กางหัวใจ Music Marketing : Be part of consumer life ผ่านมุมมอง “ภาวิต จิตรกร” CEO GMM Music ‘ดนตรี -ศิลปิน’ ช่วยแบรนด์ได้อย่างไร

  • 559
  •  
  •  
  •  
  •  

Music Marketing เป็นกลยุทธ์การตลาดที่หลายคนคุ้นเคยเป็นอย่างดี แต่ส่วนใหญ่ภาพที่เราเห็นมักจะเป็นเรื่องของการใช้เพลงมาสร้างความน่าสนใจให้แคมเปญ หรือจับนักร้องมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ร้องเพลงนำเสนอแบรนด์นั้นๆ ซึ่งอันที่จริงภาพรวมส่วนใหญ่ของกลยุทธ์นี้ก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เพราะมักจะถูกจริตคนไทยที่ชอบความบันเทิงและยังเป็นกลยุทธ์ที่สร้างความจดจำ สร้าง Brand Awareness ได้ง่ายที่สุดด้วย แต่ Music Marketing สร้าง benefit ให้กับแบรนด์ได้แค่นั้นหรือ? นักการตลาดลืมบางแง่มุมอื่นๆ ของการหยิบ Music Marketing มาใช้หรือไม่? แล้วยังมีมิติอื่นอะไรอีกที่เราสามารถสร้างสรรค์ผ่าน Music Marketing ได้ด้วย?

ดังนั้น วันนี้ได้โอกาสมาพูดคุยอย่างละเอียดถึงกลยุทธ์การทำ Music Marketing จาก “จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่” บริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรม และยังถือว่าเป็นบริษัท Pioneer ระดับตำนานที่คร่ำหวอดและเชี่ยวชาญด้านการทำเพลงในธุรกิจดนตรีมาอย่างยาวนาน ผ่านมุมมองของ คุณภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ซึ่งวันนี้เขาจะมาเปิดขยายจักรวาลของการทำ Music Marketing ที่ทำให้เรารู้สึกและมองเห็นภาพที่ลึกซึ้งมากขึ้นและ beyond ไปกว่าการทำ Music Marketing ทั่วไป

 

ภาพรวมอุตสาหกรรมเพลงและดนตรีไทย

คุณภาวิต กล่าวถึงภาพรวมอุตสาหกรรมเพลงในช่วงที่ผ่านมาโดยเฉพาะที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด โดยยอมรับว่า เป็นช่วงเวลาที่เหนื่อยกันทั้งอุตสาหกรรมเลย แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมีข่าวดีที่ว่า ในส่วนของการบริโภคเพลง (Total consumption) นั้น กลับมีการเติบโตที่ดีถึง 10 -15% แต่ขณะเดียวกันการเติบโตดังกล่าวก็มีความกระจายตัว (fragmented) คือเติบโตในเรื่องย่อยๆ มากขึ้น ยกตัวอย่างในอดีตเมื่อ 5 ปีก่อนเราจะได้ยินกระแสของการเกิด 100 ล้านวิวเยอะมาก แต่ยุคนี้ถึงแม้ว่าตลาดการบริโภคจะเติบโตดี แต่จะเห็นว่ากระแส 100 ล้านวิวนั้นเกิดขึ้นได้ยากกว่าแต่ก่อน เช่นเมื่อก่อนอาจจะเห็น 100 ล้านวิวสัก 30 เพลง แต่ตอนนี้อาจจะเหลือแค่ 15 เพลง ในขณะที่เพลง 30-40 ล้านวิว มีเต็มตลาดเลย แต่ก็ไม่ได้แปลว่าอุตสาหกรรมเพลงเก่งน้อยลง แต่สาเหตุมาจากที่ว่าความสนใจของผู้คนถูกขโมยเวลาแบ่งไปเยอะ

