Innovative Idea: ศิลปะแห่งการเสียดสี…ใช้ดีปังใช้ผิดแป๊ก

  • 61
  •  
  •  
  •  
  •  

sarcasm_header

ขอบคุณภาพจาก Mentalfloss

เชื่อหรือไม่ว่าเสียงหัวเราะมีพลังในการเปลี่ยนแปลงโลกออนไลน์ได้อย่างคาดไม่ถึง มันเปลี่ยนเรื่องซีเรียสให้กลายเป็นผ่อนคลาย เปลี่ยนประเด็นร้อนแรงให้ลดอุณหภูมิจนหมดไฟ หากแบรนด์ของคุณกำลังถูกต้อนจนจนมุม การสร้างเสียงหัวเราะให้เกิดแก่ผู้อ่าน (แบบมีรสนิยม) จะทำให้แบรนด์ของคุณรอดพ้นการถูกเอาตัวขึ้นตะแลงแกงได้ อย่างไรก็ตามสำหรับแบรนด์แล้ว “การเสียดสี” เป็นดาบสองคมซึ่งสามารถช่วยเหลือหรือทำลายแบรนด์ของเราได้ พูดง่ายๆ ว่าใช้ผิดชีวิตเปลี่ยนนั้นเอง

เราพบเห็นกรณีตัวอย่างมากมายที่แบรนด์ยิงโฆษณาซีเรียสจริงจังออกมาแต่ลงท้ายกลับถูก “ล้อเลียน” หรือ “เสียดสี” จากชาวเน็ตจนกลายเป็นเรื่องตลกขบขันและไม่มีใครเชื่อถืออีกต่อไป ในทางกลับกัน ก็มีหลายแบรนด์ที่หยิบยกเอาประเด็นสังคมหรือประเด็นในกระแสมาเสียดสีจนโดนใจชาวโซเชียล กวาดยอดไลค์ แชร์ คอมเมนต์ไปมากมาย ที่น่าสนใจมากคือการเสียดสีนี้ไม่ได้บอกตรงๆ ให้คุณปฏิเสธหรือยอมรับแบรนด์เหล่านั้นแต่มันชี้ให้เห็นข้อเด่น ข้อบกพร่อง หรือข้อที่คนส่วนใหญ่ละเลย ผ่านการสอดแทรกความเห็นเข้ามาขณะที่คนอ่านมีเกราะป้องกันตัวน้อยที่สุดก็คือยามหัวเราะ

นักโฆษณาบางคนถึงกับเชื่อว่าแคมเปญที่ประสบความสำเร็จคือแคมเปญที่ทำให้ผู้ชม “หัวเราะ” ออกมาทันทีที่ดูหรืออ่านเพราะนั้นแสดงว่าคนอ่านเปิดใจรับแคมเปญของเราเข้าไปในสมองเขาแล้ว

คำถามที่สำคัญคือแล้วเราจะเสียดสีอย่างไรให้ขำให้ตลกและไม่มีผลลบให้แบรนด์ถูกโจมตีได้ล่ะ? มองในจักรวาลความตลก การเสียดสีถือเป็นทักษะขั้นสูงที่ผู้ใช้ต้องมีความสามารถสูงมาก (แน่นอนว่ามากกว่าตลกตบหัว ตลกมุกหยาบคาย หรืออื่นๆ) แต่ข่าวดีคือทักษะการเสียดสีเป็นสิ่งที่ฝึกฝนได้และมีเทคนิคเสียดสีบางอย่างที่เป็นพื้นฐานหากคุณอยากพัฒนาตัวเองเป็นนักเสียดสีชั้นยอด

อะไรคือการเสียดสี

พูดกันง่ายๆ การเสียดสีมักเกิดขึ้นในสถานการณ์ซีเรียส มันช่วยหยุดความตึงเครียดด้วยการทำให้คนฟังหัวเราะออกมา แต่การเสียดสีผิดวิธีบางครั้งก็ “ไม่ตลกนะ!” และอาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเสียดสีว่าจะปังหรือจะแป๊กโดยตรงคือคำถามว่า “เราจะเสียดสีตอนไหน!”

เมื่อไหร่จะใช้

ต้องเข้าใจก่อนว่าการเสียดสีจะสร้างความรู้สึกลบขึ้นกลางวงสนทนาทันที และมันยังทำให้สมองของผู้ฟังหรือผู้อ่านทำงานหนักเพื่อค้นหาว่ามีอะไรผิดปกติในเรื่องที่กำลังพูดกัน ดังนั้นหากคุณใช้มันกับคนที่อยู่ในวงสนทนาจะทำให้บรรยากาศแย่ลงทันทีและผลคือทุกคนเกลียดคุณ! ทางที่ดีกว่าคือเลี่ยงไปเสียดสีไอเดียหรือเหตุการณ์อะไรบางอย่าง ตัวอย่างเช่น ช่วงนี้ข่าวการทารุณแมวด้วยแมงป่องมาแรง คุณอาจลงภาพแมวสู้กับถุงอาหารแมว ทุกคนจะรู้ว่าคุณกำลังเสียดสีเหตุการณ์ในกระแสอยู่แต่ออกมาในทางสร้างสรรค์และไม่มีใครโกรธคุณ

