ย้อนกลับไปหลายสิบปี TV ถือเป็นอุปกรณ์หลักที่หลายคนติดตามทั้งในเมืองและนอกเมือง แต่ตอนนี้ TV ไม่ได้ทำหน้าที่นั้นเป็นหลักอีกต่อไป พฤติกรรมหลายคนหันมารับชมรายการต่างๆ ผ่านแพลตฟอร์มที่สะดวกกว่า อยากรับชมตอนไหนก็ได้แถมยังสามารถย้อนกลับไปดูได้อีกด้วย
แต่สำหรับคนที่ติดตามรายการทีวีจริงจังจะรู้ว่า มีอยู่ช่องหนึ่งที่เน้นเนื้อหา ข่าว และรายการสาระ ซึ่งก็คือช่อง Thai PBS ซึ่งเมื่อพูดถึงช่อง Thai PBS หลายคนมักจะถึงรายการข่าวที่เน้นแนวเจาะลึก ตีแผ่ความจริง หรือรายการความรู้หนักๆ ที่ดูยากๆ แต่จริงๆ แล้วยังมีรายการอื่นๆ ที่น่าสนใจอย่างละครที่บอกเลยว่าไม่เหมือนช่องอื่นๆ ที่สำคัญรายการแนวสารคดีของช่องนี้ก็น่าสนใจเช่นเดียวกัน
โดยตอนนี้ Thai PBS มีการปรับกลยุทธ์เนื้อหาใหม่ที่เรียกว่าเป็นการปรับโฉมครั้งสำคัญ จะเป็นอย่างไรต้องไปฟังจาก รองศาสตราจารย์ ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) และ คุณคริษ อรรคราช ผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์เนื้อหา องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.)
รู้จัก Thai PBS ในมุมที่อาจยังไม่รู้
สำหรับในมุมมองของคนทั่วไปมองว่า Thai PBS เป็นสื่อช่องหนึ่ง แต่ในมุมของ รองศาสตราจารย์ ดร.วิลาสินี มองว่า เป็นหนึ่งจิ๊กซอว์ในระบบนิเวศสื่อที่ไม่ได้เป็นแค่ผู้ผลิตสื่อ แต่เป็นคนสนับสนุนและส่งเสริม ด้วยการเปิดพื้นที่สาธารณะและให้โอกาสผู้ผลิตอิสระหรือผู้ผลิตหน้าใหม่ Content Creator ได้มาร่วมเรียนรู้แล้วก็ทํางานร่วมกันกับสื่อสาธารณะ
“ในแง่ของทางช่องเรามองเห็นนักแสดงศิลปินทั้งหมดเป็นระบบนิเวศที่สำคัญ และเราอยากให้ระบบนิเวศนี้ส่งต่อคุณค่าให้กับสังคม ในแง่ของสังคมเราจะเป็นเหมือนสะพานเชื่อมให้เกิดความร่วมมือในการผลิตงานคอนเทนต์ดีๆ ออกมาสู่สังคม ผู้ชมที่ต้องการชมงานดีๆ และผู้สนับสนุนที่ต้องการสนับสนุนงานดีๆ จะคล้ายกับรูปแบบ Content Provider Hub”
นั่นทำให้ภาพลักษณ์ของ Thai PBS ชัดเจนขึ้นในความหมายของการเป็นพื้นที่สื่อสาธารณะเพื่อประโยชน์สาธารณะ สอดรับกับเป้าหมายที่ได้ระบุไว้ในพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 ในการสร้างสรรค์และนำเสนอคอนเทนต์คุณภาพที่มีประโยชน์ในด้านความรู้ ทั้งในรูปของสาระประโยชน์และสาระบันเทิงให้กับสังคม
