปลี่ยน และทำให้เขาไปกับเราให้ได้”

ท้ายที่สุด ในฐานะผู้บริหารที่คลุกคลีในแวดวงเทคโนโลยีทั้งในระดับประเทศและระดับโลก คุณปฐมา จันทรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย ได้ปิดท้ายสั้นๆ ไว้ว่า นอกเหนือจากได้ล่วงรู้เคล็ดลับ digital transformation ในองค์กรของ CEO ทั้งสามท่านมาปรับใช้งานแล้ว แต่มากไปกว่านั้นสิ่งที่ได้จากผู้นำองค์กรทั้ง 3 ก็คือภาพสะท้อนของ “ผู้นำ” ที่ไม่ยอมหยุดนิ่ง และไม่ยอมปล่อยให้วิกฤตผ่านไปโดยเสียโอกาสที่จะได้เรียนรู้บทเรียนบางสิ่งบางอย่างกลับมาเพื่อต่อยอดสร้างองค์กรที่เข้มแข็งเติบโตในอนาคต ซึ่งมั่นใจว่าทั้งหมดนี้น่าจะเป็นแรงบันดาลใจที่ดีให้กับผู้นำองค์กรทุกๆ คนต่อไป

 

Copyright © MarketingOops.com


  • 1K
  •  
  •  
  •  
  •  
CLOSE
CLOSE