หลักการพื้นฐานของ Blockchain และ Cryptocurrency

  • 617
  •  
  •  
  •  
  •  

blockchain&crypto

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราคงจะเคยได้ยินข่าวและการสนทนาเกี่ยวกับนวัตกรรมและเทคโนโลยี Blockchain และ Cryptocurrency หรือ เงินและสินทรัพย์ Digital อย่าง Bitcoin อยู่บ่อยครั้ง แต่เมื่อได้ลองนั่งฟังและเริ่มศึกษาแล้วก็จะพบว่า มันมีคำศัพท์มากมายที่สำหรับผู้ที่เกิดมาไม่เคยได้ยินมาก่อน มักจะฟังไม่รู้เรื่องหรือแทบจะทำความเข้าใจไม่ได้เลย

แต่ที่จริงคำศัพท์เหล่านั้นหลายคำอยู่ในบทเรียนระดับปริญญาตรีของสาขาวิชาต่างๆ ที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้ใน Blockchain และ Cryptocurrency เช่น สาขาการบริหารจัดการ การเมืองการปกครอง เศรษฐศาสตร์ การเงินการลงทุน โทรคมนาคมและ Network ตลอดจนการพัฒนา Software จนถึง IT Security ซึ่งก็คงไม่ยากเกินที่จะทำความเข้าใจ หากเราค่อยๆ หยิบมานั่งดูกันทีละคำ เหมือนกับการกินข้าวทีละคำ ฉะนั้นแล้วเรามาตักข้าวคำแรกเลยดีกว่า

  • Decentralization หรือ การกระจายศูนย์(กลาง)

คำๆ นี้มีความหมายตรงกันข้ามกับคำว่า การรวมศูนย์(กลาง) หรือ Centralization เราจะเคยได้ยินคำนี้อยู่บ่อยๆ ในเรื่องของการกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่น หรือการกระจายอำนาจการตัดสินใจของผู้บริหารลงมาสู่ผู้จัดการหรือพนักงานผู้ปฏิบัติงาน

เดิมทีการรวมศูนย์กลางนั้นทำไปเพื่อให้ง่ายต่อการจัดการ ข้อมูลและรายงานที่จำเป็นก็จะถูกส่งตรงเข้าสู่ศูนย์กลาง เพื่อให้ผู้มีอำนาจตัดสินพิจรณาสั่งการออกมาอีกที ทีนี้แล้วการรวบอำนาจการตัดสินใจมาไว้ที่จุดๆ เดียวหรือ Centralization นี้มันมีปัญหาอะไรถึงทำให้มีผู้ที่ต้องการ Decentralization หละ

1.1 ความไร้ประสิทธิภาพ(ในการตัดสินใจ) หรือ Inefficiency

ตัวอย่างเช่น สมมุติให้ตอนที่เรากินข้าว หากเราซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานคือการตักข้าวเข้าปาก ต้องถามคุณแม่ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจสั่งเราทุกๆ ครั้ง แล้วนั้น คงจะกลายเป็นการกินข้าวที่นานที่สุดเท่าที่เราเคยทำมา

ในชีวิตจริง เราจะเห็นเรื่องเหล่านี้ในการทำงานขององค์กรขนาดใหญ่ที่มีการควบคุมและจำนวนชั้น (Hierarchy) ในการสั่งงานมากๆ เช่น หน่วยงานราชการในอดีต เมื่อการนำเสนอเรื่องหรือโครงการต่างๆ ที่เป็นเอกสาร ก็จะถูกส่งไปยังโต๊ะของผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจพิจรณา หากคนๆ นั้นมีไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ ไม่ว่าคนๆ นั้นจะมีความรู้ความสามารถแค่ไหนก็ตาม ก็จะต้องส่งเอกสารไปให้ผู้ที่มีอำนาจสูงกว่าที่ศูนย์กลางตามระเบียบและขั้นตอน ซึ่งกว่าข้อมูลที่ส่งไปจะได้รับการประมวลหรือพิจรณา ซึ่งบางครั้งก็เกิดข้อผิดพลาดระหว่างการส่ง และกว่าจะส่งกลับมา จะเห็นได้ว่าการที่ Information เดินทางได้ล่าช้าในระบบ Centralized นี้เอง เป็นสาเหตุที่ทำให้งานเหล่านั้นล่าช้า

