เจาะลึกความสามารถ XSight เครื่องมือใหม่วัดผลความสนใจผู้ชมถึงระดับสมอง พลิกโฉมวงการโฆษณาด้วย AI ผสาน Neuroscience Marketing

  • 3.5K
  •  
  •  
  •  
  •  

 

การทำหนังโฆษณาเรื่องหนึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การที่จะเมคชัวร์ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้นยิ่งยากกว่า ซึ่งโดยปกติก็จะมีเครื่องมือในการวัดประสิทธิภาพของงานอยู่แล้ว แต่ก็มักจะเป็นการวัดในเชิงปริมาณ (Quantity) มากกว่า เช่น ยอดวิว ยอดไลก์ ค่า CPA เป็นต้น ซึ่งการวัดค่าการรับชมในเชิงอารมณ์ของผู้ชมยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับเมืองไทยอยู่มาก อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้หลังจากเราได้นำเสนอข่าวว่า ดิจิทัลเอเจนซี่ไทยสามารถพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถวิเคราะห์ประสิทธิภาพของวีดีโอโฆษณาในเชิงลึกได้เป็นครั้งแรกในเมืองไทยโดยฝีมือนักพัฒนาคนไทย สร้างความสนใจให้ทั้งวงการโฆษณาและนักการตลาดเป็นอย่างมาก ว่าจะมาเข้าเปลี่ยนวิธีในการผลวิดีโอโฆษณาทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้ (คลิกอ่านข่าวเพิ่มเติม)

ผลงานดังกล่าวเป็นฝีมือของสุดยอมทีมนักพัฒนาคนไทย โดย บริษัท อะแด็ปเตอร์ ดิจิตอล จำกัด (Apater) ดิจิทัลเอเจนซี่ชั้นนำ และผู้อยู่เบื้องหลังในการผลักดันเทคโนโลยีนี้ เป็นใครไปไม่ได้นอกจาก คุณเอิร์ธ – อรรถวุฒิ เวศรานุรักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อะแด็ปเตอร์ ดิจิตอล จำกัด (adapter digital group) ซึ่งจะมาเล่าให้เราฟังชนิดเจาะลึกว่า เครื่องมือที่เรียกว่า XSight นั้นมันน่าเอ็กซ์ไซต์จริงๆ แค่ไหน และจะมาเป็นคำตอบใหม่ให้กับนักการตลาด นักโฆษณา และแบรนด์ในการวัดผลประสิทธิภาพของชิ้นงานวิดีโอโฆษณาได้อย่างไร เรามาค้นหาความจริงไปด้วยกัน

 

คุณเอิร์ธ – อรรถวุฒิ เวศรานุรักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อะแด็ปเตอร์ ดิจิตอล จำกัด (adapter digital group)

 

ครั้งแรกของไทย กับการผนวก AI เข้ากับ Neuroscience ศาสตร์ด้านประสาทวิทยา

คุณเอิร์ธ เริ่มต้นด้วยการเล่าว่า เครื่องมือ XSight เป็นการนำเทคโนโลยี AI ที่ใช้ในการตรวจจับพฤติกรรมการมอง (Eye Tracking) ตรวจจับสีหน้าอารมณ์ความรู้สึก (Facial Expression Tracking) มาทำงานร่วมกัน พร้อมด้วยการผสานแนวคิดด้านประสาทวิทยาศาสตร์ (Neuroscience) การเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของกลุ่มเป้าหมาย (Emotional Intelligence) เข้าด้วยกัน เพื่อเสริมขีดความสามารถของการวัดผลชิ้นงานวิดีโอโฆษณาออนไลน์ ให้สามารถเข้าใจข้อมูลในเชิงลึก ทั้งปฏิกิริยา อารมณ์ ความรู้สึก และความสนใจที่ผู้ชมมีต่อการรับชมโฆษณา รวมถึงสามารถนำข้อมูลที่ได้มาปรับปรุง พัฒนาต่อเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ตรงเป้าหมายและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในระยะเวลาที่รวดเร็ว

