Innovative Idea: ทำไมสาวๆ ถึงชอบคอนเทนต์วายกันเสียจริง

  • 301
  •  
  •  
  •  
  •  

love sick

ขอบคุณภาพจากซีรี่ส์ Love Sick

มองภาพรวมของสื่อมวลชนไทยก็ต้องยอมรับว่าปัจจุบันเรามีสื่อทางเลือกมากมายให้เสพอย่างจุใจ ไม่ว่าจะเป็นดิจิตอลทีวี โซเชียลมีเดีย วิทยุออนไลน์ อีบุ๊คส์ ฯลฯ การมีสื่อทางเลือกหลายช่องทางทำให้ผู้ผลิตคอนเทนต์สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคที่มีความหลายหลายมากขึ้นส่งผลให้ยุคนี้เราเห็นคอนเทนต์แปลกตาผุดขึ้นอย่างดาษดื่น

หนึ่งในคอนเทนต์ที่เบ่งบานมาแรงจนมองเผินๆ ตอนนี้เหมือนจะกลายเป็นคอนเทนต์กระแสหลักไปเสียแล้วคือ “บอยเลิฟ” หรือ “ยาโออิ” ซึ่งเป็นเรื่องราวโรแมนซ์ของเหล่าหนุ่มๆ ที่บางเรื่องมาในระดับใสๆ สไตล์เด็กมัธยมผมเกรียนขาสั้น หรือบางเรื่องก็นำเสนอคอนเทนต์แรงๆ มีฉากเลิฟซีน ฉากเผ็ดๆ ที่ทั้งดุทั้งดันเล่นเอาแฟนคลับหัวใจจะวายกันทุกตอน

หลายคนเข้าใจว่าฐานผู้เสพคอนเทนต์เหล่านี้น่าจะเป็นหนุ่มๆ ชาว LGBT แต่หารู้ไม่ว่าแท้จริงแล้วฐานแฟนคลับส่วนใหญ่กลับเป็นสาวๆ วัยมัธยมจนถึงทำงานตอนต้นที่เรียกตัวเองว่าสาววาย (ย่อมาจากสาว yaoi) ซึ่งนอกจากเธอจะเป็นแฟนคลับที่มีความภักดีกับละครแนวนี้อย่างเหนียวแน่นแล้ว ทางการตลาดเธอยังเป็นสาวกระเป๋าหนักที่พร้อมเปย์ค่าตั๋วเข้างานมีตติ้งกับดารา ซื้อของที่ระลึก หรือแม้กระทั่งจ่ายค่าตั๋วเครื่องบินตามติดศิลปินไปงานต่างประเทศทีเดียว

แล้วอะไรเป็นสาเหตุให้สาวๆ เหล่านี้หลงรักหนุ่มๆ ที่น่าจะทานกันเองเหล่านี้ล่ะ? วันนี้เรามาหาคำตอบกันดีกว่าครับ

“ฟุโจชิ” ปรากฏการณ์สาววายที่เกิดขึ้นทั่วโลก

ปรากฏการณ์สาววายไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในไทยแต่ยังมีไปทั่วโลก สื่อมวลชนญี่ปุ่นเรียกสาววายเหล่านี้ว่า fujoshi (ฟุโจชิ) และกลายเป็นคำศัพท์ที่ใช้เรียกสาววายทั่วโลก หลายคนถือว่าฟุโจชิเป็นส่วนหนึ่งของ Otaku (โอตากุ) หรือกลุ่มคนที่หมกหมุ่นบางสิ่งอย่างมากจนมีลักษณะคล้ายกูรูในเรื่องนั้นๆ