ในมุมของตลาดดนตรีที่ว่าถูกแย่งชิงความสนใจจากผู้ชมไปนั้น คุณภาวิต ขยายความว่า มีทั้งการแย่งชิงความสนใจทั้งในคอนเทนต์กลุ่มอุตสาหกรรมเพลงด้วยกันและนอกกลุ่มธุรกิจเพลงด้วย ไม่ว่าจะเป็นศิลปินอินดี้ที่มากขึ้นทุกวันเขียนเพลงร้องเพลงแล้วอัปโหลดเลยบน Youtube หรือบรรดาวิดีโอสตรีมมิ่งมากมาย ทั้ง Netflix  Viu หรือ WeTV ซึ่งผู้คนหันไปเสพย์กันมากขึ้น ก็แย่งชิงเวลาไปจากเพลงเช่นกัน เพราะต้องไม่ลืมว่าผู้คนมีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน ดังนั้น อุตสาหกรรมเพลง จึงถูกแย่งชิงเวลาไปด้วย

“ผมว่าตลาดคอนเทนต์มาแย่งชิงเวลาคนมากขึ้น แต่ว่าโดยภาพรวม consumption ของ Music Industry ก็เติบโต 10-15% ดี ส่วนในเรื่องของตัวเลขหรือด้านธุรกิจ ต้องบอกว่าส่วนตัวแล้วไม่อาจจะพูดแทนทั้งอุตสาหกรรม แต่สำหรับแกรมมี่ คือ On par ก็คือตัวเราไม่ได้เติบโตแต่ก็ไม่ได้ลดลง ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะปัจจัยเรื่องสถานการณ์โควิด ในขณะที่ภาพรวมตลาด Music Industry คิดว่าน่าจะติดลบ เพราะว่าธรรมชาติของคนในตลาดยังต้องพึ่งพางานจ้างและ Showbiz ซึ่งปีที่แล้วน่าจะเป็นปีที่ถูกห้ามแบบ 100% รายได้น่าจะลด แต่ของแกรมมี่เอง ที่บอกว่า On par หมายถึงว่ารายได้ค่าใช้จ่ายเรามี แต่เราก็สามารถสร้างเม็ดเงินได้จากธุรกิจดิจิทัล และก็ Music Marketing ที่ทำการตลาดอยู่บนดิจิทัลกันเยอะก็ทำให้รอดพ้นมาได้

 

Music Marketing ผ่านกลยุทธ์ Be part of consumer life

คุณภาวิตมองว่า Music Marketing เป็นเทรนด์สำคัญระดับโลก ยกตัวอย่าง Super Bowl halftime show ที่ทุกคนรอคอยกันทุกปี ทำไมมันถึงยังทรงพลังอยู่ อย่างไรก็ตาม ในยุคที่ระนาบของครีเอเตอร์เปลี่ยนไป และการเติบโตอย่างรวดเร็วของ Social Media ทำให้เครื่องมือทางการตลาดที่มาใช้ต้องเปลี่ยนไปด้วย มันไม่ได้มีแค่พรีเซ็นเตอร์อีกต่อไปแล้ว ดังนั้น ยุคนี้คือยุคของ Influencer ทั้งผู้กำกับ ศิลปิน ครีเอทีฟ ฯลฯ ทุกคนอยู่บนระนาบเดียวกันหมด เพราะ Influencer คือตัวแทนของผู้บริโภค เช่นเดียวกับ Music Marketing ก็ถือว่าอยู่ในระนาบเดียวกัน แต่มีอีโคซิสเท็มที่ใหญ่กว่าระบบพรีเซนเตอร์ทั่วไป Music Marketing มันไม่ใช่แค่เพลง ไม่ใช่แค่ศิลปิน แต่มันหมายถึงการ Utilized  อีโคซิสเท็มทั้งระบบของอุตสาหกรรมดนตรี ในการเข้าถึงผู้บริโภคในยุคดิจิทัล มันเป็นสิ่งที่เรียกว่า beyond การเป็นพรีเซ็นเตอร์ออกไปอีก

