รุกตลาดต่างประเทศอย่างมั่นใจผ่านโครงการ SCB ITP หลักสูตรเพื่อผู้ประกอบการส่งออก-นำเข้า

  • 3.3K
  •  
  •  
  •  
  •  

 

เทรนด์การขยายธุรกิจออกสู่ต่างประเทศ ดูเหมือนจะกลายเป็นสิ่งที่ธุรกิจไทยต้องเรียนรู้และจับตามอง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตลาดในประเทศค่อนข้างจะเป็นการแข่งขันในรูปแบบ Red Ocean และตลาดต่างประเทศดูเหมือนจะกลายเป็นตลาดที่หลายธุรกิจมุ่งไป โดยมองว่าเป็น Blue Ocean ของธุรกิจไทย แต่การบุกตลาดต่างประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย

นั่นจึงทำให้เกิดโครงการ SCB Intelligent Trade Program หรือ SCB ITP ซึ่งเป็นโครงการอบรมผู้ประกอบการ SME ภายใต้หลักสูตรการพัฒนาองค์ความรู้ในการประกอบธุรกิจ ที่เจาะลึกเรื่องการขยายธุรกิจไปต่างประเทศผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อให้ได้แนวคิดและเครื่องมือธุรกิจที่ตอบโจทย์ SME ไทยในยุคที่ต้องเผชิญความท้าทายต่างๆ โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB และ สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการค้ายุคใหม่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

โดยรุ่นล่าสุด คือ โครงการ SCB ITP รุ่นที่ 4 และเพื่อให้เห็นถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับโครงการดังกล่าว จึงมีกรณีศึกษาของธุรกิจ O-Square Distribution ที่เคยเข้าร่วมโครงการดังกล่าว และสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดสู่การขยายธุรกิจไปตลาดต่างประเทศได้ โดยได้รับเกียรติจาก คุณวัชระ ปานวุ่ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โอ สแควร์ ดิสทริบิวชั่น จำกัด

 

คุณวัชระ ปานวุ่น กรรมการผู้จัดการ บริษัท โอ สแควร์ ดิสทริบิวชั่น จำกัด

 

O-Square เป็นใครทำธุรกิจอะไร

สำหรับ O-Square เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้นำเข้า รวมถึงผู้ส่งออกและยังเป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้าเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ และอื่นๆ ที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงยกเว้นในกลุ่มเสื้อผ้าของสัตว์เลี้ยง ซึ่งคำว่า “สัตว์เลี้ยง” จะหมายถึงสุนัขและแมวเป็นหลัก นอกจากนี้ยังรวมไปถึงกลุ่มเครื่องมือแพทย์ที่ใช้โรงพยาบาลสัตว์อย่าง เครื่อง CT Scan เครื่องเอ็กซเรย์ เครื่องอัลตร้าซาวด์ เครื่องดมยาสลบ เป็นต้น

 

 

“ตลอดระยะเวลา 22 ปีที่ผ่านมา เราเป็นผู้ผลิตอาหารสัตว์แบรนด์ Ostech, Mckelly, Yess ด้วยจุดเด่นที่ตัวเองเป็นนายสัตวแพทย์ทำให้ทราบว่า คนไทยยังมีความรู้เรื่องของอาหารสัตว์เลี้ยงน้อย ไม่ใช่ว่าอาหารสัตว์ชนิดนี้กลิ่นหอม รสชาติอร่อย สีสันหน้าตาน่ารับประทาน แต่ในความเป็นจริงอาจจะไม่มีประโยชน์อะไรเลยก็ได้”

 

Aging Society ปัจจัยธุรกิจเติบโต

คุณวัชระอธิบายว่า ปัจจัยบวกที่ทำให้ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงเติบโต เกิดจาก 2 ปัจจัยหลัก โดยปัจจัยแรกเกิดจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีความใส่ใจในสัตว์เลี้ยงมากขึ้น เปลี่ยนจากการเลี้ยงสัตว์แบบตามมีตามเกิดหรือแบบให้กินข้าวเหลือ กลายเป็นการให้อาหารสำเร็จรูปมากขึ้น เปลี่ยนจากการเลี้ยงเพื่อใช้เฝ้าบ้านกลายมาเป็นเสมือนคนในครอบครัว

“นอกจากนี้ การที่เราก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยมากขึ้น ก็มักจะอยู่คนเดียวหรืออยู่กับแบบ 2 คนตายาย ก็มีส่วนอย่างยิ่งในการทำให้ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงเติบโตขึ้นมาก นอกจากปัจจัยบวกแล้ว ตลาดของไทยยังมีปัจจัยลบที่เป็นอุปสรรคในการเติบโตของธุรกิจ O-Square อันดับแรกคือการขาดความรู้ของคนเลี้ยงสัตว์ เพราะอาหารสำเร็จรูปแต่ละชนิดมีความแตกต่างกัน ขณะที่อันดับสองจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจและราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นต้นทุนที่ทำให้สินค้ามีราคาแพงขึ้นมาก”