สำหรับ XSight มีฐานความคิดที่เกิดจากการดึงเอาศาสตร์ของ Neuroscience มาใช้ ซึ่งเดิมนั้นมีอยู่ 5 ปัจจัยด้วยกัน ได้แก่ คลื่นสมอง คลื่นหัวใจ การแสดงสีหน้า สายตา และการทำ Self-report แต่ว่าเราได้เลือกมาใช้ 3 อย่าง คือ การแสดงสีหน้า (Facial Expression Tracking) สายตาที่มอง (Eye Tracking) และ Self-report โดยเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ทีมนักพัฒนาของ Adapter สร้างขึ้นมาเป็น Own platform ของเราเอง เป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่สำคัญต่อวงการ MarTech ซึ่งจะเข้ามาช่วยนักการตลาดให้สามารถทำการตลาดในเชิง New Precision (วัดผลได้แม่นยำ เที่ยงตรงสูง) ทั้งในเรื่องการวางแผนและการทำ VDO Marketing ทำให้ชิ้นงานออกมามีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

 

เปิดเผย Uncover area ของชิ้นงานโฆษณาที่ไม่เคยรู้มาก่อน

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เราพัฒนาเครื่องมือตัวนี้ขึ้นมาก็เนื่องจากว่า เดิมทีการวัดผลประสิทธิภาพของโฆษณาจะเน้นการวัดในเชิงปริมาณ (Quantity) ที่ออกมาเป็นตัวเลขมากกว่า เช่น คนดูจบเท่าไหร่ มีคนกดไลก์มากไหม แต่เนื้อในจริงๆ ว่าวิดีโอตัวนี้มีประสิทธิภาพแค่ไหนต่อคนดู อะไรที่ทำให้มันประสบความสำเร็จ ตรงนี้ยังไม่มีเครื่องมือชี้วัดผลในเชิงคุณภาพ (Quality) เลย ดังนั้น XSight จึงเข้ามาเป็นคำตอบให้กับคำถามต่างๆ เป็น Uncover area ที่จะล้วงลึกไปถึงสมองของผู้ชมว่าสายตายเขาจับจ้องบริเวณใดของเนื้อหาโฆษณาเป็นพิเศษ เขารู้สึกเกี่ยวกับโฆษณาหรือแบรนด์อย่างไร XSight สามารถเข้ามาตอบโจทย์ในเรื่องการทำ Analysis VDO ในยุคใหม่ได้เลย

“XSight เป็นวิธีการวัดผลเชิงครีเอทีฟและแบรนด์ในเชิงลึก เพื่อให้เรารู้ว่า Attention signal (สัญญาณการบ่งบอกว่าความสนใจ) ของสิ่งที่เรานำเสนอในเชิงสตอรี่เทลลิ่งอยู่ที่ตรงไหน ซึ่งคำกล่าวหนึ่งน่าสนใจมากที่บอกว่า พีคโมเมนต์ของโฆษณาแค่เสี้ยววินาทีมันมีผลมหาศาลมากๆ ต่อสินค้าและแบรนด์ ดังนั้น เราเอาคีย์อันนี้ที่เราอยากจะระบุให้ได้ว่าพีคโมเมนต์ของงานโฆษณาแต่ละชิ้นมันอยู่ตรงไหน เพราะพีคโมเมนต์ของแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนชอบฉากโน้น บางคนชอบฉากนี้ แล้วค่าเฉลี่ยตรงกลางของงานโฆษณาชิ้นนี้อยู่ไหน เราเลยเรียกมันว่าเป็น Uncover area ที่เราจะเปิดเผยมันออกมา”

 

ทำความรู้จัก 2 ฟีเจอร์สำคัญของ XSight

สำหรับฟีเจอร์หลัก 2 ส่วนสำคัญใน XSight ได้แก่ 1) Visual Impact และ  2) Emotion Intense โดย ‘Visual Impact’ คือค่าเฉลี่ยของการมองหาพื้นที่ที่สายมองไปตรงบริเวณนั้นในจุดเดียวกัน เราเรียกว่า Attention (ความสนใจ) โดย AI จะทำหน้าที่แยกระหว่าง Attention กับ Distraction (จุดเบี่ยงเบนความสนใจ) ออกจากกัน ซึ่งใช้เทคโนโลยี Eye Tracking ตรวจจับว่าสายตาของผู้รับชมโฆษณามองไปยังพื้นที่ไหน บริเวณใดในจุดๆ เดียวพร้อมๆ กันมากป็นพิเศษ พื้นที่นั้นจะเรียกว่า Attention