แต่สิ่งสำคัญที่จะทำให้ Music Marketing มันเวิร์คได้นั้น ก็คือ จะต้องทำให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้บริโภค Be part of consumer life  หรือ Music Marketing can be part of consumer life นี่คือ หัวใจสำคัญ และเป็นกลยุทธ์ในการเข้าถึงผู้บริโภค

ลองนึกภาพตาม คนดูตื่นเช้าเปิดเพลง หรือเล่นโซเชียลฯ ก็เห็นศิลปิน เปิดรายการต่างๆ ดูก็เห็นศิลปิน หรือเห็นคอนเทนต์ของศิลปิน จะไปแฟนมีทหรือเวอร์ชวลคอนเสิร์ตของศิลปิน ฯลฯ ทั้งหมดนี้สามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเขาได้ ดังนั้น สิ่งนี้จึงเป็นอีโคซิสเท็มที่ใหญ่มาก และมีความถี่ในการเข้าถึง

“ดังนั้น Music Marketing เป็นสิ่งที่นักการตลาด ควรจะแพลนมาร์เก็ตติ้งไว้อย่างน้อยสัก 5-10% ในการวางแผนเข้าถึงผู้บริโภค เพราะว่าตลาดตอนนี้เรารู้อยู่แล้วว่าผู้บริโภค มีความ fragmented มาก เพราะมีช้อยส์ให้เลือกเยอะ แล้วนักการตลาดจะยังใช้บัดเจ็ตก้อนเดียวเพื่อหวังจะโดนเป้าใหญ่ในยุคนี้คงไม่ได้แล้ว อดีตคือชั้นลงในสื่อที่ใหญ่จะกวาดคนได้มาก แต่วันนี้มันไม่ใช่ มันต้องกระจายเงินตรงนี้แตกเป็นเสี่ยงเพื่อสร้างความถี่ในการเข้าถึงผู้บริโภค ไม่มีแล้ว One size fit all นี่คือสิ่งที่โลกนี้ไม่มีแล้ว ดังนั้น คุณต้องใช้ tools ที่หลากหลาย และการทำ Music Marketing ยังสามารถเข้าถึงคนได้ทั้ง On- ground  และ Online ซึ่ง 5-10% ของผมมั่นใจว่ามี efficiency อย่างแน่นอน”

 

6 เหตุผลทำไม Music Marketing จึงสำคัญต่อการทำการตลาด  

นอกจากนี้ คุณภาวิต ยังได้แบ่งปันเคล็ดลับหรือกลยุทธ์การใช้ Music Marketing ให้ประสบความสำเร็จตามแนวคิด Be part of consumer life ซึ่งมีทั้งหมด 6 หลักคิดด้วยกัน ดังนี้

 

1.Brand + Artist เกิด Brand Matching ระหว่างตัวตนของแบรนด์สินค้ากับตัวตนของศิลปิน

เป็นการทำ Brand Matching ใน DNA ของทั้งแบรนด์สินค้าและศิลปินเกิดการจับคู่กันเพื่อช่วยส่งเสริมแบรนด์ โดยให้มองว่าศิลปินคือคนธรรมดาคนหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากการมองในมุมการเป็นพรีเซ็นเตอร์ ยกตัวอย่าง “เจ๋ง บิ๊กแอส” นักร้องร็อคมาดเข้ม แต่เป็นทาสแมว ตรงนี้เขาก็สามารถพูดแทนแบรนด์อาหารแมวได้ ซึ่งแบรนด์อาจจะจับคู่ให้เขามาทำ Music Marketing เพราะเขามีตัวตนอีกมุมที่สามารถแมทช์กับแบรนด์ได้ หรือ “แพท วง Klear” นักร้องเสียงดี ที่เป็นคนรักสุขภาพ ออกกำลังกายบ่อยมาก ตรงนี้ก็สามารถเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจรักสุขภาพได้ หรือ “ปั๊ป วงโปเตโต้” คู่ข้าวใหม่ปลามัน นอกจากเป็นนักร้องดัง เราสามารถเห็นเขาในบริบทของความเป็นมนุษย์คนหนึ่งก็ได้ นื่คือตัวอย่างของการเห็น DNA ของศิลปินในอีกด้านหนึ่งที่เขาเป็นคนปกติซึ่งเราไม่ได้ทิ้งมุมของการเป็นนักร้องเลย ดังนั้น บริบทนี้จึงเป็นการขยายมุมมองของศิลปินให้ไปแมทช์กับ DNA ของแบรนด์