ศิลปะแห่งการเอาคืนอย่างสร้างสรรค์

การเสียดสีไม่สามารถเกิดขึ้นลอยๆ ได้ มันต้องเกิดขึ้นบนฐานของเหตุการณ์บางอย่างที่ไม่ชอบมาพากล บางอย่างที่เห็นชัดๆ ว่าผิดเต็มประตูแต่ก็ไม่มีใครกล้าลุกขึ้นมาวิจารณ์มันตรงๆ ได้ แต่สำหรับแบรนด์แล้ว การเสียดสีอย่างเผ็ดร้อนและจ้องทำให้เกิดการวิจารณ์ต่อไปเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยดีนัก ทางเลือกของคุณจึงเป็นการเสียดสีแบบ “หยิกแกมหยอก” คือการหยิบสถานการณ์บนกระแสบางอย่างมาเสียดสีให้ขำขันพองาน คีย์เวิร์ดคือคำว่าพองาม อย่ามากเกินไปจนทำให้คนบางกลุ่มรู้สึกไม่ขำด้วย ไม่เช่นนั้นแบรนด์ของคุณนั้นแหละจะกลายเป็นเหยื่อรายต่อไปของการเสียดสี

เทคนิคการเสียดสีขั้นพื้นฐานที่เราคิดว่าน่าจะเป็นไอเดียให้คุณต่อยอดได้มีดังต่อไปนี้

การถามและการเปรย

การถามและการเปรยแบบเสียดสีมีลักษณะพิเศษคือไม่ต้องการคำตอบ แต่เป็นการแสดงว่าคำถามหรือข่าวสารที่เราแนบไปด้วยหรืออยู่ในกระแสนั้นช่างน่าขันซะจริง ตัวอย่างเช่น ถ้าเราต้องการเสียดสีสถานการณ์ที่มีการถ่ายภาพคู่รักยืนกอดกันบนรถไฟฟ้า เราก็อาจเขียนไปว่า “ไม่เหมาะสมจริงๆ ค่ะ” แล้วแนบข่าวนั้นไปกับโพสต์ด้วย เพียงเท่านี้ทุกคนจะเข้าใจจุดยืนว่าคุณต้องการบอกอะไรโดยไม่ต้องพูดมาก

แสดงออกเกินจริง

การเสียดสีแบบแสดงออกเกินจริงให้ผลดีมากเวลาที่เกิดข่าวสารหรือการพูดทำนองสั่งสอน การสั่งให้ทำ หรือการแสดงความรู้แบบอวดภูมิ เมื่อเราแสดงออกเกินจริงแบบ “จริงเหรอ!” “หูยยยย” หรือ “ไม่รู้มาก่อนเลยนะเนี่ย” จะทำให้ผู้อ่านรู้สึกได้ทันทีว่าคุณกำลังเสียดสีอยู่ แต่การเสียดสีลักษณะนี้ถือว่ามีอันตรายพอควรเพราะนอกจากจะพูดเป็นนัยว่าข้อมูลเหล่านั้น “ไร้สาระ” แล้วยังเป็นการแสดงออกว่าเราไม่ใส่ใจกับเรื่องนั้นเลย ตัวอย่างเช่น กรณีดีเจดังขับรถชนผู้อื่นแล้วแสร้งว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูก คุณอาจให้ความเห็นว่า “แย่จริงๆ ด้วย!” หรือ “จริงครับ สังคมแย่แน่ถ้ามีคนแบบนี้!”

การเฉยเมย

การเฉยเมยดูเหมือนเป็นเรื่องง่ายแต่จริงแล้วยากที่สุดในบรรดาการเสียดสีพื้นฐาน ความเฉยเมยพื้นฐานคือการเห็นด้วยแต่เป็นการเห็นด้วยแบบ “ไม่เห็นต้องแคร์เลยนี่” ตัวอย่างเช่น หากมีคนมาวิจารณ์คุณอย่างสาดเสียเทเสียบนโซเชียลมีเดีย ขุดรื้อประวัติของคุณขึ้นมาด่าเละไม่มีชิ้นดี คุณแค่เข้าไปในโพสต์นั้นแล้วเขียนคอมเมนต์ว่า “ขอบคุณครับ” หรือ “อ๋อ เข้าใจแล้วครับ” เท่านี้ก็เป็นการหยุดกระแสดราม่าและแสดงออกถึงวุฒิภาวะความเป็นผู้ใหญ่ของคุณได้อย่างดี

สุดท้ายแล้ว การเสียดสีเป็นทักษะแบบหนึ่งที่คุณต้องฝึกฝนหากอยากเก่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสียดสีบนโลกโซเชียลมีเดียหากใช้ไม่ดีหลายครั้งมันจะกลายเป็นดาบสองคมกลับมาทิ่มแทงคุณให้เจ็บปวด ก่อนเสียดสีทุกครั้งคุณจึงต้องคิดดีๆ ว่าคุณกำลังเสียดสีประเด็นที่แรงเกินไปหรือเปล่าและประเด็นที่คุณเสียดสีนั้นจะต้องมีคนกลุ่มใหญ่เห็นด้วยแน่ๆ หากคิดว่าใช่ก็ลุยเลยครับ!

 Source

 


  • 61
  •  
  •  
  •  
  •  
อุ้งทีนหมี
เตาะแตะในโรงเรียนชายล้วนแถวยศเส ก่อนเติบโตต่อในมหาวิทยาลัยริมฝั่งน้ำเจ้าพระยา ที่สุดจับพลัดจับผลูเข้าทำงานในนแวดวงสื่อสารมวลชนมาแล้วกว่า 4 ปี โต้ลมโต้ฝนทั้งในวงการข่าวต่างประเทศ เยาวชน ธุรกิจ การเมือง สังคม ฯลฯ แต่สุดท้ายกลับลำมาหลงรักวงการมาร์เก็ตติ้งที่ข้ามน้ำข้ามทะเลไปขี่จิงโจ้เรียนปริญญาโทมา เลยตัดสินใจหันหางเสือออกสู่การผจญภัยครั้งใหม่อีกสักตั้ง
CLOSE
CLOSE