แบรนด์ดิ้ง เรื่องของแม่นางละเอียด กับคุณชายละเมียดละไม

  • 109
  •  
  •  
  •  
  •  

ใครว่าการสื่อสารแบรนด์เป็นเรื่องสนุกบ้าง จริงๆ ก็ต้องบอกว่ามันมีความสนุก และท้าทายแน่ๆ เพราะคนทำ แบรนด์ ถ้าเป็นผู้หญิงก็ต้องเรียกว่าเป็นแม่นางละเอียด ถ้าเป็นผู้ชายก็น่าจะเป็นคุณชายละเมียดละไม เนื่องจากว่าเรื่องของงานด้านการสื่อสาร มันมีองค์ประกอบรายละเอียดยิบย่อยไปหมดเลยค่ะ เพราะทุกๆ Element ที่ผ่านสายตา และความรู้สึก คนทำการสื่อสารแบรนด์ส่วนใหญ่น่าจะมีลักษณะพิเศษบางอย่าง โดยส่วนใหญ่ที่ตาลรู้จัก ต้องบอกเลยค่ะ ว่านักสื่อสารแบรนด์เก่งๆ ตัวท็อป จะมีความละเอียดลออ ใส่ใจในรายละเอียดไปหมด (ไม่รู้จริงหรือเปล่านะคะ)  แต่สำหรับตาลเรื่องของ FiveSenses ที่เราพูดกันมาตลอดเวลานั่นแหละค่ะ คือ รายละเอียดเล็กๆ ที่ซ่อนอยู่ และคนสื่อสารแบรนด์ที่ดี ควรจะพยายามลงรายละเอียดกับมัน แม้แต่รายละเอียดเล็กๆ บางบริษัทให้ความใส่ใจกับเรื่องเล็กๆ เสื้อผ้า หน้าผม เส้นด้าย ลายกระดุม เพราะนั่นก็คือทุกสัมผัสที่คนทั่วไปจะมองเห็นได้ แต่บางบริษัทไม่ได้สนใจ ในรายละเอียดเท่าไหร่ และตัวพนักงานก็ไม่ได้ให้ความสำคัญ แต่ถ้ายิ่งเราใส่ใจในรายละเอียดมากเท่าไหร่ ความชัดเจนในตัวแบรนด์ก็จะยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้นค่ะ

branding-umaree

คราวนี้มาว่ากันด้วยเรื่องของการสื่อสาร โดยเฉพาะในยุคนี้ ยุคที่ใครๆ ก็บอกว่ามันคือโลกของดิจิตอล ยุคที่ข้อมูลข่าวสารท่วมท้น จะเสิร์ฟเข้าปากผู้บริโภคก็ยากเหลือเกิน เพราะข้อมูลเต็มไปหมด และที่สำคัญกว่านั้น ผู้บริโภคเขาไม่ได้รอข้อมูลจากเราๆ อีกต่อไปแล้ว เพราะแค่สะบัดนิ้ว ไถไปไถมา เขาก็สามารถได้ข้อมูลที่เขาสนใจ เลือกที่จะหยิบ จะใช้ หรือจะหาแต่ของที่เขาชอบ ของที่เขาสนใจ แล้วเราจะทำอย่างไรกันดีน้า เพราะเขาเริ่มมีความต้องการ มีความคาดหวัง และมีประสบการณ์ มีความสลับซับซ้อนมากกว่าเดิม หรือจะเรียกว่า มีลักษณะเฉพาะตัวมากยิ่งขึ้น มันก็เลยทำให้นักสื่อสารอย่างเราๆ ทำอยู่เหมือนเดิมไม่ได้แล้วค่ะ อินดี้ กันสุดๆ นะคะ คนยุคนี้