2.นำศิลปินขยายตลาดสู่กลุ่มเป้าหมาย ได้ทั้งตลาด Niche และตลาด Mass

ในอดีตเรามักจะมองภาพว่า ศิลปินต้องเลือกดังที่สุดหรือดีที่สุด หรือการมองภาพว่านักร้องร็อคต้องเหมาะกับโฆษณามอเตอร์ไซค์ ซึ่งอันที่จริงมองอย่างนี้ก็ไม่ผิด เพียงแต่มันไม่มีบริบทของความเป็นปัจเจกตัวตนของเขา เพราะวันนี้ศิลปินไม่จำเป็นต้องยืนอยู่บนสเกล Mass เท่านั้น เขาสามารถยืนอยู่ที่สเกล Niche ก็ได้ หรือศิลปินบางคนเขาอาจจะไม่ได้ดังเป็นเบอร์ 1 แต่เขาอาจจะอยู่ในกลุ่ม segment ที่ใหญ่มาก เช่นบางคน อาจจะมีเทสต์การแต่งตัว เขาอาจจะ Influence เรื่องเสื้อผ้าให้กับคนในวงกว้างได้ เช่น “น้องมัจฉา โมซิมันน์” เป็นคนรุ่นใหม่แต่งตัวน่ารักมีสไตล์ ซึ่งเขาอาจจะยังไม่ดังระดับซุปเปอร์สตาร์ แต่เขาสามารถอินสไปร์กลุ่ม Niche ในเรื่องแฟชั่นการแต่งตัวได้ และยังไม่ต้องใช้บัดเจ็ทก้อนใหญ่เท่ากับการใช้พรีเซ็นเตอร์ด้วย แต่สามารถ Influence กลุ่ม Niche ที่มีฐานใหญ่ได้ การเข้าสู่ตลาด Niche บางทีเรามองว่าเล็ก แต่จริงๆ segment มันโคตรใหญ่ แล้วมันน่าเชื่อถือกว่าด้วยเพราะว่ามันจริง เพราะว่ามันมาจากตัวตนเขา ส่วนการทำตลาด Mass นั้นส่วนใหญ่เข้าใจเป็นอย่างดี เราสามารถดึง “พี่ตูน” หรือ “เป๊ก ผลิตโชค” ก็เข้าถึงตลาดแมสได้ แต่สิ่งที่กำลังจะบอกในข้อนี้ก็คือ Music Marketing มันแตะได้หมดทั้ง Niche และ Mass

3.สร้างคอนเทนต์ทั้งโลก On-ground และ Online เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่และไม่พลาดโอกาสในการเข้าถึง

วันนี้การทำเพลงเราไม่ได้ได้ของอย่างเดียว แต่เราได้ของและได้สื่อด้วย เพราะฉะนั้นมันคือการสร้างคอนเทนต์บนโลก On-ground และโลก Online เพื่อสร้างประสบการณ์ที่คนจะไม่พลาดที่จะถูกเข้าถึง ยกตัวอย่างง่ายๆ ตั้งแต่ตื่นนอน เราก็เปิดเพลงฟัง เป็นเพลงของแบรนด์สินค้าที่ศิลปินร้อง แล้วเราก็ออกจากบ้านไปก็ถูกเข้าถึงผ่านสปอตโฆษณาซึ่งมีเพลงขึ้นมา เพลงที่มีศิลปินมาซัพพอร์ตมีโฆษณาแบรนด์อยู่ข้างหน้าที่เรียกว่า Pre-roll หรือเราเดินทาง ระหว่างทางเราอาจจะเห็นแบรนด์และศิลปินในรูปแบบงาน Outdoor กลางวันพักเบรกอยู่เราก็เห็นคอนเทนต์เขาซึ่งอาจเป็นอาร์ทติสคอนเทนต์ก็ได้ แล้วเสาร์อาทิตย์เราไปแฟนมีทหรือเราไปคอนเสิร์ตออนไลน์ก็ได้