ในเอกชนก็เช่นกัน องค์กรที่ประสบความสำเร็จ มักจะมีกระบวนการตัดสินใจที่รวดเร็วกว่าองค์กรอื่น มีการกระจายศูนย์กลางหรืออำนาจให้ระดับผู้ปฏิบัติงานมีอิสระในการตัดสินใจ (Autonomy) มีลักษณะการทำงานแบบองค์กรแนวนอน (Horizontal) คือไม่มีการควบคุมกันหลายชั้นหลายต่อเป็นแนวตั้ง (Vertical) มีความคล่องตัวทางธุรกิจ (Agile) สามารถทำธุรกรรมได้อย่างรวดเร็วและเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตามการตัดสินใจเหล่านั้น ก็ยังคงตั้งอยู่บนกฎระเบียบที่อยู่ในความควบคุมขององค์กรและข้อตกลงร่วมกัน ซึ่งในปัจจุบันนี้ ก็มีการใช้เทคโนโลยีด้าน IT เข้ามาช่วยตัดสินใจในเรื่องง่ายๆ หรือปัญหาที่มีโครงสร้างที่ชัดเจน (Structured) ได้อย่างอัตโนมัติ ซึ่งก็เป็นการกระจายอำนาจให้เครื่องคอมพิวเตอร์ตัดสินใจแทนเรานั่นเอง

1.2 ความถูกต้องและความโปร่งใส หรือ Validity & Transparency

“ร้านอาหารที่ยิ่งใหญ่มาพร้อมกับความรับผิดชอบ(ในอาหาร)ที่ใหญ่ยิ่ง” (With great power comes great responsibility) เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า ผู้ที่มีอำนาจที่ศูนย์กลางนั้นจะไม่ใช้อำนาจในทางที่ผิด (Abuse) ผู้มีอำนาจมักจะมีความสามารถในการปกปิดการกระทำผิดของตนเองได้ เช่น มีการใส่กัญชาลงไปในอาหาร โดยที่เราผู้กินไม่รู้ตัว เป็นต้น จึงจำเป็นจะต้องมีการตรวจสอบและผู้ตรวจ (Validator/Watchman)

ซึ่งนอกจากที่ผู้ตรวจจะต้องรู้และเข้าใจสิ่งที่ตนจะไปตรวจอย่างลึกซึ้งแล้ว ก็เป็นไปได้ว่ากระบวนการตรวจสอบที่เพิ่มขึ้นมานี้ อาจจะไปเพิ่มภาระงานให้แก่ระบบงานเดิมหรือจำเป็นต้องหยุดการทำงานเพื่อให้เข้าไปตรวจสอบได้ ซึ่งนอกจากจะเป็นการลดประสิทธิภาพในการทำงานแล้วยังผิดหลักการวัด (Measurement) ที่ว่า การวัดนั้นจะต้องไม่เข้าไปแทรกแทรงหรือมีผลกระทบต่อระบบที่วัดน้อยที่สุด เสมือนว่าไม่มีอุปกรณ์วัดอยู่ในระบบนั้นเลย เพราะจะทำให้การผลผิดพลาด หรือที่เรารู้กันดีว่าอาจจะเกิดการใช้ “ผักชีโรยหน้า”แทนกัญชาในขณะที่วัดได้ นอกจากนี้แล้วยังมีปัญหาต่ออีกว่า “ใครจะตรวจสอบ ผู้ตรวจสอบ” (Who’ll watch the watchman?)