ขณะที่ ‘Emotion Intense’ (หรือ Emotion Intensity) คือ ค่าเฉลี่ยความเข้มข้นของอารมณ์ความรู้สึกที่ผู้ชมมีต่อภาพหรือซีนนั้นๆ โดยจะทำการแยกระหว่างซีนที่ทำให้คนเกิด Emotion กับซีนที่คนดูแล้วรู้สึกเฉยๆ หรือไม่รู้สึกอะไรเลยออกมา ด้วยการใช้ Facial Expression Tracking ตรวจจับอารมณ์ความรู้สึกจากการแสดงสีหน้าของคนดูระหว่างรับชมโฆษณา ซึ่งระบุได้ถึง 6 อารมณ์ ได้แก่ โกรธ (Angry), เบื่อ (Disgusted), มีความสุข (Happy), เศร้า (Sad), ประหลาดใจ (Surprised) และ หวาดกลัว (Fearful) ว่าแต่ละซีนนั้นมีการเปลี่ยนแปลงทางสีหน้าอย่าไร จากการขยับคิ้ว ตา ปาก แก้ม ฯลฯ ซึ่งหากมีการเปลี่ยนแปลงทางสีหน้าสูงแสดงว่าซีนนั้นมีผลต่ออารมณ์ความรู้สึกของผู้ชม โดยให้รับชมโฆษณาตั้งแต่ต้นจนจบเพื่อวัดค่าตลอดทั้งชิ้นงาน ซึ่งจะทำให้รู้ว่าซีนไหนที่มีผลต่ออารมณ์ความรู้สึกผู้ชมอย่างไร

จากนั้นจะนำค่า Visual Impact และ Emotion Intense มาเข้าสูตรการคำนวณเพื่อหาค่าเฉลี่ยตรงกลาง ค่ากลางดังกล่าวจะเรียกว่า Attention signal นั่นเอง โดยเป็นค่าเฉลี่ยที่ทำให้เรารู้ว่า ซีนไหนที่สามารถกระตุ้นความสนใจและการรับรู้ของคนได้มากที่สุด หรือเป็นซีนที่เกิดค่า Top Visual Impact และ Top Emotion Intensity สูงที่สุด คือค่าเฉลี่ยที่คนพร้อมใจกันมองไปยังแบรนด์หรือโปรดักส์ผนวกกับค่าเฉลี่ยที่คนมีอารมณ์ร่วมกับซีนนั้นมากที่สุดในการรับชม

นอกเหนือจากทำการทดสอบกับตัววิดีโอแล้วก็จะมีการทำ Self-test Report ประกบด้วย ซึ่งก็คือการทำ Questionnaire โดยให้ผู้ทำการทดสอบตอบคำถามหลังทำเทสต์แล้ว เป็นการเช็คในขั้นตอนสุดท้าย เพื่อตรวจสอบ Brand Love, Purchase intense และ Encoding Message เช่น เช็คว่า ดูโฆษณาแล้วชอบไหม อยากซื้อสินค้าไหม หรือเพื่อเช็คให้แน่ใจว่าเข้าใจในเมสเสจที่แบรนด์ต้องการจะสื่อหรือไม่ เรียกว่าเป็นการทำ Final Test ประกบการทดสอบ เป็นตัวช่วยสำหรับการถามคำถามบางอย่างที่โปรแกรมไม่สามารถหาคำตอบได้

 

 

ประโยชน์และความสำคัญจากการนำค่า Attention Signal ไปใช้งาน

หลังจากหาค่า Attentions Signal ได้แล้ว ก็จะนำมาวิเคราะห์ชิ้นงานโฆษณา เพื่อวัดประสิทธิภาพของงาน ซึ่งสามารถทำได้ใน 2 เสตจ ดังนี้