ทั้งในข้อ 2 และข้อ 3 สิ่งที่ผูกพันก็คือ “แฟนคลับ” ดังนั้น เป้าหมายใหญ่ของ Music Marketing คือการเข้าถึงแฟนคลับของศิลปินด้วย ดังนั้น แฟนคลับของศิลปินคือคนที่เชื่อในความเป็นตัวตนของศิลปิน ไม่ว่าเขาจะ Niche หรือ Mass เขาจะอยู่ได้ทั้ง On-ground หรือ Online แฟนคลับพร้อมที่จะเข้าถึงสเป็นเงินและสนับสนุน หรือที่เราเรียกกันว่า Omni-Channel ดังนั้น จะเห็นว่ามันใหญ่กว่าระบบ Presenter ปกติ

4.เป็นได้ทั้งเพลง นักร้อง Influencer และ Presenter ที่หลากหลาย ตอบโจทย์ ตรงใจกลุ่มเป้าหมาย

คุณภาวิตย้ำว่า อย่างที่ได้ยกตัวอย่างไปว่า ศิลปินไม่ได้ถูกจ้างมาเพื่อเป็นพรีเซ็นเตอร์เท่านั้น แต่เขาสามารถทำได้ทุกอย่างเลย เรียกว่าเป็นทุกอย่างให้เธอแล้วก็ได้ (หัวเราะ) ไม่ได้เป็นแค่คนๆ หนึ่งมาเล่นหนังโฆษณา หรือไปอยู่แค่ในพรินต์แอดส์ แล้วโพสต์ IG 2 ครั้ง แต่เขาสามารถเป็นได้แบบ full loop ครบได้หมด จะไปออกงานอีเวนต์ร้องเพลงก็ได้ เป็น Influencer ก็ได้ เป็น Presenter ก็ได้ ทำได้หมดเรียกว่ามัน beyond Presenter จริงๆ

5.สร้าง Brand Awareness สู่การเพิ่มยอดขายได้จริง

เป็นเรื่องของการสร้าง Brand Awareness สู่การขายจริง เพราะเป้าหมายในวันนี้ของเรา คือการเดินหน้าสู่การปิดการขาย เพราะฉะนั้นแคมเปญของเรา (Music Marketing) มีการวัดผลได้ ขึ้นอยู่กับเป้าหมายที่ลูกค้าวาง แน่นอนว่าการทำธุรกิจไม่ได้ต้องการแค่ Awareness แต่ก็ต้องการ Conversion  ด้วย ซึ่ง Music Marketing ช่วยสร้าง Brand Awareness สู่การปิดยอดขายได้ แคมเปญบางอันเป็นการ raise call to action อย่างที่กล่าวไปว่า สามารถเป็นได้ในระนาบเดียวกับ Influencer ดังนั้น ก็สามารถปิดจ๊อบปิดการขายได้เหมือนกัน

“ตรงนี้ที่อยากจะบอกก็เพราะว่าคนส่วนใหญ่มักจะมองว่า Music Marketing คือการทำเพลง เช่น เอาเพลงไปใส่ริงโทน เอาเพลงไปใส่เสียงรอสาย แต่มันไม่ใช่แล้ว วันนี้มันคือระนาบของการตลาดอีกแบบหนึ่ง และเชื่อว่านักการตลาดที่อ่านวันนี้แล้วจะฉุกคิดได้ เพราะว่ามันเป็นโลกที่ไม่ได้ไป Mass อย่างเดียว มันพูดถึงการเข้าถึงแบบ fragmented นั่นคือสิ่งที่ผมอยากบอกย้ำกับตลาดว่า Music Marketing สามารถเข้าไปเป็น Part of life ได้”