ต้นกำเนิดของคำว่าฟุโจชิเริ่มขึ้นในปี 2000 โดยมาจากชุมชนแฟนคลับการ์ตูนและเกมซึ่งใช้พูดกันในกระทู้ 2channel ฟุโจชิมีความหมายว่า “หญิงสาวผู้มีความคิดผิดแผกจากระบบ” และปรากฏขึ้นครั้งแรกในนิตยสาร Aera ในปี 2005 ภายในปีเดียวกันภาพยนตร์ Densha Otoko (ลุ้นรักนายโอตากุ) ก็กลายเป็นหมุดหมายสำคัญที่ทำให้สื่อมวลชนสนใจคำว่าโอตากุมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันมีสาวๆ ฟุโจชิเกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลกไม่ว่าจะเป็นในประเทศเอเชียอย่าง จีน เกาหลี ฮ่องกง หรือในตะวันตกอย่าง อเมริกา อังกฤษ เนเธอแลนด์ และอื่นๆ

สำหรับสังคมไทย คอนเทนต์วายเหล่านี้มีมาหลายทศวรรษแล้วแต่ที่ขึ้นมาอยู่บนความสนใจของคนส่วนใหญ่และเริ่มตั้งแต่กระแสภาพยนตร์ รักแห่งสยาม ขึ้นมาโด่งดัง ส่วนกระแสที่ทำให้คนไทยทั้งประเทศรู้จักน่าจะเกิดจากกระแสของละครเรื่องรักแปดพันเก้าที่มีคู่จิ้นเป็น “ที” (ภูริ หิรัญพฤกษ์) และ “จอน” (รุ่งเรือง อนันตยะ) กระแสดังเปรี้ยงปร้างทำให้ละครเรื่องอื่นเริ่มสร้างคอนเทนต์เอาใช้สาววายมากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบัน คอนเทนต์วายเหล่านี้กลายเป็นคอนเทนต์กระแสหลักที่ละครวัยรุ่นเกือบทุกเรื่องต้องมีเป็นน้ำจิ้มหรืออาจยกมาเล่าเป็นเรื่องหลักก็ว่าได้

รักแห่งสยาม

ขอบคุณภาพจากภาพยนตร์ รักแห่งสยาม

แล้วทำไมสาววายถึงชอบคอนเทนต์แบบนี้นักล่ะ

เอาเข้าจริง เราจะเข้าไปตอบแทนสาวๆ ทั้งหมดก็เป็นไปไม่ได้แต่ Eliza Strickland นักเขียนและนักวิจัยให้ข้อสังเกตว่าเรื่องราวของหนุ่มๆ ที่รักกันเองเหล่านี้ช่วยปลดปล่อยให้ผู้หญิงสามารถกลายเป็น “ฝ่ายรุก” ในความสัมพันธ์ได้ กล่าวคือเมื่อสาวๆ เสพคอนเทนต์เหล่านี้พวกเธอสามารถแทนตัวเองเป็นพระเอก (ฝ่ายรุก) หรือนายเอก (ฝ่ายรับ) ในความสัมพันธ์ได้ ผิดกับเรื่องราวแบบชายหญิงที่เธอจะต้องตกเป็นฝ่ายตั้งรับในความสัมพันธ์อยู่บ่อยๆ

นอกจากนี้ก็ยังมีคำอธิบายอื่นๆ มากมายเช่น

  1. ช่วยผ่อนคลายผู้หญิงจากแรงกดทับของสังคมชายเป็นใหญ่ ที่ผู้หญิงต้องเป็นช้างเท้าหลังและชายเป็นช้างเท้าหน้า

  2. ความสัมพันธ์ระหว่างชาย-ชายนั้นดูมีเรื่องราวดราม่ามากกว่าปกติและทำให้ความรักมีอุปสรรคให้ฝ่าฟันมากขึ้น

  3. พวกเธอสามารถศึกษาลักษณะของผู้ชายแต่ล่ะแบบถูกนำมาเรียงให้ดูโดยตัวเองไม่ต้องแทนตัวเองเข้าไปในความสัมพันธ์ของตัวละครเหล่านั้น