เสตจ 1 คือช่วยในความต้องการที่จะ Optimized execution ชิ้นงานโฆษณาออกมาให้มีประสิทธิภาพที่สุด โดย Attention Signal จะเข้าไปช่วยวิเคราะห์ในขั้นตอนของการคัตติ้งหนังโฆษณาในช่วง Double head (ขั้นตอนของการนำซีนแต่ละซีนมาเรียงเรื่องต่อกัน) โดยที่ยังเป็นงานหยาบๆ อยู่ ยังไม่มีการมิกซ์ซาวด์หรือใส่ 3D Visual โดยนำเอาคัตติ้งมาเทสต์ให้กับกลุ่มตัวอย่างเพื่อดูว่า หนังที่เราตัดไว้เวิร์คแค่ไหน ซึ่งสามารถเช็คประสิทธิภาพสำหรับหนังโฆษณาใน 2 ประเภท คือ 1) หนังที่นำเสนอด้านอารมณ์ (Emotional Connect) และ 2) หนังที่เน้นโปรโมทโปรดักส์หรือโปรโมชั่น

ดังนั้น เมื่อโจทย์ของตัวคลิปโฆษณาแตกต่างกัน วิธีการอ่านค่าก็จะแปรผันไปตามวัตถุประสงค์ของชิ้นงานโฆษณานั้นๆ เช่น ถ้าหนังเราเน้น Emotional Connect เราก็จะให้ความสำคัญกับค่า Emotion Intense มากกว่าค่า Visual Impact เพราะหนังเล่นกับอารมณ์ความรู้สึกของคน

ขณะที่ถ้าหนังเน้นการเปิดตัวโปรดักส์หรือ สินค้าและโปรโมชั่นเป็นหลัก แน่นอนว่าค่า Visual Impact จะต้องออกมาสูงกว่า โดยวัดไปที่สายตาของคนว่ามองไปที่ข้อความโปรโมชั่นหรือไม่ มองไปที่ผลิตภัณฑ์ที่อยากให้เห็นไหม ฉะนั้นวิธีการอ่านผลจะทำแบบเบี่ยงค่าได้ เรียกว่ามีความยืดหยุ่นในการอ่านค่า ทำให้สามารถปรับแต่งชิ้นงานโฆษณาได้ตามวัตถุประสงค์ของแบรนด์ ลูกค้า รวมไปถึงสามารถประมวลผลได้ตามอุตสาหกรรมแบรนด์ของลูกค้าได้ด้วย

 

 

ในส่วนขอเสตจของการคัตติ้ง คุณเอิร์ธ ยืนยันว่า XSight ใช้วิธีการวิเคราะห์และประมวลผลเหมือนกับวิธีที่ Disney และ Pixar ใช้เวลาจะนำหนังใหม่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ โดยวิธีการที่ Disney ใช้คือการนำคนเข้ามาเทสต์หนังใหม่ประมาณ 200 คน ที่เรียกว่า Pre test ถ้าผลการทดสอบระบุว่า ซีนไหนดรอปในแง่ความสนใจและอารมณ์ร่วมของคน ค่ายก็จะตัดซีนนั้นทิ้งไป

ดังนั้น ขั้นตอนที่เราทำนี้เรียกว่าเราสามารถปรับแต่งสตอรี่ไลน์ของหนังโฆษณาใหม่ได้ทั้งหมด เพื่อทำให้แน่ใจว่าแบรนด์จะรักษาอารมณ์ร่วมของคนดู ผู้บริโภคได้อยู่หมัด รวมถึงการแนะนำตำแหน่งที่เหมาะสมของข้อความ Typography โปรดักส์ช็อตบางตัว เพื่อให้เกิด Visual Impact ที่ดีที่สุด นี่คือในส่วนของการช่วยซัพพอร์ตเสตจของการทำหนังโฆษณาในขั้นตอนก่อนเปิดตัวหนังโฆษณาจริงสู่สายตาผู้บริโภค ลูกค้า

เสตจที่ 2 ประโยชน์จาก Attention Signal คือ กรณีที่ลูกค้าไม่อยากวุ่นวายและไม่อยากเสียงบประมาณในการทำ Double head เพิ่ม ก็สามารถนำเอาคลิปโฆษณาที่ตัดต่อมาเรียบร้อยแล้ว มาหาว่าช่วงไหน ซีนใดที่พีค แล้วสามารถหยิบไปทำ Short Version หรือ Bumper ads ได้แบบไม่ต้องเดา ซึ่งจะช่วยนักการตลาดและแบรนด์ทำงานได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะในส่วนการกระจายเม็ดเงินโฆษณาไปยังมีเดียต่างๆ ซึ่งจะทำให้เกิดความมั่นใจในเรื่อง Reach and Frequency มากขึ้น