6.สื่อสารถูกต้อง ถูกที่ ถูกเวลา และถูกกลุ่มเป้าหมาย

Music Marketing สร้างการสื่อสารที่ถูกต้อง ถูกที่ ถูกเวลา และถูกกลุ่มเป้าหมาย เพราะว่าเป็นเรื่องของการเก็บ First Party Data ซึ่งจุดนี้ต้องบอกว่า แกรมมี่เราใช้ Data driven มาตลอด โดยเฉพาะ First Party Data ดังนั้นเรามองเห็น CMS Data ของศิลปิน เรารู้จักกลุ่มเป้าหมาย และรู้วิธีในการเข้าถึง ดังนั้น นี่คือโอกาสที่เราสามารถสร้างความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์ที่ถูกต้องที่แมทชิ่งกับศิลปินที่ถูกต้อง ทำให้เกิดคอนเทนต์ที่สร้างขึ้นได้อย่างถูกที่ถูกเวลาและตรงเป้าหมาย อย่าง “หนุ่ม กะลา” เราเห็นเขาเป็นร็อคเกอร์ ร้องเพลงเก่ง มีความสามารถ แต่อย่างที่ทราบเขาเป็นคุณพ่อลูกหนึ่ง และเวลาเขาเล่นกับลูกน่ารักมาก แล้วทำไมเขาจะขายสินค้าให้แบรนด์เด็กไม่ได้ล่ะ ในเมื่อมันเป็นชีวิตจริงของเขา ดังนั้น มันเป็นไปได้หมดว่าเราเห็นศิลปินในมุมที่หลากหลายมิติ ซึ่งมีทั้ง Interest  มีข้อเท็จจริง หรือ “นิวจิ๋ว” และ “อ๊อฟ ปองศักดิ์” เขาเป็นคนเหนือ สามารถคุยกันต๊ะต่อนยอนกันไป มีความน่ารัก ตรงนี้สามารถทำคอนเทนต์แล้วส่ง targeting ไปที่ภาคเหนือก็ได้ หรือ “ลาบานูน” ที่สามารถคุยคอนเทนต์กับคนภาคใต้ได้ ลักษณะนี้ก็จะเห็นว่า Music Marketing สร้างได้และเข้าถึงผู้คนได้

ความแข็งแกร่งของแกรมมี่ในการทำ Music Marketing   

เราเห็นกลยุทธ์และความสำคัญของ Music Marketing ไปแล้ว ซึ่งในส่วนของ “แกรมมี่” นั้น ในฐานะพี่ใหญ่ในวงการก็มีความโดดเด่นและแตกต่าง 7 ข้อ ที่สามารถช่วยผลักดันแคมเปญ Music Marketing ให้ประสบความสำเร็จได้ ดังนี้