 

 

ความเหงา เป็นอีกตัวแปรสำคัญที่ทำให้ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงเติบโตมาก โดยคุณวัชระอธิบายให้เห็นภาพว่า ครอบครัวปัจจุบันพอลูกๆ โตพอก็จะแยกย้ายออกไปอยู่ที่อื่น ทำให้คนที่บ้านเหงา ดังนั้นสัตว์เลี้ยงจะเข้ามาช่วยทดแทนความเหงาตรงนั้น และจะทำให้เกิดความรักสัตว์เลี้ยงเสมือนคนในครอบครัวที่ต้องดูแลอย่างดี เพราะสัตว์เลี้ยงพูดไม่ได้แต่บอกความต้องการได้

 

สื่อสารกับตลาดผ่านการให้ความรู้

สำหรับลูกค้าของ O-Square จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกจะเป็นกลุ่ม B2B ไม่ว่าจะเป็นร้านขายอาหารสัตว์เลี้ยง รวมไปถึงคลีนิกสัตว์เลี้ยงต่างๆ ซึ่งจะเน้นไปที่การให้ความรู้เป็นหลัก โดยเฉพาะกลุ่มสัตวแพทย์ผ่านการสัมมนาทางออนไลน์ ซึ่งจะช่วยให้สัตวแพทย์เข้าใจถึงผลิตภัณฑ์ยา อาหารหรืออาหารเสริม ว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆสามารถช่วยป้องกันและรักษาโรคได้อย่างไร

“ในส่วนของผู้บริโภคนั้นจะเน้นการให้ความรู้ผ่านช่องทางเว็บไซต์อย่าง OSDCO.net โดยความรู้เหล่านั้นจะเน้นไปในเรื่องของการเลี้ยงสัตว์ วิธีการดูแลสัตว์เลี้ยง รวมทั้งโรคต่างๆ นอกจากนี้ในเว็บไซต์ยังมีการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับสุขภาพสัตว์ ซึ่งเป็นบริการฟรี เป็นกลยุทธ์เพื่อให้ผู้บริโภครับรู้ถึงผลิตภัณฑ์ที่ดีควรจะต้องเป็นอย่างไร ช่วยสร้างโอกาสในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าของเรา เป็นกลยุทธ์ที่แตกต่างจากเจ้าอื่นๆ อย่างชัดเจน”

อีกหนึ่งจุดแข็งที่ทำให้ O-Square แตกต่างจากรายอื่นๆ ในตลาดคือการที่คุณวัชระเป็นนายสัตวแพทย์ นั่นหมายความว่าผลิตภัณฑ์ของ O-Square ได้รับการออกแบบสินค้าภายใต้ความเชี่ยวชาญของนายสัตวแพทย์เพื่อให้สัตว์เลี้ยงหรือ Design by Vet (Veterinary)ซึ่งความรู้เหล่านั้นจะช่วยให้ผู้เลี้ยงสัตว์ทราบว่า อาหารแต่ละชนิดต่างกัน ไม่สามารถกินร่วมกัน โปรตีนที่เหมาะสมเป็นแบบไหน ควรเลือกซื้ออย่างไร เป็นต้น ทั้งหมดอยู่ภายใต้ Vet Recommended

 

ความแตกต่างของตลาดต่างประเทศ

ในแง่ของเทรนด์การเติบโต คุณวัชระชี้ว่าแทบไม่แตกต่างกัน เนื่องจาก Aging Society เกิดขึ้นในหลายประเทศ ดังนั้นแนวโน้มการดูแลเอาใจใส่สัตว์เลี้ยงเสมือนสมาชิกในครอบครัว จึงมีเพิ่มขึ้นสังเกตได้ว่าสัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่ไม่ได้เลี้ยงเพื่อใช้งาน แต่เลี้ยงเพราะรักและอยากให้แต่สิ่งดีๆ

“สำหรับตลาดต่างประเทศ จะแบ่งตามสภาพของประเทศ อย่างประเทศที่กำลังพัฒนาก็มีความต้องการแบบหนึ่ง ประเทศที่พัฒนาแล้วก็มีความต้องการอีกแบบหนึ่ง เนื่องจากประเทศที่พัฒนาแล้วผู้เลี้ยงสัตว์มีความรู้เรื่องการเลือกใช้สินค้า หรืออย่างในประเทศไทยนิยมเลี้ยงสุนัขมากกว่า แม้ว่าปัจจุบันสัดส่วนการเลี้ยงแมวจะเพิ่มขึ้นมากก็ตาม หรืออย่างในยุโรปมีการเลี้ยงแมวสูงถึง 70%-80%”