เมื่อก่อนชีวิตคนสื่อสารแบรนด์อาจจะง่ายหน่อย มี Big concept ใช้ Key message เดียว แล้วจะเอาไปใช้กับสื่อไหนก็ได้ แต่ตอนนี้ จะมาใช้ One message fits all ไม่ได้อีกต่อไปแล้วล่ะค่ะ ย้ำนะคะ ใช้ไม่ได้จริงๆ ยกตัวอย่างง่ายๆ แบบที่นักสื่อสารหรือนักประชาสัมพันธ์ทั้งหลาย จะต้องปรับตัวแน่ๆ และควรปรับมาหลายปีแล้ว เมื่อก่อนเวลาเราจะทำงานด้านการสื่อสาร สมมติว่าเราเป็น PR เขียนข่าว ส่งข่าว ชิ้นเดียว กระจายไปทั่ว แต่ตอนนี้พอออนไลน์เข้ามามีบทบาทมากขึ้น จากข่าว 1 ชิ้น กลายมาเป็น 2 เพราะต้องแยกกันระหว่างหนังสือพิมพ์กับออนไลน์ แถมควรจะต้องเอามาลงในโซเชียลมีเดียอีก จะโพสต์กันไปดื้อๆ ยาวๆ เอาแบบมีพาดหัวหลัก พาดหัวรอง เนื้อหา เกริ่นนำ สรุป คนก็ไม่อ่านแล้วล่ะคะ เราก็ต้องมาย่อย ดึงเอาเรื่องราวที่น่าสนใจมาพูดกัน ไหนจะต้องสรรหาภาพมาประกอบ ดึงให้มีความน่าสนใจ เพื่อจะต่อสู้กับข่าวสารพัดอีก แถมสื่อก็เยอะขึ้น เราก็เลยต้องคิดมากขึ้น ทำมากขึ้น ละเมียดละไม แล้วก็ละเอียดมากขึ้น เรื่องว่า Checklist ในการทำงานยาวขึ้นอีกหลายบรรทัด

ถ้าจะเปรียบเทียบแล้ว เอาแบบไม่ต้องมีทฤษฎีอะไรมาบัญญัติ นักสื่อสารก็เหมือนผู้ใช้ทั่วไป หรือที่นักการตลาดในโลกออนไลน์ เรียกว่า Users เพราะขนาดตัว Users เอง ยังคอย Update เนื้อหา เรื่องราวชีวิต บอกเล่าพฤติกรรมตัวเองกินอะไร ไปไหน ออกกำลัง เล่นโยคะ สารพัดสิ่งในแต่ละวันแบบไม่ซ้ำกัน แถมบางทีต้องคิดใช่ไหมคะ ว่าโพสต์แบบไหน จะเรียกไลค์ เรียกหัวใจจากเพื่อนๆ ได้  ไม่ต่างกันเลย กับการสื่อสารแบรนด์ ที่เราก็จะต้องผลิตคอนเทนต์เรียกความน่าสนใจ ในหลากหลายรูปแบบมากขึ้น ยิ่งเรามีพื้นที่สื่อออนไลน์ที่เราสามารถกำหนดข้อมูล เนื้อหา และเวลาในการสื่อสารได้เอง แถมฟรีอีกต่างหาก ฉะนั้นเรายิ่งต้องคิดมากขึ้น เอาเป็นว่าสนุกมากขึ้น แล้วก็เหนื่อยมากขึ้นแน่นอนค่ะ  นักสื่อสารแบรนด์ทั้งหลาย

 

เขียนโดย อุมารี ชาญณรงค์
Expertise: Creative Branding and Communications
อ่านบทความ Exclusive เพิ่มเติมได้ที่นี่

Copyright © MarketingOops.com


  • 109
  •  
  •  
  •  
  •  
Umaree Charnnarong
ตาล อุมารี ชาญณรงค์ ผู้สร้างสรรค์งานด้านการสื่อสาร กับกลยุทธ์การสื่อสาร ทั้งภายในและภายนอกองค์กร ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร แห่ง บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) กลุ่มธุรกิจที่ดำเนินงานโดยใช้ศักยภาพในด้านของความคิดสร้างสรรค์เป็นหลัก ให้บริการสร้างสรรค์และบริหารงานด้านการสื่อสารการตลาดอย่างครบวงจร บริษัท ครีเอทีฟ บิซิเนส อันดับ 1 ของประเทศไทย และเป็นบริษัทอีเว้นท์คนไทยบริษัทเดียวที่ติดอันดับ 7 ของโลก จัดอันดับโดยนิตยสาร Special Events Magazine ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยผลงานสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย กับการทำงานด้านการสื่อสารแบรนด์ในงาน World Expo ในปี 2010 2012 และ 2017 ด้วยความพิถีพิถัน ใส่ใจในรายละเอียดสมกับสโลแกนของบริษัทที่ว่า “Never Stop Creating”