ประโยชน์อีกด้านซึ่งเหมาะกับฝั่งของครีเอทีฟคือการใช้ XSight ถอดบทเรียนงานโฆษณาทั้งของตัวเองและของคู่แข่ง ซึ่งส่วนนี้จะเป็นกรณีที่งานทั้งหมดตัดเสร็จเรียบร้อยแล้ว หรือนำงานเก่าในอดีตมาศึกษา เพื่อให้รู้ว่างานชิ้นนี้ประสบความสำเร็จได้เพราะอะไร จุดไหน หรือส่วนใดที่ทำปฏิกิริยามากเป็นพิเศษกับคนดู ผู้บริโภคได้มากที่สุด รวมไปถึงนำงานโฆษณาของแบรนด์คู่แข่งมาศึกษาด้วยเพื่อจะได้เรียนรู้ผ่านงานต่างๆ

 

XSight กับความแม่นยำในการวัดผล

คำถามที่น่าจะมีหลายคนสงสัยคือ ในการทำการเทสต์จะมีความผิดพลาดได้บ้างหรือไม่? คุณเอิร์ธ อธิบายว่า ในกรณีที่ผู้เข้าร่วมการทดสอบมีปัจจัยการแสดงออกทางสีหน้า หรือลักษณะทางกายภาพที่แตกต่างไปจากคนทั่วไป  ปัจจัยเหล่านี้อาจจะส่งผลให้ XSight ไม่สามารถประมวลผลได้แม่นยำ 100% ตัวอย่างเช่น ในกรณีที่อาจผู้เข้าร่วมการทดสอบบางคนเป็น คนไม่แสดงสีหน้า’ คนกลุ่มนี้อาจจะไม่ได้รับการคัดเลือกให้อยู่ในกลุ่มตัวอย่างที่จะทำการทดสอบ XSight เพราะอาจจะทำให้ผลการทดสอบคลาดเคลื่อนได้ โดยจะเรียกขั้นตอนในการคัดกรองผู้เข้าร่วมการทดสอบว่าเป็น “การ Calibrate

รวมไปถึงกรณีที่บางคนมีลักษณะทางกายภาพที่อาจทำให้การวัดค่าผิดพลาดได้ เช่น บางคนเป็นหนังตาตก มุมปากคว่ำมากเป็นพิเศษ ทำให้แม้จะทำใบหน้านิ่งเฉย แต่ AI ก็อาจจะเข้าใจผิด คิดว่าการแสดงออกทางใบหน้าดังกล่าวหมายถึง ผู้เข้าร่วมการทดสอบกำลังรู้สึก เศร้า’ (Sad) โดยอัตโนมัติ คนเหล่านี้ก็จะถูกคัดกรองออกเพื่อทำให้ผลการทดสอบน่าเชื่อถือมากขึ้น

 

รีวิวประสบการณ์ทดลองชมโฆษณาผ่าน XSight

หลังจากที่ทราบข้อมูลเชิงเทคนิกมาแล้ว คราวนี้เรามองลองทดสอบการใช้งาน XSight กันว่าทำงานอย่างไร