ปัจจุบัน Thai PBS แบ่งตลาดออกเป็น 2 ส่วน ในส่วนของ TV จะเป็นตลาดผู้สูงวัย กลุ่มผู้รับชมเดิม ซึ่งยังเป็นกลุ่มที่นิยมดู TV เป็นหลัก ขณะที่อีกตลาดจะเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เลิกดู TV ไปแล้ว แต่รับชมผ่านช่องทางอื่นๆ กลุ่มนี้ Thai PBS จะนำเสนอคอนเทนต์ผ่าน Platform ต่าง ๆ ที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ และมีแผนในการขยายตลาด สู่กลุ่มคนรุ่นใหม่ ผ่านสารคดีและละครของ Thai PBS ที่แตกต่าง และสร้างสรรค์
กลยุทธ์คอนเทนต์ใหม่ สู่งาน Thai PBS Enter ไทย Entertain
เมื่อนึกถึงภาพจำของผู้ชมส่วนใหญ่แล้ว Thai PBS จะเป็นช่องที่เน้นการนำเสนอข่าวสาร แต่จริงๆ แล้วหากกางผังรายการออกมาแบบเทียบแต่ละรายการ จะพบว่ารายการข่าวของ Thai PBS ทั้งในช่องและบนแพลตฟอร์มมีสัดส่วนเพียง 52% ส่วนที่เหลือจะเป็นรายการทั่วไปผสมกับสารคดีและละคร ซึ่งการปรับผังใหม่ของ Thai PBS แม้จะยังคงสัดส่วนของรายการข่าวไว้ที่ 52% แต่ในสัดส่วนของละครและสารคดีจะมีการปรับเพิ่มขึ้น
“แม้ว่าปัจจุบันละครจะยังมีสัดส่วนที่ไม่มาก แต่เรามีแผนที่จะค่อยๆ เพิ่มสัดส่วนของละครมากขึ้น ซึ่งอาจจะไม่ได้มากแบบก้าวกระโดด เพราะเราเห็นว่ามันยังมีโอกาสทางการตลาดในการนำเสนอละครที่มีเนื้อหาให้คุณค่าในด้านต่าง ๆ อย่างประเด็นปัญหาสังคม ประวัติศาสตร์ ธรรมชาติ และอาชีพต่าง ๆ ในสังคม สำหรับงาน Thai PBS Enter ไทย Entertain จึงเป็นงานเปิดตัวละครและสารคดีชุดใหม่ในปีนี้ พร้อมต่อยอดแนวคิดที่ Thai PBS อยากส่งต่อสู่ผู้ชม”
โดยงาน Thai PBS Enter ไทย Entertain ได้รับการตอบรับจากนักแสดงชื่อดังมากมาย อาทิ สินจัย เปล่งพานิช, สิเรียม ภักดีดำรงฤทธิ์, เจษฎาภรณ์ ผลดี, จตุรงค์ พลบูรณ์, สุทธิรักษ์ ทรัพย์วิจิตร, เอสเธอร์ สุปรีย์ลีลา รวมถึงเหล่านักแสดงรุ่นใหม่อีกมากมาย ที่พร้อมใจกันมาเปิดตัวละครและสารคดีไทยพีบีเอส รวมจำนวนมากถึง 16 เรื่อง
สำหรับละครที่จะเตรียมออกอากาศอย่างต่อเนื่องทั้งสิ้น 7 เรื่องจะประกอบไปด้วย
- Beating Again ขยับหัวใจมาใส่จังหวะ
- 8 ยอดมนุษย์ธรรมดา
- รู้จักพี่ยาใจไหม?
- ตำรับแม่
- อาชญาโกง
- กล้าทะเล
- หม่อมเป็ดสวรรค์
ในส่วนของสารคดีที่เตรียมออกอากาศสู่สายตาผู้ชมจำนวน 9 เรื่องด้วยกัน
- คนชายขอบ
- Biodiversity in Thailand มหัศจรรย์ธรรมชาติ
- What the NARK ? อะไรกันนากกันหนา ?