นอกจากนี้ปัจจุบันผู้เลี้ยงสัตว์ ที่สามารถหาข้อมูลได้ง่ายๆ บนอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะสังเกตได้ว่าเด็กรุ่นใหม่อายุต่ำกว่า 30 ปี เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ของสัตว์เลี้ยงได้ดีกว่า นั่นจึงทำให้ O-Square หันมาใช้เทคโนโลยีในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมต่างๆ มากมาย อาทิ การจัด Road Show หรือแม้แต่การร่วมงาน Pet Expo ทั้งในยุโรปและอเมริกา รวมไปถึงการขยายช่องทางจำหน่ายบนแพลตฟอร์มอย่าง Amazon Alibaba เป็นต้น

 

การตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ SCB ITP

ก่อนอื่นเลยคุณวัชระเห็นว่า เป็นโครงการร่วมมือระหว่าง SCB ร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ซึ่งปกติทาง O-Square ก็มีการเข้าร่วมโครงการกับ DITP อยู่แล้ว และเห็นว่าโครงการ SCB ITP เป็นหลักสูตรที่เน้นเรื่องของการส่งออก-นำเข้า ซึ่งเหมาะกับธุรกิจของ O-Square ที่ส่งออกและนำเข้าอาหารสัตว์เลี้ยง

“โดยส่วนตัวผมคิดว่า ถ้ามีธนาคารเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยจะช่วยให้มองเห็นมุมมองของธนาคารต่อธุรกิจส่งออก-นำเข้า โดยเฉพาะมุมมองในด้านการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่มีผลต่อกำไรและขาดทุนของบริษัท และยังช่วยให้วางแผนการตลาดได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น หลังจากที่เข้าร่วมโครงการเราสามารถประหยัดเงินได้เป็นล้าน ซึ่งหมายถึงกำไรที่เพิ่มขึ้นด้วย”

นอกจากเรื่องขององค์ความรู้ที่นำเสนอต่อธุรกิจส่งออก-นำเข้า ในโครงการดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ประกอบการได้พบปะพูดคุยกับเพื่อนร่วมชั้นเรียน ซึ่งเป็นผู้ประกอบการส่งออก-นำเข้าเช่นกันเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ทั้งได้ความสำเร็จและอุปสรรคต่างๆ ที่ได้พบเจอ และยังอาจสามารถเชื่อมโยงธุรกิจให้เกิดการรวมตัวเพื่อบุกตลาดต่างประเทศ

 

 

ปรับเปลี่ยนสู่ความพร้อมรุกตลาด

สิ่งที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการดังกล่าว คุณวัชระมองว่า สำหรับในส่วนของธนาคารช่วยให้ธุรกิจได้มุมมองแนวคิดในเรื่องของอัตราค่าเงิน ยิ่งในสถานการณ์ที่ค่าเงินบาทผันผวน ส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจส่งออก-นำเข้าอย่างชัดเจน การที่สามารถมองเห็นแนวโน้มค่าเงินที่เปลี่ยนไปช่วยให้ธุรกิจสามารถสร้างผลกำไรได้อย่างต่อเนื่อง

“ในส่วนของ DITP ก็ช่วยให้เรามองเห็นแพลตฟอร์มต่างๆ มากมายที่สามารถช่วยผู้ประกอบการส่งออก-นำเข้าได้ โดยเฉพาะการเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ยกตัวอย่างเช่น เราเพิ่งสร้างโรงงานใหม่ขึ้นมาแล้วลูกค้าหลายรายต้องการให้เราผลิตสินค้าให้ในนาม OEM ซึ่ง DITP ก็มีแพลตฟอร์มที่รวบรวมบริษัทเหล่านี้ไว้ ในอนาคตเราก็คงจะมีการเข้าร่วมกับแพลตฟอร์มเหล่านั้น”

คุณวัชระยังย้ำว่า การเข้าร่วมโครงการดังกล่าวได้ความรู้และโอกาสที่ดีกว่า เพราะหลักสูตรเหล่านี้ล้วนแต่มีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจส่งออก-นำเข้า โดยเฉพาะเรื่องค่าเงินที่ผันผวนซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นหัวใจหลักของการทำธุรกิจส่งออก-นำเข้า ต่อให้มีกลยุทธ์บุกตลาดที่ดีแต่ไม่มีความรู้เรื่องค่าเงิน โอกาสที่จะตกม้าตายของธุรกิจนั้นก็มีสูง