  1. เริ่มต้นด้วยการให้ผู้ที่เข้าร่วมการทดสอบ อ่านเอกสารการยินยอมการขอใช้ข้อมูลจากการทดสอบ ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย PDPA โดยหลังการเซ็นเอกสารยินยอมแล้ว ทีมงานจะแจ้งสิทธิให้ทราบอีกครั้งเพื่อย้ำให้เข้าใจเรื่องการนำข้อมูลไปใช้งานเฉพาะผลที่ได้จากการทดสอบ แต่ข้อมูลส่วนบุคคลอื่นๆ จะไม่ถูกนำไปเผยแพร่อย่างแน่นอน
  2. เมื่อเข้าใจกฎกติกาแล้ว ทีมงานจึงจะเริ่มอธิบายวิธีการทำงานร่วมกับเครื่องมือ XSight รวมถึงวิธีการดูโฆษณาที่เหมาะสม (ลักษณะท่าทางการนั่ง การมองจอ)
  3. จากนั้นจึงดำเนินการ Calibrate สายตาและลักษณะของการแสดงอารมณ์
  4. เริ่มต้นดำเนินการทดสอบ XSight รับชมหนังโฆษณาตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งคำแนะนำคือ ให้ปล่อยอารมณ์ความรู้สึกไปกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น ไม่ควรรู้สึกเกร็งหรือรู้สึกว่ากำลังอยู่ในการทดสอบ หลังดูจบก็จะต้องทำแบบสอบถามเพื่อนำผลลัพธ์ที่ได้มาช่วยยืนยันข้อมูลควบคู่กับผลลัพธ์ที่เกิดจากการประมวลผลและวิเคราะห์ของ XSight อีกแรง

ความรู้สึกของการทดสอบผ่านเครื่องมือ XSight ในมุมของผู้เข้ารับการทดสอบ ไม่ได้รู้สึกแตกต่างจากการดูคลิปโฆษณาปกติทั่วไป เพียงแต่เราต้องการความมั่นใจเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลเท่านั้น ซึ่งทางทีมงานของ adapter digital สามารถสร้างความเชื่อมั่นในประเด็นนี้ให้กับเราได้เป็นอย่างดี

สำหรับกรณีลูกค้าที่มาใช้งานเครื่องมือ XSight หลังการทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างครบถ้วนแล้ว (อย่างต่ำ 20 คน) สามารถรอฟังผลลัพธ์จากทีมงาน Adapter ได้ทันที! รวมถึงจะมีทีมงานมาช่วยย่อยบทวิเคราะห์ให้ฟังอย่างละเอียด ซึ่งจะทำให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพและรวดเร็ว

 

ความกังวลกับนโยบายส่วนบุคคล และกฎหมาย PDPA

คนจำนวนหนึ่งอาจจะมีความกังวลประเด็นนโยบายส่วนบุคคล PDPA ว่าจะมีผลกระทบแค่ไหน ตรงจุดนี้ คุณเอิร์ธ อธิบายว่า สำหรับแพลตฟอร์ม XSight เปรียบเสมือน Pre-test platform ที่ทำการทดสอบกับกลุ่มตัวอย่าง ที่เราทำการคัดเลือกให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่แบรนด์ต้องการ ดังนั้นก่อนเริ่มต้นทำการทดสอบทุกครั้ง เราได้มีการอธิบายสิทธิ ขออนุญาตและเซ็นเอกสาร PDPA เพื่อยินยอมให้ข้อมูลในการทำเทสต์ XSight ไปใช้งานตามวัตถุประสงค์อย่างเคร่งครัด โดยไม่ได้มีการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์นอกเหนือจากข้อตกลงที่ได้ระบุไว้กับผู้เข้าร่วมการทดสอบแต่อย่างใด

อีกประการคือ การวัดผลหนังโฆษณานั้นไม่ได้ทำกับบุคคลทั่วไป ฉะนั้นคนทั่วไป ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตไม่ต้องกังวลว่าการดูโฆษณาจะถูกติดตามข้อมูล หรือถูกนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ เพราะคุณเอิร์ธและ adapter digital ยืนยันว่าทุกกระบวนการทำถูกต้องตามกฎหมายและเคารพในสิทธิข้อมูลส่วนบุคคล

 

ยืนยัน AI ไม่ได้มาลดทอนพลังของ Creativity

อีกประเด็นที่ไม่ถามไม่ได้คือการวัดผลเช่นนี้จะเป็นการใช้เทคโนโลยีมาตัดสินผลงานในเชิงครีเอทีฟหรือไม่ คุณเอิร์ธ ให้คำตอบว่า ตรงนี้จุดนี้คิดว่าอยู่ที่มุมมองเหมือนกัน ถ้าเรามองว่า AI แย่งงานคนก็เท่ากับว่า AI แย่งงานคน และเราก็จะไม่มีโอกาสทำงานร่วมกับ AI หรือไม่มีโอกาสที่เราจะได้ข้อมูลที่เร็วขึ้น แล้วใช้ Human decision ที่ดีขึ้นได้เลย