- พระพิราพ
- Koyori หลอมรวม สืบสาน งานหัตถศิลป์
- SMILING LAND แดนยิ้ม(คน)ยาก
- สยามฉายฉาน
- มนตราล้านนา
- Navigator Nature Club
“ถือได้ว่า ปีนี้ เป็นปีแรกที่เราได้รุกเข้าสู่ตลาดคอนเทนต์ ด้านละคร และสารคดีอย่างเต็มตัว ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Thai PBS สามารถมีคอนเทนต์คุณภาพแบบนี้ได้ เป็นเพราะความร่วมมือจากผู้ผลิต ศิลปินและนักแสดงทุกคน รวมถึงแรงสนับสนุนอย่างดีเยี่ยมจากผู้ชม และเหล่าแฟนคลับ จึงทำให้เรามั่นใจ และพร้อมที่จะก้าวต่อไปในทิศทางนี้” รองศาสตราจารย์ ดร.วิลาสินี กล่าว
จุดเด่นของสารคดีที่แตกต่างจากค่ายอื่นๆ
เมื่อพูดถึงสารคดีแล้ว ต้องยอมรับว่า Thai PBS แทบจะเป็นช่องเดียวที่มีการนำเสนอสารคดีอย่างจริงจัง และนั่นทำให้ Thai PBS กล้ายืนยันว่าเป็นผู้นำตลาดสารคดีบนฟรีทีวี ซึ่งทาง คุณคริษ ยืนยันว่า แม้ว่าสารคดีส่วนใหญ่ของ Thai PBS ใช้ทุนค่อนข้างสูง แต่เพื่อเติมเต็มช่องว่างทางสังคมในการให้สาระและคุณค่าผ่านสารคดี ทำให้ยังคงเดินหน้าผลิตสารคดีต่อไป
“เราเป็นเบอร์หนึ่งด้านสารคดีมาโดยตลอด และยังคงพัฒนาการผลิตต่อเนื่อง โดยเราผลิตสารคดีบนฐานข้อมูลเชิงลึก ทั้งเรื่องความเหลื่อมล้ำ เรื่องสังคมสูงวัย เรื่องการศึกษา ซึ่งเรามีการทํางานร่วมกับภาคีเครือข่ายอื่นๆ และในอนาคตจะยิ่งมีความร่วมมือเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งในส่วนนี้เองจะเป็นส่วนที่ช่วยให้สารคดีไทยพีบีเอสมีเนื้อหาเชิงลึกที่แปลกและแตกต่าง คู่ขนานกับการยกระดับเทคโนโลยีในการผลิต ในปัจจุบันเราผลิตรายการด้วยความละเอียดระดับ 4K”
คุณคริษยังยกตัวอย่างให้ลองเทียบกับสารคดีที่มาจากต่างประเทศ อย่างสารคดีสัตว์โลกที่เด็กๆ ชอบ ในมุมต่างชาติจะนำเสนอด้านชีววิทยาเกิดมาเป็นอย่างไร กินอะไร อยู่อย่างไรเป็นส่วนใหญ่ แต่สารคดีไทยพีบีเอสจะไปในมุมปรัชญาของสัตว์ ที่นำมาปรับใช้เพื่อให้เห็นถึงแนวคิดการใช้ชีวิต ด้วยมุมมองลักษณะดังกล่าวยังช่วยสร้างความแปลก แตกต่าง และเป็นอัตลักษณ์ในแบบ Thai PBS เพื่อเจาะตลาดโลก ดังนั้นการทำสารคดีของ Thai PBS จึงมองไปถึงการส่งออกไปในตลาดโลกด้วย
นอกจากนี้จากข้อมูลของคุณคริษพบว่า ในอนาคต Short Video ที่ไม่มีฐานข้อมูลจะไม่ได้รับความสนใจ แต่จะหันมาสนใจ Long Video ที่มีข้อมูลเชิงลึก ซึ่งจะกลายเป็นเทรนด์ที่น่าสนใจ เพราะหากคนรุ่นใหม่นิยมรับชมสารคดี จะทำให้คนไทยยกระดับความคิดมากขึ้นทันที นั่นคือสิ่งที่คุณคริษอยากเห็นภาพการยกระดับความคิดผ่านการสร้างเนื้อหาบนข้อมูลเชิงลึก
จากข้อมูลเชิงลึกสู่ละคร จากละครสู่สารคดี