  1. ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในตลาด Music Marketing มากกว่า 38 ปี และที่สำคัญเราโฟกัสแต่การทำ Music Marketing ด้วย ดังนั้น เรารู้ดีว่าจะทำ Music Marketing อย่างไรให้เวิร์ค
  2. ทีมการตลาดที่เชี่ยวชาญ มีความเป็นมืออาชีพ ที่พร้อมและแข็งแรงที่สุดในตลาด เรามีทีม Music Solution มีแผนกนี้โดยเฉพาะ เป็นมืออาชีพที่พร้อมให้บริการ ซึ่งสามารถให้คำแนะนำในการวางกลยุทธ์และทิศทางในการทำอย่างไรให้มันเวิร์คออกมาได้
  3. แกรมมี่ มีโมเดลธุรกิจรูปแบบ One Stop Music Solutions หมายความว่าสามารถตอบโจทย์แบรนด์ได้อย่าง Full loop สามารถให้คำแนะนำในแบบ Music solutions ที่รอบด้าน โดยเริ่มตั้งแต่ Consult, Create, Produce, Amplify, Optimize และ Measure
  4. มีความหลากหลายของศิลปินที่ครบทุก Segment ครบทุก Generation และครบทุก Interest อย่างที่หลายคนทราบดี แกรมมี่เรามีศิลปินที่หลากหลายแนว ทั้งป๊อป ร็อค อินดี้ ไอดอล ไปจนถึงลูกทุ่ง ผู้ฟังเราก็มีหลากหลายทุกเจเนเรชั่นตั้งแต่เด็กไปจนถึง Silver Gen ในขณะที่เรื่อง Interest เรามีการใช้ Big data ที่เมิร์จกันระหว่างความสนใจของแฟนคลับกับศิลปิน โดยที่นำการซัพพอร์ตศิลปินของแฟนคลับมาซื้อสินค้าของแบรนด์ที่ศิลปินทำการตลาดให้ ตรงนี้อาจจะเรียกว่าเป็น Fan Base Marketing
  5. ความพร้อมความเชี่ยวชาญใน Music Social ที่มีผลตอบรับสูงสุดทุกด้านของตลาด ทั้งยอดวิว, ยอดฟอลโลวเวอร์, ยอด Subscription และยอด Engagement
  6. ครบความชำนาญในการจัดคอนเสิร์ต และเทศกาลดนตรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุด มากที่สุด และครอบคลุมทุกพื้นที่ ทุกภาค ทั่วประเทศ แม้ว่า 2 ปีที่ผ่านมาที่เราจัดคอนเสิร์ตแทบไม่ได้ แต่ระหว่างทางเราเรายึดผู้บริโภคไว้ทั่วประเทศแล้ว เพราะว่าเราไม่เคยหยุดที่จะเอ็นเกจกับผู้คนเลย หรือเรียกว่าเราเก็บประชาชน เก็บแฟนคลับไว้หมดแล้ว เพราะฉะนั้นวันนี้เรามีความพร้อมกับคนที่อยากไปกับเรา ยืนยันว่าในส่วนของ On-ground เราแข็งแรงมาก
  7. แกรมมี่ มี Deeper Big Data ครบทุก Insight ของผู้บริโภค และครบทุกศิลปิน

 

“การประกอบร่างทั้งหมดนี้ เลยทำให้ผมคิดว่า การทำการตลาดยุคใหม่ เป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น เราไม่ได้หวังว่ามันจะเป็นเม็ดเงินที่ใหญ่ที่สุด เราอยากให้ทุกคน ทุกแบรนด์ลองที่จะใช้ Music Marketing เป็นหนึ่ง tools ทางการตลาด แล้วคุณก็จะเห็นผลลัพธ์ที่แตกต่าง ในโลกที่มัน fragment ขนาดนี้”

 

ในตอนท้าย คุณภาวิต ยังบอกว่า เขาได้เห็นการเติบโตของค่ายดนตรีเล็กๆ มากมาย ซึ่งรู้สึกดีใจมากที่อุตสาหกรรมดนตรีเมืองไทยเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ มีเพลงดีๆ ในตลาดเกิดขึ้นซึ่งเป็นเรื่องที่น่าดีใจมาก เป็นช่วงเวลาที่งดงามที่สุดของอุตสาหกรรมเพลงและดนตรี

และในส่วนของแกรมมี่นั้นเราก็จะมุ่งเดินทางของเราต่อไป ซึ่งปีนี้เราจะเน้น Strategy ที่ลงลึกไปในร่องต่างๆ มากขึ้น ซึ่งรวมไปถึงโลกของ Metaverse ด้วย

“แกรมมี่ในโลก Metaverse รอติดตามได้เลย เราต้องทำอยู่แล้ว ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของ GMM Digitization การันตีความสนุกอย่างแน่นอน”  

 


  • 559
  •  
  •  
  •  
  •  
pigabyte
การเรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้น มาเรียนรู้และสนุกไปกับบทความ จาก MarketingOops! กันนะคะ แล้วเราจะได้ค้นพบว่าโลกของ Marketing นั้น So Sexy and Cool!