 

ใหม่หรือเก่า เล็กหรือใหญ่ควรเข้าร่วม

ในส่วนของธุรกิจที่เหมาะสมกับโครงการดังกล่าว คุณวัชระมองว่า ธุรกิจที่เกี่ยวกับการส่งออก-นำเข้า ไม่ว่าจะธุรกิจที่เพิ่งเกิดใหม่หรือธุรกิจที่มากด้วยประสบการณ์ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ SME รายเล็กๆ หรือจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่โต โครงการดังกล่าวก็เหมาะสมกับทุกความต้องการของแต่ละธุรกิจ

“ธุรกิจที่ต้องการอัพเดตข้อมูลการส่งออก-นำเข้า หรือธุรกิจที่ต้องการหาช่องทางในการรุกตลาดต่างประเทศ ในส่วนของธนาคารก็มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินมากมายให้เลือก รวมถึงองค์ความรู้ในส่วนของการเงิน ขณะที่ทาง DITP ก็มีเครื่องมือต่างๆ ที่จะช่วยให้ธุรกิจทุกขนาดสามารถใช้เพื่อให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ที่สำคัญคือความรู้เบื้องต้นของการทำธุรกิจ เช่น ถ้าค่าเงินบาทอ่อนควรจะต้องปรับราคาลงหรือไม่ ค่าเงินบาทอ่อนอาจไม่ใช่ข้อดีของผู้นำเข้า เป็นต้น”

สำคัญที่สุดคือการได้พบปะแลกเปลี่ยนกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ซึ่งช่วยอัพเดตข้อมูลข่าวสารที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของนโยบายในประเทศนั้นๆ ประสบการณ์เกี่ยวกับคนในประเทศนั้นๆ หรือแม้แต่ข่าวสารอื่นๆ ที่ผู้ประกอบการอาจพลาดไป สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถนำไปพัฒนาธุรกิจหรือวางแผนธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น

 

เข้าร่วมโครงการดีกว่าผ่าฟันคนเดียว

คุณวัชระย้ำว่า โครงการ SCB ITP ถือเป็นโครงการที่ดีโครงการหนึ่ง โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ต้องการส่งออก-นำเข้า ซึ่งโครงการนี้เป็นการรวมตัวของผู้เชี่ยวชาญตัวจริงเรื่องการส่งออก-นำเข้า ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จแล้วก็สามารถเข้าร่วมโครงการได้เพื่ออัพเดตข้อมูลต่างๆ ที่จะนำไปใช้ในการพัฒนาธุรกิจให้ทันกระแสความเปลี่ยนแปลง

“แนะนำให้เข้าร่วมโครงการเลย แม้ว่าธุรกิจเราจะประสบความสำเร็จแล้ว โครงการนี้ทำให้เห็นว่ายังมีเพื่อนๆ พี่น้องที่มีไฟและพร้อมจะลุยในตลาดต่างประเทศ ซึ่งเราเองก็ต้องวิ่งตามให้ทันพวกเขาเหล่านั้น เพราะโลกเปลี่ยนไปค่อนข้างเร็ว เราจึงต้องอัพเดตข้อมูลส่งออก-นำเข้าเสมอ ไม่มีใครรู้หรอกว่าค่าเงินจะเปลี่ยนแปลงชั่วข้ามคืนเมื่อไหร่ การที่มีผู้เชี่ยวชาญและข้อมูลต่างๆ ช่วยให้สามารถคาดการณ์ได้ดีขึ้น และเป็นประโยชน์โดยตรงต่อธุรกิจส่งออก-นำเข้า”

คุณวัชระย้ำทิ้งท้ายว่า ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จแล้วควรเข้าร่วมโครงการเพื่ออัพเดตข้อมูล ส่วนธุรกิจที่เพิ่งเริ่มหรือกำลังเติบโตควรยิ่งต้องเข้าร่วมโครงการ นอกจากจะมีผู้เชี่ยวชาญแล้วเพื่อนร่วมโครงการ ก็ยังเป็นอีกแหล่งความรู้ที่สำคัญ ไม่ว่าจะเรื่องวิธีการทำธุรกิจ มุมมองของตลาด โดยเฉพาะเรื่องของการลงทุนที่ต้องระมัดระวัง จึงควรเข้ามาร่วมกับโครงการ SCB ITP อย่างยิ่ง

 

 

ติดตามข้อมูลการรับสมัครหรือรายละเอียดโครงการ SCB ITP ได้ที่ https://www.scb.co.th/th/sme-banking/sme-academy.html

 


  • 3.3K
  •  
  •  
  •  
  •  
CLOSE
CLOSE