หนึ่งจุดเด่นที่ทำให้ละครไทยพีบีเอส น่าสนใจคือการสร้างละครผ่านการทำข้อมูล ที่ได้จากการทำ Research โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาสื่อสาธารณะของ Thai PBS สํารวจความเห็นของประชาชนที่รับชมละครไทยพีบีเอส พบว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่อยากเห็นละครสะท้อนประเด็นปัญหาทางสังคมที่เป็นเรื่องจริง ขณะที่กลุ่มวัยทํางานอยากเห็นละครสะท้อนความสัมพันธ์ครอบครัวและการสร้างแรงบันดาลใจจากเรื่องจริง และกลุ่มสูงวัยอยากเห็นละครประวัติศาสตร์ที่สร้างความภาคภูมิใจทางวัฒนธรรม โดยจุดที่แตกต่างของละครไทยพีบีเอส คือการตั้งธงตอบโจทย์ทางสังคมเป็นหลัก แต่ยังต้องอยู่ในความสนใจของผู้ชม เรียกว่าเป็นการใช้ข้อมูลทางด้าน Research และ Insight ผู้ชมเข้ามาผสานกันจนเกิดเป็นละคร
“ต้องยอมรับว่าคนไทยชอบดูละคร เราจึงได้มีการนำสารคดีมาผสานกับละครในรูปแบบ Docudramaอย่าง สารคดีเรื่อง ‘มนตราล้านนา’ ที่ถ่ายทอดตำนานแห่งเรื่องราวของความงาม วัฒนธรรม และความเชื่อ แห่งล้านนา ถ้าเป็นสารคดีในรูปแบบที่นำนักวิชาการมาพูดนู่นนี่นั่น แล้วก็ให้ดูดาบ ดูเครื่องรางของขลัง ผู้ชมเบื่อตาย ยิ่งคนรุ่นใหม่ไม่ดูแน่ แต่เมื่อนำมาเล่าเรื่องแบบละคร มีการพัฒนาบทละครมาจากเรื่องจริงที่มีฐานข้อมูลจริง ทำให้ ดูน่าตื่นเต้นและน่าสนใจมากขึ้น หรือจะเป็น สารคดีแนวเปิดโปงขุดคุ้ยเรื่องที่เป็นความลับต้องสืบค้น ก็เล่าเรื่องเป็นละครอีกแบบที่น่าสนใจ ซึ่งสามารถดึงความรู้สึกคนออกมาได้” คุณคริษ กล่าวถึงแนวคิดการผลิตได้อย่างน่าสนใจ
พื้นที่สร้างผลงานของดารา และศิลปิน
แม้จะมีเนื้อหาที่ดีแต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ดาราถือเป็นเครื่องดึงดูดให้ละครน่าสนใจมากขึ้น ซึ่งในเรื่องนี้ คุณคริษ อธิบายว่า ทาง Thai PBS ก็มีความพยายามยกระดับในเรื่องดาราขึ้นมา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเนื่องจากชื่อเสียงของดาราก็จะมาพร้อมกับต้นทุนที่สูงมากขึ้น
“จุดแข็งหนึ่งของละครไทยพีบีเอส คือความน่าเชื่อถือของบทละครที่เข้มข้น สนุกสนาน ซึ่งในอนาคตเราตั้งเป้าหมายที่จะคว้าดาราดี ๆ มาร่วมงาน ถ้าเราได้รางวัลบ่อย ๆ จะมีดาราที่มีชื่อเสียงที่อยากเข้ามาร่วมเล่นละครกับเราแน่นอน”
รองศาสตราจารย์ ดร.วิลาสินี ยังเสริมด้วยว่า “ดาราหลายท่านพอรู้ว่าได้เล่นละครไทยพีบีเอส ก็ตอบรับในทันที ส่วนหนึ่งนอกจากชื่อเสียงแล้ว ยังมีจำนวนไม่น้อยที่ได้รับรางวัล และมีภาพลักษณ์ที่ดีที่ได้จากละครไทยพีบีเอส อีกส่วนหนึ่งคือการเป็นพื้นที่ที่ให้นักแสดงรุ่นใหม่ได้มีโอกาสแจ้งเกิด ฝากผลงานการแสดงให้กับผู้ชมด้วย”
ปรับคอนเทนต์สู่สตรีมมิงแพลตฟอร์ม
อย่างที่กล่าวไว้ตอนต้นว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคหลายคนหันมารับชมรายการต่างๆ ผ่านแพลตฟอร์มที่สะดวกกว่า อยากรับชมตอนไหนก็ได้แถมยังสามารถย้อนกลับไปดูได้ ซึ่งทาง Thai PBS ก็มองเห็นประเด็นนี้เช่นกัน
“เรามี VIPA ที่เป็น Streaming Platform ของเราเอง สามารถรับชมรายการต่าง ๆ ทั้งสารคดีและละครได้โดยไม่เสียเงินค่าสมาชิก และไม่มีโฆษณา ซึ่งเปิดตัวเมื่อปลายปี 2564 และมียอดวิวบน VIPA เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เรายังมีแผนเติบโตสู่ระดับ Global Platform และอยู่ในขั้นตอนของการเจรจา”