หากมีการกระจายศูนย์กลางอำนาจให้องค์กรที่จะตรวจมีความเป็นแนวนอนมากขึ้น และกระจายอำนาจให้ทุกๆ คนในระบบเป็นผู้ตรวจ ก็จะทำให้ทั้งสิ่งที่จะตรวจนั้นมีความซับซ้อนน้อยลง ผู้ตรวจก็มีขนาดที่เล็กลง สามารถช่วยกันตรวจสอบได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และทุกคนก็ยังตรวจสอบกันเองได้อีกด้วย ซึ่งเป็นการตอบคำถาม“ใครจะตรวจ ผู้ตรวจ”ได้ว่า “ทุกคน” (Everyone) ตรวจ

1.3 ความมั่นคง/เชื่อถือได้/พึ่งพาได้ หรือ Reliability

หากจุดศูนย์กลางล้มเหลว ระบบงานจะล่มทั้งหมดหรือไม่? ปัญหานี้ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายและการลงทุนที่สูงในการที่จะคอยรักษาความมั่นคงและความเสถียรของศูนย์กลางระบบงาน จริงอยู่ที่การรวบจุดอ่อนของตัวเองมาอยู่ที่เดียวจะทำให้จัดการและบำรุงรักษาได้ง่าย แต่ในทางกลับกันหากจุดอ่อนถูกโจมตีเมื่อไรก็อาจสร้างความเสียหายถึงขั้นวิกฤตได้ ซึ่งผู้ได้รับผลกระทบก็คือผู้ใช้งานหรือผู้ปฏิบัติงานในระบบทั้งหมด

ปัญหานี้เป็นแรงผลักดันให้เกิดการกระจายศูนย์ เช่น Data Center ที่เก็บข้อมูลสำคัญหรือระบบ Core Banking ที่จำเป็นจะต้องมีศูนย์สำรองหลายๆ แห่ง เป็นต้น ซึ่งถ้าหากการกระจายศูนย์กันอย่างสมบูรณ์ เช่นเดียวกับใน Blockchain ที่ทุกคนเป็นผู้เก็บรักษาข้อมูลแล้ว ก็จะไม่มีทางเกิดปัญหาเรื่อง Reliability ได้เลย เพราะเมื่อทุกจุดเป็นจุดอ่อน ก็เสมือนว่าไม่มีจุดอ่อนอยู่เลย ต่อให้ 10 จุดมีปัญหา อีก 100 จุดก็สามารถดำเนินระบบงานต่อได้ เหมือนที่มีร้านอาหารหลายร้าน หากมีการปิดร้านขึ้นมา เราก็สามารถแวะไปกินข้าวร้านอื่นได้

ประเด็นต่างๆ เหล่านี้จะถูกหยิบยกไปประยุกต์ใช้ใน Blockchain ซึ่งสามารถนำไปใช้แก้ไขปัญหาหลายอย่าง รวมถึงการนำไปสร้าง Cryptocurrency ที่เป็นสกุลเงินที่มีความ Decentralize อีกด้วย

 

 

เขียนโดย จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา
Expertise:
  Blockchain & FinTech
อ่านบทความ Exclusive เพิ่มเติมได้ที่นี่

Copyright © MarketingOops.com


  • 617
  •  
  •  
  •  
  •  
Jirayut Srupsrisopa
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้ทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่ให้กับการทำงานในแวดวงอุตสาหกรรม เทคโนโลยี Cryptocurrency และ Blockchain ก่อนหน้านี้เคยทำงานในฐานะนายธนาคารด้านการลงทุนที่ปรึกษาทางการเงินและนายธนาคารกลาง มีประสบการณ์การเป็นวิทยากรหนึ่งในทีมชั้นนำระดับประเทศ จบการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ประเทศสหราชอาณาจักร ตอนนี้เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของ bitkub.com - การแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลชั้นนำของประเทศไทย