ดังนั้น ไม่ได้มองว่ามันเอามาตัดสินงานครีเอทีฟ แต่มันเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการหาหลักฐาน ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับแคมเปญมากกว่า ซึ่งอันที่จริงแล้ว มันอาจจะทำให้งานของคุณไปได้ไกลกว่าเดิมที่เคยวางไว้ก็ได้ ดังนั้น อยากชวนให้มองในกรอบคิดแบบนี้มากกว่า

 

 

“ผมว่ายุคนี้ AI มีความสำคัญ แต่ AI ไม่ได้มาแทนที่มนุษย์ AI แค่มาช่วยทำให้เราได้ผลลัพธ์ที่เร็วขึ้น และช่วยให้มนุษย์สามารถตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ผมมีความเชื่อเรื่องนี้นะ เราเอา AI มาช่วยทำให้ทุกอย่างมันเร็ว สมาร์ท แต่ Human make decision easier เท่านั้น”

 

อนาคต XSight กับการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้วงการตลาดและโฆษณา

สิ่งที่น่าสนใจมากของ XSight คือการที่แพลตฟอร์มนี้จะเข้ามาเปลี่ยนวงการโฆษณาและการตลาดด้วย Neuroscience Marketing  ซึ่งคุณเอิร์ธ ตอกย้ำความมั่นใจในประเด็นนี้ว่า นอกเหนือจากงานโฆษณาแล้วงานในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น รายการเกมส์โชว์ คอนเทนท์ออนไลน์ ละคร ซีรีส์ ฯลฯ ก็สามารถนำ XSight ไปใช้วิเคราะห์ได้เช่นกัน ที่สำคัญเรายังมองว่า อนาคตไม่ได้ทำแค่คอนเซ็ปต์ของการ Pre-test แต่อาจจะทำได้แม้แต่งานโฆษณาที่ปล่อยออกไปสู่ท้องตลาดแล้ว ซึ่งอาจจะเป็นการทำร่วมกับเทคโนโลยีบางอย่างบนสื่อดิจิทัลหรือบน OOH ได้ ดังนั้น ในอนาคตมีอะไรที่สามารถต่อยอดให้ทำได้อีกมากมาย

“หนึ่งในเป้าหมายหลักของ adapter digital คือการยกระดับและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับอุตสาหกรรมโฆษณาไทยด้วย Data, Innovation และ MarTech (Marketing Technology) เพราะเรามีความเชื่อว่าดิจิทัลจะช่วยให้ธุรกิจและแบรนด์เติบโตไปได้ไกล โดยเทคโนโลยีดิจิทัลได้กลายมาเป็นเครื่องมือหลักในการทำการตลาด ตั้งแต่วิธีการสื่อสารไปจนถึงการขายสินค้า แต่ในขณะเดียวกัน วิธีการประเมินหรือการวัดผลจากกลยุทธ์ที่เราใช้ก็จำเป็นจะต้องอาศัยเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยด้วย ดังนั้น เราเชื่อว่าแพลตฟอร์ม XSight จะเป็นอีกแง่มุมหนึ่งที่เข้ามาช่วยเพื่อนๆ นักการตลาด นักโฆษณา และแบรนด์ สร้างความเข้าใจในการวิเคราะห์ประสิทธิภาพของชิ้นงานโฆษณา และเข้าใจได้ถึงอินไซต์เชิงลึกของผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง”

ความท้าทายสูงสุดกับการทำงานโฆษณาในยุคดิจิทัลคือ ต้องรู้จักและต้องเข้าใจผู้บริโภคให้มากที่สุดในระยะเวลาอันรวดเร็ว โดยเอาเทคโนโลยีมาเป็นตัวช่วย การมาของ XSight ก็น่าจะเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับอุตสาหกรรมการตลาดและโฆษณาทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างแน่นอน ซึ่งเราจะติดตามการพัฒนาต่อยอดจากความสำเร็จ XSight ต่อไป.


  • 3.5K
  •  
  •  
  •  
  •