รองศาสตราจารย์ ดร.วิลาสินี เสริมว่า การที่ Thai PBS สร้าง Local Content เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการนำเสนอ Local Content จากผู้ผลิตรายอื่นๆ ให้เพิ่มมากขึ้น จะช่วยให้ผู้ชมในระดับโลกสามารถเห็น Local Content ของไทยเพิ่มมากขึ้น และจะช่วยให้ผู้ผลิตคอนเทนต์ดีๆ มีโอกาสขยายสู่ตลาดโลกได้โดยเฉพาะบน Global Streaming Platform
“นอกจากนี้ในอนาคต เรายังเตรียมการผลิตคอนเทนต์เพื่อป้อนสู่ Streaming Platform โดยเฉพาะ ซึ่งตอนนี้ Thai PBS ได้สร้าง Digital-First Mindset ให้แก่ทั้งผู้ผลิต ผู้สร้างคอนเทนต์ เพื่อตอบโจทย์การเปิดรับสื่อของผู้ชมในปัจจุบัน”
ขยาย Market Size ของสื่อเพื่อประโยชน์สาธารณะ
รองศาสตราจารย์ ดร.วิลาสินี เล่าถึงอีกหนึ่งความตั้งใจของ Thai PBS ว่า “หนึ่งในพันธกิจของสื่อสาธารณะคือ เราอยากจะขยาย Market Size ของสื่อที่อยู่บนฐานของประโยชน์ทางสังคม ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเราก็เข้าใจว่าสื่อพาณิชย์มีความจําเป็นและมีข้อจํากัด เราจึงมีความมุ่งหวัง และความตั้งใจที่จะเป็นพื้นที่ส่งต่อคอนเทนต์ที่มีคุณค่า สามารถสร้างประโยชน์ และแรงบันดาลใจให้กับทุกคนในสังคมได้ เราพร้อมที่จะไปร่วมมือกับใครต่างๆ ที่จะมีผลต่อการเพิ่มจํานวนคนดูที่เริ่มสนใจคอนเทนต์ให้ความรู้และเป็นประโยชน์สาธารณะ ซึ่งเมื่องานของเรามีส่วนช่วยขยาย Market Size มากขึ้นก็จะเกิด Demand Driven และทำให้ผู้ผลิตรายอื่นหันมาผลิตคอนเทนต์เพื่อสังคมเพิ่มมากขึ้น”
อนาคตของ Thai PBS
แม้ว่า Thai PBS จะมีแผนก้าวสู่ตลาดโลก แต่รองศาสตราจารย์ ดร.วิลาสินี ยังย้ำจุดยืนว่า พันธกิจสำคัญของ Thai PBS ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ใน นั่นคือการทําเพื่อประโยชน์สาธารณะ การช่วยเสริมพลังคนไทยทุกคนให้มีคุณภาพเติบโตเป็น พลเมืองที่แข็งแรง
“เราได้วางบทบาทของ Thai PBS ให้เป็นมากกว่าสถานีโทรทัศน์ (More than TV) โดยมุ่งตอบสนองผู้ชมที่หลากหลายในทุกแพลตฟอร์ม พร้อมขับเคลื่อนประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เพราะฉะนั้น แม้จะมีการปรับเปลี่ยนคอนเทนต์หรือรูปแบบสื่อในแพลตฟอร์มใด ๆ Thai PBS ยังคงยึดมั่นในพันธกิจเพื่อสาธารณประโยชน์ และมุ่งส่งมอบคุณค่าให้แก่ผู้ชมในทุกคอนเทนต์อย่างต่อเนื่อง”
นับเป็นอีกก้าวสำคัญที่น่าจับตามองของสื่อสาธารณะ อย่าง Thai PBS กับการรุกเข้าสู่ตลาดคอนเทนต์ละคร และสารคดี ผ่านการผลิตคอนเทนต์บนข้อมูลความต้องการของผู้บริโภค ผนวกรวมกับข้อมูลความถูกต้องทางวิชาการ โดยยังไม่ทิ้งพันธกิจเพื่อให้คุณค่ากับสาธารณะ และการวางแผนสู่การเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ระดับ Global Streaming Platform ที่น่าจะเป็นกำลังสำคัญในช่วยยกระดับละครเชิงสร้างสรรค์และสารคดีคุณภาพ ที่สะท้อนเรื่องราว วัฒนธรรม และสังคมไทยสู่สายตาชาวโลกได้เป็นอย่างดี