นอกจากนี้ สตรีนิยมบางสายยังพูดเพิ่มเติมไปอีกว่าปรากฏการณ์สาววายนี้คือการแก้แค้นของสาวๆ ที่อยากเห็นหนุ่มๆ ตกเป็นฝ่ายถูกกระทำเสียบ้าง (ทั้งในแง่ความสัมพันธ์ที่นายเอกต้องถูกพระเอกแกล้ง (เพราะความรัก) หรือเวลามีเพศสัมพันธ์ก็ต้องเป็นฝ่ายรองรับอีกฝ่าย) และอาจสะท้อนถึงความต้องการของสาวๆ สมัยใหม่ที่อยากขึ้นมาเป็นผู้คุมเกมแห่งความรักบ้าง

make it right2

ขอบคุณภาพจากซีรี่ย์ Make It Right

แล้วมาร์เกเตอร์ควรเรียนรู้อะไรจากปรากฏการณ์นี้บ้าง…

ในฐานะผู้ผลิตคอนเทนต์ มาร์เกเตอร์ควรเรียนรู้ว่ายุคนี้เป็นยุคที่ผู้บริโภคกล้าแสดงความเป็นตัวของตัวเองออกมาอย่างไม่เกรงกลัวสายตาผู้อื่น เราจึงเห็นเพื่อนๆ พี่ๆ ของเรากล้าแชร์คอนเทนต์วายลงบนโซเชียลมีเดียของตัวเองอย่างไม่เก้อเขินและไม่กลัวถูกคนอื่นมองเหยียดว่าเป็น “เอเลี่ยน” ในสังคมอีกต่อไป คุณจึงควรเริ่มผลิตคอนเทนต์เพื่อเอาใจฐานลูกค้ากลุ่มนี้บ้างไม่ให้ตกเทรนด์

แต่ช้าก่อน…การผลิตคอนเทนต์สำหรับกลุ่มสาววายไม่ใช่เรื่องง่ายเลยเพราะคุณจะสังเกตเห็นว่าภาพ “หนุ่มรักหนุ่ม” ที่สาวๆ กลุ่มนี้ชื่นชอบและยอมรับได้นั้นมีลักษณะที่แตกต่างกับที่กลุ่มอื่นรับได้ เช่น เนื้อเรื่องเน้นบรรยายความรักโรแมนติก จุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ ฉากเลิฟซีน จุดไคลแมกซ์ และ ฯลฯ ซึ่งคอนเทนต์เหล่านี้ควรสร้างมาเพื่อกลุ่มสาววาย ไม่ควรนำไปใช้เจาะกลุ่มอื่นด้วย

จุดที่ต้องสังเกตคือจุดเริ่มต้นของสาววายมาจากคำว่า “ฟุโจชิ” ซึ่งหมายความว่าพวกเธอเป็นสาวที่คิดไม่เหมือนคนอื่น เป็นสาวต้องการเป็นอิสระจากระบบสังคม ดังนั้นคอนเทนต์ที่จับใจกลุ่มนี้มักจะเป็นคอนเทนต์แปลกแหวกแนวที่มีกลิ่นอายของความขบถต่อสังคมและไม่จำเป็นต้องเกี่ยวพันกับความรักเป็นหลักเท่านั้น


  • 301
  •  
  •  
  •  
  •  
อุ้งทีนหมี
เตาะแตะในโรงเรียนชายล้วนแถวยศเส ก่อนเติบโตต่อในมหาวิทยาลัยริมฝั่งน้ำเจ้าพระยา ที่สุดจับพลัดจับผลูเข้าทำงานในนแวดวงสื่อสารมวลชนมาแล้วกว่า 4 ปี โต้ลมโต้ฝนทั้งในวงการข่าวต่างประเทศ เยาวชน ธุรกิจ การเมือง สังคม ฯลฯ แต่สุดท้ายกลับลำมาหลงรักวงการมาร์เก็ตติ้งที่ข้ามน้ำข้ามทะเลไปขี่จิงโจ้เรียนปริญญาโทมา เลยตัดสินใจหันหางเสือออกสู่การผจญภัยครั้งใหม่อีกสักตั้ง
CLOSE
CLOSE